รอยเตอร์ - สหรัฐฯ ประกาศท่าทีชัดเจนวานนี้ (6 เม.ย.) ว่าจะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านลงอย่างช้าๆ ตามเงื่อนไขข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ ขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ปฏิเสธเสียงเรียกร้องจากกรุงเทลอาวีฟที่ต้องการให้พ่วงเงื่อนไขบังคับให้อิหร่านยอมรับความเป็นรัฐของอิสราเอลด้วย
ผู้นำสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีวิทยุสาธารณะแห่งชาติ (National Public Radio - NPR) โดยระบุว่า “การจะทำข้อตกลงควบคุมศักยภาพอิหร่านไม่ให้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ โดยตั้งเงื่อนไขให้พวกเขาต้องยอมรับสถานะของอิสราเอลด้วยนั้น ไม่ต่างจากการพูดว่า เราไม่เซ็นสัญญาจนกว่าระบอบการปกครองในอิหร่านจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง”
“ผมว่ามันเป็นความคิดที่ผิดแต่ต้น... เหตุที่เราต้องป้องกันไม่ให้อิหร่านครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ก็เพราะเรายังไม่อาจหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระบอบ” โอบามา กล่าว
อิหร่านได้ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลหลังเกิดการปฏิวัติอิสลามในปี 1979 และไม่ยอมรับสถานะความเป็นรัฐของอิสราเอลด้วย
โจช เออร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาว ระบุว่า สหรัฐฯ เห็นว่าควรปลดเปลื้องมาตรคว่ำบาตรอิหร่านไปทีละขั้นหลังจากบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับสมบูรณ์แล้ว ส่วนรายละเอียดจะต้องเจรจากันต่อไป
“เราไม่เคยเสนอให้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทุกอย่างตั้งแต่วันแรก” เขาอธิบาย
ทำเนียบขาวพยายามโน้มน้าวให้สภาคองเกรสและนักวิจารณ์ทั้งหลายเชื่อมั่นในกรอบข้อตกลงเบื้องต้นที่มหาอำนาจ P5+1 ซึ่งได้แก่ สหรัฐฯ จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส บวกเยอรมนี ทำร่วมกับเตหะรานเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (2) ว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ข้อตกลงจำกัดศักยภาพนิวเคลียร์ของอิหร่านได้อย่างสมบูรณ์แบบ
กรอบข้อตกลงยังไม่ได้เอ่ยถึงระยะเวลาหรือขอบเขตของการผ่อนคลายคว่ำบาตร และยังมีอีกหลายประเด็นสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องตกลงให้สำเร็จก่อนสิ้นเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นกำหนดเส้นตายสำหรับการจัดทำข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับสมบูรณ์
คณะผู้แทนอิหร่านตีความกรอบข้อตกลงผิดไปจากสหรัฐฯ โดยเชื่อว่ามาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดจะต้องถูกยกเลิก “ทันที” ที่ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ได้รับการลงนาม
เออร์เนสต์ชี้ว่า สหรัฐฯ ต้องการรอดูเสียก่อนว่าอิหร่านจะปฏิบัติตามข้อตกลงได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ ซึ่งก็เชื่อว่าเตหะรานน่าจะรักษาคำมั่นสัญญา หากรู้ว่ามาตรการคว่ำบาตรอาจถูกนำมาใช้ได้อีกทุกเมื่อ
เออร์เนสต์ โมนิซ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ กล่าววานนี้ (6) ว่า การที่ทั้งสองฝ่ายออกมาพูดถึงกรอบข้อตกลงในลักษณะที่แตกต่าง ไม่ใช่เพราะเนื้อหา แต่เพราะเน้นย้ำกันคนละประเด็น
“เห็นได้ชัดว่าเนื้อหาไม่มีอะไรขัดแย้ง แต่เป็นการนำมาเล่าคนละแบบเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ยังแสดงท่าทีกังวล โดย อาเดล อัล-ญุเบร์ เอกอัครราชทูตซาอุฯ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ชี้ว่า รัฐบาลซาอุฯ อยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการตีกรอบกิจกรรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน ตลอดจนวิธีตรวจสอบ และช่วงเวลาที่มาตรการคว่ำบาตรจะถูกยกเลิก