รอยเตอร์ - ทางการมาเลเซียออกคำสั่งให้ทำการสืบสวนการประท้วงโดยผู้ชุมนุมชาวมุสลิมที่บังคับให้โบสถ์คริสต์เล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองหลวงนำไม้กางเขนของโบสถ์ลงมา อันเป็นสัญญาณล่าสุดของความตึงเครียดทางศาสนาที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีประชากรหลากหลายเชื้อชาติแห่งนี้
นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีของเขาได้หารือกันเรื่องการประท้วงดังกล่าวในชานเมืองทามันของกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นเป็นชาวมุสลิมแล้ว และระบุว่าผู้ชุมนุมอาจถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายปลุกระดมมวลชนของมาเลเซีย
“หากพวกเขาถูกพบว่าละเมิดกฎหมายของประเทศ การดำเนินคดีจะถูกใช้ภายใต้กฎหมายปลุกระดมมวลชนหรือกฎหมายอื่นๆ ที่มีอยู่” นาจิบกล่าวในถ้อยแถลงที่ออกมาเมื่อช่วงค่ำวานนี้ (21)
สื่อแดนเสือเหลืองรายงานว่า กลุ่มผู้ประท้วงราว 50 คนได้ชุมนุมที่นอกโบสถ์แห่งดังกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (19) เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าไม้กางเขน หนึ่งในสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์ เป็นสิ่งท้าทายศาสนาอิสลามและอาจสั่นคลอนศรัทธาของคนหนุ่มสาว
ไม้กางเขนอันดังกล่าวถูกทางโบสถ์นำลงมา 2-3 ชั่วโมงหลังจากการประท้วง สื่อสำนักต่างๆ รายงาน
นาจิบกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเชื่อว่าผู้ประท้วงไม่ควรกระทำการใดๆ ที่อาจทำให้เกิดความไม่สงบในมาเลเซีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์
การประท้วงดังกล่าวสร้างความเดือดดาลต่อผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมและชาวมุสลิมสายกลาง ซึ่งพวกเขาจำนวนมากได้แสดงความวิตกกังวลถึงสัญญาณที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของความไม่อดทดอดกลั้นทางศาสนา ท่ามกลางแนวโน้มสู่รูปแบบของศาสนาอิสลามที่เป็นอนุรักษ์นิยมมากยิ่งขึ้น
เมื่อปีที่แล้ว ศาลรัฐบาลกลางมาเลเซียตัดสินให้หนังสือพิมพ์คริสต์เตียนเจ้าหนึ่งไม่สามารถใช้คำว่า “อัลเลาะห์” เพื่ออ้างถึงพระเจ้า คดีซึ่งโหมกระพือความตึงเครียดทางศาสนาและก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับสิทธิของชนกลุ่มน้อย
นอกจากนี้ พรรคการเมืองสายอิสลามิสต์พรรคหนึ่งก็กำลังล็อบบี้บรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติให้สนับสนุนความเคลื่อนไหวของพวกเขาที่จะเสนอประมวลกฎหมายอาญาอิสลามในรัฐกลันตันทางตอนเหนือ ที่กำหนดโทษปาหินสำหรับการคบชู้ และตัดอวัยวะสำหรับความผิดฐานลักขโมย
มาเลเซียยกระดับความเข้มงวดของกฎหมายปลุกระดมมวลชน ที่มีมาตั้งแต่สมัยเป็นอาณานิคม เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ ซึ่งรัฐบาลเคยมีความตั้งใจที่จะยกเลิก แต่ปัจจุบันกลับระบุว่า มันมีความจำเป็นต่อการรักษาความกลมเกลียวทางศาสนา
นักวิจารณ์กล่าวหารัฐบาลว่าใช้กฎหมายนี้เพื่อปราบปรามนักการเมือง, นักข่าว, นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวที่เห็นค้าน