xs
xsm
sm
md
lg

เสียเงินเยียวยาแต่ไม่ได้ใจประชาชน คำตอบสุดท้ายดับไฟใต้คือ “ความยุติธรรมที่เท่าเทียม” / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
เหตุการณ์ “วิสามัญ” โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ “ปกติ” ของการต่อสู้ที่เกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กับกลุ่มโจรก่อการร้าย หรือแนวร่วม หรือกลุ่มผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ
 
แม้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสายตาของ “นักสิทธิมนุษยชน” จะเห็นว่าเป็นความโหดเหี้ยม เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่ในสภาพของการต่อสู้ระหว่างคน 2 ฝ่ายย่อมที่จะหลีกเลี่ยงการสูญเสียไม่พ้น และหลายครั้งที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายหรือแนวร่วมเสียชีวิต ประชาชนในพื้นที่ถึงกับถอนหายใจอย่างโล่งอกที่ไม่ต้องตกเป็น “ตัวประกัน” ของสถานการณ์แห่งความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน
 
แต่การ “พลั้งผิด” ของเจ้าหน้าที่รัฐโดยการเข่นฆ่าประชาชนเสียชีวิต แล้ว “จัดฉาก” ว่าเป็นการ “วิสามัญ” ด้วยการ “ป้ายสี” ว่าเป็นแนวร่วมที่มีหมายจับ และมีอาวุธสงครามประจำกายใช้ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ เช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น
 
ไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในปัจจุบันนี้ หรือในอนาคต
 
เพราะก่อนหน้าเหตุการณ์อย่างนี้เคยเกิดขึ้นแล้วกับประชาชนที่โดยสารรถกระบะเพื่อไปร่วมงานศพคนในหมู่บ้าน แต่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจผิดว่าเป็นแนวร่วม จึงได้ใช้อาวุธสงครามยิงเข้าใส่จนเสียชีวิต จำนวน 4 ศพ บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง จำได้ว่าเหตุเกิดที่ ต.ปุโละปูโย อ.เมือง จ.ปัตตานี
 
สิ่งที่เหมือนกันคือ หลังเกิดความ “ผิดพลาด” เจ้าหน้าที่รัฐก็มีการ “จัดฉาก” โดยการนำเอาอาวุธสงครามไปใส่ไว้ในรถกระบะที่ถูกยิง พร้อมระบุว่า แนวร่วมใช้ประชาชนเป็นที่กำบัง และใช้อาวุธปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่ จึงมีการยิงตอบโต้ จนทำให้แนวร่วมเสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บ
 
และที่เหมือนกันอีกคือ หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่รัฐเร่งรีบในการแถลงข่าวว่า เป็นการ “วิสามัญ” โดยมีแนวร่วมที่มีหมายจับ และมีคดีติดตัวเสียชีวิตจากการวิสามัญของเจ้าหน้าที่รัฐ จนสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนที่เห็นเหตุการณ์ และรับรู้เรื่องราว
 
ทั้ง 2 คดีที่เกิดขึ้นต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง จนสุดท้ายมีการลงความเห็นจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียชีวิตไม่ได้เป็นแนวร่วม หรือเป็นกลุ่มคนร้าย และรัฐต้องจ่ายเงินเป็นค่า “เยียวยา” ให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตรายละ 7.5 ล้านบาท
 
แน่นอนว่า เงิน 7.5 ล้านบาทที่รัฐควักมาจ่ายให้แก่ครอบครัวผู้สูญเสีย ไม่ใช่เงินของตำรวจ หรือของทหารที่เป็นต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ผู้ทำผิด และไม่ใช่เงิน “ส่วนตัว” ของผู้ที่ร่วมกันทำผิด แต่เป็นเงินภาษีอากรของประชาชน ซึ่งทุกคนก็มีหุ้นอยู่ในประเทศนี้เคนละหนึ่งหุ้นเท่าเทียมกัน
 
โดยข้อเท็จจริง 11 ปีไฟใต้ระลอกใหม่ที่ผ่านมา เหตุการณ์อย่างที่เกิดขึ้นล่าสุดที่ ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ไม่ได้เป็นเพียงคดีแรก แต่เป็นเพียงคดีล่าสุดที่เกิดขึ้นเท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้ เหตุการณ์ความสูญเสียของประชาชนผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการก่อการร้าย แต่กลายเป็นเหยื่อเพราะความพลาดพลั้ง ความไม่รอบคอบของเจ้าหน้าที่รัฐมีเกิดขึ้นมาหลายต่อหลายครั้ง
 
ซึ่งล้วนเป็นการสร้างความ “คับแค้น” และ “เจ็บปวด” ต่อประชาชนในพื้นที่
 
หลายครั้งเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ เช่น คดีของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว และอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้นทั้งที่ “เป็นข่าว” และทั้งที่มีการ “เจรจาให้ยอมรับค่าเสียหาย” เพื่อมิให้เป็นข่าว มิให้ครอบครัวของผู้สูญเสียดำเนินคดี
 
แต่ก็แปลกที่เหตุการณ์ของความผิดพลาดทั้งที่เกิดจากความไม่รอบคอบ เกิดจากความประมาท และเกิดจากการ “ลุแก่อำนาจ” ยังคงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เหมือนกับไม่เคยที่จะซึมซับต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งผู้บังคับบัญชาไม่เอาใส่ใจที่จะเอาเป็น “บทเรียน” เพื่อมิให้เกิดขึ้นอีก
 
โดยข้อเท็จจริงนั้น ความผิดพลาดการการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ทหาร และพลเรือนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในทุกขณะที่มีการใช้กำลัง และอาวุธเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความขัดแย้ง และเป็นพื้นที่ของการสู้รบที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีอาวุธครบมือ
 
เพียงแต่เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นจะต้องมีการ “รับผิด” ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ได้ เพราะหลังเกิดเหตุหน่วยงานที่ปฏิบัติการพลาดผิดก็รู้อยู่เต็มอกว่า ที่กระทำไปนั้นเกิดความผิดพลาดขึ้น ซึ่งควรจะรายงานให้ “หน่วยเหนือ” ได้รับทราบโดยเร็ว เพื่อหาทางทำความเข้าใจต่อครอบครัวผู้สูญเสีย และคนในพื้นที่
 
ไม่ใช่รู้ว่าเกิดความผิดพลาดโดยมีการฆ่าประชาชนเกิดขึ้นแล้ว ยังมีการ “ปิดล้อม” พื้นที่และ “จัดฉาก” เอาอาวุธสงครามมายัดเยียดให้แก่ศพของคนตาย เพื่อให้เป็น “แพะรับบาป” จากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งตรงนี้ต่างหากที่กลายเป็นประเด็นมากมายที่ติดตามมา และกลายเป็นปัญหาที่ประชาชนยอมรับไม่ได้
 
เพราะนอกจากจะทำให้ประชาชน “เสื่อมศรัทธา” ไม่เชื่อใจในหน่วยงานของรัฐ ในเจ้าหน้าที่รัฐ และในตัวของผู้นำรัฐแล้ว ยังเป็นช่องทางให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ขบวนการผู้เห็นต่าง และขบวนการก่อการ้ายนำเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปขยายผลโจมตีรัฐ หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำต่อประชาชนผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อสถานการณ์ความมั่นคง หรือเป็น “ผู้บริสุทธิ์” นั่นเอง
 
เช่นเดียวกับกรณีผู้บริสุทธิ์ 4 ศพ ที่ทุ่งยางแดงล่าสุด ซึ่งกลายเป็น “เหยื่อโอชะ” ของแนวร่วมและเครือข่ายของผู้เห็นต่าง ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในต่างประเทศ เพื่อใช้โจมตีรัฐไทย และเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจ และทหารในพื้นที่ถึงความโหดเหี้ยมที่กระทำต่อประชาชน
 
ทั้งที่ตำรวจ ทหาร และพลเรือนที่ปฏิบัติการอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ สะบ้าย้อย เทพา และนาทวี รวมแล้วกว่า 60,000 คน มีเจ้าหน้าที่รัฐที่นิยมใช้อำนาจ หรือใช้ “กฎหมู่” และ “ลุแก่อำนาจ” เพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น
 
แม้ว่าสุดท้ายแล้วความจริงจะปรากฏ โดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อผู้บริสุทธิ์ และหากเป็นเช่นนี้รัฐย่อมต้องจ่ายเงินค่าเยียวยาให้แก่ผู้สูญเสีย ซึ่งสุดท้ายแล้วการจ่ายค่าเยียวยา 7.5 ล้านก็อาจจะเป็นเช่นเดียวกับการจ่ายค่าเยียวยาในหลายๆ กรณีที่รัฐอยู่ในสภาวะ “เสียเงิน” แต่ “ไม่ได้ใจ” ของประชาชน
 
เพราะหลังการเกิดเหตุ หน่วยงานของรัฐยัง “ตะแบง” ต่อความรับผิดชอบ และหลังการออกมายอมรับผิดก็มีการ “ขอโทษ” ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นก็จริง แต่เจ้าหน้าที่รัฐผู้ผิดพลาดยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ครอบครัวผู้เสียหาย ประชาชนในพื้นที่ และสังคมได้เห็นถึงความรับผิดชอบของผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ที่ผิดพลาด
 
ประเด็นที่สำคัญจึงน่าจะไม่ใช่เรื่องการ “เยียวยา” เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่คนในพื้นที่ รวมถึงคนในสังคมไทย และสังคมโลกต้องการเห็นคือ การดำเนินการในด้านความยุติธรรมต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และต้องเป็นไปแบบที่เจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำต่อประชาชน จะต้องเป็นเช่นเดียวกับประชาชนเป็นผู้ทำความผิดนั่นเอง
 
สิ่งที่ประชาชนต้องการรับรู้คือ ทุกๆ คดีที่ประชาชนถูกกระทำโดยตั้งใจก็ดี ถูกลูกหลงก็ดี โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำนั้น วันนี้คดีเหล่านี้มีความคืบหน้าไปถึงไหน มีใครบ้างที่ต้องรับโทษกับความผิดที่เกิดขึ้น
 
สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะ “ตอบโจทย์” ของความไม่สงบบนแผ่นดิน “ปลายด้ามขวาน” แห่งนี้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น