xs
xsm
sm
md
lg

ไฟใต้ดับได้ด้วย “ปัจจัยภายใน” / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (แฟ้มภาพ)
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นโดยการ “ปล้นปืน” ของกองทัพที่กองพลพัฒนาที่ 4 ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ได้ดำเนินมาถึง ณ วันนี้ ของเดือนมกราคม 2558 ซึ่งย่างเข้าปีที่ 11 แล้ว
 
มีตัวเลขของความสูญเสียที่เกิดจาก “สงครามประชาชน” ใน 10 ปีที่ผ่านมาที่น่าตกใจคือ มีการก่อเหตุร้ายในรูปแบบต่างๆ เช่น วางระเบิด วางเพลิง ประกบยิง ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ข้าราชการพลเรือน ผู้นำท้องที่ นักการเมืองท้องถิ่น ครู นักเรียน พระภิกษุ สามเณร และประชาชน รวม 14,456 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตทั้งเจ้าหน้าที่ และประชาชนกว่า 6,200 ศพ มีผู้บาดเจ็บ 11,250 ราย และมีการใช้งบประมาณในการดับไฟใต้ใน 10 ปีที่ผ่านมากว่า 250,000 ล้านบาท
 
คำถามที่คนทั้งประเทศถาม และต้องการรู้คำตอบคือ 10 ปีที่ผ่านมา และย่างขึ้นปีที่ 11 ในเดือนมกราคม 2558 นี้ สถานการณ์ของไฟใต้ที่ยัง “โชนแสง” อยู่นั้น ยังคงจะโชนแสงต่อไปแบบไหน ไฟยังจะโหมอย่างรุนแรง และลุกลามต่อไป หรือจะอ่อนโทรมลง และค่อยๆ มอดดับตามเงินงบประมาณที่เป็นเสมือน “น้ำ” ที่ใช้ในการดับไฟใต้หรือไม่
 
คำตอบก็คือ ไฟใต้ในช่วงของปี 2555 เป็นต้นมานั้น มีลักษณะที่ลดความรุนแรงกว่าเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2547 จนถึง 2554 แต่สถานการณ์ก็ยัง “ไม่คงเส้นคงวา” บางช่วงเหตุร้ายลดลง และบางช่วงเหตุร้ายก็เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการขึ้นๆ ลงๆ ของสถานการณ์ขึ้นอยู่กับนโยบายของกองทัพ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.)
 
อย่างเช่นในครั้งที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ซึ่งเป็นยุคที่ ศอ.บต.มีบทบาทที่โดดเด่นในเรื่องการแก้ปัญหาด้านยุติธรรม การเยียวยา และการพัฒนาในทุกด้าน อีกทั้งมีการเปิดเวทีให้ผู้ที่เห็นต่างเข้ามามีส่วนในการ “พูดคุย” เพื่อแก้ปัญหา รวมทั้งการเปิดพื้นที่ “พูดคุยสันติภาพ” กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยรัฐบาลมอบให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นเจ้าภาพ มีรัฐบาลมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งมีเสียงตอบรับจากประชาชนในพื้นที่อย่างมาก เป็นยุคที่ประชาชนที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอลดความสูญเสียได้มากที่สุด
 
แต่หลังจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี สถานการณ์ความรุนแรงในรอบ 7 เดือนมีการลดจำนวนครั้งลงอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าเหตุการณ์ฆ่ารายวันที่มีทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ ครู พระ และประชาชนยังตกเป็นเหยื่อ แต่จำนวนความถี่ลดลงจากวันละ 3-4 เหตุการณ์ เหลือเพียง 1-2 เหตุการณ์ และที่สำคัญคือ คาร์บอมบ์ ซึ่งสร้างความสูญเสีย และความหวาดกลัวให้แก่คนในพื้นที่ไม่เกิดขึ้นอีกเลย รวมทั้งยังสามารถป้องกัน 7 หัวเมืองเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดให้ปลอดจากการก่อเหตุร้ายใหญ่ๆ อย่างได้ผล
 
สำหรับปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์พื้นผิวมองดูเหมือนกับสถานการณ์ดีขึ้น มาจากปัจจัยที่น่าจับตามองดังนี้ 1.การให้แม่ทัพภาคที่ 4 มี “อำนาจเบ็ดเสร็จ” ในการ “สั่งการ” เพียงผู้เดียว และ “ลดบทบาท” ของ ศอ.บต. โดยให้ ศอ.บต.ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทำให้มี “เอกภาพ” ของหน่วยงานในพื้นที่มากขึ้น
 
2.การเปิดเกมรุกเข้าควบคุมพื้นที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต่อแนวร่วม และสมาชิกของขบวนการแบ่งแยกดินแดนทำได้ได้ผลมากขึ้น ทำให้ความเคลื่อนไหวของแนวร่วมขาดความเสรีและความคล่องตัวเหมือนในอดีตที่ผ่านๆ มา
 
3.มีการจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ” หรือ “ศปก.อ.” ขึ้นในทุกอำเภอ และการใช้นโยบาย “ทุ่งยางแดงโมเดล” ในพื้นที่ที่มีเหตุรุนแรง และเป็นที่มั่นของขบวนการ ได้ส่งผลให้หน่วยงานทุกภาคส่วนและ ประชาชนมีส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมในการดับไฟใต้ เป็นเหตุให้เกิดการถอยร่นของมวลชนและกองกำลังติดอาวุธของขบวนการแบ่งแยกดินแดนจากหมู่บ้าน ทำให้การก่อเหตุร้ายทำได้ไม่ง่ายอย่างที่ผ่านๆ มา
 
4.ในขณะที่กำลังติดอาวุธส่วนหนึ่งของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ถอยร่นจากหมู่บ้านเข้าสู่เทือกเขาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ใช้ “แผนพรานพิฆาตไพรี” ด้วยการเปิดเกมรุกเข้ากดดัน และโจมตีอย่างได้ผล จนสร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้นแก่กองกำลังติดอาวุธของขบวนการพอสมควร
 
5.สิ่งสำคัญที่น่าจับตามองคือ ขณะนี้ประชาชนส่วนหนึ่งในพื้นที่ซึ่งเคยเชื่อว่าเหตุร้ายความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นการสร้างสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่เชื่อเกี่ยวกับคนในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่จับกุมในข้อหาเป็นแนวร่วม เวลานี้เริ่มที่จะรู้แล้วว่า เหตุร้ายรายวันที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นการกระทำของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ไม่ใช่เป็นการสร้างสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างที่เคยเชื่อ และนี่คือ “จุดแข็ง” ที่อาจจะทำให้สถานการณ์ความรุนแรงลดน้อยลง เพราะขบวนการจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนในพื้นที่เหมือนที่ผ่านมา
 
และ 6.การที่องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้นำองค์กรต่างๆ ไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่มีการให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกกรณี ทำให้การปฏิบัติการของ กอ.รมน.ไม่หยุดชะงัก เพราะไม่มีผู้คัดค้านหรือเห็นต่าง จึงทำให้เห็นว่าสถานการณ์ดีขึ้นกว่าในอดีต
 
โดยเฉพาะในเดือนมกราคม 2558 นี้ ซึ่งในทุกปีที่ผ่านมา จะมีการก่อเหตุรุนแรงจากแนวร่วมเพื่อ “ตอกย้ำถึงวันปล้นปืน” แต่ในปีนี้แนวร่วมไม่สามารถปฏิบัติการในพื้นที่ได้ และยังต้องสูญเสียกำลังสำคัญ 5 คนจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส และ อ.มายอ จ.ปัตตานี ซึ่งหาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สามารถควบคุมพื้นที่ได้ และเปิดเกมรุกเพื่อสร้างความสูญเสีย และกดดันให้แนวร่วม ทั้งในระดับมวลชนในหมู่บ้าน และกองกำลังติดอาวุธในป่าเขาเคลื่อนไหวลำบาก อาจจะทำให้สถานการณ์ของไฟใต้ลดความรุนแรงลงได้ในระยะหนึ่ง
 
ในระยะนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะต้องดำเนินการทาง “การเมือง” เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้เห็นต่างที่เคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ด้วยความรุนแรง โดยหันมาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ และร่วมมือกันในการแสวงหาทางออกด้วยสันติวิธี
 
ส่วน “การพูดคุยสันติสุข” ที่กองทัพกำลังดำเนินการกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลายขบวนการ ซึ่งมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกนั้น อาจจะยัง “ห่างไกล” ต่อการมอดดับของไฟใต้ เพราะยังมีปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขหลายอย่างที่ผู้นำขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต ปฏิเสธที่จะพูดคุยสันติสุข โดยต้องใช้ข้อเสนอใหม่ที่ไม่ใช่ข้อเสนอ 5 ข้อเดิมที่เคยได้ เรียกร้องต่อรัฐบาลพลเรือนที่ผ่านมา
 
ดังนั้น ปัจจัยในการที่จะทำให้ไฟใต้ลดความรุนแรงลงได้ในยุคที่ประเทศมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงอยู่ที่ “ปัจจัยภายใน” มากกว่าที่จะฝากความหวังไว้ต่อการพูดคุยกับขบวนการต่างๆ ที่ประเทศมาเลเซีย อันเป็น “ปัจจัยภายนอก” ซึ่งสุดท้ายปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ ปัญหาภายในประเทศที่ต้องแก้ปัญหาภายในด้วยกันเอง หาใช่ปัญหาที่ต้องให้คนชาติอื่นเข้ามามีส่วนร่วมแต่อย่างใด
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น