xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าไม่มีการ “ค้ากำไร” กับงบประมาณ อนาคตชายแดนใต้ยังพอมองเห็น / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังจะก้าวข้ามผ่านปีเก่าไปอีกหนึ่งปีในไม่กี่วันข้างหน้า และกำลังก้าวย่างเข้าปีที่ 11 ของการเกิด “ไฟใต้” ระลอกใหม่ขึ้น ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า 11 ปีที่ผ่านมา เริ่มจะมีคำตอบที่ชัดเจนว่า ไฟใต้จะดับลงอย่างไร และใครจะเป็นผู้ที่ดับไฟใต้
 
ท่ามกลางบรรยากาศปีใหม่ที่ผู้คนในภูมิภาค หรือจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทย กำลังเตรียมการเตรียมตัวต้อนรับปีใหม่ด้วยความ “ชื่นมื่น” แต่คนใน 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ต่างยังตกอยู่ในห้วงการ “ตื่นตัว” เพื่อรับมือต่อเหตุร้าย
 
เพราะมีคำเตือนจากฝ่ายความมั่นคงว่า ในช่วงส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ “แนวร่วม” เตรียมการก่อเหตุป่วนใต้ ด้วยการเตรียมระเบิดไว้ 10 ลูกด้วยกัน โดยเล็งพื้นที่ที่มี “เงื่อนไข” ทางสังคมคือ สถานบันเทิงต่างๆ เป็นต้น
 
และยังมีการแจ้งเตือนด้วยว่า ยังมีเป้าหมายบุคคลที่ “อ่อนแอ” นั่นคือ บุคลากรการศึกษาและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นก็ตกเหยื่อตลอดกาลของการ “ก่อ” และ “สร้าง” สถานการณ์มาโดยตลอด ส่วนที่ไม่ได้แจ้งเตือน แต่จะประมาทไม่ได้คือ ขบวนรถไฟ และเส้นทางเดินรถ
 
เนื่องจากสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง “จุดอ่อน” ตลอดกาลอยู่ที่ครู พระ โรงเรียน และรถไฟ กระทำต่อเป้าหมายเหล่านี้เมื่อไหร่จะมี “เสียงดัง” กว่าการกระทำต่อเป้าหมายอื่นๆ
 
นั่นหมายความว่า ในห้วงส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ เจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร และกองกำลังภาคประชาชน เช่น อาสาสมัคร ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ชุดคุ้มครองหมู่บ้าน หน่วยงานความมั่นคงภายใต้โครงสร้างของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงต้องทำงานหนักเพื่อป้องกันเหตุร้าย เพราะหากมี “ช่องว่าง” เกิดขึ้นก็จะต้องมีระเบิด หรือเหตุร้ายอื่นๆ ขึ้นทันที เนื่องจากบรรดาแนวร่วมจังหวะอยู่แล้ว
 
ที่น่าเป็นห่วงคือ เป็นการทำหน้าที่ป้องกันเหตุร้ายท่ามกลางภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งก็คือ อุทกภัย หรือน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ อาจจะทำให้การดูแลพื้นที่ของทหาร ตำรวจ พลเรือน และกองกำลังภาคประชาชนเป็นไปด้วยความลำบากยิ่งขึ้น และแนวร่วมอาจจะฉวยโอกาสนี้ก่อเหตุ “ซ้ำเติม” ให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น
 
นี่คือสถานการณ์ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปี และกำลังจะก้าวเข้าสู้ปีที่ 11 ซึ่งวันสำคัญต่างๆ ของประเทศนั้น สำหรับที่อื่นคือวันแห่งความสุข คือวันแห่งความศักดิ์สิทธิ์ แต่สำหรับคนในชายแดนใต้กลับกลายเป็น วันแห่งความ “หวาดกลัว” และต้อง “ตื่นตัว” เพื่อป้องกันตนเองตลอดเวลา ต้องระแวดระวังที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้สร้างสถานการณ์ที่ไม่เคยเลือกปฏิบัติว่าผู้ที่เป็นเหยื่อเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่
 
ในส่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็ต้องยอมรับว่าในปีรอบ 2557 ที่กำลังจะผ่านไปได้พยายามที่จะอุดช่องว่าง ปิดช่องโหว่ เสริมกำลัง และเสริมยุทธวิธีในการป้องกันเหตุร้าย ทั้งในพื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่รอบนอก มิให้แนวร่วม หรือคนร้ายปฏิบัติการได้ง่ายๆ อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต ทำให้ลดความสูญเสียลงไปได้มากพอสมควร
 
อย่างวันนี้คาร์บอมบ์ทำได้ลำบากขึ้น การเข้าไปก่อเหตุในเขตพื้นที่ชั้นในทำได้ยากขึ้น เพราะมีการ “เอกซเรย์” พื้นที่เคลื่อนไหวของทั้ง “แนวร่วม” และ “คอมมานโด” รวมทั้งใน “ยามวิกาล” ก็มีชุดซุ่มดักรอตามเส้นทางที่คาดว่าคนร้ายจะออกปฏิบัติการ
 
การป้องกันคาร์บอมบ์อย่างได้ผลถือว่าเป็นจุดแข็งของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และจุดแข็งที่ว่านี้เกิดขึ้นได้เพราะงานด้าน “ข่าวกรอง” ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการที่ได้มีการพัฒนางานด้านการข่าวโดยมีภาคประชาชนเป็นกำลังสำคัญ เพราะคนที่รู้ดีที่สุดถึงความเคลื่อนไหวของแนวร่วมในพื้นที่ก็คือ “คนในพื้นที่” นั่นคือประชาชนนั่นเอง
 
ที่เป็นหัวใจของการแก้ปัญหาที่ถาวรที่เห็นว่าดีขึ้นเรื่อยๆ คือ “ความเข้าใจ” ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเข้าใจถึงข้อเท็จจริงมากขึ้น เมื่อเกิดเหตุร้ายในอดีตประชาชนส่วนใหญ่จะ “ฟันธง” ว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่เพื่อสร้างสถานการณ์ป้ายสีให้แนวร่วม แต่วันนี้ด้วยปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของคนร้ายที่เป็น “แนวร่วม” ของสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดน
 
วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจถึงความชั่วร้ายของคนร้ายที่กระทำการก่อเหตุ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องทำงานหนักต่อไปเพื่อให้ผู้คนเข้าใจเจ้าหน้าที่มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้เข้าถึงประชาชน ไม่ใช่เข้าถึงเพียงหมู่บ้าน หรือเข้าถึงเพียงพื้นที่ เพราะการแค่เข้าถึงหมู่บ้าน และเข้าถึงพื้นที่นั้นยังไม่อาจกำชัยชนะในการทำ “สงครามแย่งชิงมวลชน” อย่างแท้จริง
 
ในส่วนของการพัฒนาเพื่อสร้างคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจโดยรวมให้ดีขึ้นนั้น ก็ยังมีจุดอ่อนที่ต้องดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ เพราะยังมีหลายหน่วยงานที่มุ่งงานด้านการพัฒนาแบบหวังที่จะ “ค้ากำไร” อยู่ ซึ่งเป็นการพัฒนาเพื่อกระเป๋าของตนเอง หรือประโยชน์ของหน่วยงานของตนเองเป็นหลัก มากกว่าที่จะพัฒนาตามความต้องการของประชาชน
 
สิ่งที่ยังเป็นที่คาดหวังว่า สถานการณ์ความรุนแรงจะลดน้อยลง และจะเกิดความสงบสุขมากขึ้นคือ การใช้ “ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ” หรือ “ศปก.อ.” เป็นศูนย์รวมและเป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นเอกภาพของหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อมุ่งหมายสู่การปฏิบัติการตามหลักความเชื่อที่ว่า “จุดแตกหักอยู่ที่หมู่บ้าน” หรือ “ชัยชนะย่อมเกิดจากหมู่บ้าน”
 
เช่นเดียวกับการคิดค้นแผน “ทุ่งยางแดงโมเดล” เพื่อใช้ในการปฏิบัติการต่อ “พื้นที่สีแดง” โดยการใช้การบูรณาการงานด้าน “การปกครอง” กับงานด้าน “การทหาร” ให้เดินไปด้วยกัน โดยการใช้กองกำลังของประชาชนเพื่อป้องกันหมู่บ้านของตนเอง เพื่อที่จะสร้าง “หมูบ้านเข้มแข็ง” แล้วนำไปสู่การถอนกำลังทหารกลับที่ตั้งเมื่อกองกำกลังประชาชนมีความสามารถดูแลรักษาความสงบหมู่บ้านตนเองได้
 
แม้ว่าทั้ง “ศปก.อ.” และ “ทุ่งยางแดงโมเดล” ยังไม่สามารถที่จะเป็นคำตอบสุดท้ายว่าจะเป็นเครื่องมือในการที่ดับไฟใต้ได้จริง แต่การมีความหวังย่อมที่จะดีกว่าไม่มีความหวังอะไรเลย เพราะอย่างน้อยใน 2-3 เดือนที่ผ่านมา ก็มองเห็นแสงรางๆ เกิดขึ้นในท่ามกลางความมืดมิดแล้ว
 
ส่วนน้ำที่จะใช้ดับไฟใต้ในอนาคตคือ การเปิดพื้นที่ “พูดคุยสันติสุข” ที่อาจจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับ “สันติภาพ” ก็เป็นอีกความหวังหนึ่งว่า อาจจะมีส่วนในการแก้ปัญหารากเหง้าของความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อแผ่นดินปลายด้ามขวานมาอย่างยาวนานได้ แม้ขณะนี้อาจจะยังไม่เห็นสัญญาณในด้านบวกมากนัก แต่ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งของการแก้ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนที่หลายประเทศใช้ได้ผลมาแล้ว
 
สุดท้ายเมื่อดูงบประมาณของแต่ละหน่วยงานที่ใช้ในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะปีงบประมาณ 2558 จะพบว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้งบกว่า 8,000 ล้านบาท กรมการปกครองกว่า 2,600 ล้านบาท ศอ.บต.กว่า 2,700 ล้านบาท และ ศชต.กว่า 1,000 ล้านบาท ในขณะที่งบประมาณของทัพบก ทัพเรือ และทัพอากาศที่ใช้ในภารกิจไฟใต้ยังไม่ได้นับรวมเข้าไว้ด้วยนั้น
 
จะเห็นว่าถ้ารวมเม็ดเงินงบประมาณที่ใช้ภายใต้ภารกิจชื่อเดียวกันว่า “แผนการแก้ไขและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ก็มากมายพอสมควร
 
ดังนั้น จึงต้องจับตามอง และติดตามตรวจสอบใกล้ชิดว่า งบประมาณเหล่านี้จะเป็นการนำมาใช้แก้ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามความต้องการของคนในพื้นที่จริงหรือไม่ เพราะถ้าใช้งบประมาณจำนวนนี้อย่างถูกต้อง โดยไม่มีการ “ค้ากำไร” และไม่มีการ “รั่วไหล” ระหว่างทางแล้ว ถนนที่มุ่งสู่อนาคตที่ดีของจังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะอยู่ไม่ไกล
 
จึงหวังที่จะเห็นช่วงกำลังเปลี่ยนศักราชใหม่นี้ คนชายแดนใต้ที่ต้องทุกข์ระทมต่อเรื่องของอุทกภัยอยู่แล้ว คงจะไม่ต้องเพิ่มทุกข์ระทมต่อเหตุร้ายจากการป่วนใต้เข้ามาอีก แม้จะมีกระแสข่าวการแจ้งเตือนไว้แล้วก็ตาม
 
ห้วงเวลาแห่งการขึ้นปีที่ 11 ของวิกฤตไฟใต้ขอให้เป็นปีแห่งการเริ่มต้นที่มี “ข่าวดี” กับชีวิตของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น