xs
xsm
sm
md
lg

เอามั่ง! “ไนจีเรีย” วอนผู้นำอินโดนีเซียเว้นโทษประหารพลเมืองขนยาเสพติด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ราฮีม อักบาเจ ซาลามี 1 ใน 3 พลเมืองไนจีเรียซึ่งก่อคดีขนยาเสพติดในอินโดนีเซีย และถูกตัดสินประหารชีวิต
เอเอฟพี - รัฐบาลไนจีเรียยื่นหนังสือวิงวอนต่อทางการอินโดนีเซียวานนี้ (9 มี.ค.) ให้ละเว้นโทษตายแก่พลเมืองไนจีเรีย 3 คนที่ก่อคดีลักลอบขนยาเสพติดในแดนอิเหนา

อินโดนีเซียขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีกฎหมายเอาผิดคดียาเสพติดรุนแรงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และชาวไนจีเรียทั้ง 3 คนก็เคยยื่นขอความปรานีจากประธานาธิบดีโจโค วิโดโด มาแล้ว แต่ไม่เป็นผล

ดันจูมา เชนี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศไนจีเรีย เป็นผู้แทนรัฐบาลยื่นหนังสือวิงวอนขอลดหย่อนโทษผ่านทาง แฮร์รี ปุรวาโต เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำกรุงอาบูจา

“เราทราบดีว่าบทลงโทษสำหรับผู้ลักลอบขนยาเสพติดในประเทศของคุณเป็นอย่างไร แต่เรายังอยากให้บันทึกเอาไว้ก่อน และขอให้คุณและประธานาธิบดีของคุณนึกถึงหลักความเมตตากรุณา” เชนีกล่าวขณะเข้าพบทูตอินโดนีเซีย

รัฐบาลไนจีเรียทราบดีว่า พลเมืองทั้ง 3 คนถูกไต่สวนความผิดตามกระบวนการยุติธรรมของจาการ์ตาแล้ว “และคำขอลดหย่อนโทษของพวกเขาถูกประธานาธิบดีปฏิเสธ” เชนี กล่าว พร้อมระบุว่า หนึ่งในสามผู้ต้องหาที่มีชื่อว่า ราฮีม อักบาเจ ซาลามี ถูกส่งตัวไปยังเกาะแห่งหนึ่ง และอาจจะถูกประหารชีวิตได้ทุกเมื่อ

“เราขอร้องคุณ และขอวิงวอนผ่านคุณไปยังรัฐบาลอินโดนีเซียว่า โทษประหารที่ ซาลามี จะต้องได้รับนั้น ขอให้ผ่อนผันเป็นการจำคุกตลอดชีวิตแทน”

เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียได้รับหนังสือไว้ และสัญญาว่าจะส่งไปให้รัฐบาลที่กรุงจาการ์ตาพิจารณา

นักโทษคดียาเสพติดชาวออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส, บราซิล, ฟิลิปปินส์ และกานา ก็กำลังจะถูกประหารชีวิตเช่นกัน แม้ว่ารัฐบาลของทุกชาติจะพยายามกดดันและโน้มน้าวอินโดนีเซียอย่างสุดความสามารถเพื่อช่วยชีวิตพลเมืองของตนก็ตาม

ไนจีเรียมีประชากรหนาแน่นที่สุดในทวีปแอฟริกา และมีระวางโทษประหารชีวิตเช่นเดียวกัน แต่แทบไม่เคยนำมาใช้จริง การประหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2013 เมื่อรัฐอีโดทางตอนใต้ของไนจีเรียแขวนคอกลุ่มนักโทษที่ก่อคดีปล้นฆ่า โดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากองค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) และนักสิทธิมนุษยชน
นักโทษชาวต่างชาติทั้ง 7 คนที่ถูกส่งไปยังเกาะนูซากัมบังงันเพื่อรอวันประหาร: (แถวบนจากซ้าย) มยูรัน สุกุมารัน และ แอนดรูว์ ชาน ชาวออสเตรเลีย, เซอร์เก อัตลาวี  ชาวฝรั่งเศส และ โรดริโก กูลาร์เต ชาวบราซิล// (แถวล่างจากซ้าย) ราฮีม อักบาเจ ซาลามี ชาวไนจีเรีย, แมรี เจน เฟียสตา เวโลโซ ชาวฟิลิปปินส์ และ ซิลเวสเตอร์ โอเบียกเว นโวลิเซ ชาวไนจีเรีย
เกาะนูซากัมบังงัน (ด้านหลัง) อันเป็นที่ตั้งเรือนจำความมั่นคงสูงและแดนประหาร

กำลังโหลดความคิดเห็น