รัฐมนตรีกลาโหม แอช คาร์เตอร์ ของสหรัฐฯ เดินทางเยือนฟิลิปปินส์ในสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อสังเกตการณ์การซ้อมรบร่วมประจำปีของกองทหารของประเทศทั้งสอง อีกทั้งประกาศการร่วมกันตรวจการณ์ลาดตระเวนในทะเลจีนใต้ ตลอดจนการเริ่มส่งทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าประจำการในลักษณะหมุนเวียน ณ ฐานทัพต่างๆ ของฟิลิปปินส์
นายใหญ่เพนตากอนแสดงท่าทีว่า ความเคลื่อนไหวเหล่านี้สืบเนื่องจากการกล่าวอ้างอย่างยืนกรานแข็งกร้าวในกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำแทบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ทว่าในขณะเดียวกันนั้น ทางฝ่ายจีนก็มีการตอบโต้ ทั้งด้วยการแถลงเตือนว่าแผนการขยายความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับฟิลิปปินส์เช่นนี้ ไม่ควรพุ่งเป้าไปยังฝ่ายที่สาม ซึ่งย่อมหมายถึงจีนนั่นเอง รวมทั้งยังระบุกล่าวโทษว่า สหรัฐฯต่างหากที่เป็นฝ่ายสนับสนุนการเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารในภูมิภาคแถบนี้ จนกระทั่งทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น
มีรายงานข่าวอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งทำให้มองเห็นภาพการเยือนฟิลิปปินส์เที่ยวนี้ของรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯได้อย่างชัดเจน จึงขอเก็บความนำเสนอดังต่อไปนี้:
รมว.กลาโหมสหรัฐฯเยือนฟิลิปปินส์ท่ามกลางข้อพิพาททางทะเลกับจีน
โดย เยกาเนห์ ตอร์บาตี และ มานูเอล โมกาโต /สำนักข่าวรอยเตอร์
U.S. defence chief visits Philippines amid sea dispute with China
By Yeganeh Torbati and Manuel Mogato
(Reuters) http://www.reuters.com/article/us-southchinasea-philippines-carter-idUSKCN0XA14M
13/04/2016
รัฐมนตรีกลาโหม แอช คาร์เตอร์ (Ash Carter) ของสหรัฐฯเดินทางถึงฟิลิปปินส์ในวันพุธ (13 เม.ย.) เพื่อเน้นย้ำความสัมพันธ์ทางทหารอันแข็งแกร่งและกำลังเติบโตขยายตัวกับพันธมิตรรายสำคัญยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายนี้ ในขณะที่จีนเดินหน้าอย่างยืนกรานแข็งกร้าวในการอ้างกรรมสิทธิ์ต่างๆ ของตนในทะเลจีนใต้
การมาเยือนของคาร์เตอร์บังเกิดขึ้นในขณะที่สหรัฐฯกับฟิลิปปินส์ดำเนินการซ้อมรบร่วมกัน อีกทั้งยังกำลังเดินหน้าข้อตกลงซึ่งเปิดทางให้ทหารสหรัฐฯปรากฏตัวในฐานทัพฟิลิปปินส์จำนวน 5 แห่ง โดยที่นายใหญ่เพนตากอนมีกำหนดจะไปเยี่ยมฐานทัพเหล่านี้แห่งหนึ่งด้วย
ถึงแม้ตามข้อตกลงเบื้องต้น จะอนุญาตให้อเมริกาเข้าใช้ฐานทัพในแดนตากาล็อกได้ 5 แห่ง แต่คาร์เตอร์บอกกับพวกผู้สื่อข่าวขณะอยู่ระหว่างการเดินทางสู่ฟิลิปปินส์ว่า ยังจะมีเพิ่มมากขึ้นไปอีกในอนาคต
ในอีกด้านหนึ่ง แหล่งข่าวทางทหารหลายรายเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า คณะเจ้าหน้าที่กลาโหมจากฟิลิปปินส์และเวียดนาม ก็มีกำหนดพบปะหารือกันในสัปดาห์นี้ เพื่อสำรวจลู่ทางความเป็นไปได้ที่จะจัดการฝึกซ้อมร่วมทางทหาร และการตรวจการณ์ลาดตระเวนทางเรือร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนเสริมความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มพันธมิตรใหม่ระหว่างรัฐต่างๆ ซึ่งมีข้อพิพาทบาดหมางเรื่องอาณาเขตทางทะเลอยู่กับจีน
ทั้งนี้จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่แทบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ ซึ่งเชื่อกันว่ามีแหล่งน้ำมันและก๊าซปริมาณมหึมาอยู่ข้างใต้ ขณะที่บรูไน, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน, และเวียดนาม ก็ประกาศอ้างกรรมสิทธิ์น่านน้ำเหล่านี้เป็นบางส่วน ซึ่งยังเป็นเส้นทางการเดินเรือสินค้าที่มูลค่าสูงลิ่วราวๆ 5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี
การเดินทางมาของบิ๊กเพนตากอนคราวนี้ ยังเกิดขึ้นในจังหวะที่คาดหมายกันว่าอีกหลายสัปดาห์ข้างหน้า ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในกรุงเฮก จะตัดสินคดีการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ของปักกิ่ง ซึ่งมะนิลาเป็นผู้ยื่นฟ้องร้อง
สหรัฐฯแสดงท่าทีว่า ตนเชื่อว่าไม่ว่าศาลอนุญาโตตุลาการนี้จะตัดสินออกมาอย่างไร ผลการตัดสินจะมีผลผูกพันทั้งต่อจีนและต่อฟิลิปปินส์ ทว่าจีนได้ปฏิเสธไม่ยอมรับการพิจารณาคดีนี้มาตั้งแต่ต้น โดยบอกว่าข้อพิพาททั้งหลายทั้งปวงควรที่จะแก้ไขคลี่คลายกันโดยผ่านการเจรจาหารือระดับทวิภาคี
“การเดินทางมา (ของคาร์เตอร์) เที่ยวนี้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล เนื่องจากการตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้” แพทริก โครนิน (Patrick Cronin) ผู้อำนวยการอาวุโสของโครงการความมั่นเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Security Program) ณ ศูนย์เพื่อความมั่นคงอเมริกันใหม่ (Center for a New American Security) กล่าวให้ความเห็น
“ภารกิจของรัฐมนตรีคาร์เตอร์คือการเน้นย้ำอีกครั้งเพื่อให้ฟิลิปปินส์มั่นใจว่ามีสหรัฐฯคอยหนุนหลังเรื่องความมั่นคง เพื่อผลักดันให้นำเอาวิธีการซึ่งอิงอยู่กับกฎหมายระเบียบกติกา มาใช้แก้ไขคลี่คลายข้อพิพาทต่างๆ ที่เกิดขึ้น”
ฝ่ายจีนตอบโต้ประณามสหรัฐฯ
สหรัฐฯได้ดำเนินการสิ่งที่ตนเองเรียกว่าการตรวจการณ์ลาดตระเวนเพื่อสำแดง “เสรีภาพในการเดินเรือ” ในพื้นที่แถบนี้ ด้วยการแล่นเรือรบเข้าไปภายในน่านน้ำ 12 ไมล์ทะเลรอบๆ เกาะพิพาทซึ่งจีนควบคุมอยู่ เพื่อเป็นการตอกย้ำสิทธิของตนที่จะเดินเรือในน่านน้ำเหล่านี้
การตรวจการณ์เหล่านี้ถูกประณามตำหนิอย่างแรงจากฝ่ายจีน ทว่าพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯกล่าวว่าสหรัฐฯจะยังคงท้าทายสิ่งที่ตนเองเห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างดินแดนทางทะเลอย่างไม่มีเหตุผล
พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯบอกว่า กองทัพเรืออเมริกันกำลังดำเนินการตรวจการณ์ในภูมิภาคดังกล่าวด้วยความแข็งกร้าวมากขึ้น โดยกำลังแล่นเรือเข้าไปใกล้ส่วนที่เป็นข้อพิพาทกันอยู่
“พวกเขากำลังแล่นเรือเข้าไปภายในเขต 13, 14, 15 ไมล์ทะเล โดยยังไม่ได้ล่วงลึกเข้าไปภายในอาณาเขต 12 ไมล์ แน่นอนทีเดียวว่าฝ่ายจีนก็มองเห็นสิ่งที่สหรัฐฯกำลังกระทำอยู่แล้ว” เจ้าหน้าที่สหรัฐฯผู้หนึ่งกล่าวแต่ขอสงวนนามเพราะไม่ได้รับมอบอำนาจให้แถลงต่อสาธารณชน
เจ้าหน้าที่ผู้นี้บอกว่า เวลานี้เรือของฝ่ายจีนกำลังคอยติดตามเรือสหรัฐฯทุกๆ ลำในภูมิภาคนี้ และการสื่อสารตามกิจวัตรระหว่างเรือกับเรือ ก็ได้มีลักษณะความโกรธเคืองฉุนเฉียวเพิ่มขึ้น บางครั้งก็อยู่ในลักษณะที่ไม่ใช่มืออาชีพ
ปีนี้สหรัฐฯกำลังจัดหาความช่วยเหลือให้ฟิลิปปินส์เป็นมูลค่าประมาณ 40 ล้านดอลลาร์ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มความมั่นคงทางทะเล (Maritime Security Initiative หรือ MSI) ระยะเวลา 5 ปีมูลค่ารวม 425 ล้านดอลลาร์
เงินดังกล่าวนี้จะถูกใช้ ทั้งในด้านการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์เฝ้าระวังชายฝั่งแห่งชาติของฟิลิปปินส์ (Philippines National Coast Watch Center), การทำให้สหรัฐฯกับฟิลิปปินส์สามารถที่จะแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลลับกันได้ดียิ่งขึ้น, และการซื้ออุปกรณ์เซนเซอร์ที่ดีขึ้นสำหรับติดตั้งบนเรือตรวจการณ์ของกองทัพเรือฟิลิปปินส์
ความคืบหน้าอย่างรวดเร็วในการใช้จ่ายเงินกองทุน MSI ในปีนี้ จะทำให้เพนตากอนสามารถร้องขอรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อให้จัดสรรเงินงบประมาณนี้ “เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว” สำหรับปีต่อๆ ไป รวมทั้งเป็นไปได้ที่จะขยายการใช้จ่ายไปสู่ประเทศอื่นๆ อย่างมาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, และไทย เออร์เนสต์ โบวเออร์ (Ernest Bower) ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) บอก
ระหว่างอยู่ในฟิลิปปินส์ คาร์เตอร์ยังจะเข้าสังเกตการณ์การซ้อมรบประจำปีระหว่างสหรัฐฯกับฟิลิปปินส์ ที่ใช้ชื่อรหัสว่า “บาลิคาตัน” (Balikatan) โดยในปีนี้สหรัฐฯส่งทหารเข้าร่วมราว 4,000 คน สมทบกับทหารฟิลิปปินส์อีก 3,000 คน
สหรัฐฯประกาศเพิ่มการปรากฏตัวทางทหารในฟิลิปปินส์
โดย เยกาเนห์ ตอร์บาตี /สำนักข่าวรอยเตอร์
U.S. announces ramped-up military presence in Philippines
By Yeganeh Torbati
(Reuters) http://www.reuters.com/article/us-southchinasea-philippines-carter-idUSKCN0XB0QY
14/04/2016
รัฐมนตรีกลาโหม แอช คาร์เตอร์ ของสหรัฐฯ กล่าวในวันพฤหัสบดี (14 เม.ย.) ที่กรุงมะนิลาว่า สหรัฐฯกำลังเริ่มการส่งกองทหารและยุทโธปกรณ์เข้าไปผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นประจำในฟิลิปปินส์ นอกจากนั้นทั้งสองประเทศยังได้เริ่มการตรวจการณ์ลาดตระเวนร่วมกันในทะเลจีนใต้อีกด้วย ในขณะที่จีนยังคงเดินหน้าเพิ่มความแข็งกร้าวยืนกรานในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนของตน
แผนการริเริ่มเช่นนี้กำหนดจัดวางขึ้นมาเพื่อที่สหรัฐฯจะได้ไม่ต้องถึงกับเพิ่มการปักหลักอย่างถาวรในดินแดนอดีตอาณานิคมของตนแห่งนี้ แต่ในเวลาเดียวกันก็สามารถสาธิตให้เห็นได้ว่าประเทศทั้งสองกำลังเพิ่มความร่วมมือกันทางด้านความมั่นคง ท่ามกลางความกังวลที่มีอยู่ร่วมกันต่อการกระทำต่างๆ ของจีนในบริเวณน่านน้ำซึ่งพิพาทช่วงชิงกันอยู่ของภูมิภาคแถบนี้
หลายประเทศในภูมิภาคแถบนี้ได้แสดงความวิตกเกี่ยวกับกิจกรรมของจีน แต่คาร์เตอร์กล่าวว่าการที่อเมริกามีการปรากฏตัวทางทหารอย่างกว้างขวางมากขึ้นเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าต้องการที่จะยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งกับฝ่ายจีน
“กองทหารอเมริกันจะผลัดกันปรากฏตัวที่นี่เป็นประจำ” คาร์เตอร์กล่าวระหว่างการแถลงสรุปที่กรุงมะนิลาพร้อมกับรัฐมนตรีกลาโหม วอลแตร์ กัซมิน (Voltaire Gazmin) ของฟิลิปปินส์ “สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ที่นี่ เป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนการปฏิบัติซึ่งสามารถย้อนหลังไปได้หลายสิบปีทีเดียว ทหารสหรัฐฯเข้ามาโดยได้รับการเชื้อเชิญในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนพันธมิตรรายหนึ่ง”
สำหรับการตรวจการณ์ร่วมในทะเลจีนใต้ระหว่างสหรัฐฯกับฟิลิปปินส์นั้น เพนตากอนแถลงว่าเที่ยวแรกได้ดำเนินการไปแล้วในเดือนมีนาคม ส่วนเที่ยวที่สองก็มีขึ้นตอนต้นเดือนเมษายนนี้ และจะจัดกัน “เป็นประจำ” ต่อไปในอนาคต
สหรัฐฯนั้นเมื่อเร็วๆ นี้ได้ดำเนินการตรวจการณ์ร่วมในทะเลจีนใต้กับญี่ปุ่นมาแล้ว แต่การดำเนินการตรวจการณ์ร่วมกับฟิลิปปินส์เช่นนี้ยังถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างผิดปกติ
คาร์เตอร์ไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจนเจาะจงว่า การตรวจการณ์ในทะเลจีนใต้เหล่านี้เกิดขึ้นในบริเวณใด
แต่เขาระบุว่า กองทหารสหรัฐฯกองหนึ่งซึ่งประกอบด้วยเครื่องบินทหารและทหารอากาศจำนวน 200 คนจากกองกำลังทางอากาศภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ (U.S. Pacific Air Forces) จะไปอยู่ที่ฐานทัพอากาศคลาร์ก (Clark Air Base) ที่เคยเป็นฐานทัพเก่าของสหรัฐฯ ไปจนกระทั่งถึงสิ้นเดือนนี้
เครื่องบินในกองทหารดังกล่าว ในเบื้องต้นจะประกอบด้วย เครื่องบินโจมตีภาคพื้นดินแบบ เอ-10 ซี ธันเดอร์โบลต์ 2 (A-10C
Thunderbolt II) จำนวน 5 ลำ, เฮลิคอปเตอร์ เอชเอช-60จี แพพ ฮอว์ก (HH-60G Pave Hawk) 3 ลำ, และเครื่องบินปฏิบัติการพิเศษแบบ เอ็มซี-130เอช (MC-130H) 1 ลำ
นอกจากนั้น ทหารสหรัฐฯจำนวนไม่เกิน 75 คนโดยส่วนใหญ่เป็นนาวิกโยธิน จะยังคงอยู่ในฟิลิปปินส์ “ในลักษณะของการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน” ภายหลังเสร็จสิ้นการซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐฯกับฟิลิปปินส์ที่ใช้ชื่อรหัสว่า “บาลิตากัน” ในสัปดาห์นี้แล้ว ทหารเหล่านี้จะสนับสนุน “การปฏิบัติการที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคแถบนี้” คำแถลงของเพนตากอนระบุ
การประกาศระบบการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกำลังเช่นนี้ บังเกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากประเทศทั้งสองบรรลุข้อตกลงความมั่นคงซึ่งอนุญาตให้ทหารสหรัฐฯหมุนเวียนปรากฏตัวในฐานทัพจำนวน 5 แห่งของสหรัฐฯ
ฟิลิปปินส์นั้นเป็นพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯในเอเชีย และเป็นเจ้าบ้านให้ที่ตั้งฐานทัพถาวรแก่สหรัฐฯหลายแห่งอยู่นานปีจวบจนกระทั่งถึงปี 1992 แต่เมื่อวุฒิสภาแดนตากาล็อกลงมติในปี 1991 ไม่ให้สหรัฐฯตั้งฐานทัพอีกต่อไป จากนั้นความร่วมมือทางทหารระหว่างสองประเทศก็จืดจางลง
กลุ่มฝ่ายซ้าย “บายัน” (Bayan ภาษาตากาล็อกแปลว่า ชาติ) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของพวกนักชาตินิยมฟิลิปปินส์และองค์กรต่อต้านสหรัฐฯ ได้ประกาศไม่ยอมรับข้อตกลงฉบับหลักที่ประเทศทั้งสองทำกันก่อนหน้านี้ ซึ่งมีชื่อว่าข้อตกลงเพิ่มพูนความร่วมมือทางกลาโหม (Enhanced Defense Cooperation Agreement) [1] โดยกล่าวหาว่านี่เป็นความเคลื่อนไหวของกองทัพสหรัฐฯในการหาทางเพื่อทำให้ตนเองได้ปรากฏตัวอย่างถาวรในฟิลิปปินส์ จะได้ใช้แดนตาการล็อกเป็นเวทีสำหรับการเข้าครอบงำภูมิภาคแถบนี้
“การพิพาทที่เรามีอยู่กับจีน จะต้องไม่ถูกใช้เป็นเหตุผลสำหรับการอนุญาตให้อีกประเทศหนึ่งมาละเมิดอธิปไตยของเรา” เรนาโต เรเยส (Renato Reyes) เลขาธิการของกลุ่มบายัน กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่ง
“มันไม่สามารถที่จะถูกใช้มาเป็นเหตุผลความชอบธรรมสำหรับการหวนกลับคืนมาของฐานทัพอเมริกัน ภายใต้ข้อตกลงที่มีข้อน่าสงสัยและอาจถูกขยายให้กว้างต่อไปอีกเช่นนี้”
หมายเหตุผู้แปล
[1]ข้อตกลงเพิ่มพูนความร่วมมือทางกลาโหม (Enhanced Defense Cooperation Agreement หรือ EDCA) เป็นข้อตกลงที่ทำกันระหว่างสหรัฐฯกับฟิลิปปินส์ ด้วยเจตนารมณ์ที่จะค้ำจุนสนับสนุนความเป็นพันธมิตรกันระหว่างประเทศทั้งสอง ข้อตกลง EDCA อนุญาตให้สหรัฐฯหมุนเวียนกำลังทหารเข้ามาในฟิลิปปินส์ โดยจะสามารถประจำอยู่ได้ยาวนานกว่าปกติของการเยือนของกองทหาร รวมทั้งยังอนุญาตให้สหรัฐฯสร้างและดำเนินการสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในฐานทัพของฟิลิปปินส์ เพื่อประโยชน์ของกองทัพอเมริกันและกองทัพฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งฐานทัพถาวรใดๆ และต้องไม่นำอาวุธนิวเคลียร์เข้ามา รวมทั้งสหรัฐฯจะต้องให้บุคลากรของฟิลิปปินส์สามารถเข้าถึงเรือและเครื่องบินของฝ่ายอเมริกันอีกด้วย
ข้อตกลง EDCA นี้ ถือเป็นข้อตกลงเพิ่มเติมจาก “ข้อตกลงการเยือนของกองทหาร” (Visiting Forces Agreement) ซึ่งได้เคยทำกันไว้ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 ข้อตกลง EDCA ลงนามโดยรัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ วอลแตร์ กัซมิน และเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำฟิลิปปินส์ ฟิลิป โกลด์เบิร์ก (Philip Goldberg) ในกรุงมะนิลาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2014 ภายหลังการลงนาม ฝ่ายที่คัดค้านได้พยายามทำให้เป็นโมฆะ ด้วยการฟ้องร้องต่อศาลโดยระบุว่าขัดรัฐธรรมนูญ ทว่าในวันที่ 12 มกราคม 2016 ศาลสูงสุดฟิลิปปินส์ตัดสินด้วยคะแนน 10 ต่อ 4 ยืนยันว่าข้อตกลงนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานข่าวโดยอ้างคำพูดของ อีแวน เมเดรอส (Evan Medeiros) ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกิจการเอเชียของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งกล่าวว่า “นี่ (ข้อตกลง EDCA) เป็นข้อตกลงด้านกลาโหมฉบับสำคัญที่สุดซึ่งเราสามารถตกลงจัดทำกับฟิลิปปินส์ได้ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา”
ในเดือนเมษายน 2015 รัฐบาลสหรัฐฯได้อาศัยกรอบของข้อตกลง EDCA เสนอขอเข้าถึงฐานทัพเป็นจำนวน 8 แห่งในฟิลิปปินส์
ในวันที่ 19 มีนาคม 2016 รัฐบาลฟิลิปปินส์และรัฐบาลสหรัฐฯ ตกลงเห็นพ้องกันในเรื่องที่ตั้งของฐานทัพฟิลิปปินส์จำนวน 5 แห่ง ซึ่งจะให้ทหารอเมริกันหมุนเวียนเข้าไปประจำตามข้อตกลง EDCA
(ข้อมูลจาก Wikipedia)
สหรัฐฯยิงขีปนาวุธในการซ้อมรบที่ฟิลิปปินส์ใกล้ๆ ทะเลจีนใต้
โดย กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์
US fires missiles in Philippines war games near South China Sea
By AT Editor
(รวบรวมจากรายงานข่าวของสำนักข่าวต่างๆ ) http://atimes.com/2016/04/us-fires-missiles-in-philippines-war-games-near-s-china-sea/
14/04/2016
จรวดของระบบขีปนาวุธหลายลำกล้องเคลื่อนที่เร็วยิงได้ไกลอันก้าวหน้าไฮเทคของสหรัฐฯ พุ่งทะยานขึ้นสว่างเจิดจ้าเหนือท้องฟ้าฟิลิปปินส์เมื่อวันพฤหัสบดี (14 เม.ย.) ระหว่างการซ้อมรบซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะเพิ่มพูนยกระดับความเป็นพันธมิตรทางทหารของประเทศทั้งสอง ขณะที่ต้องเผชิญหน้ากับจีนซึ่งมีท่าทียืนกร้าวแข็งกร้าวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ระบบจรวดหลายลำกล้อง HIMARS (High Mobility Artillery Rocket System) นี้เอง เป็นดาวดวงเด่นในการฝึกจำลองสถานการณ์เข้าตีของทหารสหรัฐฯและฟิลิปปินส์รวมจำนวน 5,500 คน โดยได้ปล่อยจรวดออกไป 6 ลูกเข้าสู่เป้าหมายที่ตั้งอยู่ห่างไกล จากบริเวณท้องแม่น้ำที่แห้งผากแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมะนิลาเป็นระยะทางขับรถประมาณ 3 ชั่วโมง
ทั้งเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบ “คอบรา” ของนาวิกโยธินสหรัฐฯ และเครื่องบินไอพ่น เอส211 ของฟิลิปปินส์ ต่างก็ส่งเสียงครวญครางเหนือ “สนามฝึกหุบเขาโครว์” (Crow Valley training range) แห่งนี้ ขณะที่กองทหารฟิลิปปินส์และสหรัฐฯแสดงการบุกเข้ายึดดินแดนซึ่งสมมุติว่าข้าศึกยึดครองอยู่
การฝึกซ้อมเหล่านี้ยังเกิดขึ้นภายใต้เงาของการพิพาทที่เลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ระหว่างฟิลิปปินส์ ผู้เป็นพันธมิตรซึ่งมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ย่ำแย่ของสหรัฐฯ กับยักษ์ใหญ่แห่งภูมิภาคอย่างจีน เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์เหนือเกาะ, แนวปะการัง, และน่านน้ำต่างๆ ในทะเลจีนใต้ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากร
“ความจริงแท้แน่นอนของเรื่องนี้ก็คือ พวกเราเป็นพันธมิตรกัน และในฐานะที่เป็นพันธมิตรกัน พวกเราก็จำเป็นจะต้องทำงานด้วยกัน” พล.ท. จอห์น ทูแลน น.ย. (Lieutenant-General John Toolan) ผู้บัญชาการเหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯภาคแปซิฟิก (US Marine Corps Pacific commander) บอกกับพวกผู้สื่อข่าว ขณะพูดถึงระบบจรวดไฮเทคนี้
เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่า สหรัฐฯจะนำเอาระบบ HIMARS เข้ามาติดตั้งในฟิลิปปินส์หรือไม่ หากเกิดกรณีการสู้รบขัดแย้งด้วยอาวุธกันในทะเลจีนใต้ขึ้นมา เขาก็ตอบว่า “ผมคิดว่าพวกเรามีความยินดีเหลือเกินที่จะได้แบ่งปันช่วยเหลือกัน”
อย่าพุ่งเป้ามุ่งเล่นงานฝ่ายที่สาม
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง กระทรวงการป้องกันประเทศของจีน (Chinese Ministry of National Defense) ซึ่งก็คือกระทรวงกลาโหมของแดนมังกร ได้บอกกับไชน่าเดลี่ (China DailyChina Daily) หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษของทางการจีนเมื่อวันพฤหัสบดี (14 เม.ย.) ว่า ความร่วมมือทางการทหารระหว่างสหรัฐฯกับฟิลิปปินส์ ไม่ควรที่จะ “พุ่งเป้าเล่นงานฝ่ายที่สาม” หรือ “ล่วงละเมิดผลประโยชน์ของฝ่ายที่สาม”
การแสดงความคิดเช่นนี้ของแดนมังกร ปรากฏขึ้นมาภายหลังรัฐมนตรีกลาโหม แอช คาร์เตอร์ ของสหรัฐฯ ได้แถลงในวันพุธ (13 เม.ย.) ว่า ในอนาคต กองทหารสหรัฐฯจะสามารถเข้าใช้ฐานทัพต่างๆ ในฟิลิปปินส์ เป็นการเพิ่มเติมขึ้นจาก 5 แห่งที่ได้มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี
ในการแถลงซึ่งเห็นชัดว่าเป็นการแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ กระทรวงกลาโหมจีนได้อ้างอิงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ฐานทัพของสหรัฐฯในฟิลิปปินส์นั้นได้ถูกปิดไปตั้งแต่เมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1990
การบอกกล่าวของกระทรวงกลาโหมจีน ที่อยู่ในรูปของการตอบคำถามกลับมาเป็นตัวหนังสือ บอกต่อไปว่า “เวลานี้กองทัพสหรัฐฯได้หวนกลับคืนมา ได้เพิ่มเสริมการปรากฏตัวทางทหารของตนในฟิลิปปินส์ และได้ทวีการเพิ่มพูนแสนยานุภาพในภูมิภาคทะเลจีนใต้”
“การเพิ่มเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ความเป็นพันธมิตรทางทหารนั้น แท้ที่จริงแล้วมันคือสัญญาณประการหนึ่งของแนวความคิดแห่งยุคสงครามเย็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับแนวโน้มของยุคสมัยนี้ ที่เน้นย้ำเรื่องสันติภาพ, การพัฒนา, ความร่วมมือ, และความสัมพันธ์แบบชนะด้วยกันทุกฝ่าย” กระทรวงการป้องกันประเทศแดนมังกรบอก และกล่าวต่อไปว่า “เราจึงเรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ถอยห่างตัดขาดจากแนวความคิดแบบสงครามเย็นอันล้าสมัย และไม่พุ่งเป้าไปที่ฝ่ายที่สาม ไม่ล่วงละเมิดผลประโยชน์ของฝ่ายที่สาม หรือสร้างผลกระทบกระเทือนต่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค ในเวลาที่พวกเขาประกาศความร่วมมือทางทหารแบบทวิภาคกัน”
รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯขึ้นเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันในทะเลจีนใต้
โดย เยกาเนห์ ตอร์บาตี และ เบน บังชาร์ด / สำนักข่าวรอยเตอร์
US defense secretary visits carrier in disputed South China Sea
By Yeganeh Torbati and Ben Blanchard
(Reuters) http://www.reuters.com/article/us-southchinasea-philippines-carter-idUSKCN0XC074
15/04/2016
นายใหญ่ของเจ้าหน้าที่ด้านกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ (15 เม.ย.) ได้เข้าตรวจเยี่ยมเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันซึ่งกำลังอยู่ระหว่างแล่นผ่านทะเลจีนใต้ที่มีข้อพิพาทขัดแย้งระหว่างหลายประเทศ โดยในเวลาเดียวกันนั้นจีนแถลงว่า เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของตนคนหนึ่งก็ได้ไปเยือนหมู่เกาะและแนวปะการังในภูมิภาคนั้นเพื่อตรวจดูงานการก่อสร้าง
รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ แอช คาร์เตอร์ โดยสารอากาศยานขึ้นไปบนเรือยูเอสเอส จอห์น ซี. สเตนนิส (USS John C. Stennis) เพื่อทำการตรวจเยี่ยมเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ขณะที่ เรือบรรทุกเครื่องบินใช้พลังงานนิวเคลียร์ของอเมริกาลำนี้แล่นอยู่ในบริเวณห่างจากเกาะลูซอน (Luzon) ของฟิลิปปินส์ไปทางตะวันตก 60 – 70 ไมล์
ขณะอยู่บนเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ คาร์เตอร์ได้กล่าวปฏิเสธเรื่องที่จีนพรรณนาการที่สหรัฐฯปรากฏตัวทางทหารอย่างเข้มแข็งมากขึ้นในภูมิภาคแถบนี้ ว่ากำลังกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น
“สิ่งที่เป็นเรื่องใหม่นั้นไม่ใช่การปรากฏตัวของเรือบรรทุกเครื่องบิน (สหรัฐฯ) ในภูมิภาคแถบนี้หรอก” คาร์เตอร์กล่าวขณะอยู่บนเรือสเตนนิส ซึ่งเขาได้พบปะกับทหารอเมริกัน รวมทั้งเข้าสังเกตการณ์การปฏิบัติการของเครื่องบินด้วย “สิ่งที่เป็นเรื่องใหม่คือบริบทของความตึงเครียด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการที่จะทำให้มันลดลง”
ทั้งนี้จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่แทบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ ซึ่งเชื่อกันว่ามีแหล่งน้ำมันและก๊าซปริมาณมหึมาอยู่ข้างใต้ ขณะที่บรูไน, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน, และเวียดนาม ก็ประกาศอ้างกรรมสิทธิ์น่านน้ำเหล่านี้เป็นบางส่วน ซึ่งยังเป็นเส้นทางการเดินเรือสินค้าที่มูลค่าสูงลิ่วราวๆ 5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี
การตรวจเยี่ยมเรือบรรทุกเครื่องบินของคาร์เตอร์ ถึงแม้ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทว่าก็ยังน่าที่จะเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้แก่ความตึงเครียดกับจีน โดยที่ปักกิ่งระบุว่าสหรัฐฯ “กำลังเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหาร” ในทะเลจีนใต้ และก่อให้เกิดอันตรายต่อความมั่นคง
คาร์เตอร์ได้เคยทำการตรวจเยี่ยมทำนองนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยการลงเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส ธีโอดอร์ รูสเวลต์ (USS Theodore Roosevelt) ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ขณะเรือลำดังกล่าวแล่นผ่านทะเลจีนใต้ตรงบริเวณใกล้ๆ มาเลเซีย
ในการตรวจเยี่ยมเมื่อวันศุกร์ (15 เม.ย.) คาร์เตอร์ได้รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ วอลแตร์ กัซมิน ร่วมเดินทางมาด้วย
สหรัฐฯยังได้ดำเนินการสิ่งที่ตนเรียกว่าเป็นการตรวจการณ์ลาดตระเวนเพื่อสำแดง “เสรีภาพในการเดินเรือ” ในพื้นที่แถบนี้ โดยแล่นเรือรบเข้าไปภายในอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลรอบๆ หมู่เกาะพิพาทที่ฝ่ายจีนควบคุมอยู่ เพื่อเป็นการตอกย้ำยืนยันว่าสหรัฐฯมีสิทธิที่จะแล่นเรือในน่านน้ำเหล่านี้
ในส่วนทางฝ่ายจีนนั้น กระทรวงกลาโหมแดนมังกรได้ออกคำแถลงสั้นๆ ระบุว่า ฟาน ฉางหลง (Fan Changlong) รองประธานผู้หนึ่งของคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง (Central Military Commission) ที่เป็นองค์กรควบคุมกองทัพจีน เมื่อเร็วๆ นี้ได้เดินทางไปเยือนหมู่เกาะและแนวปะการางของจีนบางแห่งในภูมิภาคดังกล่าว
ขณะที่คำแถลงนี้ไม่ได้กล่าวว่าฟานเดินทางไปที่ไหนบ้างและไปเมื่อใด แต่ก็ระบุว่าเขาได้พบปะกับทหารและตรวจงานการก่อสร้าง ไม่เพียงเท่านั้น กระทรวงกลาโหมจีนบอกว่า เขายังเดินทางไปเยือนเกาะจำนวนหนึ่งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ซึ่งจีนกับหลายชาติช่วงชิงกันอยู่
ก่อนหน้านี้ จีนได้แถลงประณามแผนการของสหรัฐฯกับฟิลิปปินส์ที่ได้รับการประกาศในกรุงมะนิลาเมื่อวันพฤหัสบดี (14 เม.ย.) ว่าด้วยการผูกพันทางทหารระหว่างประเทศทั้งสองให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยรวมถึงการดำเนินการตรวจการณ์ร่วมในทะเลจีนใต้ด้วย ทั้งนี้แดนมังกรบอกว่า แผนการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง “ความคิดจิตใจแบบยุคสงครามเย็น”
จีนบอกสหรัฐฯกำลังสนับสนุนการเพิ่มแสนยานุภาพในทะเลจีนใต้
ทางด้าน หลู่ คัง (Lu Kang) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ก็ได้แถลงในวันศุกร์ (15 เม.ย.) ว่า ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ของสหรัฐฯคือสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า “ใครกันแน่ที่เป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนตัวจริง ซึ่งทำให้เกิดการเพิ่มแสนยานุภาพในทะเลจีนใต้”
เขากล่าวระหว่างการแถลงข่าวประจำวันตามปกติว่า สหรัฐฯไม่เคยเลยที่จะสามารถหยิบยกตัวอย่างขึ้นมายืนยันได้ว่า เสรีภาพในการเดินเรือของพลเรือนในทะเลจีนใต้กำลังถูกกระทบกระเทือน
“ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่สหรัฐฯกำลังพูดถึงอาจจะเป็นเรื่องของเสรีภาพในการเดินเรือของฝ่ายทหาร และความปลอดภัย หากเป็นกรณีนี้จริงๆ แล้ว ประเทศจำนวนมากไม่เฉพาะในภูมิภาคแถบนี้หรอก จะคาดหวังว่าพวกประเทศใหญ่เหล่านี้ควรที่จะสามารถปฏิบัติตนวางตัวให้สอดคล้องเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ”
ทางด้าน พล.ร.ต.โรนัลด์ บ็อกซัลล์ (Rear Admiral Ronald Boxall) ผู้บัญชาการของหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี ยูเอสเอส จอห์น ซี. สเตนนิส กล่าวว่า เรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้และเรือรบอื่นๆ ในหมู่เรือ กำลังอยู่ระหว่างการเข้าประจำการตามกิจวัตรปกติในอาณาบริเวณแปซิฟิกตะวันตกเป็นระยะเวลา 3 เดือน เรือรบเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์กับเรือของฝ่ายจีนแบบเกือบจะตลอดเวลา ถึงแม้เขาจะบรรยายการปฏิบัติการของฝ่ายจีนว่ามีลักษณะเป็นมืออาชีพ
“เรามองเห็นการปรากฏตัว (ของเรือรบจีน) แถวๆ นี้เยอะมาก” บ็อกซัลล์ กล่าว “มันมากกว่าที่ผมเคยพบเห็นมาในอดีต แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลอยู่หรอก เมื่อพิจารณาว่าพวกเขาได้เติบโตขยายตัวขึ้นมามากในด้านกองทัพเรือ”
ระหว่างการเยือนเอเชียเป็นเวลา 6 วันคราวนี้ คาร์เตอร์ยืนยันเรื่อยมาว่ายุทธศาสตร์ของสหรัฐฯนั้นมุ่งหมายที่จะธำรงรักษาสันติภาพและการตกลงแก้ไขข้อพิพาทกันตามหลักกฎหมาย ไม่ใช่การยั่วยุให้เกิดการขัดแย้งกับมหาอำนาจสำคัญรายหนึ่งของโลก
“เราอยู่ที่นี่มาทศวรรษแล้วทศวรรษเล่า” คาร์เตอร์ กล่าว “เหตุผลประการเดียวที่ทำให้เรื่องนี้ (การเข้ามาในภูมิภาคแถบนี้ของสหรัฐฯ) ถูกหยิบยกกลายเป็นคำถามขึ้นมา ก็เพราะสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในรอบปีที่แล้วนั่นเอง และมันเป็นคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมองจีน”
การแวะเยือนเรือบรรทุกเครื่องบินของคาร์เตอร์นี้ ถือเป็นจุดสุดท้ายของเที่ยวการเดินทางเยือนเอเชีย ซึ่งวางแผนเอาไว้เพื่อเน้นย้ำความเป็นพันธมิตรที่สหรัฐฯกำลังมุ่งสร้างขึ้นมากับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค โดยที่รัฐมนตรีกลาโหมอเมริกันบอกว่า ประเทศในภูมิภาคเหล่านี้เองก็กำลังเรียกร้องให้สหรัฐฯขยายบทบาทมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นเนื่องจากการกระทำต่างๆ ของฝ่ายจีน
นอกเหนือจากการตรวจการณ์ร่วมระหว่างสหรัฐฯกับฟิลิปปินส์ที่แถลงกันออกมาในวันพฤหัสบดี (14 เม.ย.) แล้ว ภายหลังการซ้อมรบร่วมประจำปีของสองประเทศ ทหารสหรัฐฯจำนวนหลายร้อยคนรวมทั้งเครื่องบินอเมริกันจำนวนหนึ่งจะถูกทิ้งเอาไว้ให้ประจำในฟิลิปปินส์ต่อไปในลักษณะของการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนชั่วคราว
ก่อนหน้าฟิลิปปินส์ คาร์เตอร์ได้ไปเยือนอินเดีย ซึ่งคาร์เตอร์ประสบความสำเร็จในการทำข้อตกลงเบื้องต้นที่เฝ้ารอคอยกันมานาน เพื่อให้สหรัฐฯกับแดนภารตะมีการแบ่งปันแลกเปลี่ยนด้านการส่งกำลังบำรุงทางทหาร โดยที่ข้อตกลงเช่นนี้มองกันว่าเป็นขั้นตอนอันจำเป็นสำหรับความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างประเทศทั้งสอง