เอเอฟพี – ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มีคำพิพากษาวันนี้ (26 ก.พ.) ให้ยกเลิกกฎหมาย “ห้ามคบชู้” ซึ่งกำหนดความผิดทางอาญาและระวางโทษจำคุกสูงสุด 2 ปีสำหรับผู้ที่มีเซ็กซ์นอกสมรส
คณะผู้พิพากษา 9 คนมีคำวินิจฉัยว่า กฎหมายซึ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อปี 1953 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาค่านิยมการครองเรือนแบบดั้งเดิม ขัดต่อหลักเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรอง
“แม้ว่าการคบชู้จะเป็นเรื่องผิดศีลธรรม แต่รัฐก็ไม่ควรก้าวก่ายชีวิตส่วนตัวของพลเมือง” ผู้พิพากษา พัค ฮัน-ชุล กล่าว
คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้(26) ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัท ยูนิดัส คอร์ป ผู้ผลิตถุงยางอนามัยรายใหญ่ของโลกพุ่งขึ้นถึง 15% ซึ่งเป็นช่วงจำกัดการเปลี่ยนแปลงราคาประจำวันของตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ (KOSPI)
นับเป็นครั้งที่ 5 ที่ศาลสูงสุดเกาหลีใต้หันมาพิจารณาความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งที่ผ่านมาทำให้แดนโสมขาวเป็นเพียงไม่กี่ประเทศนอกโลกมุสลิมที่กำหนดความผิดอาญาสำหรับการไม่ซื่อสัตย์ต่อคู่สมรส
ช่วง 6 ปีที่ผ่านมามีชาวเกาหลีใต้เกือบ 5,500 คนที่ถูกดำเนินคดีฐานคบชู้ เฉพาะในปีที่แล้วก็เกือบ 900 ราย ทว่าตัวเลขแต่ละปีลดลงเรื่อยๆ ขณะที่การลงโทษจำคุกจริงๆ ก็แทบจะไม่เกิดขึ้น
สถิติจากสำนักงานอัยการ ระบุว่า ปี 2004 มีผู้ที่ถูกจำคุกในความผิดฐานคบชู้รวมทั้งสิ้น 216 คน และลดลงเหลือเพียง 42 คนในปี 2008 แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีผู้ที่ถูกจำคุกด้วยข้อหานี้เพียง 22 รายเท่านั้น
ตัวเลขที่ลดลงอย่างต่อเนื่องสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในสังคมเกาหลีใต้ ซึ่งวิถีปฏิบัติแบบดั้งเดิมกำลังถูกแทนที่ด้วยค่านิยมสมัยใหม่มากยิ่งขึ้นทุกวัน
“มุมมองเรื่องสิทธิส่วนบุคคลในการทำกิจกรรมทางเพศเปลี่ยนแปลงไปมาก” ผู้พิพากษา พัค กล่าวขณะประกาศคำตัดสินของศาล
ก่อนหน้านั้น ผู้พิพากษา อันห์ ชาง-โฮ ได้เสนอมุมมองโต้แย้ง โดยระบุว่ากฎหมายปี 1953 เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยรักษาคุณธรรมในการครองเรือน ถ้าหากยกเลิกเสีย ชาวเกาหลีใต้อาจจะหันมาใช้ชีวิตเสเพลมั่วโลกีย์กันมากขึ้น
ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายนี้ ผู้ที่คบชู้จะถูกดำเนินคดีก็ต่อเมื่อมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความ และคดีจะยุติทันทีถ้าฝ่ายโจทก์ถอนฟ้อง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการยอมความเมื่อได้รับค่าชดเชย
กฎหมายห้ามคบชู้มีวัตถุประสงค์แรกเริ่มเพื่อปกป้องสตรีเกาหลีใต้ ซึ่งสมัยก่อนแทบจะไม่ได้รับสิทธิ์อันพึงมีพึงได้หลังการสมรส พวกเธอส่วนใหญ่ไม่มีรายได้เป็นของตนเอง และการหย่าร้างก็ถือเป็นรอยด่างพร้อยในชีวิตลูกผู้หญิงตามทัศนะของคนยุคก่อน
อย่างไรก็ดี แม้แต่กลุ่มพลเมืองหัวอนุรักษ์นิยมที่เคยสนับสนุนกฎหมายนี้มาก่อน ก็ยอมรับว่ากาลเวลาได้ทำให้ค่านิยมของชาวแดนกิมจิเปลี่ยนแปลงไปมาก
“พฤติกรรมคบชู้ควรจะถูกควบคุมด้วยกลไกศีลธรรมและกระบวนการทางสังคมมากกว่า แต่กฎหมายเช่นนี้ไม่เหมาะกับสังคมยุคใหม่แล้ว” โก ซอน-จู นักเคลื่อนไหวจากกลุ่ม เฮลธี แฟมิลีส์ ซึ่งมีฐานอยู่ที่กรุงโซล กล่าว