xs
xsm
sm
md
lg

นักเคลื่อนไหวมาเลเซียจี้รบ.เอาผิดชาวมุสลิมใช้กฎหมู่บังคับโบสถ์ “ถอดกางเขน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ประท้วงชาวมุสลิมประมาณ 50 คนที่ไปชุมนุมกดดันหน้าโบสถ์ตามันเมดาน เมืองเปตาลิงจายา รัฐสลังงอร์ จนทางโบสถ์ต้องยอมปลดไม้กางเขนออก เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา
เอเอฟพี – รัฐบาลมาเลเซียเผชิญกระแสเรียกร้องให้เอาผิดกับกลุ่มชาวมุสลิมที่ไปชุมนุมกดดันให้โบสถ์คริสต์แห่งหนึ่งถอด “ไม้กางเขน” ออก ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนแนวคิดอิสลามสุดโต่งในประเทศซึ่งขึ้นชื่อว่ามีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง

สื่อมาเลเซียรายงานว่า เมื่อวันอาทิตย์ (19 เม.ย.) มีชาวมุสลิมราว 50 คนไปชุมนุมประท้วงที่หน้าโบสถ์ตามันเมดาน ชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยอ้างว่าสัญลักษณ์ไม้กางเขนที่ติดอยู่เหนือโบสถ์ขัดต่อหลักศรัทธาของคนมุสลิมในพื้นที่

ทางโบสถ์ยอมที่จะถอดไม้กางเขนลงในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา จึงไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจทั้งต่อชาวมาเลย์มุสลิมและพลเมืองที่นับถือศาสนาอื่นๆ ซึ่งมองว่าลัทธิอิสลามสุดโต่งกำลังคุกคามวิถีชีวิตสายกลางที่มีมาแต่ดั้งเดิม

เจ้าหน้าที่ระดับสูง อดีตข้าราชการ และนักการทูตราว 30 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเสือเหลืองจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น และประณามผู้ประท้วงที่ไปคุกคามโบสถ์ว่า “สร้างความเกลียดชังอย่างไร้เหตุผล และไม่ยอมรับความแตกต่าง”

“เราขอให้รัฐบาลเอาผิดต่อผู้ประท้วงกลุ่มนั้นอย่างจริงจัง” นักเคลื่อนไหวกลุ่ม G25 ซึ่งรวมตัวกันเมื่อปีที่แล้วเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมอย่างสันติระหว่างผู้คนต่างศาสนาในมาเลเซีย แถลง

พวกเขาเตือนว่า หากรัฐบาลไม่ทำอะไรเสียบ้าง “จะยิ่งทำให้พวกหัวรุนแรงฮึกเหิม”

โดยปกติแล้ว ชาวมุสลิมซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของมาเลเซียสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนชาวคริสต์ ฮินดู และศาสนาอื่นๆ ได้อย่างสงบสันติ ภายใต้นโยบายของรัฐที่ให้สิทธิพิเศษต่อชาวมาเลย์มุสลิมมากกว่าชนกลุ่มน้อย

อย่างไรก็ตาม ช่วงไม่กี่ปีมานี้เริ่มมีกลุ่มมุสลิมเคร่งครัดและชาวมาเลย์ชาตินิยมจุดกระแสต่อต้านสิ่งที่พวกเขาอ้างว่าเป็น “ภัยคุกคาม” จากคนต่างศาสนา

รัฐบาลพยายามจำกัดการเคลื่อนไหวของประชากรเหล่านี้ ขณะที่นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ก็เริ่มหันมาเอาอกเอาใจฐานเสียงชาวมาเลย์มุสลิมมากขึ้น หลังจากที่กลุ่ม บาริซาน เนชันแนล (บีเอ็น) ที่ผูกขาดอำนาจปกครองมานาน 58 ปีเริ่มจะสูญเสียคะแนนนิยมให้ฝ่ายค้าน

ปีที่แล้ว ศาลสูงสุดมาเลเซียยืนตามคำสั่งรัฐบาลที่ห้ามหนังสือพิมพ์คาทอลิกใช้คำภาษาอาหรับ “อัลเลาะห์” เพื่อสื่อความหมายถึงพระเจ้าในศาสนาคริสต์

กำลังโหลดความคิดเห็น