xs
xsm
sm
md
lg

จวกร่าง กม.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ประชานิยมไล่แจกเงิน ทำ "แพทย์-พยาบาล" เป็นแพะ โทษแรงกว่าฆ่าคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์ชี้ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ หลักการดี แต่เนื้อหาตรงข้าม ทำแพทย์พยาบาลกลายเป็นแพะ ถูกยัดเยียดข้อหาจาก NGO นักสิทธิมนุษยชน ที่ไม่มีความรู้เรื่องการรักษามาโหวตผิดถูก แถมกำหนดโทษบุคลากรทางการแพทย์ร้ายแรงกว่าเจตนาฆ่า-คอร์รัปชัน จวกเป็นกฎหมายประชานิยมไล่แจกเงิน เอาความรู้สึกผู้บริโภคเป็นเกณฑ์ แนะขยาย ม.41 ครอบคลุมทุกสิทธิแทนออกกฎหมายใหม่
นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา (ภาพจากhttp://www.vibhavadi.com/doctorprofile53.html)
นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข มีอะไรหลายอย่างคล้ายกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คือชื่อกฎหมายดูดีแต่เนื้อในตรงกันข้าม เพราะเมื่อดูแต่ชื่อบวกกับหลักการและเหตุผลในการออกกฎหมาย ซึ่งเสริมด้วยการโฆษณาชวนเชื่อว่าไม่เอาผิดหมอ ไม่ฟ้องหมอ การรักษามีปัญหาก็ได้เงินไปใช้ ก็คงต้องชูสองมือสนับสนุนเต็มที่ แต่ที่บุคลากรด้านสาธารณสุขต่อต้านอย่างหนัก เพราะเอาคนที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์และไม่รู้จริงในเรื่องการรักษาพยาบาล เช่น นักสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหวผู้แสนดีในสายสาธารณสุข (NGO) นักคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น มาพัฒนาความปลอดภัย และมาโหวตถูกผิดด้วยเสียงข้างมาก ทำให้แพทย์และพยาบาลกลายเป็นแพะที่สามารถถูกยัดเยียดข้อหาพยายามฆ่าหรือทำร้ายผู้อื่นได้ ซึ่งหากพิสูจน์ผิดถูกไม่ได้ก็ให้รีบจ่ายเงิน ซึ่งหลังจากจ่ายเงินและทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วยังสามารถฟ้องร้องต่อได้อีก เป็นการฉีกตำรานิติศาสตร์ ขัดหลักนิติธรรม โดยร่างพ.ร.บ.ยังระบุว่าไม่หาคนผิดถูก แต่กลับเขียนว่าต้องสำนึกผิด ต้องจ่ายเงินเยียวยาผู้บริโภคก่อน มิฉะนั้นจะไม่ให้ศาลลดโทษอาญา

นพ.เมธี กล่าวอีกว่า ที่สำคัญโทษประมาทฐานช่วยคนอื่นไม่สำเร็จร้ายแรงยิ่งกว่าคดีเจตนาฆ่าหรือคอร์รัปชัน ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังมีลักษณะเป็นประชานิยม เพราะเป็นการไล่แจกเงิน ผู้บริโภคมีสิทธิรับเงินด่วนได้ โดยไม่ต้องพิสูจน์ผิดถูกจากการได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งเงินก้อนแรกจะได้หลายแสนบาทภายในไม่เกิน 2 เดือน ได้รับอีกล้านบาทภาย 2-3 เดือน นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ยังเอาความรู้สึกของผู้บริโภคเป็นเกณฑ์ โดยขยายอายุความการฟ้องร้องแบบไม่มีอายุความ คือเพียงสงสัยว่าอาการที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการรักษาเมื่อ 10 กว่าปีก่อนก็สามารถฟ้องร้องได้ มีสิทธิรับเงินก้อนที่สามอีก ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อเห็นว่าเงินก้อนที่ 2 อาจได้น้อยเกินไป ก็สามารถไปฟ้องศาลได้ทันที แต่หากฟ้องแล้วแพ้คือศาลบอกหมอไม่ผิด ก็ไม่ต้องคืนเงิน ซึ่งกองทุนอาจใจดีแถมให้อีกก้อนด้วย ที่สำคัญฟ้องฟรีไม่ต้องมีทนาย เพราะศาลบอกเป็นคดีว่าด้วยการบริโภค ฟ้องได้แบบไม่ต้องวางเงินต่อศาลเหมือนคดีโกงเงินทั่วไป และทนายก็ไม่ต้องจ้าง

"แพทย์พยาบาลที่ต้องทำงานช่วยชีวิตคนอื่นแบบหามรุ่งหามค่ำ กลายเป็นคนร้ายที่ก่อความเสียหายโดยไม่รู้ร้อนรู้หนาว จนต้องออกกฎหมายนำเงินภาษีไปจ่ายให้โดยไม่รู้ว่าทำผิดจริงหรือไม่ และจ่ายแล้วก็ไม่ได้ช่วยให้กระบวนการรักษาปลอดภัยขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งผมเชื่อว่าร่างกฎหมายนี้คงผ่านสภายุคนี้ไม่ยาก เพราะคงยากที่จะหาใครมาอ่านครบทุกมาตรา ซึ่งกฎหมายแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับประชานิยมจำนำข้าว แจกแท็บเล็ต คือถูกใจทั้งผู้ให้ พอใจทั้งผู้รับ โดยไม่สนว่าระบบสาธารณสุขจะล่มจมเพราะการไล่แจกเงินโดยไม่ก่อประโยชน์ที่คุ้มค่า จะยิ่งทำให้การพัฒนาทำไม่ได้ ความเสียหายที่อ้างกันก็ยิ่งเกิด วนเป็นวัฎจักรไม่รู้จบ" ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าว

นพ.เมธี กล่าวว่า อยากขอโอกาสในการชี้แจงต่อนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่แท้จริงของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้และเสนอแนวทางออกในช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายโดยไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ ไม่ต้องตั้งกองทุนใหม่ ไม่ต้องมีงบบริหารจัดการใหม่ เพราะตอนนี้ก็มีกองทุนด้านสาธารณสุขมากมายอยู่แล้ว โดยควรขยายมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จากที่ช่วยเหลือเฉพาะผู้ป่วยสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครอบคลุมผู้ใช้สิทธิประกันสังคมและข้าราชการด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น