เอเอฟพี – รัฐบาลออสเตรเลียเสนอที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เรือนจำอินโดนีเซียต้องใช้ในการจำคุก 2 ผู้ต้องหาคดียาเสพติดชาวเมืองจิงโจ้ไปตลอดชีวิต ขอเพียงแต่ยอมละเว้นโทษประหารเท่านั้น
จูลี บิชอป รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ได้ยื่นจดหมายต่อ เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียในวันนี้ (12 มี.ค.) ซึ่งนับเป็นความพยายามครั้งล่าสุดของแคนเบอร์ราที่จะรักษาชีวิต แอนดรูว์ ชาน และมยูรัน สุกุมารัน เอาไว้
ชาน และ สุกุมารัน อยู่ในกลุ่มนักโทษ 11 คนที่จะถูกยิงเป้าในเรือนจำความมั่นคงสูงบนเกาะนูซากัมบังงันของอินโดนีเซีย โดยเกือบทั้งหมดเป็นนักโทษชาวต่างชาติ
ทั้งสองเป็นหัวหน้าแก๊ง “บาหลีไนน์” ที่พยายามลักลอบขนเฮโรอีนน้ำหนัก 8 กิโลกรัมออกจากเกาะบาหลีไปยังออสเตรเลียเมื่อปี 2005 และถูกศาลอินโดนีเซียตัดสินประหารชีวิตในปีต่อมา ส่วนลูกน้องอีก 7 คนได้รับโทษจำคุกกันคนละหลายสิบปี หรือตลอดชีวิต
ก่อนหน้านี้ บิชอป ได้กดโทรศัพท์ถึง มาร์ซูดี เมื่อวันที่ 3 มี.ค. เพื่อหารือความเป็นไปได้ในการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษ แต่ก็ถูกรัฐมนตรีอิเหนาปฏิเสธ
“อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า รัฐบาลออสเตรเลียพร้อมที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจำคุกคุณชาน และคุณสุกุมารัน ไปตลอดชีวิต หากอินโดนีเซียไม่ยินดีแลกเปลี่ยนตัวนักโทษ” จดหมายที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศแดนจิงโจ้ ระบุ
“ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่สนับสนุนความพยายามของเราที่จะขอลดหย่อนโทษให้แก่คุณชาน และคุณสุกุมารัน... เราไม่ปรารถนาให้การประหารชีวิตพวกเขามาบั่นทอนความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น (ระหว่างออสเตรเลียกับอินโดนีเซีย)”
รัฐมนตรีต่างประเทศอิเหนาได้ยื่นหนังสือตอบกลับ โดยยังคงปฏิเสธการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษเช่นเดิม แต่ไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในการจำคุกที่แคนเบอร์ราเสนอจะรับผิดชอบเอง
เมื่อวานนี้ (11) แกรนด์ มุฟตี อิบรอฮีม อบูโมฮัมหมัด ผู้นำสูงสุดของมุสลิมในออสเตรเลีย ได้เดินทางไปยังกรุงจาการ์ตาด้วยตนเอง เพื่อขอร้องรัฐบาลอิเหนาให้ยอมละเว้นโทษตายแก่พลเมืองออสซี่ทั้ง 2 คน
การปฏิเสธคำร้องขอลดหย่อนโทษของประธานาธิบดี โจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย เท่ากับปิดโอกาสสุดท้ายที่ ชาน และ สุกุมารัน จะรอดจากคมกระสุนของหน่วยแม่นปืน
สัปดาห์ที่แล้ว ทั้งสองได้ถูกส่งตัวจากเรือนจำบาหลีไปยังเกาะนูซากัมบังงัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของเรือนจำความมั่นคงสูงและแดนประหาร
ทนายความของ ชาน และ สุกุมารัน ได้ยื่นคัดค้านการปฏิเสธลดหย่อนโทษของประธานาธิบดี วิโดโด โดยชี้ว่าผู้นำอิเหนาไม่ได้คำนึงถึงกระบวนการบำบัดพฤติกรรมที่นักโทษทั้ง 2 คนได้รับขณะอยู่ในเรือนจำ และปฏิเสธคำขอบรรเทาโทษอย่างไม่มีเหตุผล