พังงา - ผู้ว่าฯพังงา สนธิกำลังเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายสุ่มตรวจแรงงานในเรือประมง เพื่อเฝ้าระวังการลักลอบกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ หลังจากประเทศไทยถูกสหรัฐอเมริกาลดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่สถานะ 3 (Tier 3 )ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญจัดทำบัญชีสินค้าของไทย
วันนี้ ( 18 ก.พ.) นายประยูร รัตนเสนีย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา พร้อมด้วย พลเรือตรีไชยณรงค์ ขาววเศษ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือพังงา นางอำพัน รุ่งแจ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายอนันต์ ดนตรี พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพังงา นายกิจจา ศรีเจริญ แรงงานจังหวัดพังงา นางวิมลมาน สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาพังงา นายธนกร นราวุฒิพันธ์ จัดหางานจังหวัดพังงา จ.ส.อ.อรรณพ อิ่มโอษฐ์ หัวหน้าชุดรักษาความสงบ ร.25 พัน 3 ค่ายวิภาวดีรังสิต พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจการใช้แรงงานในเรือประมงที่ทำประมงในทะเล ระหว่าง เขาหน้ายักษ์ - เกาะสิมิลัน อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เพื่อบูรณาการตรวจแรงงานในกิจการประมงทางทะเล และเฝ้าระวังการลักลอบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงานผิดกฎหมายในเรือประมง
โดยที่ผ่านมากฎหมายคุ้มครองแรงงานในกิจกรรมประมงทะเลฉบับเดิมลูกจ้างบางส่วนไม่ได้รับการคุ้มครอง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีการค้าโลก ดั้งนั้นกระทรวงแรงงานจึงได้ยกเลิกกฎหมายฉบับเดิม และออกกฎคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ.2557 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2557 ให้ใช้บังคับเรือประมงทะเลที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ทั้งที่ทำการประมงในน่านน้ำและนอกน่านน้ำห้ามจ้างเด็กต่ำกว่าอายุ 18 ปี ทำงานในเรือประมง ให้จัดทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือให้แต่ละฝ่ายถือไว้ให้ตรวจสอบได้ และให้นายจ้างนำลูกจ้างมารายงานตัวต่อพนักงานตรวจแรงงานปีละ 1 ครั้ง จัดเวลาพัก ในการทำงาน จ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทำสัญญาจ้าง และขึ้นทะเบียนลูกจ้างทั้งหมด
ทางด้าน นายประยูร รัตนเสนีย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวว่า ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายได้ตรวจเรือประมงทางทะเลตามนโยบายของทางรัฐบาล เพื่อป้องกัน ปราบปรามแก้ปัญหาการค้ามนุษย์หลังจากประเทศไทยถูกสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญจัดทำบัญชีสินค้าของไทยที่เชื่อว่าผลิตจากการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ จำนวน 5 รายการ คือ สินค้ากุ้ง เครื่องนุ่งห่ม อ้อย ปลา และสื่อลามก และจัดสถานะของประเทศไทยเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ให้อยู่สถานะ 3 (Tier 3 ) หมายถึงประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกา และไม่มีความพยายามแก้ปัญหา โดยระบุว่าไทยมีการใช้แรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมง รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงมีนโยบายที่จะแก้สถานการณ์การค้ามนุษย์ให้หลุดพ้นจากสถานะ 3 (Tier 3 ) ภายในปี พ.ศ.2558 ซึ่งการสุ่มตรวจเรือประมงอวนลากในจังหวัดพังงา ที่มีแรงงานต่างด้าวเป็นลูกจ้างพบว่าเรือที่ตรวจมีใบอนุญาตแรงงานถูกต้อง ไม่พบการกระทำความผิดแต่อย่างใดพร้อมประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวนำแรงงานไปขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องต่อไป