xs
xsm
sm
md
lg

‘สหภาพยุโรป’ ยืนอยู่ปากเหวแห่งการพังทลาย

เผยแพร่:   โดย: จอห์น เฟฟเฟอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The Collapse of Europe?
By John Feffer
28/01/2015

ช่วงระหว่างปี 1989 จนถึงปี 2014 ยุโรปค่อยๆ มั่งคั่งร่ำรวยขึ้นอย่างเงียบๆ และแสดงบทบาทมากยิ่งขึ้นบนเวทีกิจการระหว่างประเทศ (ถึงแม้ยังคงขาดไร้แสนยานุภาพทางการทหารที่จะแสดงตนเป็นตำรวจโลก) สหภาพยุโรปสามารถก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ของโลกในแง่ของจำนวนประชากร โดยตามหลัง จีน กับ อินเดีย เท่านั้น อีกทั้งยังมีฐานะเป็นมหาอำนาจทางการค้ารายใหญ่ที่สุดบนพื้นพิภพทีเดียว อย่างไรก็ดี ขณะนี้ “โครงการยุโรปที่บูรณาการเป็นหนึ่งเดียว” กลับกำลังโซซัดโซเซอยู่ตรงปากขอบเหวของความล้มเหลว

ยุโรปชนะสงครามเย็น

ไม่นานนักหลังจากกำแพงเบอร์ลินถูกรื้อถอนไปเมื่อประมาณเสี้ยวศตวรรษที่แล้ว สหภาพโซเวียตก็พังครืนลงมา ขณะที่สหรัฐฯนำเอาผลกำไรจากสันติภาพที่เกิดขึ้นภายหลังสงครามเย็นมาถลุงใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ในความพยายามที่จะรักษาฐานะการเป็นผู้ทรงอำนาจบารมีแผ่คลุมครอบงำทั่วโลกเอาไว้ ทว่ายุโรปกลับค่อยๆ มั่งคั่งร่ำรวยขึ้นอย่างเงียบๆ มีการผนวกรวมตัวกันอย่างแน่นแฟ้นเข้มแข็งมากขึ้น และออกมาแสดงบทบาทมากยิ่งขึ้นในเวทีกิจการระหว่างประเทศ ในช่วงเวลาระหว่างปี 1989 ถึงปี 2014 โดยทางปฏิบัติแล้ว สหภาพยุโรป (อียู) ได้เพิ่มจำนวนรัฐสมาชิกของตนขึ้นมาอีกเท่าตัว และพุ่งพรวดขึ้นมายึดอันดับ 3 ของโลกในด้านจำนวนประชากร โดยตามหลังเพียง จีน กับ อินเดีย เท่านั้น ปัจจุบัน สหภาพยุโรปสามารถคุยโขมงได้ว่าตนเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก รวมทั้งยังนำหน้าใครเพื่อนในบัญชีรายชื่อมหาอำนาจทางการค้าของพื้นพิภพ ในปี 2012 อียู ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จากผลงานในการเปลี่ยนแปลงยุโรป “จากทวีปแห่งสงครามกลายเป็นทวีปแห่งสันติภาพ” (ดูรายละเอียดของประกาศมอบรางวัลได้ที่ http://www.nobelprize.org/nobel_prizes/peace/laureates/2012/press.html)

ถ้าหากมีการแข่งขันประกวดประขันกันว่า ใครกันแน่คือ “อภิมหาอำนาจที่แท้จริงของโลก” (world’s true superpower) ประเทศจีนจะต้องถูกตัดแต้มไปเยอะทีเดียว จากการที่ยังคงมีชาวไร่ชาวนาผู้ยากจนทุกข์เข็ญอยู่เป็นจำนวนมากมายเหลือเกินในดินแดนชนบทหลังเขาอันไกลโพ้นของแดนมังกร ขณะที่ระบบราชการซึ่งรุ่งเรืองเฟื่องฟูอยู่ในเขตเมืองก็ทั้งทุจริตฉ้อฉลและทั้งคับแคบหยาบช้า สำหรับสหรัฐฯย่อมจะต้องถูกตัดคะแนนจากการที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายซึ่งมีอยู่ กำลังอยู่ในอาการเสื่อมโทรมผุพัง (ดูรายละเอียดได้ที่บทความเรื่องนี้ http://fpif.org/americas-homegrown-terror/) รวมทั้งจากการที่เครือข่ายผลประโยชน์ร่วมระหว่างฝ่ายทหารกับอุตสาหกรรม (military-industrial complex) มีการเติบโตขยายตัวใหญ่เกินไปจนเป็นภัยคุกคามที่จะทำให้เศรษฐกิจล้มละลาย ส่วนยุโรปในฐานะที่เป็นอภิมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวซึ่งความมั่งคั่งร่ำรวยกระจายตัวอย่างยุติธรรม, การเมืองมั่นคงมีเสถียรภาพ, และเคารพยึดมั่นในหลักนิติธรรม ดังนั้นจึงสมควรได้รับยกย่องให้ขึ้นสู่อันดับหนึ่ง ถึงแม้ว่ายุโรปไม่ได้มีแสนยานุภาพทางการทหารที่จะนำมาใช้แสดงบทบาทเป็นตำรวจโลก (หรือบางทีอาจจะต้องกล่าวเป็นตรงกันข้ามว่า ก็เพราะไม่มีแสนยานุภาพเช่นนี้แหละ ยุโรปจึงยิ่งสมควรได้รับการยกย่องให้เป็นอภิมหาอำนาจหมายเลขหนึ่ง)

อย่างไรก็ดี ทั้งๆ ที่ประสบความสำเร็จอย่างงามหยดดังที่ได้พรรณนามาทั้งหมดนี้ เวลานี้ “โครงการยุโรป” กลับกำลังโซซัดโซเซอยู่ตรงปากขอบเหวของความล้มเหลว อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรปในปัจจุบันอย่างเก่งที่สุดก็อยู่ในระดับกะปลกกะเปลี้ย และความไม่เสมอภาคกันทางเศรษฐกิจสังคมกำลังเพิ่มสูงขึ้น (ดูรายละเอียดได้ที่ https://ec.europa.eu/research/social-sciences/pdf/policy-review-inequalities_en.pdf) พวกประเทศทางยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง แม้กระทั่งในรายที่ถือกันว่าทำได้ค่อนข้างดีแล้วอย่างโปแลนด์ ก็ยังคงล้มเหลวไม่สามารถไล่อุดช่วงห่างทางรายได้ที่ถูกพวกชาติในครึ่งซึ่งร่ำรวยกว่าของยุโรปวิ่งนำหน้าไปก่อนแล้ว ในตอนนี้พวกประเทศชายขอบที่ติดหนี้สินรุงรัง ยังกำลังก่อการกบฎสร้างความปั่นป่วนขึ้นมา

เมื่อพิจารณากันในทางการเมือง ปัญหาที่กำลังระอุอยู่ในยุโรปตอนนี้ดูจะมีความร้ายแรงสาหัสยิ่ง กระทั่งดูเหมือนกับศูนย์กลางอาจจะไม่สามารถยึดส่วนอื่นๆ รอบนอกเอาไว้ได้ และอะไรๆ ก็ทำท่าจะหลุดแยกออกมาเป็นเสี่ยงๆ หากมองพินิจจากทางด้านซ้าย พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายจัดอย่างพรรคซีริซา (Syriza) ในกรีซ กำลังท้าทายใบสั่งจ่ายยาของอียูซึ่งมุ่งเน้นเรื่องการใช้มาตรการเข้มงวดในทางเศรษฐกิจ หรือถ้าพิจารณาจากทางด้านขวา พวกพรรคการเมืองที่มีแนวทางระแวงสงสัยการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวของยุโรป (Eurosceptic parties) ต่างพุ่งเป้ามุ่งโจมตีโมเดลการรวมตัวแบบกึ่งสหพันธรัฐของอียูในเวลานี้ นอกจากนั้น ลัทธิเหยียดเชื้อชาติ (racism) และอาการเกลียดกลัวต่างชาติ (xenophobia) ต่างกำลังมีผู้คนฝักใฝ่ยึดถือกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งในอาณาบริเวณซึ่งเมื่อก่อนเคยสงบสุขปลอดจากอคติเหล่านี้อย่างสแกนดิเนเวีย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาท้าทายทางสังคมที่สำคัญที่สุดซึ่งยุโรปกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ บางทีอาจจะได้แก่กระแสเกลียดกลัวต่างชาติ ซึ่งกำลังแผ่ลามได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนถือได้ว่าเป็นกระแส “สังคมนิยมของคนโง่เขลา” (socialism of fools) ระลอกล่าสุด นับตั้งแต่การก่อเหตุเข่นฆ่าในกีฬาโอลิมปิกที่เมืองมิวนิกในปี 1972 ไปจนถึงการโจมตีเมื่อเร็วๆ นี้ที่สำนักงานนิตยสาร “ชาร์ลี เอ็บโด” และซูเปอร์มาร์เก็ตของชาวยิวในกรุงปารีส สงครามระลอกแล้วระลอกเล่าในตะวันออกกลาง ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการก่อเหตุโจมตีแบบตัวแทนครั้งแล้วครั้งเล่าขึ้นในยุโรป อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ทวีปยุโรปกำลังเกิดความแตกแยกยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ระหว่างผู้คนหยิบมือหนึ่งซึ่งปรารถนาที่จะเป็นนักรบผู้ประกาศอวดอ้างสวมเสื้อคลุมแห่งความเป็นอิสลามที่แท้ กับกลุ่มผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เชื่อว่า อิสลาม –ไม่ว่าจะเป็นอิสลามแบบใด –ล้วนแต่ไม่ควรมีที่ยืนในยุโรป

สหภาพยุโรปที่กำลังแตกแยกร้าวลึกของปี 2015 ช่างไม่เหมือนยุโรปที่นักรัฐศาสตร์ ฟรานซิส ฟูกูยามา (Francis Fukuyama) จินตนาการเอาไว้ในปี 1989 เมื่อตอนที่เขาทำนายทายทักเอาไว้อย่างมีชื่อเสียงโด่งดัง เกี่ยวกับ “การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์” (ดูรายละเอียดได้ที่ https://ps321.community.uaf.edu/files/2012/10/Fukuyama-End-of-history-article.pdf) ตลอดจนชัยชนะในท้ายที่สุดของประชาธิปไตยเสรีนิยม และระบบราชการในกรุงบรัสเซลส์ อันหมายถึงสำนักงานใหญ่ของอียู ซึ่งเวลานี้ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการต่างๆ ของทวีปยุโรป แล้วมันก็ไม่เหมือนกับยุโรปซึ่งนายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher) ของอังกฤษ เคยจินตนาการเอาไว้ในทศวรรษ 1980 ตอนที่เธอป่าวประกาศถึงชัยชนะในขอบเขตทั่วโลกของ TINA ซึ่งย่อมาจากคำพูดของเธอที่ว่า “there is no alternative” (ไม่มีทางเลือกอย่างอื่นอีกแล้ว) และลัทธิเสรีนิยมอิงพลังตลาด (market liberalism) ที่ถือเป็นแบรนด์ของเธอ ตรงกันข้าม ยุโรปในทุกวันนี้กลับแลดูเหมือนย้อนกลับไปสู่ยุคที่คั่นอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 กับสงครามโลกครั้งที่ 2 มากขึ้นทุกทีๆ เป็นยุคสมัยที่พวกนักการเมืองฝ่ายขวาจัดและฝ่ายซ้ายมีอิทธิพลทางความคิดอย่างสูงจนทำให้การอภิปรายถกเถียงทางการเมืองเกิดการแยกขั้วแบ่งข้างกันอย่างถนัดชัดเจน, เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ กำลังอยู่ในอาการควงสว่านดำดิ่งโหม่งโลกด้วยปัญหาทางการเงิน, กระแสลัทธิต่อต้านยิวพลุ่งพล่านทะลักออกมาจากรูท่อระบายของเสีย, และเมฆดำของพายุกำลังรวมกลุ่มกันอยู่ที่บริเวณขอบฟ้า

สงครามใหญ่ในระดับสู้รบกันทั่วทั้งทวีปอีกหนหนึ่งอาจจะยังไม่เกิดขึ้นมา ทว่ายุโรปก็กำลังเผชิญความเป็นไปได้ที่ระบอบใหญ่ของทวีปจะเกิดการพังทลายลง นั่นก็คือ การรวมตัวกันเป็นยูโรโซนต้องมีอันสิ้นสุดลง และการบูรณาการของภูมิภาคต้องเกิดการคลายตัวกระจัดกระจายออกไป เราสามารถที่จะคิดนึกถึงภาพอนาคตอันเต็มไปด้วยความเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นมาได้ของทวีปนี้ เพียงด้วยการเหลือบแลสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในอาณาบริเวณชายแดนด้านตะวันออกของอียู ณ ที่นั้น โครงสร้างแบบสหพันธรัฐซึ่งเคยเชื่อมโยงผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมให้ผูกพันผนวกเข้าหากัน กลับปรากฏผลงานอันย่ำแย่ต่ำทรามในตลอดระยะเวลาเสี้ยวศตวรรษที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่สหภาพโซเวียตได้แตกสลายไปในปี 1991 เท่านั้น หากเชโกสโลวะเกียยังหย่าขาดแยกออกเป็น เช็ก กับ สโลวาเกีย ในปี 1993 และยูโกสลาเวียถูกฉีกออกเป็นชิ้นๆ จากสงครามที่เกิดขึ้นสืบต่อกันหลายยกราวกับเป็นภาพยนตร์ซีรีส์ ในระยะต่อมาของทศวรรษ 1990

ถ้าหากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ, การเมือง, และสังคมของสหภาพยุโรป ต้องมีอันปราชัยยอมจำนนต่อการวิวาทบาดหมางกันแล้ว อียูก็อาจจะได้เดินตามหลังสหภาพโซเวียตและยูโกสลาเวียเข้าไปสู่ถังขยะบรรจุลัทธิสหพันธรัฐที่ล้มเหลวทั้งหลาย ยุโรปในฐานะที่เป็นทวีปจะยังดำรงคงอยู่ รัฐชาติต่างๆ ในยุโรปก็ยังจะมีความมั่งคั่งรุ่งเรืองไปได้ในระดับต่างๆ กัน ทว่าแนวความคิดว่าด้วยยุโรปที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ย่อมถึงกาลดับสลาย สิ่งที่ดูเลวร้ายน่าเจ็บใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ สหภาพยุโรปต้องกลับมาประสบความพ่ายแพ้ทั้งๆ ที่ได้ชัยชนะในสงครามเย็นเช่นนี้ มีแต่ต้องโทษตนเองเท่านั้น โดยไม่สามารถประณามกล่าวหาใครอื่นได้เลย

ความรุ่งเรืองและความเสื่อมของ TINA

ยุคสงครามเย็นเป็นยุคสมัยแห่งการมีหนทางเลือกหลายๆ ทางให้เลือกเดิน สหรัฐฯนั้นเสนอลัทธิทุนนิยมแบบปล่อยเสรีในเวอร์ชั่นของตนเข้าประกวด ขณะที่สหภาพโซเวียตก็โอ่อวดแบรนด์การวางแผนอย่างรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง ตรงกลางๆ ระหว่าง 2 แนวความคิดนี้ ยังมียุโรปภาคพื้นทวีปซึ่งเสนอทางเลือกแบบที่พลังตลาดกับความใส่ใจต่อสังคม สองส่วนนี้มีการประนีประนอมกัน กล่าวคือ เป็นทุนนิยมที่มีสัมผัสของการวางแผน และมีความสนใจอาทรอย่างล้ำลึกต่อสวัสดิภาพของสมาชิกทุกๆ คนในสังคม

คำขวัญที่นิยมหยิบยกขึ้นมาป่าวร้องในหนทางเลือกแบบยุโรปเช่นนี้ ได้แก่ การร่วมมือกัน ไม่ใช่ การแข่งขันกัน พวกอเมริกันอาจจะมีลัทธิทุนนิยมแบบบ้านป่าเมืองเถื่อนที่คนต้องพร้อมที่จะกินคนอื่น พร้อมที่จะเอาเปรียบกันและกัน แต่คนยุโรปกลับหันมาเน้นย้ำให้มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างฝ่ายแรงงานกับฝ่ายบริหารจัดการ และประชาคมยุโรป (European Community) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีมาก่อนจะแปรเปลี่ยนกลายเป็น อียู จะใช้ความพยายามอย่างแท้จริงในการนำพารัฐสมาชิกรายใหม่ๆ ให้สามารถก้าวขึ้นไปสู่ระดับทางเศรษฐกิจและทางการเมืองของพวกประเทศที่อยู่ตรงแกนกลางของประชาคม

ครั้นแล้ว เมื่อมาถึงจุดหนึ่งในทศวรรษ 1980 เมื่อโมเดลแบบสหภาพโซเวียตหมดมุกไม่สามารถที่จะแสดงอิทธิพลใดๆ ในขอบเขตทั่วโลกได้อีกต่อไปแล้ว แนวความคิด TINA (ไม่มีทางเลือกอย่างอื่นอีกแล้ว) ก็ได้รับการหยิบยกขึ้นมาเชิดชูอย่างสูงส่ง

ในเวลานั้น นายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แธตเชอร์ ของอังกฤษ และ โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีอเมริกัน ต่างกำลังรณรงค์ป่าวร้องแนวความคิดของพวกเขาว่าด้วยการตัดลดขนาดรัฐบาลกันอย่างคึกคัก ขณะเดียวกัน สิ่งซึ่งในเวลาต่อมาเป็นที่รู้จักกันในนาม “กระแสโลกาภิวัตน์” (globalization) –โดยสาระสำคัญคือการทำลายกำแพงกีดกันการค้า และการเปิดประตูอ้าซ่าให้ภาคการเงินได้หยิบฉวยโอกาสใหม่ๆ — ก็เริ่มต้นสำแดงฤทธิ์เดชให้เป็นที่รู้สึกกันในทุกหนทุกแห่ง แธตเชอร์ได้พูดสรุปโลกยุคใหม่ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงมหาศาลเช่นนี้ ด้วยคำย่อ TINA ของเธอ เอาไว้ว่า: พื้นพิภพนี้ไม่มีหนทางเลือกอื่นใดให้สามารถเลือกเดินได้อีกต่อไปแล้ว เวลานี้เหลืออยู่แต่เพียงหนทางเดียวเท่านั้น นั่นคือ หนทางแห่งระบอบประชาธิปไตยที่ยอมรับพลังของตลาดและอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ (globalized market democracy)

ไม่น่าประหลาดใจอะไรเลยที่ต่อจากนั้น เมื่อเข้าสู่ยุคหลังสงครามเย็น (post-Cold War era) แล้ว การบูรณาการของยุโรปได้มีการปรับเปลี่ยนจุดโฟกัส ให้หันมาเน้นหนักสนใจในเรื่องการรื้อถอนกำแพงสิ่งกีดขวางทั้งหลาย เพื่อให้เงินทุนสามารถเคลื่อนไหวไหลเวียนได้อย่างสะดวก ผลที่เกิดขึ้นก็คือ การขยายตัวของยุโรปที่เป็นหนึ่งเดียว ไม่ได้มาพร้อมกับการค้ำประกันโดยปริยายอีกต่อไปแล้วว่าจะเกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกันในท้ายที่สุด เงื่อนไขข้อตกลงต่างๆ ที่ ไอร์แลนด์ ได้รับเมื่อตอนสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปี 1973 และกระทั่งในคราวของโปรตุเกส เมื่อปี 1986 หากนำมาพิจารณากันในเวลานี้ เราก็ต้องรู้สึกว่าข่างคล้ายคลึงกับ “แผนการมาร์แชล” (Marshall Plan) ที่สหรัฐฯทุ่มเทช่วยเหลือยุโรปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เงื่อนไขข้อกำหนดเหล่านั้นดูจะเป็นสิ่งที่อยู่ในอีกยุคสมัยหนึ่ง ไม่ใช่ในสมัยปัจจุบันเสียแล้ว

เป็นความจริงที่เพียงแค่จำนวนของผู้ที่มีศักยภาพจะเป็นรัฐสมาชิกรายใหม่ซึ่งกำลังเคาะประตูขอเข้าร่วมในสหภาพยุโรป ย่อมสามารถที่จะทำให้กำปั่นเงินของอียูปั่นป่วนตึงเครียดขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของพวกประเทศอย่าง โรมาเนีย และ บัลแกเรีย นั้น ช่างต่ำชั้นอย่างห่างไกลกับระดับเกณฑ์เฉลี่ยของยุโรปเหลือเกิน แต่อียูจะมั่งคั่งล้นเหลือไปด้วยเงินทุนหรือไม่ ย่อมไม่ใช่ประเด็นสำคัญเสียแล้วในตอนนี้ เนื่องจากจิตวิญญาณของทุนนิยมแบบใหม่ แบบ “เสรีนิยมใหม่” (neoliberal) กำลังกลายเป็นแรงดลบันดาลความมีชีวิตชีวาอยู่ในสำนักงานใหญ่ของสหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ ข้อกำหนดเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดซึ่งจะเรียกร้องจากรัฐสมาชิกรายใหม่ๆ ในตอนนี้ก็คือ: ตัดลดขนาดของรัฐบาล และปลดปล่อยพลังของตลาด

ณ ใจกลางของยุโรป ตลอดจน ณ ใจกลางของหลักความเชื่อและการปฏิบัติอย่างใหม่นี้ มีเยอรมนีปักหลักยืนผงาดอย่างหนักแน่น ในฐานะตัวอย่างอันเลอเลิศของชาติที่ใช้นโยบายทางการคลังอย่างถูกต้องเที่ยงธรรมแห่งภาคพื้นทวีปยุโรป แต่กระนั้นในช่วงทศวรรษ 1990 เนื่องจากภาระในการสร้างชาติภายหลังการรวมประเทศมาหมาดๆ ก็ได้ทำให้เยอรมนีต้องมีการใช้จ่ายจนงบประมาณขาดดุลอย่างมหาศาล (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.johnfeffer.com/the-costs-of-reunification/) แพกเกจความช่วยเหลือในการนำเอาอดีตเยอรมันตะวันออก ให้ก้าวขึ้นสู่ระดับเดียวกับส่วนอื่นๆ ของประเทศเช่นนี้ ถูกขนานนามด้วยชื่ออย่างอื่น และกลายเป็น “ข้อยกเว้นเนื่องจากต้องมีการรวมประเทศ” โดยที่ในเวลาพิจารณารับเอารัฐสมาชิกรายอื่นๆ ในกลุ่มสหภาพโซเวียตเดิมเข้ามาอยู่ในอียู เยอรมนีก็ไม่เห็นว่าจะต้องให้ชาติเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือพิเศษทำนองเดียวกับ “ข้อยกเว้นเนื่องจากต้องมีการรวมประเทศ” กันบ้าง เยอรมนีในฐานะที่เสมือนกับเป็นธนาคารกลางหรือพระคลังมหาสมบัติของสหภาพยุโรปในทางเป็นจริง กลับตั้งเงื่อนไขเรียกร้องเอากับผู้มาใหม่ทุกๆ ราย (รวมทั้งพวกที่อยู่เก่าบางรายด้วย) ว่าพวกเขาจะต้องตั้งงบประมาณแบบสมดุลและดำเนินมาตรการการใช้จ่ายทางเศรษฐกิจอันเข้มงวดอดออม ในฐานะเป็นคำตอบอันทรงประสิทธิภาพเพียงประการเดียวที่จะสามารถใช้ต่อสู้กับภาวะติดหนี้ติดสิน ตลอดจนขจัดความหวาดหวั่นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ขึ้นมาในอนาคต

รัฐอื่นๆ ที่เคยสังกัดอยู่ในกติกาสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact) เมื่อครั้งยังมีสหภาพโซเวียต อาจจะยังสามารถเข้าถึงกองทุนของอียูสำหรับการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐานได้อยู่บ้าง ทว่าไม่มีอะไรใกล้เคียงกับแบบที่เยอรมันตะวันออกได้รับเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศเหล่านั้นจึงยังอยู่ในสภาพของบ้านที่สร้างเสร็จเพียงแค่ครึ่งๆ กลางๆ ในทางเศรษฐกิจ มาตรฐานการครองชีพในฮังการี ภายหลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ผ่านพ้นไปได้ 25 ปี ยังคงอยู่เพียงแค่ประมาณครึ่งเดียวของประเทศเพื่อนบ้านที่สังกัดกับฝ่ายตะวันตกตลอดมาอย่างออสเตรีย (ดูรายละเอียดได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_sovereign_states_in_Europe_by_GDP_(PPP)_per_capita) ขณะที่ โรมาเนีย ต้องใช้เวลาถึง 14 ปี เพียงแค่ให้ได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เท่ากับตอนที่ทำได้ในปี 1989 (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.tradingeconomics.com/romania/gdp) และยังคงต้องดิ้นขลุกขลักอยู่ที่ระดับล่างสุดของสหภาพยุโรป ผู้คนที่ไปเยือนเพียงแค่นครหลวงต่างๆ ของชาติในยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง อาจจะลาจากมาพร้อมด้วยทัศนะความคิดเห็นอย่างบิดเบือนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในที่เหล่านั้น เนื่องจากกรุงวอร์ซอ (เมืองหลวงของโปแลนด์) และกรุงบราติสลาวา (เมืองหลวงของสโลวาเกีย) นั้นมีความมั่งคั่งร่ำรวยกว่ากรุงเวียนนา (เมืองหลวงของออสเตรีย) (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.telegraph.co.uk/finance/comment/11205667/Berlin-Wall-is-truly-history-free-market-East-is-overtaking-West.html) ส่วนกรุงบูดาเปสต์ (เมืองหลวงของฮังการี) ก็โอ่อ่าเกือบๆ จะทัดเทียมทัน ถึงแม้ว่าทั้งโปแลนด์, สโลวาเกีย, และฮังการี ล้วนแล้วแต่มีเศรษฐกิจที่ยังคงห่างชั้นล้าหลังไกลจากออสเตรีย

สิ่งที่ประเทศเหล่านั้นประสบพบเจอในช่วงหลังจากปี 1989 –ซึ่งได้แก่คอร์สบำบัดรักษาด้วยวิธีช็อกด้วยไฟฟ้า (shock therapy) คอร์สแล้วคอร์สเล่า— ได้กลายเป็นยารักษาที่ถูกเลือกนำมาใช้สำหรับสมาชิกอียูทุกๆ รายซึ่งตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะล้มละลายหมดความสามารถในการชำระหนี้ ภายหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2007 และต่อจากนั้นก็ตามมาด้วยวิกฤตการณ์หนี้สินภาครัฐในปี 2009 ลืมไปได้เลยวิธีการเยียวยาด้วยการใช้จ่ายแบบยอมให้ขาดดุลเพื่อทำให้ประเทศเหล่านั้นสามารถที่จะเติบโตขยายตัวขึ้นมาใหม่จนก้าวออกมาพ้นวิกฤตทางเศรษฐกิจได้ ลืมไปได้เลยวิธีการเยียวยาด้วยการเปิดเจรจาเรื่องเงื่อนไขในการชำระหนี้สินกันเสียใหม่ อัตราการว่างงานในกรีซและในสเปนเวลานี้อยู่ในระดับประมาณ 25% อย่างไม่ยอมไปไหนมาพักใหญ่แล้ว (ดูรายละเอียดได้ที่ http://ec.europa.eu/eurostat/statistics-explained/index.php/File:Quarterly_supplementary_indicators_by_Member_State,_2014Q3.png) ขณะที่หากวัดเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว อัตราการว่างงานจะสูงเกินกว่า 50% ทีเดียว (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.thelocal.es/20140829/spain-back-on-top-of-eu-youth-unemployment-tables) โดยที่สมาชิกอียูทุกๆ รายซึ่งได้รับยาแรงให้คุมเข้มการใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด ต่างก็พบเห็นประชาชนที่มีชีวิตความเป็นอยู่ต่ำกว่าเส้นยากจน เพิ่มจำนวนขึ้นมาสูงลิ่วกันทั้งสิ้น (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.theguardian.com/world/2014/mar/27/europe-economic-crisis-worse-caritas-report) การที่ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) ตัดสินใจเมื่อเร็วๆ นี้ ประกาศใช้มาตรการ “ผ่อนคลายเชิงปริมาณ” (quantitative easing) –วิธีใช้ชั้นเชิงแพรวพราวทางการเงินเพื่ออัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ ซึ่งในกรณีก็คือเข้าไปในเขตที่ใช้สกุลเงินยูโร หรือ “ยูโรโซน”— ต้องถือว่าเป็นการประกาศมาตรการกระตุ้นที่น้อยเกินไปและก็สายเกินไปแล้วอีกด้วย

หลักการสำคัญที่สุดของการบูรณาการยุโรป กำลังอยู่ในสภาพกลับตาลปัตรสวนทางเป็นตรงกันข้ามกับในอดีต แทนที่ยุโรปตะวันออกและยุโรปกลางจะกำลังวิ่งไล่ตามให้ทันส่วนอื่นๆ ของอียู หลายๆ บริเวณของ “ตะวันตก” กลับเริ่มอยู่ล้าหลัง “ตะวันออก” ตัวอย่างเช่น ตัวเลขจีดีพีต่อหัวประชากร (GDP per capita) ของกรีซ เวลานี้ได้ลดต่ำกว่าของ สโลวีเนีย และกระทั่ง สโลเวเนีย ด้วย ถ้าหากคิดคำนวณกันด้วยเงื่อนไขความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity) (http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_%28PPP%29_per_capita) ทั้งๆ ที่สองประเทศหลังเป็นประเทศอดีตคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออก

กลุ่มพันธมิตรลัทธิไม่เอาเสรีนิยม (The Axis of Illiberalism)

ชาวยุโรปกำลังเริ่มที่จะตระหนักกันว่า มาร์กาเรต แธตเชอร์ นั้นผิดแล้ว และแท้ที่จริงยังมีหนทางเลือกอย่างอื่นๆ อีก –นอกเหนือไปจากลัทธิเสรีนิยม และ ยุโรปที่รวมตัวบูรณาการเป็นหนึ่งเดียว ตัวอย่างอันขึ้นชื่อลือฉาวที่สุดของลัทธิไม่เอาเสรีนิยมแบบใหม่นี้ ได้แก่ ฮังการี

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2014 ระหว่างกล่าวคำปราศรัยต่อบรรดาผู้จงรักภักดีต่อพรรคการเมืองของเขา นายกรัฐมนตรีวิกตอร์ ออร์บาน (Viktor Orban) ได้เปิดเผยความลับว่า เขามีความตั้งใจที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบวิธีการบริหารปกครองประเทศของเขาเสียใหม่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม โมเดลการปฏิรูปที่เขามีอยู่ในใจนั้น ไมได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ, อังกฤษ, หรือฝรั่งเศส เลย ตรงกันข้าม เขามีความปรารถนาที่จะสร้างสิ่งที่เขาเรียกชื่ออย่างเปิดเผยโจ่งแจ้งว่า “รัฐที่ไม่เอาเสรีนิยม” ขึ้นในฮังการี ซึ่งเป็นชาติที่ตั้งอยู่บริเวณใจกลางของยุโรป โดยเขาจะให้ฮังการกลายเป็นประเทศซึ่งเน้นหนักให้ความสำคัญกับค่านิยมแบบชาวคริสเตียน และลดทอนวิถีทางแบบหลงระเริงไปตามโลกียวิสัยของโลกตะวันตก พูดกันให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ สิ่งที่เขามุ่งมาดปรารถนานั้น คือการเปลี่ยนแปลงฮังการีให้กลายเป็น ประเทศรัสเซียน้อยๆ (mini-Russia) หรือ ประเทศจีนน้อยๆ (mini-China)

“บรรดาสังคมซึ่งก่อตั้งขึ้นบนหลักการของวิถีทางแบบเสรีนิยมนั้น” ออร์บานประกาศ (ดูรายละเอียดคำปราศรัยนี้ได้ที่ http://budapestbeacon.com/public-policy/full-text-of-viktor-orbans-speech-at-baile-tusnad-tusnadfurdo-of-26-july-2014/) “จะไม่สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของพวกเขาเอาไว้ได้ในปีต่อๆ ไป และพวกเขาน่าที่จะต้องเจ็บปวดกับการเสื่อมถอย ยกเว้นแต่พวกเขาจะสามารถทำการปฏิรูปพวกเขาเองได้อย่างจริงจัง” เขายังแสดงความปรารถนาที่จะหันหน้ากลับไปทางตะวันออก โดยพึ่งพาอาศัยบรัลเซลส์ให้น้อยลงๆ แต่หันมาแอบอิงอยู่กับตลาดและการลงทุนจากรัสเซีย, จีน, และตะวันออกกลาง ซึ่งมีศักยภาพที่จะเจริญรุ่งเรืองอย่างงดงาม ให้มากขึ้นๆ

คำปราศรัยในเดือนกรกฎาคมคราวนั้น ควรถือเป็นตัวแทนของช่วงขณะแห่งปมปิตุฆาต (Oedipal moment) อย่างแท้จริง เนื่องจากออร์บานมีความปรารถนาที่จะตอกไม้ปลายแหลมเสียบเข้าไปตรงหัวใจของอุดมการณ์ซึ่งเคยเป็นสิ่งที่บ่มเพาะตัวเขาขึ้นมา เพื่อที่อุดมการณ์ดังกล่าวจะได้ดับสูญ และเขาก็จะได้หลุดพ้นจากอุดมการณ์ที่เคยฝักใฝ่ในวัยเด็ก ทั้งนี้ในตอนที่ยังเป็นเด็กหนุ่มเมื่อประมาณกว่า 25 ปีที่แล้ว เขาเคยเป็นผู้นำของกลุ่มพันธมิตรยุวประชาธิปัตย์ (Alliance of Young Democrats) หรือ “ฟิเดซ” (Fidesz) หนึ่งในพรรคการเมืองแนวทางเสรีนิยมซึ่งดูมีอนาคตสดใสที่สุดในภูมิภาคยุโรปตะวันออก แต่ในระยะต่อๆ มา เนื่องจากมีประสาทสัมผัสอันลึกซึ้งว่าโอกาสทางการเมืองนั้นกำลังรอคอยเขาอยู่ในช่วงแถบคลื่นทางการเมืองช่วงอื่น เขาก็เลยนำพากลุ่มฟิเดซให้ถอยออกมาจากขบวนการ “เสรีนิยมสากล” (Liberal International) และหันไปอยู่กับขบวนการพรรคประชาชนแห่งยุโรป (European People’s Party) เคียงข้างกับพรรคคริสเตียนเดโมแครต (Christian Democrats) ของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี

อย่างไรก็ตาม เวลานี้เขากำลังตั้งท่าจะโยกย้ายอีกครั้งหนึ่งแล้ว โดยในคราวนี้ผู้ที่เขามองว่าเป็นบุคคลตัวอย่างคนใหม่ของเขาไม่ใช่แมร์เคิลอีกต่อไป หากแต่เป็นประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และการเล่นการเมืองในสไตล์กำปั้นเหล็กของปูติน เมื่อพิจารณาจากผลงานอันน่าผิดหวังของการปฏิรูปทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม รวมทั้งความตระหนี่ถี่เหนียวและใจคอคับแคบของอียูแล้ว มันก็ไม่ค่อยมีอะไรน่าแปลกใจนักหรอกในการที่ออร์บานตัดสินใจที่จะประกันความเสี่ยงในการเล่นพนันของเขา ด้วยการหันไปมองทางตะวันออก

อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของออร์บานอย่างดุเดือดรุนแรง โดยระบุว่ารัฐบาลนั้นกำลังพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญซึ่งจะจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนและลดทอนความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ นอกจากนั้นกระแสลัทธิเหยียดเชื้อชาติและอารมณ์ความรู้สึกเกลียดกลัวต่างชาติยังกำลังเพิ่มพูนเร่งตัวในฮังการี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อต้านชาวโรมา (Roma ในภาษาอังกฤษนั้นรู้จักกันมากกว่าในชื่อว่า ชาวยิปซี) และการต่อต้านชาวยิว (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.npr.org/blogs/codeswitch/2014/03/09/287342069/increased-hostility-against-jews-and-roma-in-hungary) ขณะที่รัฐก็มีการดำเนินมาตรการหลายๆ ประการเพื่อตอกย้ำถึงการหวนกลับเข้าไปควบคุมเศรษฐกิจ และการเข้าควบคุมการลงทุนของต่างประเทศ

สำหรับบางผู้บางคนแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างฮังการีกับประเทศอื่นๆ ในยุโรปเวลานี้ ชวนให้ย้อนรำลึกถึงช่วงเวลาในทศวรรษ 1960 ตอนที่แอลเบเนียผละหนีออกจากกลุ่มสหภาพโซเวียต และแสดงพฤติการณ์ความห้าวหาญมุทะลุแบบข้ามทวีป ด้วยการประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกับจีนคอมมิวนิสต์ ทว่าในเวลานั้นแอลเบเนียยังเป็นแค่ผู้เล่นรายจิ๋วๆ และจีนยังคงเป็นประเทศเกษตรกรรมที่แสนจะยากจน ขณะที่ในปัจจุบัน ฮังการีมีฐานะเป็นสมาชิกรายสำคัญรายหนึ่งของอียู ส่วนโมเดลการพัฒนาแบบไม่เอาเสรีนิยมของจีน ซึ่งได้ช่วยค้ำถ่อให้แดนมังกรขึ้นไปอยู่ในระดับแถวบนสุดของเศรษฐกิจโลก (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.bbc.com/news/magazine-30483762) เวลานี้กำลังมีอิทธิพลในระดับระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คราวนี้มันไม่ใช่เป็นเรื่องแค่ว่าเจ้าหนูแอลเบเนียกำลังพยายามคำรามส่งเสียงอึกทึก หากแต่กลุ่มพันธมิตรที่ไม่เอาเสรีนิยม ซึ่งเชื่อมโยงบูดาเปสต์เข้ากับปักกิ่งและมอสโก สามารถที่จะส่งผลกระทบกระเทือนอย่างกว้างขวางยาวไกลได้ทีเดียว

ไม่เพียงเท่านั้น นายกรัฐมนตรีฮังการีผู้นี้ยังมีพันธมิตรชาวยุโรปจำนวนมากที่มีความคิดเห็นระแวงสงสัยการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวของยุโรปทำนองเดียวกันกับเขา พรรคการเมืองขวาจัดจำนวนมากกำลังได้คะแนนเสียงเพิ่มมากขึ้นตลอดทั่วทั้งทวีปทีเดียว ตัวอย่างเช่น พรรคเนชั่นแนลฟรอนต์ (National Front) ของ มารีน เลอ เปน (Marine Le Pen) ได้คะแนนเสียง 25% กลายเป็นที่หนึ่งในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปของฝรั่งเศสเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.theguardian.com/world/2014/may/25/marine-le-pen-confidence-proves-vindicated-front-national) ส่วนในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในปี 2014 พรรคนี้ก็ยึดตำแหน่งนายกเทศมนตรีของท้องที่ต่างๆ ไปได้ 12 ท้องที่ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.france24.com/en/20140419-le-pen-fails-woo-britains-euro-sceptics-national-front-eu-elections/) นอกจากนั้นผลการหยั่งเสียงประชามติยังแสดงให้เห็นว่า เลอ เปน จะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ถ้าหากมีการจัดเลือกตั้งขึ้นในวันนี้แทนที่จะเป็นในปี 2017 (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.newsweek.com/far-right-leader-marine-le-pen-twice-popular-france-current-president-hollande-282090) เมื่อเกิดเหตุการณ์กราดยิงสังหารหมู่ที่กองบรรณาธิการนิตยสาร “ชาร์ลี เอ็บโด” (Charlie Hebdo) ขึ้นมา พรรคเนชั่นแนลฟรอนต์ก็ออกมาผลักดันเสนอนโยบายต่างๆ จำนวนหนึ่ง ตั้งแต่การกลับมาใช้บทลงโทษประหารชีวิตอีกครั้ง ไปจนถึงการปิดพรมแดน ซึ่งจะเป็นการท้าทายโดยเจตนา ต่อโครงการผนวกรวมยุโรปเป็นหนึ่งเดียว

ในเดนมาร์ก พรรคพีเพิลส์ ปาร์ตี้ (People’s Party) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวทางขวาจัด ก็กลายเป็นผู้ชนะคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรป แถมเมื่อเดือนพฤศจิกายน พรรคนี้มีคะแนนนิยมนำหน้าเพื่อนเป็นครั้งแรกในการหยั่งเสียงประชามติ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.thelocal.dk/20141128/danish-peoples-party-support-reaches-historic-high) พรรคพีเพิลส์ ปาร์ตี้ เสนอนโยบายเรียกร้องให้เดนมาร์กยุติการใช้นโยบายเปิดกว้างรับผู้ลี้ภัย รวมทั้งเรียกร้องให้กลับมาใช้มาตรการควบคุมชายแดนอีกครั้งหนึ่ง

คล้ายคลึงกันอยู่มากกับที่พรรคกรีน ปาร์ตี้ (Green Party) ได้เคยทำอยู่ในเยอรมนีเมื่อทศวรรษ 1970 เวลานี้พวกกลุ่มการเมืองอย่างเช่น พรรคเกรตบริเทนส์ อินดีเพนเดนซ์ ปาร์ตี้ (Great Britain’s Independence Party) ในอังกฤษ, พรรคฟินส์ ปาร์ตี้ (Finns Party) ในฟินแลนด์, และแม้กระทั่งพรรคเดโมแครต (Democrats) ของสวีเดน ต่างกำลังบดขยี้สภาวการณ์ที่พรรคแนวทางอนุรักษนิยม กับ สังคมประชาธิปไตย ผูกขาดผลัดเปลี่ยนกันขึ้นครองอำนาจอย่างสบายอยู่เพียงแค่ 2 พรรค ในตลอดทั่วทั้งยุโรป ระหว่างยุคสงครามเย็นตลอดจนช่วงเวลาภายหลังจากนั้น

อาการเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ซึ่งพุ่งขึ้นสูงลิ่วภายหลังกรณีสังหารหมู่ในฝรั่งเศส กลับกลายเป็นการเพิ่มลูกธนูอันทรงฤทธิ์ลงไปในกระบอกใส่ลูกธนูของพรรคขวาจัดและพรรคไม่เอาการบูรณาการยุโรปเหล่านี้เสียด้วยซ้ำ ในขณะที่พวกเขาออกมาวิพากษ์ตำหนิพวกพรรคการเมืองกระแสหลัก การแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านอิสลามในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในสถานที่ชุมนุมประท้วง, ในสื่อมวลชน, และในพฤติการณ์ก่ออาชญากรรมซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ทำให้เราย้อนระลึกไปถึงยุโรปในยุคอดีตไกลโพ้น เมื่อตอนที่พวกจาริกแสวงบุญติดอาวุธพากันยกกำลังออกไปทำสงครามไม้กางเขตต่อสู้กับมหาอำนาจมุสลิมในสมัยนั้นหลายต่อหลายระลอก หรือไม่ก็ในสมัยที่รัฐชาติช่วงต้นๆ ของยุโรป ปลุกระดมกันขึ้นมาเพื่อต่อต้านอาณาจักรออตโตมัน (Ottoman Empire) ยุคอดีตเหล่านั้นเป็นช่วงเวลาที่ความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของยุโรปบังเกิดขึ้นมาได้ ไม่ใช่เนื่องจากผลประโยชน์ทางการเมือง หรือการทำความตกลงกันทางการเมือง หากแต่อยู่ในลักษณะของการตอบโต้ “ทางอารยธรรม” ต่อพวกนอกรีตนอกศาสนา

แน่นอนทีเดียว ยุโรปในทุกวันนี้เป็นสถานที่ซึ่งมีความละเอียดประณีตซับซ้อนยิ่งกว่าเมื่อครั้งอดีตมากมายนัก และการบูรณาการของภูมิภาคก็อิงอยู่กับหลักการ “เอกภาพในท่ามกลางความหลากหลาย” (unity in diversity) อย่างที่ระบุเอาไว้ในคำขวัญของอียู ผลก็คือ กระแสอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านอิสลามที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ กลับกลายเป็นเครื่องท้าทายลักษณะธรรมชาติของโครงการรวมยุโรปซึ่งมุ่งเน้นให้ดึงเอาทุกๆ ภาคส่วนเข้ามีส่วนร่วม ถ้าหากอียูไม่สามารถที่จะเสนอที่ทางอันเหมาะสมให้แก่อิสลามได้ มันก็ย่อมจะต้องเกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วการปฏิบัติการอันสลับซ้อนเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างชาติพันธุ์, กลุ่มศาสนา, และกลุ่มวัฒนธรรมซึ่งมีความผิดแผกแตกต่างกันทั้งหลายทั้งปวง จะบังเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

พวกที่สงสัยข้องใจการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวของยุโรป ไม่ได้มาจากทางด้านขวาของปริมณฑลทางการเมืองเท่านั้น ในกรีซ พรรคซีริซา (Syriza party) กำลังท้าทายลัทธิเสรีนิยมจากทางด้านซ้าย ขณะที่พรรคนี้นำพาการประท้วงคัดค้านโครงการใช้มาตรการเข้มงวดทางเศรษฐกิจที่ผลักดันโดยอียูและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งได้ผลักไสประชาชนให้จมลึกลงสู่ภาวะถดถอยและการลุกฮือก่อกบฎ อันที่จริง กรีซก็เฉกเช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในยุโรป มีกลุ่มขวาจัดซึ่งน่าที่จะเข้าฉวยความได้เปรียบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในคราวนี้เช่นกัน ถ้าหากไม่เป็นเพราะรัฐบาลได้เข้ากวาดล้างจับกุมคณะผู้นำของพรรคขวาจัด “โกลเดน ดอว์น” (Golden Dawn) ในข้อหาฆาตกรรมและข้อหาอื่นๆ ไปเสียก่อน ในการเลือกตั้งรัฐสภาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา พรรคซีริซา เป็นผู้ชนะด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ยังขาดอีกไม่กี่ที่นั่งก็จะคุมเสียงข้างมากในสภาได้ทีเดียว และแล้วในความเคลื่อนไหวที่ถือเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงการเกาะกลุ่มรวมตัวกันแบบใหม่ๆ ในแวดวงการเมืองของยุโรป ปรากฏว่าพรรคซีริซาตัดสินใจตั้งคณะรัฐบาลผสมชุดใหม่ ไม่ใช่ด้วยการจับมือกับพรรคในแนวทางกลาง-ซ้าย แต่กับพรรคอินดีเพนเดนต์ กรีกส์ (Independent Greeks) ที่เป็นพรรคฝ่ายขวา ทว่ามีแนวทางต่อต้านคัดค้านมาตรการเข้มงวดทางเศรษฐกิจอย่างเดียวกับซีริซา ถึงแม้ได้แสดงความระแวงข้องใจการรวมตัวเป็นอียู ตลอดจนแสดงความต้องการให้ปราบปรามผู้อพยพลี้ภัยผิดกฎหมายอย่างเข้มงวดอีกด้วย

การบูรณาการยุโรปเป็นหนึ่งเดียว ยังคงเป็นโครงการร่วมของพวกพรรคการเมืองซึ่งมีแนวทางสายกลางในแวดวงการเมือง ทว่าพวกแสดงความระแวงข้องใจการรวมตัวของยุโรป เวลานี้กำลังชนะคะแนนเสียงเพิ่มมากขึ้นทุกทีๆ ด้วยการใช้ถ้อยคำโวหารมุ่งต่อต้านสหพันธรัฐ ถึงแม้ในเวลาที่พวกเขาขยับเข้าใกล้อำนาจ พวกแสดงความระแวงข้องใจการรวมตัวของยุโรป ก็ยังมักมีความโน้มเอียงที่จะลดทอนน้ำเสียงประณามโจมตี “บรัสเซลส์ผู้เผด็จการ” ให้เบาลงมา อย่างไรก็ตาม จากการเที่ยวดึงเที่ยวทึ้งเส้นด้ายที่นี่บ้างที่นั่นบ้าง พวกเขาอาจจะทำให้ผืนผ้าประดับผนังลวดลายประสานสอดรับกันอย่างงามตาของยุโรป ต้องถึงกับขาดแหว่งวิ่นเป็นริ้วๆ เข้าจนได้

เมื่อคุณงามความดีเปลี่ยนไปเป็นความอุบาทว์ชั่วร้าย

ตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา การบูรณาการเป็นหนึ่งเดียวของยุโรป ได้สร้างวงจรแห่งคุณงามความดีขึ้นมา นั่นคือ ความสนับสนุนทางการเมืองที่ให้แก่การบูรณาการอย่างลึกซึ้งกว้างไกลมากยิ่งขึ้นนั้น ได้สร้างความมั่งคั่งรุ่งเรืองขึ้นมา แล้วเศรษฐกิจของยุโรปที่ยิ่งเติบโตขยายตัวต่อไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งส่งผลกลับมาทำให้มีการบูรณาการกันมากขึ้นอีก มันเป็นสูตรแห่งความสำเร็จในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันโดยแท้ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้โมเดลยุโรปกำลังกลับกลายเป็นโมเดลที่ผูกติดอยู่กับมาตรการจำกัดการใช้จ่ายอย่างเข้มงวดกวดขัน ไม่ใช่โมเดลแห่งความเจริญรุ่งเรืองอีกต่อไป วงจรแห่งคุณความความดีก็ได้เปลี่ยนไปเป็นวงจรแห่งความอุบาทว์ชั่วร้าย ถ้าหากในประเทศสมาชิกรายหนึ่งเกิดการท้าทายขึ้นมาว่ายังควรจะเข้าร่วมอยู่ในยูโรโซนค้อไปหรือไม่ ขณะที่ในอีกประเทศหนึ่งกำลังมีกระแสเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการเปิดพรมแดนเสรี ส่วนในประเทศสมาชิกรายที่สามมีความพยายามที่จะให้นำเอาโทษประหารชีวิตกลับมาบังคับใช้กันใหม่ กระบวนการเหล่านี้สามารถที่จะกลายเป็นกระบวนการที่ป้อนตัวมันเองให้เติบโตขยายตัวไปไม่สิ้นสุด รวมทั้งมีศักยภาพที่จะบานปลายจนกระทั่งทำให้อียูถึงแก่ชีวิต ถึงแม้ว่าในตอนแรกๆ ไม่มีรัฐสมาชิกรายใดเลยซึ่งมีความตั้งใจอย่างจริงจังแน่วแน่ที่จะถอนตัวผละออกจากสหภาพยุโรป

ในยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง ผู้คนจำนวนเพิ่มมากขึ้นซึ่งกลายเป็นพวกไม่ไว้วางใจอียู พากันโอดครวญว่าบรัสเซลส์กำลังเข้ามาแทนที่มอสโกของเมื่อครั้งยุคสหภาพโซเวียตไปแล้ว (พวกสงสัยข้องใจการรวมตัวของยุโรป ซึ่งพำนักอาศัยกันอยู่ในอดีตยูโกสลาเวีย คงพอใจมากกว่าที่จะพูดว่า บรัสเซลส์กำลังเข้าแทนที่เบลเกรด ละกระมัง?) พวกเขายืนกรานว่า บรัสเซลส์กำลังสถาปนาประดานโยบายทางเศรษฐกิจซึ่งเหล่ารัฐสมาชิกจำเป็นต้องละเลยไม่เอาด้วยเนื่องจากมันเป็นอันตรายต่อพวกเขา ขณะที่พวกสมาชิกของยูโรโซนพบว่าพวกเขากำลังควบคุมภาคการเงินของพวกเขาเองได้น้อยลงทุกทีๆ แม้กระทั่งกฤษฎีกาทั้งหลายจากบรัสเซลส์ ซึ่งจัดทำขึ้นอย่างสมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจ และมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอยู่พอประมาณ แต่สำหรับพวกระแวงสงสัยการรวมตัวของยุโรปแล้ว กฤษฎีกาเหล่านี้ก็ยังคงเป็นตัวแทนแสดงถึงการสูญเสียอำนาจอธิปไตยที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงอยู่นั่นเอง

ในลักษณาการเช่นนี้เอง ความโกรธเกรี้ยวอย่างเดียวกับที่เคยทำลายสหพันธรัฐของสหภาพโซเวียตและของยูโกสลาเวียให้พังพินาศลงไป ก็กำลังเริ่มต้นกัดกร่อนฐานสนับสนุนของประชาชนที่มีต่อสหภาพยุโรป นอกเหนือจากโปแลนด์และเยอรมนี ที่ยังคงมีความกระตือรือร้นอย่างแข็งแกร่งต่อสหภาพยุโรปแล้ว ตลอดทั่วทั้งส่วนอื่นๆ ของทวีปนี้ อารมณ์ความรู้สึกซึ่งมีต่ออียูอย่างเก่งก็อยู่ในลักษณะเมินเฉยเฉื่อยชา แม้กระทั่งหลังจากที่สถานการณ์ได้กระเตื้องขึ้นภายหลังผ่านพ้นวิกฤตการณ์เงินยูโร ในรัฐสมาชิกจำนวนมาก ปรากฏว่าคะแนนความนิยมสหภาพยุโรปเวลานี้อยู่เพียงแค่ระดับประมาณ 50% และกระทั่งอยู่ต่ำกว่านั้นด้วยซ้ำในสถานที่อย่างอิตาลีและกรีซ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.pewglobal.org/2014/05/12/a-fragile-rebound-for-eu-image-on-eve-of-european-parliament-elections/pg-2014-05-12-eu-0-03/)

สหภาพยุโรปเมื่อครั้งที่ปราศจากคำถามใดๆ สามารถบรรลุความสำเร็จอันโดดเด่นในฐานะที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางด้านรูปแบบรัฐแห่งยุคสมัยใหม่ มันได้เปลี่ยนแปลงทวีปนี้จากสภาพซึ่งทำท่าจะถูกชะตากรรมบังคับให้ต้องดิ้นรนเกลือกกลิ้งอยู่ใน “ปลักแห่งความเกลียดชังกันของบรรพบุรุษ” กลายมาเป็นหนึ่งในภูมิภาคซึ่งมีความประสานสอดคล้องกันอย่างที่สุดของพื้นพิภพ แต่เมื่อมีพวกรัฐจากสหภาพโซเวียต, ยูโกสลาเวีย, และเชโกสโลวะเกีย เข้ามาร่วมขบวนการด้วย โครงการสหพันธ์อันสลับซับซ้อนของอียู กลับถูกพิสูจน์ให้เห็นว่าเต็มไปด้วยความบอบบางอ่อนแอ ในสภาพที่ขาดไร้ภัยคุกคามจากภายนอกอันน่าคร้ามเกรงอย่างเช่นที่เคยดำรงคงอยู่ในยุคสงครามเย็น ถ้าหากเกิดภาวะช็อกครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจขึ้นมาอีกสักครั้ง หรือเกิดปัญหาท้าทายทางการเมืองที่มีการประสานเกี่ยวเนื่องกันกว้างขวางขึ้นมาอีกสักหน ก็อาจทำให้อียูอยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพได้ทีเดียว

“ความเป็นเอกภาพในท่ามกลางความหลากหลาย” อาจจะเป็นแนวความคิดที่ดึงดูดใจ ทว่าอียูจำเป็นที่จะต้องมีมากกว่าถ้อยคำโวหารอันสวยหรูและความตั้งใจอันดี จึงจะสามารถจับกลุ่มรวมตัวกันได้อย่างเหนียวแน่นต่อไปอีก ถ้าหากสหภาพยุโรปยังไม่สามารถเสนอสูตรที่ดียิ่งขึ้นกว่านี้ ในการรับมือกับภาวะไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ, การเมืองแบบสุดโต่ง, และภาวะขาดไร้ขันติธรรมความอดกลั้นทางสังคมแล้ว อีกไม่ช้าไม่นานเหล่าปรปักษ์ของพวกเขาก็จะต้องได้อำนาจที่จะกดปุ่มสั่งให้ถอยหลังคลายการบูรณาการของยุโรปเข้าจนได้ ความล่มสลายของระบอบอันใหญ่โตที่จะเกิดตามมา ไม่เพียงแต่จะเป็นโศกนาฏกรรมสำหรับยุโรปเท่านั้น หากแต่จะเป็นโศกนาฏกรรมสำหรับทุกๆ ผู้คนซึ่งวาดหวังที่จะเอาชนะความเป็นศัตรูร้ายแรงที่มีอยู่ระหว่างกันในอดีต และสร้างที่พักพิงที่ปลอดจากสงครามความขัดแย้งเข่นฆ่ากันในปัจจุบันขึ้นมา

จอห์น เฟฟเฟอร์ เป็นผู้อำนวยการของ “ฟอเรนจ์ โพลิซี อิน โฟกัส” (Foreign Policy in Focus หรือ FPIF) ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งของสถาบันเพื่อนโยบายศึกษา (Institute for Policy Studies) กลุ่มคลังสมองที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งมีแนวทางความคิดแบบก้าวหน้า นอกจากนั้นเขายังเป็นบรรณาธิการของ http://www.lobelog.com/">LobeLog, เป็นนักเขียนประจำของบล็อก TomDispatch, และเป็นผู้เขียนหนังสือหลายๆ เล่ม เป็นต้นว่า Crusade 2.0: The West's Resurgent War on Islam (City Lights Open Media)

ข้อเขียนชิ้นนี้ในภาคภาษาอังกฤษ เผยแพร่ครั้งแรกในบล็อก TomDispatch (http://www.tomdispatch.com/)
กำลังโหลดความคิดเห็น