xs
xsm
sm
md
lg

“สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น” ชี้โอกาสบรรลุข้อตกลงการค้า TPP อยู่ “แค่เอื้อม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น (ซ้าย) และประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ (แฟ้มภาพ)
เอเอฟพี - โอกาสที่สหรัฐฯ และญี่ปุ่นและก้าวข้ามความเห็นต่าง และดึงโตเกียวเข้าร่วมเป็นภาคีเขตการค้าเสรีภาคพื้นแปซิฟิก “อยู่เพียงแค่เอื้อม” แดนนี รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกแถลงเมื่อวานนี้ (20 เม.ย.)

การเกริ่นเป็นนัยๆ ของรัสเซล มีขึ้นไม่กี่วันก่อนที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่นจะเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเข้าพบและหารือกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา และจะเป็นผู้นำแดนอาทิตย์อุทัยคนแรกที่ได้ขึ้นแสดงปาฐกถาต่อที่ประชุมสภาคองเกรส

หนึ่งในประเด็นหลักที่ อาเบะ จะหารือกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 26 เมษายน ถึง 3 พฤษภาคม ก็คือการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่สหรัฐฯ เป็นตัวตั้งตัวตี และปัจจุบันมี 12 ชาติในเอเชีย-แปซิฟิกประกาศเข้าร่วมหรืออยู่ระหว่างการเจรจา เช่น ออสเตรเลีย, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย และเวียดนาม

เขตการค้าเสรีที่ว่านี้จะมีมูลค่าเศรษฐกิจรวมกันถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของโลก ทว่ามหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 อย่างจีนถูกกีดกันออกไป

“การเจรจาทีพีพีคืบหน้าไปอย่างต่อเนื่อง ผมยอมรับว่าโอกาสที่เราจะบรรลุข้อตกลงกับญี่ปุ่นอยู่เพียงแค่เอื้อม” รัสเซลกล่าวต่อสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council on Foreign Relations) ซึ่งเป็นสถาบันคลังความคิดในนิวยอร์ก

“ผู้นำประเทศและรัฐมนตรีพาณิชย์ในกลุ่ม 12 ชาติตั้งเป้าที่จะบรรลุข้อตกลงให้สำเร็จในปีนี้ ซึ่งมันเป็นข้อตกลงที่น่าประทับใจ ไม่เพียงในด้านการค้า แต่ยังรวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงานด้วย”
รายนาม 12 ประเทศที่ร่วมเป็นสมาชิก หรืออยู่ระหว่างเจรจาข้อตกลงทีพีพี
ด้านนายกรัฐมนตรีอาเบะ ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์เนิลในทำนองเดียวกัน

“ผมคิดว่าข้อตกลงระหว่างเรากับสหรัฐฯ ใกล้เข้ามาทุกที แต่ก็หวังว่าจะมีความคืบหน้ายิ่งไปกว่านี้” ผู้นำญี่ปุ่น กล่าว

ผู้แทนเจรจาของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นอยู่ระหว่างหารือมาราธอนที่กรุงโตเกียวเพื่อคลี่คลายอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร และโอกาสที่สหรัฐฯ จะเข้าไปทำตลาดรถยนต์ในญี่ปุ่น

“ถ้าเราตกลงกันได้ระหว่างที่ผมพบประธานาธิบดี (โอบามา) ก็จะเป็นเรื่องดี แต่คนเราเวลาปีนเขา ก้าวสุดท้ายมักลำบากที่สุดเสมอ” อาเบะระบุ

สัปดาห์ที่แล้ว วุฒิสมาชิกอาวุโสของสหรัฐฯ ได้เสนอกฎหมายให้อำนาจ “ฟาสต์แทร็ก” หรือการเจรจาการค้าแบบเร่งด่วนแก่ โอบามา หลังจากนั้นก็จะส่งข้อตกลงการค้าที่เสนอขึ้นมาให้คองเกรสโหวตรับรองหรือคัดค้าน ทว่าคองเกรสจะไม่สามารถแก้ไขรายละเอียดของทีพีพี ซึ่งถือเป็นข้อตกลงการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีการทำความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ขึ้นเมื่อปี 1994

กำลังโหลดความคิดเห็น