ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ทางการเรียกตัวเอ็นจีโอภาคอีสาน 3 คนไปปรับทัศนคติ หลังร่วมลงชื่อเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนอีสาน 12 องค์กร ไม่ยอมรับอำนาจ คสช. และปฏิเสธเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปกับ สปช. เนื่องจากเห็นว่าไม่ยึดโยงประชาชน ทำลายการตรวจสอบอำนาจรัฐ ขณะที่อีกรายเผยมีเจ้าหน้าที่ 5-6 คนบุกถึงบ้านเกิด มาขอเอกสารกับพ่อ-แม่
วันนี้ (4 พ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า นายจักรพงษ์ ธนวรพงศ์ รองเลขาธิการสมัชชาองค์กรเอกชนด้านคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ, นายศิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างฝายร้อยเอ็ด ฝายยโสธร และฝายธาตุน้อย และนายศักดา อ๋องสืบผล ถูกทางการเรียกไปรายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติอีกครั้ง หลังจากที่ทั้งสามคนได้ร่วมเคลื่อนไหวในนาม องค์กรภาคประชาชนอีสาน 12 องค์กร ออกแถลงการณ์ประกาศไม่ยอมรับอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และไม่ยอมรับกลไกคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และปฏิเสธการเข้าร่วมเวทีหรือกระบวนการใดๆ ที่กำลังจัดทำข้อเสนอ และกำลังติดตามคนอื่นๆ
นอกจากนี้ หนึ่งในผู้ที่ร่วมลงชื่ออีกรายเปิดเผยว่า มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 5-6 คนมาที่ภูมิลำเนา มาขอเอกสารกับบิดามารดาตนอีกด้วย
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 พ.ย. เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนอีสาน 12 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ ซึ่งภายหลังเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ประชาไท โดยระบุว่า หลัง คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครองนั้น ทำให้ไม่มีกลไกทางการเมืองใดที่ยึดโยงอำนาจกับประชาชน ใช้อำนาจแบบสั่งการโดยให้ไปเสนอปัญหาที่ สปช. และศูนย์ดำรงธรรม มากกว่าเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและตั้งคำถาม ขณะเดียวกันยังใช้กลไกข้าราชการและทหารผลักดันให้ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกิน ลดขั้นตอนขออนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมเอื้อประโยชน์นายทุน
ขณะเดียวกัน เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.แร่, ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม กลับใช้กฎอัยการศึกห้ามเคลื่อนไหว อ้างว่ายังมีคลื่นใต้น้ำ ชาวบ้านที่เดือดร้อนถูกเหมารวมเป็นพวกที่ไม่อยากให้ประเทศเดินหน้าปฏิรูป ทั้งๆ ที่การปกป้องชุมชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนอีสาน เห็นว่าการเข้าไปอยู่ในกลไกของ คสช., ครม., สนช. และ สปช. ทำลายความเข้มแข็งของภาคประชาชน และไม่สามารถมีพลังคัดค้านและตรวจสอบนโยบายรัฐ กฎหมาย หรือโครงการพัฒนาใดๆ ได้เลย
สำหรับองค์กรที่ร่วมลงชื่อได้แก่ ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ อีสาน (ศสส.), กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา, โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่, เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ประเทศไทย, เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน, ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชี (ศสช.), โครงการปฏิบัติการเพื่อสิทธิคนจน (ภาคอีสาน), เครือข่ายนักสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน, กลุ่มบ้านสันติภาพ, กลุ่มสื่อเสียงคนอีสาน, ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.), ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
ขณะที่บุคคลที่เข้าลงชื่อได้แก่ นายจักรพงศ์ ธนวรพงศ์, นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์, นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์, นายสิริศักดิ์ สะดวก, นายปัญญา คำลาภ, นายเดชา คำเบ้าเมือง, นายนัฐพงษ์ ราชมี, นายณตฤณ ฉอ้อนศรี, นายไพฑูรย์ สร้อยสด, นายสว่าง น้อยคำ, นางชลธิชา ตั้งวรมงคล, นายวิทูวัจน์ ทองบุ, น.ส.ณัฐพร อาจหาญ, นายอดิศักดิ์ ตุ้มอ่อน, นายนิติกร ค้ำชู และ นายยงยุทธ ดงประถา