xs
xsm
sm
md
lg

“ยะใส” ชี้ ม.44 ท้าทายจะใช้สร้างสรรค์ต่อส่วนรวมอย่างไร - “อดุลย์” วอนพิจารณารอบคอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (แฟ้มภาพ)
ผอ.สปท.เชื่อคนอยากเห็น “ประยุทธ์” ใช้ ม.44 แก้ปัญหาสะสม ชี้สิ่งที่ท้าทายจะถูกใช้อย่างสร้างสรรค์ต่อส่วนร่วมอย่างไร เผยพวกค้านมี 2 กลุ่ม แนะ กต.เร่งแจงองค์กรสิทธิ สอนนักสิทธิฯ ควรตั้งโจทย์ใหม่ อย่ามองแค่ปรากฏการณ์ ด้าน ปธ.คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 วอนพิจารณารอบคอบ พวกป่วนไม่จำเป็นต้องใช้ทั้งกองทัพจัดการ



วันนี้ (6 เม.ย.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ตนเห็นว่าข้อถกเถียงในประกาศ คสช.ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นประเด็นที่ท้าทาย และประชาชนก็รอการพิสูจน์จาก คสช.และรัฐบาลว่าจะนำไปใช้อย่างสร้างสรรค์ได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ ประกาศที่ออกมาล่าสุดยังเน้นเรื่องความมั่นคงทำให้ถูกวิจารณ์จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกประเทศ

นายสุริยะใสกล่าวว่า ในขณะนี้ตนเชื่อว่ามีคนจำนวนมากอยากเห็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.ไปแก้ปัญหาที่สะสมในเรื่องใหญ่ๆ ที่ระบราชการหรือกลไกปกติแก้ไขไม่ได้ เช่น การปรองดอง เรื่องปฏิรูปตำรวจ เรื่องพลังงาน การบุกรุกที่สาธารณะของกลุ่มทุนและการเมือง ปัญหาหลุมดำในวงการสงฆ์ หรือแม้แต่ขบวนการปั่นหุ้นอินไซเดอร์เทรดในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ซับซ้อนมีทั้งอำนาจในระบบและนอกระบบเชื่อมโยงทำงานเป็นขบวนการเป็นอำนาจซ้อนอำนาจ และอยู่เหนือกลไกรัฐมานาน ถ้าปล่อยให้กลไกปกติแก้ไขนอกจากจะทำไม่ได้แล้วกลไกรัฐที่เกี่ยวบางส่วนสมรู้ร่วมคิดและทำหน้าที่ปกป้องด้วยซ้ำไป ประชาชนจึงคาดหวังไม่ได้

“สิ่งท้าทาย คสช.เรื่องมาตรา 44 ไม่ใช่ประเด็นว่าจะทำให้ต่างประเทศหรือคนคัดค้านเขายอมรับได้อย่างไร แต่อยู่ที่ว่ามาตรา 44 จะถูกใช้อย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์กับส่วนรวมได้อย่างไร” นายสุริยะใสกล่าว

นายสุริยะใสกล่าวว่า กลุ่มคนที่ค้านมาตรา 44 มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอำนาจเก่าที่ตั้งธงค้าน เพราะเสียประโยชน์จึงอยากกลับไปเลือกตั้งโดยเร็ว คนกลุ่มนี้อ้างเรื่องสิทธิมนุษยชนแต่กลับเป็นกลุ่มคนที่สนับสนุนนโยบายฆ่าตัดตอนกว่า 3,000 ศพในรัฐบาลทักษิณมาแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศต้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจ หากอำนาจตามมาตรา 44 ถูกใช้อย่างสร้างสรรค์เสียงคัดค้านของกลุ่มนี้จะเบาบางลง

“วิวาทะเรื่องสิทธิมนุษยชนในระบอบประชาธิปไตยไทยที่บางคนบอกว่าเวลานี้ถดถอยที่สุด ผมว่าเป็นการมองแบบตัดตอนเกินไป ในยุครัฐบาลทักษิณที่ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย คนไทยจำนวนมากสนับสนุนนโยบายฆ่าตัดตอนถึงขั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งและเชื่อกันว่ามีคะแนนนิยมสูงกว่าอดีตนายกฯ คนอื่นๆ ถึงกับประกาศิตว่าใครที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดไม่นอนวัดก็อยู่คุก ฉะนั้นเรื่องที่ต้องคิดกันยาวๆ และเป็นต้นเหตุสำคัญ คือ การกลับมาของอำนาจนิยมในสังคมไทยทำไมจึงเริ่มเป็นกระแสและดูเหมือนได้รับการยอมรับมากขึ้น นักสิทธิมนุษยชนจึงต้องตั้งโจทย์ และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุให้ถูกไม่ใช่มองแค่ปลายเหตุหรือปรากฎการณ์เท่านั้น” นายสุริยะใสกล่าว

ด้านนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า คสช. ฉลาดที่ยกเลิกกฏอัยการศึก ทำให้สากลที่รู้จักกฏอัยการศึกษา (Marshell Law) สบายใจ แต่ คสช.อาจจะไม่เฉลียวใจว่าการใช้มาตรา 44 จะมีผลกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานการแสดงออก ความคิดเห็นของประชาชน แม้ว่า คสช.จะยืนยันว่าใช้อำนาจเพื่อสร้างรักษาความสงบและสร้างความปรองดองจริงอยู่ ซึ่งทุกวันนี้ประชาชนก็เข้าใจและสนับสนุนอยู่แล้ว แต่การผ่อนคลายไม่ให้ตึงเกินไป น่าจะทำให้บรรยากาศความรักสามัคคีตามประเพณีไทยเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า กองทัพแม้จะมากด้วยคนเก่งและความสามารถ แต่ยังมีขีดจำกัดในการบริหารประเทศบางเรื่องที่ยังไม่เหมาะกับสถานการและยังไม่สมควรแก่เวลา จึงควรพิจารณาให้รอบคอบกว่านี้

“ขอร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจในทางสร้างสรรค์จริงๆ ลำพังแค่คนกลุ่มบางกลุ่มป่วนคงไม่จำเป็นต้องลากกองทัพมาจัดการ เพียงใช้กฎหมายให้จริงจังและเด็ดขาดก็จัดการได้แล้ว เพราะประชาชนส่วนใหญ่ก็เอือมระอากับความรุนแรง อยากเห็นบ้านเมืองสงบสุขด้วยกันทั้งนั้น” นายอดุลย์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น