เอเอฟพี – หากมองในแง่ของภูมิศาสตร์และประชากร สิงคโปร์อาจเป็นเพียงเกาะเล็กๆ ที่มีผู้คนอาศัยอยู่ไม่ถึงร้อยละ 0.5 ของจีน แต่ ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีผู้สร้างชาติสิงคโปร์กลับมีอิทธิพลอย่างสูงยิ่งต่อแดนมังกร ทั้งในแง่ของการเป็นแบบอย่าง, ที่ปรึกษา, นักวิจารณ์ และนักปฏิบัตินิยมผู้ช่ำชองภูมิรัฐศาสตร์
ลี ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันจันทร์(23 มี.ค.) ด้วยวัย 91 ปี เป็นลูกหลานจีนโพ้นทะเลที่เคยผ่านการศึกษาในสถาบันชั้นนำของอังกฤษ รัฐบาลของเขามีนโยบายควบคุมกิจการภายในอย่างเข้มงวดผสมผสานกับการเปิดตลาดเสรี จนสามารถพลิกอดีตเมืองท่าอาณานิคมให้กลายเป็นรัฐที่มั่งคั่งและมีระเบียบวินัยดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
ความสำเร็จของ ลี กวน ยู ไม่ได้รอดพ้นไปจากสายตาของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งขณะนั้นเริ่มก้าวสู่ยุคปฏิรูปประเทศ หลังผ่านพ้นความสับสนวุ่นวายจากการปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution)
เติ้ง เสี่ยวผิง สถาปนิกใหญ่ผู้ชี้นำการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศจีน ได้เดินทางเยือนหลายประเทศในเอเชียรวมถึงสิงคโปร์ในปี ค.ศ. 1978 และพบกับ ลี กวน ยู เป็นครั้งแรก
ลี เขียนไว้ในหนังสือ “One Man’s View of the World” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2013 ว่า “ที่สิงคโปร์ เติ้ง ได้เห็นว่าเกาะที่ทั้งเล็กและปราศจากทรัพยากรธรรมชาติสามารถทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้อย่างไร”
“เขากลับไปที่จีน และโน้มน้าวให้รัฐบาลเห็นความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศ... นั่นคือจุดเริ่มต้นและจุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์จีน และจีนก็ไม่เคยหันหลังกลับอีกเลย”
เติ้ง เสี่ยวผิง เองก็เคยยอมรับระหว่างเดินทางไปเยือนจีนตอนใต้เมื่อปี 1992 ว่า ตนรู้สึกชื่นชมพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของสิงคโปร์
“คนสิงคโปร์มีระเบียบวินัยดีมาก เพราะรัฐบาลมีการควบคุมอย่างเข้มงวด” หนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลีซึ่งเป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อ้างถึงคำปรารภของ เติ้ง
“เราควรจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของพวกเขา และจัดการสังคมจีนให้ดียิ่งกว่า”
มิตรเก่าแก่
วิลลี แลม ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ระบุว่า วิสัยทัศน์ของ ลี กวน ยู มีอิทธิพลไม่น้อยต่อการดำเนินนโยบายของปักกิ่ง
“ไม่ผิดเลยที่จะพูดว่า สิงคโปร์เป็นต้นแบบที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจของจีน” เขาให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี “โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party – PAP) ของ ลี กวน ยู อยู่ในฐานะรัฐบาลพรรคเดียว”
แลม ระบุว่า ปัจจุบันจีนยังคงส่งเจ้าหน้าที่รัฐราว 1,000 คนไปสิงคโปร์ทุกปี เพื่อศึกษาวิธีจัดระเบียบสังคมในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะด้านบริการสาธารณะและอุตสาหกรรมการเงิน
หลังทราบข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของ ลี เมื่อวานนี้ (23) ประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ของจีนได้กล่าวไว้อาลัย และยกย่อง ลี เป็น “มิตรเก่าแก่ของชาวจีน” ผู้ได้รับการเชิดชูจากประชาคมโลกในฐานะ “นักยุทธศาสตร์และรัฐบุรุษ”
ถึงกระนั้น จีนก็เคยปล่อยให้สื่อของรัฐวิพากษ์วิจารณ์ความเผด็จการของ ลี กวน ยู ซึ่งออกจะน่าประหลาดใจ เพราะว่าปักกิ่งเองก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้ศัตรูของรัฐมีปากมีเสียงเท่าใดนัก
เมื่อปี 2011 หนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลีได้ลงบทความวิพากษ์ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์เมื่อช่วงทศวรรษ 1960 โดยระบุว่า “ศัตรูทางการเมืองของ ลี ถูกจับกุม และจำคุกโดยไม่มีการไต่สวนสูงสุดถึง 23 ปี”
ด้านอดีตนายกฯ สิงคโปร์ก็เคยตั้งคำถามในทำนองว่า ทางการจีนเลียนแบบความสำเร็จของสิงคโปร์ได้แค่ไหน
“ตอนที่รัฐบาลจีนสมรู้ร่วมคิดกับพวกนายทุน และบีบให้ชาวบ้านยอมสละที่ดินเพื่อมาทำโครงการพัฒนาโดยไม่จ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรมให้พวกเขา มันเปรียบเทียบกับระบบของเราได้หรืออย่างไร” ลี ตั้งคำถามเอาไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง
เมื่อสิงคโปร์แยกตัวออกจากมาเลเซียในปี 1965 หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงเวียดนามและไทยกำลังต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์ซึ่งบางกลุ่มก็มีจีนหนุนหลังอยู่ ส่วนอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศใหญ่ที่สุดแถบนี้ก็เผชิญเหตุนองเลือดจากการกวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์เช่นกัน
ในส่วนของจีน พรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งนำโดยประธาน เหมา เจ๋อ ตง ก็กำลังเริ่มต้นปฏิวัติทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ซึ่งจะกินเวลานานถึง 10 ปี
ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ลี กวน ยู ได้ผลักดันให้ชาวสิงคโปร์เรียนรู้ภาษาจีนกลางด้วยตัวอักษรแบบย่อ แทนที่จะท่องจำอักษรตัวเต็มอย่างที่ใช้กันในไต้หวันและฮ่องกง
ลี ยังเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกๆ ที่คาดเดาได้ว่าจีนจะก้าวขึ้นมามีอิทธิพลอย่างสูงในอนาคต จึงสนับสนุนให้นักธุรกิจสิงคโปร์เข้าไปลงทุนในจีนอย่างกว้างขวาง แม้ในช่วงที่เกิดการประท้วงที่จตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 รัฐบาลสิงคโปร์ก็ยังติดต่อสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างไม่ขาดช่วง
“ตอนนั้นสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่เป็นที่ชื่นชอบของโลกตะวันตกเลย แต่ท่านนายกฯ ลี กวน ยู กลับคิดตรงกันข้าม” ทอมมี โก๊ะ ซึ่งเคยเป็นเอกอัครราชทูตผู้แทนสิงคโปร์ประจำองค์การสหประชาชาติถึง 2 สมัย ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวแชนแนลนิวส์เอเชีย พร้อมกล่าวชื่นชมวิสัยทัศน์ในด้านยุทธศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมของ ลี
“หลังจากนั้นท่านได้ไปเยือนจีนปีละกว่า 1 ครั้ง สานสัมพันธ์กับผู้นำจีนหลายต่อหลายรุ่น เพื่อจะได้รู้จักคุ้นเคยกับพวกเขา”
ลี เคยให้คำปรึกษาด้านการบริหารรัฐกิจแก่ผู้นำจีนหลายคน รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และไต้หวันซึ่งปักกิ่งถือว่าเป็นเพียงจังหวัดหนึ่งที่คิดจะแยกตัวออกจากจีนแผ่นดินใหญ่
“ลี กวน ยู แนะให้ผู้นำจีนเริ่มต้นบูรณาการทางเศรษฐกิจเสียก่อน และอย่าไปกดดันไต้หวันในเชิงการเมืองหรือการทหารให้มากนัก” แลม กล่าว
ถึงจะมีมิตรภาพที่แน่นแฟ้นเพียงไร แต่ ลี กวน ยู ก็ยังรักษาระยะในห่างเชิงยุทธศาสตร์กับจีน และย้ำถึงความจำเป็นที่สหรัฐฯ จะต้องเข้ามามีบทบาททางทหารในเอเชีย-แปซิฟิก ขณะที่วอชิงตันเองก็ได้ทราบมุมมองอันลุ่มลึกเกี่ยวกับจีนจากปากของ ลี ซึ่งถือเป็น “หนี้” ที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ก็กล่าวยอมรับระหว่างสดุดีคุณงามความดีของ ลี กวน ยู เมื่อวันจันทร์ (23)