เอเอฟพี – นักสิทธิมนุษยชนชี้พลเมืองซีเรียต้องเผชิญกับเหตุนองเลือดและวิกฤตมนุษยธรรมครั้งเลวร้ายที่สุดในปี 2014 ซึ่งประชาคมโลกจะต้องมีส่วนรับผิดชอบ ในขณะที่สงครามกลางเมืองซีเรียย่างเข้าสู่ปีที่ 5 โดยยังไม่มีวี่แววที่จะยุติลงได้
นักสิทธิมนุษยชนจาก 21 องค์กรได้เผยแพร่รายงานซึ่งใช้ชื่อว่า “Failing Syria” โดยมีเนื้อหาวิจารณ์ประเทศมหาอำนาจที่ไม่พยายามนำมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่าด้วยปัญหาซีเรียไปบังคับใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
มติทั้ง 3 ครั้งที่คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นประกาศในปี 2014 กำหนดให้กลุ่มที่จับอาวุธต่อสู้ในซีเรียปกป้องพลเรือนที่ไม่มีส่วนในการสู้รบ และเปิดช่องทางส่งความช่วยเหลือไปยังพลเมืองที่เดือดร้อนจากไฟสงครามนับล้านๆ คน
“อย่างไรก็ตาม มติซึ่งก่อให้เกิดความหวังเหล่านี้กลับไม่บังเกิดผลใดๆ ต่อชาวซีเรียเลย พวกเขาถูกทอดทิ้งและถูกบั่นทอนโดยฝักฝ่ายต่างๆ ที่ทำสงครามห้ำหั่นกัน ไม่เว้นแม้กระทั่งชาติสมาชิกยูเอ็น หรือสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นเอง” รายงานระบุ
ปี 2014 นับว่าเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดในสงครามกลางเมืองซีเรีย โดยมีผู้ถูกสังหารไปอย่างน้อย 76,000 คน ทำให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่สงครามปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ปี 2011 พุ่งสูงกว่า 210,000 คน
สงครามซีเรียย่างเข้าสู่ปีที่ 5 โดยยังไร้ซึ่งสัญญาณการยุติ
“นี่คือการทรยศต่ออุดมการณ์ของเราเอง เพราะเราไม่ควรทนเห็นผู้คนต้องทุกข์ทรมานและล้มตายต่อไปอีกในปี 2015” แจน อีเกอแลนด์ เลขาธิการสภาผู้ลี้ภัยนอร์เวย์ซึ่งมีส่วนเรียบเรียงรายงานชิ้นนี้ ระบุ
นักสิทธิมนุษยชนยังตำหนิฝ่ายกบฏและกองทัพรัฐบาลซีเรียที่ทำลายโครงสร้างพื้นฐานแบบไม่เลือก รวมถึงโรงเรียนและสถานพยาบาล และไม่เปิดโอกาสให้พลเรือนเข้าถึงปัจจัยยังชีพขั้นพื้นฐานได้อย่างเพียงพอ
รายงานซึ่งร่วมเรียบเรียงโดยองค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนอย่าง อ็อกซ์แฟม, ไออาร์ซี และเซฟ เดอะ ชิลเดรน ระบุด้วยว่า ในปี 2014 มีชาวซีเรียอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งยูเอ็นจัดว่า “ยากแก่การส่งความช่วยเหลือไปถึง” มากถึง 4.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2013 เกือบเท่าตัว แต่งบประมาณช่วยเหลือกลับได้รับการอุดหนุนเพียง 57% ของวงเงินที่จำเป็นต้องใช้ในปี 2014 ซึ่งลดลงมากเมื่อเทียบกับปี 2013 ที่สามารถจัดหาเงินทุนได้ถึง 71%
อีเกอแลนด์ ประเมินว่า ปีนี้ยูเอ็นจะต้องใช้งบประมาณราว 8,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสงเคราะห์พลเรือนซีเรีย
“เงินจำนวนนี้แค่ 1 ใน 6 ของงบที่ใช้จัดกีฬาโอลิมปิก 2013 ที่เมืองโซชิเท่านั้น... รัสเซียทุ่มเม็ดเงินมหาศาลจัดโอลิมปิกได้ แต่เหตุใดจึงไม่สามารถบริจาคเงินที่มากพอ เพื่ออุดหนุนภารกิจด้านมนุษยธรรมที่ยังคงขาดแคลนอยู่มาก” เขาตั้งคำถาม
ความขัดแย้งในซีเรียเริ่มต้นจากการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติ ก่อนที่สถานการณ์จะลุกลามจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่คร่าชีวิตคนนับแสน และทำให้พลเมืองซีเรียต้องพลัดถิ่นกว่า 11.2 ล้านคน
องค์การสหประชาชาติยกให้สงครามซีเรียเป็นวิกฤตผู้อพยพครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 20 ปี