คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
ความเคลื่อนไหวของสถานการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปลายเดือนมกราคม 2558 มีสิ่งที่ต้องจับตามอง และต้องให้ความสำคัญอยู่หลายประเด็นด้วยกัน
เรื่องแรกคือ การเกิด “โรคเลื่อน” ของเวทีการพูดคุยเพื่อสันติสุข ระหว่างกลุ่มผู้เห็นต่าง หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีสำนักงานและตัวตนอยู่ในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงประเทศอื่นๆ อย่างที่ ตะวันออกกลาง สวีเดน และเยอรมนี เป็นต้น โดยมีรัฐบาลมาเลเซีย ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก
เหตุผลของการเกิดโรคเลื่อนนั้น สาเหตุหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลมาเลเซียยังไม่สามารถประสานกับแกนนำขบวนการต่างๆ ให้เดินเข้าสู่โต๊ะการพูดคุยตามที่รัฐบาลไทยต้องการที่จะ “รวมยอด” โดยขอพูดคุยกับทุกกลุ่มเพื่อให้เกิดเอกภาพ และสะเด็ดน้ำอย่างแท้จริง
แม้ว่าในวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลาโหมของมาเลเซีย จะมาเป็นอาคันตุกะของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีไทย แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะกำหนดวัน ว. เวลา น. ที่จะเปิดเวทีพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างได้ทุกกลุ่ม
จึงเชื่อว่าโรคเลื่อนของการเปิดพื้นที่เพื่อการพูดคุยสันติสุขยังคงจะเลื่อนต่อไปเรื่อยๆ เพราะเงื่อนไขของ ขบวนการไม่ว่าจะเป็น “บีอาร์เอ็น” หรือจะเป็น “พูโล” ยังเป็นเงื่อนไขที่รัฐบาลไทยรับไม่ได้
ทั้งนี้ เมื่อรู้ว่าข้อเรียกร้องของขบวนการเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ จึงป่วยการที่จะเปิดพื้นที่เพื่อการพูดคุย เพราะสุดท้ายนอกจากจะไม่เกิดมรรคผลต่อการดับไฟใต้แล้ว ยังจะเป็นชนวนเหตุให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นเอาเสียด้วย
เรื่องที่สองคือ เรื่องการเคลื่อนไหวของขบวนการพูโลที่ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงที่ถูกคุมขังในเรือนจำยะลา และปัตตานี รวมทั้งให้เลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เป็นการขยับตัวของขบวนการพูโลเพื่อสร้างราคา และเป็นการสร้างมวลชนในพื้นที่ ก่อนที่จะเข้าสู่โต๊ะการพูดคุย ซึ่งเป็นเรื่องที่ขบวนการพูโลช่ำชองในการใช้กลยุทธ์ดังกล่าวนี้ และจะฉวยโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตัวเองด้วยวิธีการเช่นนี้มาโดยตลอด
แน่นอนว่า ข้อเสนอและวิธีการของขบวนการพูโลเป็นสิ่งที่รัฐบาล และกองทัพรู้ทัน และไม่ได้ให้ราคาอะไรต่อการขับเคลื่อนของขบวนการพูโลในครั้งนี้
แต่ในสายตาของผู้ช่ำชองต่อสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคนนั้น ต่างแสดงความห่วงใยต่อประชาชนที่เป็น “เป้าหมายอ่อนแอ” ในพื้นที่ และไม่ต้องการให้หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ประมาทต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการพูโลในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่าประเมินการเคลื่อนไหวของขบวนการพูโลต่ำเกินไป
เพราะในอดีตเมื่อครั้งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเวทีเพื่อพูดคุยสันติภาพ ซึ่งมี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในสมัยนั้นเป็นหัวหน้าคณะ และมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก โดยที่มีการเมินเฉยต่อขบวนการพูโล ด้วยการไม่ชวนเชิญให้ร่วมโต๊ะพูดคุย
ส่งผลให้ขบวนการพูโลได้แผลงฤทธิ์ โดยการทำร้ายต่อเป้าหมายอ่อนแอในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หลังจากที่ขบวนการบีอาร์เอ็นรับปากกับตัวแทนของรัฐบาลไทยว่า จะสั่งการให้แกนนำในพื้นที่หยุดการทำร้ายประชาชนที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอในระหว่างการพูดคุย จนเป็นเหตุให้มีประชาชนต้องเสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก โดยขบวนการบีอาร์เอ็นออกมาปฏิเสธว่า ไม่ใช่การกระทำของแนวร่วมของบีอาร์เอ็น
ดังนั้น แม้ว่าหน่วยงานความมั่นคงจะไม่ให้ราคาต่อสิ่งที่ขบวนการพูโลเรียกร้อง แต่ก็ต้องมีแผนในการปกป้องประชาชนให้ได้ด้วย
มีเรื่องต่อไปที่ต้องให้ความสนใจพิเศษด้วยคือ การที่ พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จะทำการลดจำนวนทหารหลักในพื้นที่ และใช้กองกำลังท้องถิ่นเข้าทดแทน ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ที่ขณะนี้เริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะการมีเหตุร้ายลดลงเรื่อยๆ นั้น
กรณีนี้น่าจะเป็นกรณีที่จะได้ใจของประชาชน และกลุ่มผู้เรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้นำศาสนา ภาคประชาสังคม และองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งได้เรียกร้องให้ถอนทหาร หรือลดจำนวนทหารหลักมานานกว่า 7 ปีแล้ว เมื่อ กอ.รมน.สามารถทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ และเห็นดีด้วย จึงเป็นข่าวดีของพื้นที่ปลายด้ามขวาน
แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งตั้งข้อสังเกตที่ผู้นำหน่วยความมั่นคงต้องเงี่ยหูรับฟังไว้ด้วยคือ หลังจากที่มีการประกาศการลดกำลังทหาร หรือถอนทหารออกจากในหลายพื้นที่ที่เห็นว่าไม่มีเหตุเกิด แต่กลับเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นในทันที่ในหลายๆ พื้นที่ ซึ่งทำให้คนส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า เหตุร้ายที่เกิดมีความไม่ชอบมาพากล มีผู้เสียผลประโยชน์ หรือไม่ต้องการให้มีการถอนกำลังในพื้นที่เหล่านั้นหรือไม่
เนื่องเพราะหลังประกาศจะลดกำลังทหารจากแม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กลับมี “ข่าวที่ไม่ลับ” ก็กระจายว่อนให้หน่วยความมั่นคงในพื้นที่พร้อมรับมือต่อการก่อเหตุร้ายจากเหล่า “จูแว” หรือแนวร่วมขบวนการ เนื่องจากมีการตรวจสอบพบว่า จูแวมีการเตรียมการทั้งในเรื่องของการก่อวินาศกรรมด้วยระเบิด และการซุ่มโจมตี
ตามด้วยเหตุการณ์ยิงไทยพุทธที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส การวางระเบิดที่ตาเซ๊ะ อ.เมือง จ.ยะลา และระเบิดอีกหลายแห่ง โดยล่าสุดคือ การโจมตีชุดลาดตระเวนของ สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี จนทำให้ รอง สว.ป.สภ.หนองจิก ต้องพลีชีพจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ดังนั้น จึงต้องจับตามองว่าหลังการเตรียมถอนกำลังทหารของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะเกิดเหตุรุนแรงเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ถ้ามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นถี่ๆ ก็ต้องหาสาเหตุว่า การก่อเหตุร้ายมาจากจูแวตัวจริง หรือมาจากกลุ่มคนที่ต้องการสร้างสถานการณ์เพื่อรักษาผลประโยชน์ที่กำลังจะสูญเสีย
ประเด็นสุดท้ายที่หลายฝ่ายเป็นห่วงคือ “กองกำลังท้องถิ่น” ที่จะเข้ามาทดแทนกำลังของทหารหลัก หรือทหารเขียวคือ “อาสาสมัครทหารพราน” หรือ “นักรบดำ” ซึ่งในความรู้สึกของคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจ และยังมีการปลุกระดมจากแกนนำขบวนการในพื้นที่ให้ประชาชนต่อต้าน โดยนำเอาเหตุการณ์หลายๆ เหตุในอดีตที่มาจากฝีมือของเหล่านักรบดำเหล่านี้มาเป็นเงื่อนไข
ดังนั้น สิ่งที่หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ต้องเร่งดำเนินการก่อน หรือต้องเป็นการทำควบคู่ไปกับการถอนทหารหลักออกจากพื้นที่คือ การสร้างความเข้าใจต่อมวลชนในพื้นที่ในเรื่องของกองกำลังท้องถิ่น ซึ่งก็คือ อาสาสมัครทหารพรานที่เป็นผู้รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า กองกำลังท้องถิ่นเหล่านี้เป็นผู้ที่ไม่เข้ามาสร้างปัญหา หรือสร้างเงื่อนไขใหม่ๆ หรือเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์โดยใช้อำนาจ และตำแหน่งหน้าที่เสียเอง
บทสรุปสุดท้ายสำหรับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันนี้คือ ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุที่ชัดเจนว่า สถานการณ์ความไม่สงบจะดีขึ้น เพราะยังมีความเคลื่อนไหวของทั้งแกนนำ และจูแว ของขบวนการในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
การที่ผู้นำกลุ่ม และองค์กรต่างๆ “นิ่งเงียบ” ต่อทุกมาตรการที่ฝ่านความมั่นคงนำมาใช้ในการดับไฟใต้ อาจจะไม่ใช่เป็นการ “เห็นด้วย” ต่อนโยบาย และวิธีการของหน่วยงานความมั่นคง แต่เป็นเพราะขณะนี้พวกเขารู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง เป็นการพักรบเพื่อสะสมสรรพกำลัง และรอโอกาสการมีเปรียบเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นเมื่อถึงเวลา