xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯเปิดเจรจาระดับรัฐมนตรีเรื่องข้อตกลงการค้าแปซิฟิก

เผยแพร่:   โดย: ดั๊ก สึรูโอกะ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Japan, U.S. to conduct ministerial-level meeting on TPP
Author: Doug Tsuruoka
April 17, 2015

มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นและเจ้าหน้าที่สหรัฐฯตกลงเห็นพ้องกันที่จะจัดการพูดจาหารือในระดับรัฐมนตรีขึ้นในกรุงโตเกียววันอาทิตย์ (19 เม.ย.) และวันจันทร์ (20 เม.ย.) นี้ โดยมุ่งที่ประเด็นต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องผูกพันกับการเจรจาจัดทำข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)


มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นและเจ้าหน้าที่สหรัฐฯตกลงเห็นพ้องกันที่จะจัดการพูดจาหารือในระดับรัฐมนตรีขึ้นในกรุงโตเกียววันอาทิตย์ (19 เม.ย.) และวันจันทร์ (20 เม.ย.) นี้ โดยมุ่งที่ประเด็นต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องผูกพันกับการเจรจาจัดทำข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา พยายามผลักดันให้บังเกิดความคืบหน้า

สำนักข่าวจีจิเพรสส์ (Jiji Press) ของญี่ปุ่นรายงานในวันศุกร์ (17 เม.ย.) ว่า การเจรจาหารือกันระหว่าง อะคิระ อะมาริ (Akira Amari) รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบเรื่อง TPP ของญี่ปุ่น และ ไมเคิล โฟรแมน (Michael Froman) ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (U.S. Trade Representative) คราวนี้ จะเน้นที่เรื่องโควตานำเข้าข้าวอเมริกันของฝ่ายญี่ปุ่น และเรื่องอัตราภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯจะเก็บจากพวกอะไหล่และส่วนประกอบรถยนต์จากญี่ปุ่น “ผมไม่คิดว่าจะสามารถได้ข้อสรปจากการหารือระดับรัฐมนตรีคราวนี้หรอก” สื่อรายงานโดยอ้างคำพูดของอะมาริ ในที่ประชุมแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ (17 เม.ย.) “ยังคงมีประเด็นปัญหายุ่งยากหลายๆ ประเด็นซึ่งในระดับเจ้าหน้าที่ทำงานยังไม่สามารถสะสางคลี่คลายได้” เขากล่าวต่อ

จีจิให้รายละเอียดว่า การเจรจาหารือในระดับเจ้าหน้าที่ทำงานของประเทศทั้งสองนี้ ได้จัดขึ้นที่กรุงโตเกียวมาตั้งแต่วันพุธ (15 เม.ย.) ทั้งนี้ระหว่างที่นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น เดินทางไปเยือนสหรัฐฯอย่างเป็นรัฐพิธีช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ เขามีกำหนดการที่จะประชุมระดับสุดยอดกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯในกรุงวอชิงตันวันที่ 28 เมษายน โดยที่คาดหมายกันว่าจะมีการหารือเรื่อง TPP ด้วย

การตัดสินใจจัดการพบปะเจรจาในระดับรัฐมนตรีคราวนี้ มีขึ้นไม่นานนักหลังจากความเคลื่อนไหวเมื่อวันพฤหัสบดี (16 เม.ย.) ของคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาและของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดอัตราภาษี ที่จะเสนอร่างกฎหมายอันได้รับการหนุนหลังจากทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต ซึ่งมีหลักการให้อำนาจ “ฟาสต์ แทร็ก” (fast track) แก่โอบามา ในการเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าอันมีเนื้อหาครอบคลุมกว้างขวางฉบับนี้ กับอีก 11 ชาติภาคพื้นแปซิฟิก หากร่างกฎหมายใหม่ดังกล่าวผ่านออกมาบังคับใช้ก็จะหมายความว่า รัฐสภาสหรัฐฯถูกจำกัดให้มีอำนาจเพียงแค่โหวตว่าจะรับหรือไม่รับร่างข้อตกลงการค้า โดยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขเนื้อหาของร่างข้อตกลงที่ผ่านการตกลงกับชาติคู่เจรจาอื่นๆ แล้ว ถึงแม้รัฐสภายังคงมีอำนาจในการกำหนดเป้าหมายต่างๆ สำหรับการเจรจา ตลอดจนในการกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ ให้แก่ผู้เจรจาฝ่ายสหรัฐฯ ทั้งนี้มองเห็นกันว่าการผลักดันให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านการเห็นชอบของทั้ง 2 สภา มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความสำเร็จในการจัดทำข้อตกลง TPP

ทั้งญี่ปุ่นและชาติเอเชียรายอื่นๆ ที่เป็นคู่เจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าฉบับนี้ ต่างระบุว่า การมอบอำนาจฟาสต์ แทร็ก ให้แก่ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญยิ่ง เนื่องจากจะทำให้ชาติคู่เจรจาทั้งหลายบังเกิดความมั่นอกมั่นใจกันได้ว่า สิ่งที่ทำความตกลงเอาไว้กับคณะผู้เจรจาของสหรัฐฯนั้น จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงพลิกคว่ำคะมำหงาย เมื่อถึงช่วงการพิจารณารับรองให้สัตยาบันร่างข้อตกลงของรัฐสภาอเมริกัน

ครั้งสุดท้ายก่อนหน้านี้ที่ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯจัดการเจรจาหารือระดับรัฐมนตรีในเรื่อง TPP คือเมื่อเดือนตุลาคม 2014 ณ นครซิดนีย์, ออสเตรเลีย

(จากส่วน Asia Times News & Features ของเอเชียไทมส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น