เอเจนซีส์ - เสมือนบรรยากาศสงครามเย็นกลับมาอีกครั้ง ในขณะที่เจรจา 4 ฝ่ายเพื่อหาทางออกวิกฤตยูเครนเพื่อหาทางออกที่มีเยอรมนีเป็นผู้นำ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ส่งฝูงเครื่องบินขับไล่ A-10 ทันเดอร์โบลต์ II (A-10 Thunderbolt II) จำนวน 12 ลำ และนักบินอีก 300 นายไปยังเยอรมนีเพื่อเข้าร่วมการฝึกซ้อมรบ ที่คาดว่าจะมีพันธมิตรนาโตในยุโรปตะวันออกเข้าร่วม
RT สื่อรัสเซียรายงานวันนี้ (11 ก.พ.) ว่า ในวันจันทร์ (9) เครื่องบินขับไล่ในยุคสงครามเย็นที่มีชื่อเล่นว่า “A-10 Warthog” ได้บินออกจากฐานทัพอากาศเดวิส-มอนธาน รัฐแอริโซนา เพื่อมุ่งหน้าไปยังฐานทัพอากาศ Spangdahlem เยอรมนี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในปฎิบัติการAtlantic Resolve โดย คริสโตเฟอร์ คาร์นส์ ( Christopher Karns) โฆษกกองทัพอากาศสหรัฐฯ ประจำเพนตากอนได้ให้ความเห็นกับmilitary.com ว่า ฝูงบินรบมุ่งหน้าไปยังจุดหมายที่อยู่ในยุโรปตะวันออกซึ่งเป็นสมาชิกองค์การนาโต และจะเข้าร่วมการฝึกร่วมกับทหารจากประเทศพันธมิตรนาโต เพื่อเพิ่มเสริมสร้างสมรรถนะในปฏิบัติการทางทหาร และเป็นการแสดงให้เห็นถึงพันธะของสหรัฐฯที่มีต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของยุโรป”
สื่อรัสเซียรายงานเพิ่มเติมว่า นกเหล็ก A-10 ทันเดอร์โบลต์ II (A-10 Thunderbolt II) นั้นมาพร้อมด้วยปืนใหญ่อากาศ GAU-8/A Avenger Gatling ขนาดคาลิเบอร์ 30 มม. 7 ลำกล้องบนแกนหมุน มีอัตรายิงสูงสุดถึง 4,200 นัด/นาที ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายรถถัง และรถหุ้มเกราะประเภทอื่นๆ
การออกประจำการของฝูงบินขับไล่ A-10 ทันเดอร์โบลต์ II นี้มีขึ้นหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เสนอร่างกฎหมายเพื่ออนุมัติงบความช่วยเหลือทางการทหารมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ให้กับยูเครนที่จะมีระยะเวลาไปจนถึงปี 2017 และหากร่างกฎหมายนี้ได้รับการอนุมัติ เพนตากอนจะสามารถมอบอาวุธการฝึก อาวุธสงครามเพื่อการป้องกัน สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง อุปกรณ์และการฝึก ซึ่งเป้าหมายของร่างกฏหมายป้อนอาวุธยูเครนนี้มีเพื่อที่จะทำให้อดีตประเทศที่อยู่ใต้สหภาพโซเวียตนี้สามารถปกป้องอธิปไตยของประเทศ และพรมแดนต่อการรุกรานของศัตรูได้ รวมไปถึงปกป้องยูเครนจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธที่ได้รับการหนุนหลังจากรัสเซีย
เมื่อวานนี้ (10) มอสโกได้วิจารณ์แนวคิดของสหรัฐฯ ที่จะติดอาวุธให้กับยูเครนว่า จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายหนักขึ้น
รัฐบาลชาติตะวันตก ที่ไม่มีหลักฐานในมืออย่างชัดเจน ยังคงเดินหน้าที่จะกล่าวหารัสเซียว่าให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยูเครนตะวันออก และยังอ้างว่ารัสเซียอยู่เบื้องหลังวิกฤตความขัดแย้ง มอสโกขอปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างหนักแน่น
และในขณะที่สหรัฐฯ และชาติยุโรปยังคงถกเถียงถึงทางเลือกที่จะติดอาวุธให้ยูเครน อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้กล่าวกลางที่ประชุมประจำปี Munich Security Conference 2015 ในวันเสาร์ (7) ว่า เยอรมนีเชื่อมันว่า การหาทางออกวิกฤตยูเครนทางการทุตดูจะเป็นวิธีที่เหมาะสมมากที่สุด ซึ่งจุดยืนของแมร์เคิลเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในยุโรป รวมไปถึงมอสโก
ด้านโฆษกเครมลิน ดมิตรี เพสคอฟแถลงว่า “รัสเซียมีความสนใจอย่างจริงจังในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งแผนอื่นๆ ทั้งหมดที่รวมไปถึง การคว่ำบาตร การสนับสนุนทางยุทโธปกรณ์ทางทหาร และอื่นๆ นั้นล้วนมีเป้าหมายเพื่อทำให้สถานการณ์วิกฤตในยูเครนเลวร้ายหนัก”