xs
xsm
sm
md
lg

เกาหลีใต้ให้ “KAI-ล็อกฮีด” ชนะประมูลทำสัญญาพัฒนาเครื่องบินรบ 2.5 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - เกาหลีใต้เลือกให้บริษัทโคเรีย แอโรเสปซ อินดัสทรีส์ (KAI) และบริษัทหุ้นส่วน ล็อกฮีด มาร์ติน เป็นผู้ชนะการประมูลเพื่อทำสัญญามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สำหรับพัฒนาเครื่องบินรบ “ที่สร้างเองภายในประเทศ” 120 ลำ

การประมูลจากบริษัท KAI ร่วมกับบริษัทด้านอากาศยานยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ แห่งนี้ถูกมองมาโดยตลอดว่าเป็นตัวเก็งสำหรับข้อตกลงมูลค่า 7.8 พันล้านดอลลาร์นี้ (ราว 2.5 แสนล้านบาท) เหนือการประมูลจากคู่แข่งอย่างบริษัทการบินพลเรือน โคเรียน แอร์ (KAL) ร่วมกับบริษัทแอร์บัส

โครงการเครื่องบินรบเคเอฟ-เอ็กซ์มีจุดประสงค์ที่การพัฒนาและผลิตเครื่องบินรบลำใหม่ที่สร้างขึ้นภายในประเทศ 120 ลำ เพื่อส่งเข้าประจำการแทนที่ฝูงบินรบ F-4 และ F-5 อันเก่าแก่ของเกาหลีใต้

“เราได้เลือกบริษัท KAI เป็นผู้ชนะการประมูลครั้งนี้โดยพิจารณาจาก ราคา, แผนการพัฒนา และศักยภาพด้านการพัฒนาของผู้ประมูลทั้งสอง” สำนักโครงการจัดซื้อด้านกลาโหม (DAPA : Defense Acquisition Program Administration) กล่าวในถ้อยแถลง

“เรากำลังเตรียมที่จะลงนามสัญญา (ฉบับสุดท้าย) ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ภายหลังการเจรจากับผู้ชนะการประมูลในเรื่องเทคโนโลยีและราคา” DAPA กล่าว

รัฐบาลเกาหลีใต้จ่ายค่าการพัฒนานี้ 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเหลือจะมาจากบริษัทผู้ชนะการประมูลสองแห่งนี้และอินโดนีเซีย ที่ต้องร่วมลงขันตามผลของสนธิสัญญาด้านความมั่งคงทวิภาคี

สองบริษัทหุ้นส่วน KAI และล็อกฮีดมีความได้เปรียบเหนือกว่ามาโดยตลอด เนื่องจากพวกเขาเคยจับมือพัฒนาเครื่องบินฝึก ที-50 ซึ่งเป็นอากาศยานความเร็วเหนือเสียงที่สร้างภายในประเทศรุ่นแรกของเกาหลีใต้
เครื่องบินฝึก T-50 ที่ KAI และล็อกฮีด พัฒนาร่วมกัน
ล็อกฮีด ซึ่งเคยได้สัญญาขายเครื่องบินขับไล่โจมตีร่วม เอฟ-35 เอ 40 ลำให้แก่เกาหลีใต้ในปี 2013 ได้ให้สัญญาว่าจะถ่ายทอดเทคโนโลยีสำคัญๆ ในโครงการเคเอฟ-เอ็กซ์ให้กับเกาหลีใต้

ในอดีตกองทัพเกาหลีใต้มักเลือกบริษัทซัปพลายเออร์ของสหรัฐฯ อย่างล้นหลาม โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทัพอากาศ จนสะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างโซลกับวอชิงตัน ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านการทหารต่อกันมาช้านาน

KAL ได้พยายามผลักดันความพยายามของตนด้วยการเน้นย้ำเรื่องการสนับสนุนทางเทคนิคที่จะได้จากบริษัทแอร์บัส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทสัญชาติยุโรปที่พัฒนาเครื่องบินรบยูโรไฟเตอร์

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี้ แอร์บัสก็ได้ยื่นซองประมูล เพื่อทำสัญญากับกองทัพเกาหลีใต้มากมายหลายฉบับ โดยหนึ่งในนั้นคือการทำข้อตกลงจัดหาเครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศมูลค่า 1.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.49 หมื่นล้านบาท)
กำลังโหลดความคิดเห็น