xs
xsm
sm
md
lg

จากการต้าน “สร้างมัสยิดที่น่าน-เสียงอาซานที่ภูเก็ต” ถึงการถอนทหารบนแผ่นดินไฟใต้?! / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
จับกระแสสถานการณ์บนแผ่นดินปลายด้ามขวาน ณ ปลายสัปดาห์นี้ มีเรื่องที่ควรแก่การสนใจและการติดตามอยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน
 
ประเด็นแรก นับเป็น “ข่าวดี” จากเรียวปากของ พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร ผบ.ทบ. ซึ่งลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ กองทัพ จะทำการถอนทหารที่มาปฏิบัติภารกิจจากกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 กลับที่ตั้ง โดยจะมอบหมายภารกิจการรักษาความสงบ และความมั่นคงภายในให้แก่กองทัพภาคที่ 4
 
การให้สัมภาษณ์ หรือการเปิดเผยข่าวนี้ต่อนักข่าวคือ ข่าวดีของคนในพื้นที่ เพราะก่อนที่จะมีการถอนทหารจากกองทัพภาคอื่นๆ ออกจากพื้นที่ กองทัพ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ย่อมประเมินแล้วว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่หลายตำบล หลายอำเภอล้วนมีความ “ปลอดภัย”
 
ที่สำคัญกำลังท้องถิ่น รวมทั้งกำลังทหารของกองทัพภาคที่ 4 “เอาอยู่
 
ในขณะที่ “คนมลายู” ส่วนใหญ่ในพื้นที่ รวมทั้งภาคประชาสังคม เอ็นจีโอต่างๆ ที่เรียกร้องให้มีการถอนทหารที่มาจากภาคอื่นๆ กลับสู่กรมกองก็จะต้อง “ชอบใจ” กับข่าวนี้ เพราะโดนใจ และเป็นไปตามความประสงค์ที่ดีที่มีการเรียกร้องกันมาหลายรัฐบาลด้วยกัน แต่มา “โอเค” ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศนี้มีองค์ “รัฎฐาธิปัตย์” เป็นกองทัพเป็นผู้มีอำนาจในการปกครองประเทศ
 
และที่เป็นข่าวดีที่สุดคือ การที่กองทัพกล้าที่จะนำทัพทหารจากกองทัพภาคที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กลับที่ตั้ง จะเป็นการตอบคำถาม หรือตอบข้อสงสัยของคนทั้งประเทศ และคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า กองทัพไม่ได้มีการ “ค้าสงคราม” อย่างที่มีการสงสัย เพราะเมื่อเหตุการณ์ดีขึ้น กองทัพก็พร้อมที่จะถอนกำลังทหารจากภาคอื่นๆ กลับไป
 
เป็นคำตอบที่ “ชัดเจน” โดยที่ไม่ต้องมีการชี้แจง
 
ส่วนผู้ที่วิตกกังวลต่อการถอนทหารออกจากพื้นที่ต้องมีแน่ เช่น “ชาวไทยพุทธ” ที่เป็น “คนส่วนน้อย” ในพื้นที่ ซึ่งไม่มีปฏิกิริยาในการไม่ต้องการทหารเหมือนชาวมลายู และ “กลุ่มครู” ในพื้นที่ ซึ่งตกเป็นเป้าหมายของขบวนการก่อการร้ายมาโดยตลอด
 
แต่เมื่อกองทัพ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เชื่อมั่นในสถานการณ์ จึงกับกล้าที่จะให้สัมภาษณ์ล่วงหน้าที่จะเริ่มถอนทหารในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ แสดงว่ากองทัพ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องมีการวางแผนในการใช้กำลังส่วนอื่นๆ เข้าทดแทนกำลังของกองทัพภาคอื่นๆ ที่ถูกถอนออกไป
 
เพราะโดยข้อเท็จจริงกองทัพได้มีการถอนกำลังทหารจากกองทัพภาคต่างๆ กลับสู่กรมกองไปแบบเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2557 ที่ผ่านมา โดยบรรจุกำลังพลในพื้นที่ ทั้งในส่วนของกองทัพภาคที่ 4 และในส่วนกองกำลังท้องถิ่น เช่น ทหารพราน และอาสาสมัครเข้าแทนที่ และดูเหตุการณ์มาระยะหนึ่งแล้ว จึงน่าจะทำให้ชาว “ไทยพุทธ” และบุคลากรทางการศึกษาอุ่นใจได้กับการถอนทหารในครั้งนี้
 
ส่วนประเด็นที่น่าสนใจ และต้องติดตามเรื่องที่ 2 คือ การออกมา “ปลุกระดม” เพื่อให้ชาว “มลายูฟาตอนี” ต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐ และการ “ขับไล่” ชาวไทยพุทธออกจากแผ่นดิน “ฟาตอนี” โดยการเผยเพื่อคลิป และใช้ช่องทางการสื่อสารในโลกของ “โซเชียลมีเดีย” ในรูปแบบต่างๆ ที่เริ่มจะ “รุนแรง” ขึ้นในขณะนี้ รวมทั้งการก่อการร้ายที่ชักจะถี่ๆ ขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดนั้น
 
เป็นการฉวยโอกาสของ “แกนนำ” ที่หยิบเอาสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจระหว่างผู้ที่นับถือศาสนาที่ต่างๆ กัน ซึ่งเกิดขึ้นที่ จ.ภูเก็ต คือ กรณีโรงแรมแห่งหนึ่งได้ร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรม ว่า ได้รับการรบกวนจากเสียง “อาซาน” จากมัสยิดที่อยู่ใกล้กับโรงแรม แต่เพราะการบริหารจัดการที่ไม่ “เข้าใจ” และไม่ “เข้าถึง” ของราชการ จึงทำให้เกิดอาการบานปลาย
 
เช่นเดียวกับปัญหาการซื้อที่ดินเพื่อที่จะสร้างสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามที่ จ.น่าน ซึ่งมีผู้คนเข้าไปเกี่ยวข้องไม่กี่คน แต่เพราะไม่มีการสร้าง “ความเข้าใจ” ระหว่างกันและกัน จึงทำให้ปัญหาที่เล็กๆ เกิดอาการ “น้ำบาน” และถูกกลุ่มผู้ที่ต้อง “ตอกลิ่ม” ความแตกแยกให้เกิดขึ้นระหว่างผู้คนที่นับถือศาสนาที่ต่างกัน เพื่อให้สังคมของคนส่วนหนึ่งเห็นว่าเกิด “ความขัดแย้ง” และมีการ “กีดกัน” ในเรื่องของศาสนาเกิดขึ้น
 
เพราะขบวนการก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พยายามมานานแล้วที่จะปลุกระดมให้คนในพื้นที่ และบรรดาผู้นิยมความรุนแรง และพวกผู้ “สุดโต่ง” ในเรื่องของศาสนามาเป็นเครื่องมือในการสร้างความแตกแยก และเกลียดชังระหว่างกัน
 
ดังนั้น 2 เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งที่ จ. ภูเก็ต และที่ จ.น่าน จึงเหมือน “ลูกฟุตบอล” ที่ไหลเข้า “ตีน” อย่างพอดิบพอดี
 
ดังนั้น “คลิปภาพ” และ “ข่าวสาร” ที่ผลิตขึ้นเพื่อปลุกระดมในโลกของโซเชีลเน็ตเวิร์ก จึงถูกส่งผ่านทางช่องทางของโซเชียลมีเดียอย่างสอดคล้องต้องกันกับ “ความขัดแย้ง” ที่เกิดขึ้น และพบว่า คลิปและข่าวที่ถูกเผยแพร่ออกไป “โดนใจ” ของกลุ่มคนที่มีทัศนคติที่เป็นลบต่อรัฐไปอยู่แล้ว
 
จึงกลายเป็นเรื่องของการ “ส่งต่อ” ที่เหมือน “ไฟไหม้สำเพ็ง” ซึ่งหน้าที่ในการ “ดับไฟ” ที่ถูกจุดขึ้น “ในใจ” ของคนส่วนหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน้าที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่จะต้องเร่งดำเนินการ
 
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็มีข้อสังเกตว่า การเผยแพร่ภาพข่าวเพื่อปลุกระดมให้ผู้คนที่เชื่อในภาพข่าวออกมาสร้าง “ความปั่นป่วน” ในครั้งนี้ แม้ฝ่ายข่าวของความมั่นคงจะ “ฟันธง” เสนอ “ผู้ใหญ่” ไปแล้วว่า เป็นเรื่องของกลุ่มเยาชน ไม่ใช่เป็นของ “กองกำลังติดอาวุธ” หรือ “จูแว” ที่ปฏิบัติการในการวางระเบิด และฆ่าคนอยู่ในขณะนี้
 
แต่การที่ภาพข่าวที่เผยแพร่ออกไปมีการกำหนดการปฏิบัติการแบบ “วัน ว. เวลา น.” เช่น จะเริ่มปฏิบัติการในวันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นเสมือนหนึ่งการบอกถึง “นัย” บางประการของผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการ “ถ่ายทำ” ภาพและข่าวที่ใช้ในการปลุกระดมครั้งนี้ เหมือนกับต้องการที่จะ “ต่อรอง” ต่อผู้ที่มีอำนาจ มากกว่าที่จะมีการ “ปฏิบัติการจริง”
 
ที่ต้องตั้งข้อสังเกตต่อไปคือ สิ่งที่เกิดขึ้นที่เหมือนจะเพิ่ม “ดีกรี” ของความ “เร่าร้อน” ให้มากขึ้นมาจากหลังจากการประกาศที่จะ “ถอนทหาร” ออกจากพื้นที่ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ที่บรรดา “พูเรา” แอบกระซิบกับ “พูโล” ให้เพิ่ม “ฟืน” เพื่อ “เร่งไฟ” ในเตาให้ร้อนแรงขึ้น เพื่อที่จะให้กองทัพคงกำลังทหารเอาไว้อย่างเดิม
 
ส่วนจะเพื่ออะไร หรือเป็นประโยชน์ต่อใคร และเพื่อใคร คำตอบไม่ได้อยู่ใน “สายลม แสงแดด” อย่างแน่นอน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น