xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ปูด 5 สถานการณ์เสี่ยง ต้องใช้ ม.44 ออกคำสั่ง - ผ่อนคลายใช้ 3 ศาล ลดระแวงประชาคมโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย แจงการออกคำสั่ง หน.คสช. ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 มี 5 สถานการณ์เสี่ยง “ผู้สูญเสียอำนาจ - กลุ่มทุนอิทธิพล - ฉวยโอกาสเปลี่ยนแปลงการเมือง - ป่วนเมืองเหตุผลอื่น - ระบายเดือดร้อน” ยัน คสช. ทำเพื่อไม่ให้เลือดไหลออก แจงข้อด๊ช่วยลดระแวงในประชาคมโลก ศาลทหารได้สู้กัน 3 ศาล ลดอำนาจเหลือตามคำสั่ง และเจ้าพนักงานยศสูง เผยคดีกองศาลทหารเหลือร้อยคดี


วันนี้ (2 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย แถลงถึงกรณีมีประกาศพระบรมราชโองการให้ยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก และการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกตามความมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาใช้แทน ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การนำมาตรา 44 มาใช้แทนกฎอัยการศึก เพียงแต่เอาคำสั่งที่ออกตามมาตรา 44 ไปใช้แทน ซึ่งขณะนี้คำสั่งหัวหน้า คสช. มีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งนี้ การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. เนื่องจากหลังยกเลิกกฎอัยการศึก จำเป็นต้องมีมาตรการใดมารองรับ เพราะ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ รายงานการข่าวต่อรัฐบาลว่า ยังมีสถานการณ์สำคัญที่ไม่เป็นที่ไว้วางใจอยู่ โดยเฉพาะการกระทำความผิดที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การกระทำความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร การใช้อาวุธปืน ดอกไม้เพลิง อาวุธสงคราม ยังมีความรุนแรงในบางพื้นที่ รวมทั้งการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช. ที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้

นายวิษณุ กล่าวว่า มีอยู่ 5 สถานการณ์ที่ยังไม่อาจทำให้ไว้วางใจได้ คือ 1. อาจมีผู้สูญเสียอำนาจทางการเมืองในอดีต บางคนอาจจะก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น 2. กลุ่มทุน กลุ่มเศรษฐกิจ กลุ่มอิทธิพล ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบสังคม และก่อความไม่สงบขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเอง แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง 3. กลุ่มที่รู้ว่ากำลังจะเข้าโรดแมประยะที่ 3 คือ เตรียมจะจัดการเลือกตั้ง การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ อาจก่อความไม่สงบเรียบร้อยบางอย่างขึ้นในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ฉวยโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต 4. กลุ่มสร้างสถานการณ์ให้เกิดความไม่เรียบร้อยขึ้น อาจจะไม่มีเจตนาทางการเมือง แต่เจตนาเรื่องอื่น และ 5. กลุ่มที่รู้สึกได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นกลุ่มสุจริต ไม่มีเจตนาทางการเมือง แต่อาจจะระบายโดยการก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเหตุการณ์เหล่านี้อยู่จึงเป็นหน้าที่ของ คสช. ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ให้กลับไปสู่เหตุการณ์ลักษณะเหมือนเลือดไหลออก

รองนายกฯ กล่าวว่า ความแตกต่างระหว่างการใช้กฎอัยการศึกกับคำสั่งหัวหน้า คสช. มี 4 ประการ คือ 1. การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าวหมายความว่า ประเทศไม่ได้อยู่ในสถานการณ์กฎอัยการศึกอีกต่อไป ช่วยลดความหวาดระแวงในประชาคมโลก จะเป็นผลดีกับเรื่องการท่องเที่ยว และการทำประกันความเสียหาย จะไม่มีข้อแก้ตัวให้กับบริษัทประกันภัยอีกต่อไป 2. ศาลทหาร ซึ่งเมื่อยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก จะกลับมาเป็นศาลทหารในเวลาปกติ ทำให้คดีที่ตัดสินในศาลทหารชั้นต้นแล้ว สามารถอุทธรณ์ต่อศาลทหารกลาง และฎีกาต่อศาลทหารสูงสุดได้ ดังนั้น นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 58 จะยังต้องขึ้นศาลทหารต่อไป แต่จะสู้กัน 3 ศาล 3. อำนาจเจ้าหน้าที่จะเหลือเพียงที่เขียนอยู่ในคำสั่งหัวหน้า คสช. เท่านั้น ซึ่งเป็นอำนาจที่ลอกมาจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ 4. เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยจะต้องเป็นนายทหารยศร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี ขึ้นไป และเป็นคนที่หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งแต่งตั้งเท่านั้น เจ้าหน้าที่อื่นไม่มีอำนาจในเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อาจเป็นเจ้าพนักงานตามคำสั่งหัวหน้า คสช. แต่ทหารสามารถขอความร่วมมือกับตำรวจเข้าร่วมปฏิบัติการได้ เพราะตำรวจมีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

รองนายกฯ กล่าวอีกว่า สำหรับคดีใหม่ที่เกิดขึ้นหลังคำสั่งหัวหน้า คสช. มีผลบังคับใช้จะต้องขึ้นศาลทหาร โดยสู้กัน 3 ศาล แต่เฉพาะความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ความผิดตามกฎหมายอาวุธปืน โดยเฉพาะอาวุธสงคราม และความผิดที่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งความผิดเรื่องการชุมนุมเกิน 5 คน หากหัวหน้า คสช. ไม่อนุญาตจะเป็นความผิดต้องขึ้นศาลทหาร แต่มีมาตรการเยียวยา คือ หากการชุมนุมโดยไม่ขออนุญาต จะมีวิธีที่ไม่ถูกดำเนินคดี คือ เจ้าหน้าที่เรียกมาเพื่อจะอบรม คล้ายกับการปรับทัศนคติ หากมาอบรมถือเป็นอันยุติ ไม่ต้องนำคดีไปฟ้อง ขณะที่คดีเก่าในศาลทหารก่อนคำสั่งหัวหน้า คสช. บังคับใช้ หากคดียังไม่สิ้นสุด สามารถอุทธรณ์และฎีกาได้ ทั้งนี้ คดีที่มีการพิจารณาอยู่ในศาลทหารขณะนี้ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 57 มีทั้งสิ้น 580 คดี แบ่งเป็นต่างจังหวัด 500 คดี และ กทม. 80 คดี ซึ่งตัดสินแล้ว 300 - 400 คดี ยังไม่จบหรือยังจับตัวไม่ได้อีกกว่า 100 คดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า องค์การต่างประเทศกังวลว่าศาลทหารจะไม่มีความเป็นอิสระ นายวิษณุ กล่าวว่า ได้รับทราบ แต่ขั้นตอนขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลอะไรที่จะมองว่าศาลทหารไม่ให้ความเป็นธรรม สิ่งหนึ่งที่จะทำให้วางใจและเบาใจได้คือ การให้คดีดำเนินไปใน 3 ศาลเหมือนศาลพลเรือน อาจช่วยเหลือความหวาดระแวงบางอย่างได้ อีกทั้งศาลทหารมีเกือบทุกประเทศในโลก หากคิดว่าศาลทหารไม่สามารถให้ความเป็นธรรมพลเรือนได้ แล้วทำไมไม่คิดต่อไปว่าแล้วทหารที่ต้องขึ้นศาลทหารจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ จึงคิดแบบนั้นไม่ได้ ดังนั้น เมื่อไปสู่ศาลแล้วต้องไว้วางใจว่า ศาลคือศาล การมี 3 ศาลดีกว่าศาลเดียว นอกจากนี้ การให้พลเรือนขึ้นศาลทหารเฉพาะบางความผิดเท่านั้น จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับองค์กรระหว่างประเทศต่อไป

เมื่อถามกรณีสำนักสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (โอเอชซีเอสอาร์) มีความกังวลที่ไทยประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก และนำมาตรา 44 มาบังคับใช้แทนที่ อาจกลายเป็นประตูสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่รุนแรง และเป็นการทำลายเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นของประชาชน รองนายกฯ กล่าวว่า ใครอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 44 และปิดรัฐธรรมนูญแล้วนั่งคิดต้องกลัวทั้งนั้น เพราะไม่รู้จะเอาไปใช้อย่างไร แต่ตอนนี้เป็นคำสั่ง 14 ข้อแล้ว จึงต้องไปดูตรงคำสั่งว่าวิตกกังวลอะไรหรือไม่ ใครวิตกตรงไหนอธิบายได้ทั้งนั้น ตนย้ำว่ามาตรา 44 คือ การให้ไปออกคำสั่ง อย่างไรก็ตาม คงทำให้พอใจไปหมดไม่ได้ เพราะยังรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่มีอำนาจอยู่ แต่เป็นอำนาจในมาตรฐานเดียวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เมื่อถามถึงเหตุผลในการมีข้อ 5 ในคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งเกี่ยวกับสื่อ รองนายกฯ กล่าวว่า ข้อนี้ลอกมาจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยืนยันว่า ไม่ใช่การขู่ และเชื่อว่า ในทางปฏิบัติใช้วิธีพูดคุยทำความเข้าใจ ไม่ถึงขนาดนำข้อนี้มาใช้


กำลังโหลดความคิดเห็น