xs
xsm
sm
md
lg

นักสิทธิโวยลั่น! มาเลเซียแก้กม. “ห้ามปลุกระดม” เพิ่มโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก แห่งมาเลเซีย
เอเอฟพี – รัฐสภามาเลเซียผ่านร่างแก้ไขกฎหมายห้ามปลุกระดม (Sedition Act) โดยเพิ่มระวางโทษจำคุกสูงสุดเป็น 20 ปีเมื่อเช้าวันนี้ (10 เม.ย.) ท่ามกลางเสียงติเตียนจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และนักการเมืองฝ่ายค้านที่ยกให้วันนี้เป็น “วันแห่งความมืดมน” ของประชาธิปไตยและเสรีภาพด้านการแสดงออกในแดนเสือเหลือง

เป็นครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์ที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ได้ผ่านร่างกฎหมายซึ่งนักสิทธิมนุษยชนประณามว่าเป็นการละเมิดสิทธิพลเมืองขั้นรุนแรง โดยเมื่อวันอังคาร(7) ก็เพิ่งประกาศใช้กฎหมายต่อต้านก่อการร้ายที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐกักขังบุคคลต้องสงสัยโดยไม่ต้องแจ้งข้อหา

กฎหมายฉบับแก้ไขได้เพิ่มโทษจำคุกฐานปลุกระดมสูงสุดจาก 3 ปีเป็น 20 ปี และกำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำ 3 ปีในบางกรณี นอกจากนี้ยังห้ามประชาชนใช้อินเทอร์เน็ตเผยแพร่สื่อที่ยั่วยุให้เกิดความแตกแยก ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลว่ารัฐจะใช้มาตรการเซ็นเซอร์เว็บไซต์

ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2013 นายกฯ นาจิบ เคยให้สัญญาว่าจะยกเลิกกฎหมายห้ามปลุกระดมซึ่งใช้มาตั้งแต่ยุคอาณานิคม แต่หลังจากกลุ่มแนวร่วม บาริซาน เนชันแนล (บีเอ็น) ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงตกต่ำเป็นประวัติการณ์ นาจิบ ก็กลับใช้กฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องมือกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม และได้ประกาศเมื่อปีที่แล้วว่ารัฐบาลจะยังคงกฎหมายห้ามปลุกระดมเอาไว้ แถมจะแก้ไขให้เข้มงวดยิ่งขึ้นด้วย

“เพื่อให้เราสามารถคงความเป็นรัฐที่มีเสถียรภาพ และประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ กฎหมายห้ามปลุกระดมจำเป็นต้องมีต่อไป” ผู้นำมาเลเซียเอ่ยในบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติวานนี้ (9)

ร่างแก้ไขกฎหมายผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเสือเหลืองเมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา แม้ฝ่ายค้านจะพยายามเตะสกัดเต็มที่ แต่ก็ไม่เป็นผล

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยอมอ่อนข้อให้กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ โดยตัดเนื้อหาส่วนที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ปฏิเสธการขอประกันตัวผู้ต้องหา และไม่ห้ามการตำหนิติเตียนรัฐบาล และยังคงเอาผิดการเผยแพร่สื่อที่เสี้ยมให้เกิดความเกลียดชังระหว่างศาสนา

เอ็น. สุเรนดรัน ส.ส.ฝ่ายค้านคนหนึ่ง กล่าวว่า “วันนี้เป็นวันแห่งความมืดมนสำหรับประชาธิปไตยในมาเลเซีย จะไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอีกต่อไปภายใต้กฎหมายกดขี่ฉบับนี้”

ด้านองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนชี้ว่า คำว่า “ปลุกระดม” สามารถตีความได้กว้างขวาง จึงอาจถูกรัฐใช้เป็นเครื่องมือกดขี่ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมาเลเซียก็มีประวัติฉาวโฉ่ในเรื่องนี้อยู่แล้ว

เซอิด ราอัด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนยูเอ็น เรียกร้องเมื่อวานนี้(9) ให้มาเลเซียยกเลิกกฎหมายปลุกระดมเสีย

“ช่างน่าผิดหวังที่รัฐบาลจะทำให้กฎหมายฉบับนี้เลวร้ายลงไปอีก” เซอิด กล่าว

องค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์ ตำหนิการแก้กฎหมายครั้งนี้ว่าเป็น “หายนะด้านสิทธิมนุษยชนในมาเลเซีย ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ทั้งในชีวิตประจำวัน และการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์”



เลิกอัยการศึกก่อนสงกรานต์-ลดเงื่อนไขภายนอกดัน ศก.ฟื้น !!
เลิกอัยการศึกก่อนสงกรานต์-ลดเงื่อนไขภายนอกดัน ศก.ฟื้น !!
แต่ถึงอย่างไรในภาพภายนอกยังเชื่อว่าจะดูดีกว่า ลดความกงวลได้มากกว่ากฎอัยการศึกแน่นอน เพราะมาตรา 44 ไม่ว่าอย่างไรก็ถือเป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญ ตามหลักนิติรัฐ อีกทั้งยังเชื่อสาเหตุสำคัญอีกอย่างที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติตัดสินใจยกเลิกกฎอัยการศึกครั้งนี้ก็คงเป็นอีกไม้เด็ดในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศทั้งเรื่องการลงทุนและการท่องเที่ยวที่ต้องการให้พุ่งกระฉูด เพราะอย่างหลังถือเป็นความหวังที่เหลืออยู่ในตอนนี้ก็ว่าได้
กำลังโหลดความคิดเห็น