เอเอฟพี - พี่ชายของ แอนดรูว์ ชาน หนึ่งในสองนักโทษชาวออสเตรเลีย ออกมาวิงวอนผ่านสถานีโทรทัศน์อินโดนีเซียให้ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด มีเมตตาละเว้นโทษตายแก่น้องของตนซึ่งถูกจับพร้อมพวกฐานลักลอบขนยาเสพติดออกจากเกาะบาหลีเมื่อ 10 ปีก่อน
แอนดรูว์ ชาน และ มยูรัน สุกุมารัน เป็นหัวหน้ากลุ่ม “บาหลีไนน์” ที่พยายามนำเฮโรอีนออกจากเกาะบาหลีเมื่อปี 2005 และถูกศาลอินโดนีเซียตัดสินประหารชีวิตในปีต่อมา
ประธานาธิบดีอินโดนีเซียปฏิเสธคำขอลดหย่อนโทษของผู้ต้องหาทั้งสอง ซึ่งเท่ากับปิดโอกาสสุดท้ายที่พวกเขาจะรอดพ้นจากคมกระสุนของหน่วยแม่นปืน
อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของชานและสุกุมารันยังไม่ลดละความพยายามที่จะขอความเมตตาจาก วิโดโด โดยอ้างว่าผู้ต้องหาทั้งสองได้รับการบำบัดพฤติกรรมระหว่างถูกคุมขังมานานหลายปี และล่าสุด ไมเคิล ชาน พี่ชายของ แอนดรูว์ ก็ได้ออกมาวิงวอนอีกครั้งหนึ่งเมื่อค่ำวานนี้ (1 มี.ค.)
“ผมขอเรียนท่านประธานาธิบดีโจโควีว่า ในฐานะครอบครัวพวกเรารู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และขอโทษแทน แอนดรูว์ ด้วย... การกระทำของเขาได้สร้างความเสื่อมเสียต่อชาวอินโดนีเซียและประเทศอินโดนีเซียโดยไม่จำเป็นเลย” ไมเคิลกล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ทีวีวัน โดยเรียกชื่อผู้นำแดนอิเหนาแบบลำลอง
“เขาไม่ใช่แอนดรูว์คนเดิมเมื่อ 10 ปีก่อนแล้ว” ไมเคิลกล่าว พร้อมขอร้องให้ วิโดโด มอบโอกาสครั้งที่ 2 แก่น้องชาย
ไมเคิลบอกด้วยว่า แอนดรูว์และสุกุมารัน “ได้เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของอินโดนีเซียมากขึ้น และเสียใจในสิ่งที่พวกเขาได้ทำลงไป”
โมม็อก บัมบัง ซามิอาร์โซ หัวหน้าสำนักงานอัยการบาหลี แถลงวันนี้ (2) ว่า ชาน และ สุกุมารัน จะถูกส่งตัวจากเรือนจำบนเกาะบาหลีไปยังเรือนจำความมั่นคงสูงนอกเกาะชวาภายในสัปดาห์นี้ และจะถูกประหารชีวิตที่นั่น แต่เจ้าหน้าที่ยังอยู่ระหว่างหารือรายละเอียดการส่งตัว
รัฐบาลออสเตรเลียพยายามทุกวิถีทางที่จะกดดันให้จาการ์ตาเปลี่ยนใจ โดยนายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์ ได้โทรศัพท์ไปพูดคุยกับประธานาธิบดี วิโดโด ด้วยตนเอง และออกมาให้สัมภาษณ์ในทำนองมีหวังว่า วิโดโด “จะพิจารณาจุดยืนของเขาใหม่”
อย่างไรก็ตาม วิโดโดได้ออกมาปฏิเสธสิ่งที่ผู้นำแดนจิงโจ้คาดเดา โดยระบุว่า อินโดนีเซียมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อการประหารนักโทษทั้งสอง
ชาน และ สุกุมารัน อยู่ในกลุ่มนักโทษต่างชาติอีกหลายคนที่ วิโดโด ไม่ลดหย่อนโทษให้ รวมถึงพลเมืองฝรั่งเศสและบราซิล
รัฐบาลแดนแซมบ้าและฝรั่งเศสก็ใช้ความพยายามในเชิงการทูตที่จะกดดันอินโดนีเซียให้ละเว้นโทษตายแก่พลเมืองของตนเช่นกัน โดยปารีสได้เรียกทูตอินโดนีเซียเข้าพบ ส่วนบราซิลนั้นถึงขั้นไม่ยอมรับอักษรสาส์นตราตั้งของเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียคนใหม่