xs
xsm
sm
md
lg

ประวัติไชน่าทาวน์ ในสหรัฐฯ ก่อเกิดชุมชนกลางกระแสกีดกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล

กุลีจีนในยุคขุดทอง ประเทศสหรัฐอเมริกา ราวปี ค.ศ. 1849 ซึ่งชาวจีนอพยพคือแรงงานหลักในการสร้างบ้านแปลงเมืองฯ (ภาพจาก San Francisco History Association)
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ข่าวคลิปมัคคุเทศน์ชาวอเมริกันคนหนึ่งที่นำกลุ่มนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมเขตชุมชนจีน ไชน่าทาวน์ในซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ อันเป็นไชน่าทาวน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานเกือบสองร้อยปี แต่ทว่า กลับเป็นการบรรยายที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง เหยียดชนชาติ มีอคติและเหมารวมอย่างไม่น่าเชื่อว่าผู้ยึดวิชาชีพมัคคุเทศน์จะพึงกระทำ ซึ่งมัคคุเทศน์รายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในพฤติกรรมอย่างมาก

ล่าสุด ฮัฟฟิงตันโพสต์ สื่อต่างประเทศ ได้เผยแพร่ (11 พ.ย.) บทความของบราเดน โกแยตต์ คอลัมนิสต์ ที่ย้อนเล่าประวัติความเป็นมาของไชน่าทาวน์ ซึ่งนักท่องเที่ยวควรรู้ และมัคคุเทศน์ควรเล่า โดยระบุว่า ไชน่าทาวน์ต่างๆ ในสหรัฐฯ ล้วนเกิดจากปรากฏการณ์กีดกันเหยียดชาวจีนทั้งในทางสังคม และกฎหมายของสหรัฐฯ ในอดีต

บราเดน โกแยตต์ เขียนบทความ How Racism Created America's Chinatowns ว่า ไชน่าทาวน์เกิดจากการรวมกลุ่มของคนจีนโพ้นทะเลในสหรัฐฯ หลังมีกระแสต่อต้านคนจีน ถึงขนาดทำร้าย ทำลายโดยกลุ่มคนผิวขาว

ในยุคตื่นขุดทอง ทำเหมืองฯ และสร้างทางรถไฟเชื่อมฝั่งตะวันตก - ตะวันออก ของสหรัฐฯ นั้น ดินแดนเสรีแห่งนี้ได้เปิดประเทศอาศัยแรงงานหลักของชาวจีนอพยพจำนวนมหาศาล ด้วยเหตุว่า แรงงานจีนนั้นกดราคาได้ต่ำ และยอมทำงานเสี่ยงตายในสภาพกันดาร ครั้นเมื่องานสร้างทางรถไฟลุล่วง คนงานผิวขาวเริ่มกังวลว่าแรงงานจีนซึ่งเรียกค่าแรงถูกและยอมทำงานกุลี จะเข้าไปแย่งงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ กระแสต่อต้านแรงงานจีน จึงค่อยๆ ก่อตัวขึ้น และถึงขนาดก่อเหตุรุนแรงทำร้าย-ขับไล่คนจีน

ในร็อคสปริงส์ ปี ค.ศ. 1885 เกิดเหตุรุนแรงคนงานเหมืองผิวขาว 150 คนพร้อมอาวุธ บุกเข้าทำร้าย เผาทำลายบ้านเรือนขับไล่คนจีนออกจากเมือง เป็นเหตุให้มีคนจีนเสียชีวิต 28 คน ทว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองสหรัฐฯ กลับไม่ได้จับกุมผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีฯ

หลังเหตุการณ์นั้น ยังมีกลุ่มต่อต้านคนจีนทางฝั่งตะวันตก ปลุกกระแสเกลียดชังและก่อเหตุรุนแรงอีกนับร้อยๆ ครั้งตลอดช่วงทศวรรษ 1870-1880 ซึ่งรวมถึงเหตุวิกฤติเลวร้ายในเมืองเดนเวอร์, ลอสแอนเจลิส, ซีแอตเทิล, ทาโคมา และวอชิงตัน เมื่อเป็นดังนี้ ชาวจีนอพยพจำนวนมากจึงต้องหนีตายเอาตัวรอดไปยังฝั่งตะวันออก

เบียทริซ เฉิน ผู้อำนวยการโครงการฯ ประจำพิพิธภัณฑ์ชาวจีน ในนิวยอร์ก สหรัฐฯ อธิบายกระแสต่อต้านฯ นี้ว่าคือจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มเป็นไชน่าทาวน์ในชายฝั่งตะวันออก ขณะที่ชาวจีนซึ่งยังอยู่ในบริเวณชายฝั่งตะวันตก ก็ต้องเกาะกลุ่มกันเป็นไชน่าทาวน์หลายๆ แห่งเช่นกัน

รัฐบัญญัติกีดกันชาวจีน ค.ศ. 1882 (The Chinese Exclusion Act 1882)
ในช่วงศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงของประเทศสหรัฐฯ อันมีแรงงานจีนอพยพเป็นกำลังสำคัญนั้น บรรดานักการเมืองอเมริกัน ตระหนักในความวิตกกังวลของแรงงานผิวขาว ซึ่งชี้นิ้วกล่าวโทษกลุ่มคนจีนอพยพว่าเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจตน และกำลังแทรกซึมกลืนกลายสังคมอเมริกัน

กระทั่งในปี ค.ศ. 1877 สมาชิกสภาคองเกรส รับฟังเหตุผลที่มีผู้ร้องฯ ว่า 'ชาวจีนจะยอมไม่เปลี่ยนแปลงปรับตัว พวกเขาและอารยธรรมวัฒนธรรมของพวกเขาจะรุกคืบสลายประชาชนของเรา และพวกเขาจะไม่อาจเป็นพลเมืองของประเทศ'

สภาคองเกรสเมื่อเห็นชอบฯ จึงได้ผ่านกฎหมายรัฐบัญญัติกีดกันชาวจีน ค.ศ. 1882 (The Chinese Exclusion Act ค.ศ. 1882 ) ซึ่งเป็นประหนึ่งกำแพงปิดกั้น กีดกันชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐฯ ไม่ให้ได้รับสิทธิในการเป็นพลเมือง อีกทั้งกฎหมายนี้ยังกีดกันเข้มงวดกับชาวจีนที่จะอพยพเข้ามาจากประเทศจีน

ว่ากันว่า กฎหมายรัฐบัญญัติกีดกันชาวจีน ค.ศ. 1882 นี้คือกฎหมายฉบับแรกๆ ของสหรัฐฯ ที่มีพื้นฐานวางอยู่บนอคติเหยียดชนชาติ กฎหมายนี้ยังได้ปรับแก้ในสิบปีต่อมา (ค.ศ. 1892) อีก โดยสภาคองเกรสกำหนดเพิ่มให้ประชาชนอเมริกันเชื้อสายจีนทุกคน รวมถึงประชาชนอเมริกันโดยกำเนิด ต้องถือรูปบัตรประจำตัวไว้ตลอดเวลา หากมิเช่นนั้น จะถูกจับกุมและเนรเทศ

เพื่อเป็นการช่วยเหลือกันเองในหมู่ชาวจีนอพยพ หลังถูกกีดกันทางกฎหมายโดยตรง ชาวจีนจึงได้รวมตัวกันเป็นชุมชนเพื่อเอื้อเฟื้อ ปกป้องกันและกัน

เบียทริซ เฉิน กล่าวว่า นี่นับเป็นการถือกำเนิดกลุ่มองค์กรทางสังคมแรกๆ ของชาวจีนโพ้นทะเล และคือที่มา-ที่ไปว่า เหตุใดเราจึงพบเห็นเครือข่ายโยงใยในหมู่คนจีนอย่างเหนียวแน่นมากมาย ในไชน่าทาวน์ สหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น ไชน่าทาวน์ ซานฟรานซิสโก ซึ่งมีองค์กรร่วมกุศลสมาคมจีน (The Chinese Consolidated Benevolent Association) เป็นองค์กรสำคัญในการหยิบยื่นความช่วยเหลือทางกฎหมาย และบริการสาธารณสุขให้กับชาวจีนอพยพ

เรื่องราวประวัติศาสตร์ไชน่าทาวน์ ในสหรัฐฯ ยังมีอีก ทั้งในด้านการถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน สิทธิในการอยู่อาศัยและทำงานนอกของเขตชุมชนไชน่าทาวน์ ตลอดจนการยกเลิกเพิกถอนกฎหมายรัฐบัญญัติกีดกันชาวจีน ค.ศ. 1882 หลังจากบังคับใช้อยู่นานกว่า 60 ปี

(โปรดติดตามตอนต่อไปเสาร์หน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น