xs
xsm
sm
md
lg

ความล้มเหลวของการดับไฟใต้ในสงคราม “IO” ที่ กอ.รมน.ต้องเร่งแก้ไข / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจาก http://www.deepsouthwatch.org/
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
“ข่าวดี” ในรอบสัปดาห์นี้ที่อาจจะส่งผลบวกต่อสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การเคลื่อนไหวแบบเล็กๆ ของคณะ “พูดคุยสันติสุข ที่มี พล.อ.อักรา เกิดผล ประธานที่ปรึกษากองทัพบก เป็นหัวหน้าคณะทำงานการพูดคุยสันติสุข ได้มีการพบปะกับกลุ่มผู้นำศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้นำศาสนาในประเด็นของการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างของขบวนการแบ่งแยกดินแดน และอื่นๆ
 
เป็นเหมือนกับการส่งสัญญาณว่า กองทัพและรัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญต่อ “ความรู้สึกของประชาชน” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้ความสำคัญต่อบรรดา “อูลามาและ “ผู้นำศาสนาเพื่อให้มีส่วนร่วมต่อการดับไฟใต้ และหนึ่งในยุทธวิธีของการดับไฟใต้นั่นคือ การเจรจา หรือการพูดคุยเพื่อการ “ต่อรอง ไปสู่การหา “ทางออกกับกลุ่มขบวนการติดอาวุธที่เป็นผู้สร้างความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
อย่างน้อยที่สุดการให้ผู้นำศาสนามีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องของการพูดคุย ก็เหมือนกับแสงไฟที่ยังริบหรี่ มีกระแสลมกระโชกมาวูบหนึ่ง ทำให้เห็นแสงสว่างที่ลุกโพลงขึ้น พอที่จะทำให้พื้นที่อันมือดำมีแสงสวางมากขึ้น แม้จะเป็นเพียงวูบเดียว แต่ก็เป็นสัญญาณในทาง “บวกที่เกิดขึ้น
 
ส่วน “ข่าวร้ายที่ยังสวนทางกับการแถลงข่าวของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ล่าสุด บอกต่อสื่อต่างๆ ว่า คดีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องความมั่นคงเพียง 6ที่เหลือจากนั้นเป็นเรื่องการล้างแค้นส่วนตัว ในเรื่องการเมือง ยาเสพติด และอื่นๆ
 
แต่การที่หน่วยงานความมั่นคงของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สั่งการให้ทุกหน่วยงานระวัง ป้องกัน ติดตามการก่อการร้ายของบรรดา “จูแว หรือ “แนวร่วมที่มีเป้าหมายในการก่อเหตุร้าย หรือความไม่สงบในพื้นที่อย่างเต็มอัตราศึก
 
รวมทั้งสั่งการให้ป้องกันรถยนต์ที่ประกอบเป็นคาร์บอมบ์แล้วในรุ่นต่างๆ จำนวน 10 คัน โดยส่วนหนึ่งมีเป้าหมายใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมืองหลวงของภาคใต้ เรื่องนี้น่าจะเป็นเครื่องที่ยืนยันได้ว่า คดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น และมีสาเหตุมาจาก “ความมั่นคงไม่น่าจะใช่เพียงแค่ 6% เท่านั้น
 
จากการเคลื่อนไหวของแนวร่วมที่มีการเตรียมคาร์บอมบ์ จำนวนกว่า 10 คัน รวมทั้งยังมีการตรวจพบระเบิดแสวงเครื่องในรูปแบบเล็กๆ แสดงให้เห็นว่า แนวร่วมของขบวนการก่อการร้าย หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังมีความมุ่งมั่นที่จะก่อเหตุร้าย ทั้งในเขตเมือง และอำเภอต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
 
โดยเฉพาะข่าวการก่อเหตุร้ายในพื้นที่ จ.ปัตตานี หลายต่อหลายครั้งมีการพบว่า แนวร่วมส่วนใหญ่เดินทางไปจาก อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ก็ยังแสดงให้เห็นและยืนยันได้ว่าพื้นที่ 4  อำเภอ ของ จ.สงขลา ยังเป็น “พื้นที่อันตราย ที่ต้องเร่งแก้ปัญหา
 
เพราะถึงแม้ว่าการปฏิบัติการด้วยความรุนแรงใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา จะเกิดขึ้นน้อยมาก แต่การที่แนวร่วมที่ไปก่อเหตุในพื้นที่หลายอำเภอของ จ.ปัตตานี โดยเฉพาะ อ.โคกโพธิ์ คนร้ายไปจากพื้นที่ของ จ.สงขลา แสดงให้เห็นว่า หาดใหญ่ ยังไม่ปลอดภัยจากคาร์บอมบ์ ตราบใดที่พื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ยังเป็นสถานที่ “ซ่องสุมกำลังของจูแวทั้งหลายทั้งปวง
 
ประเด็นสำคัญที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องสำเหนียกคือ แม้ว่าปัจจุบันการพยายามสกัดกั้นแหล่ง “บ่มเพาะสถานที่ฝึกอาวุธและการปลุกระดมในพื้นที่จะได้ผล ทำให้ “แกนนำไม่สามารถเคลื่อนไหวเพื่อทำการบ่มเพาะสร้าง “เซลล์ก่อการร้ายรุ่นใหม่ๆ เข้าสู่ขบวนการได้มากเหมือนกับในอดีต
 
แต่สิ่งหนึ่งที่ กอ.รมน.ยังทำไม่ได้ หรือทำแล้วแต่ไม่ได้ผล นั่นคือ การที่แกนนำใช้ช่องทางการปลุกระดม การปลุกเร้าผู้คนในพื้นที่ทาง “โซเชียลเน็ตเวิร์ก”  ซึ่งเป็นการปลุกระดม และบ่มเพาะความเชื่อ บ่มเพาะความเกลียดชังให้คนในพื้นที่มีต่อรัฐ มีต่อกองทัพ ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และต่อประชาชนในพื้นที่ที่นับถือศาสนาต่างกัน
 
วันนี้สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การปลุกระดม ปลุกเร้าโดยการใช่สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือ ทั้งในเรื่องของ “ข่าวสารและ “ข่าวภาพที่นำข่าวที่อาจจะจริงบ้าง เท็จบ้าง รวมทั้งภาพที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงที่มาจากส่วนต่างๆ ของโลกมาสร้างเสริมให้ผู้ “รับสาร เหล่านั้นเข้าใจผิดว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
หรือแม้แต่การนำเอาเหตุการณ์ร้ายรายวันที่มีประชาชนเสียชีวิตว่าเป็นการกระทำของ เจ้าหน้าที่รัฐ ก็ยังเป็นสิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังไม่สามารถแก้ไข ทั้งที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และยังไม่เห็นกองทัพจะมีการดำเนินการอย่างไร ทั้งที่กลุ่มคนในพื้นที่ได้ถักทอเป็น “เครือข่าย และใช้ช่องทางของการสื่อสารที่ล้ำยุคเหล่านี้ในการสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และอาจจะผู้คนทั้งโลกด้วย
 
สิ่งที่น่าสยดสยองที่สุดคือ ความคิดที่ยัง “หลงยุคของกองทัพที่ยัง “ไล่บี้” อยู่กับสื่อกระแสหลัก เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ โดยพยายามเข้าไป “ตีกรอบ ในการนำเสนอข่าวความรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งสังเกตได้จากการจัดเวทีเพื่อการปฏิรูปสื่อของ กอ.รมน.ที่จัดขึ้นในทุกๆ จังหวัดๆ ละ 5 ครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ กอ.รมน.ยังคงแยกไม่ได้ และแยกไม่ออกระหว่าง “สื่อมวลชนกับ “สื่อสังคมออนไลน์อย่างเป็นคนละเรื่องกัน ที่ไม่ใช่คนละเรื่องเดียวกัน
 
กอ.รมน.ยังไม่เข้าใจว่าข่าวใน “เฟชบุ๊ก” ข่าวใน “ไลน์ใน “ทวิตเตอร์และอื่นๆ อีกมากมายที่มีการสื่อสารกันอย่างรวดเร็วในโลกของสังคมออนไลน์นั้น ผู้ใช้ช่องการการสื่อสารเหล่านี้เป็น “สื่อสังคมไม่ใช่ “สื่อมวลชน และไม่มีอาชีพเป็น “ผู้สื่อข่าวอย่างสื่อกระแสหลัก เช่น สำนักข่าวต่างๆ หนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ช่องต่างๆ รวมทั้งสถานีวิทยุในคลื่นความถี่ต่างๆ ด้วย
 
และเพราะผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบไม่มีความรู้ ความเข้าใจ ไม่มีการแยกแยะอะไรต่ออะไรให้ออกจากกัน จึงอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่ง และเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ “แนวรบในด้านการแก้ปัญหาเรื่องการปลุกระดมผู้คนด้วยเครื่องมือการสื่อสารยุคใหม่ของ กอ.รมน.และหน่วยงานอื่นๆ จึงล้มเหลวมาโดยตลอด
 
ดังนั้น ถ้า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังไม่มีความสามารถและไม่ทำความเข้าใจในเรื่องที่เกิดขึ้น การแก้ปัญหาไฟใต้จึงทำได้แค่เพียงขั้นตอนของการป้องกัน แต่ไม่สามารถที่ “หยุด การสร้างความเชื่อ สร้างความเกลียดชัง ความเข้าใจผิดระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐได้
 
“สงครามประชาชนก็ยังถูกผลักดันให้เดินหน้าต่อไป เพราะการสร้างสงครามประชาชนให้เกิดขึ้นอย่างได้ผลนั่นคือ การกุมหลักการด้วยการสร้างความเชื่อให้เกิดขึ้น เช่นเดียวกับที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำอยู่ และทำอย่างได้ผลอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้นั่นเอง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น