คิวแนป รับอานิสงส์ตลาดระบบจัดเก็บข้อมูลผ่านเครือข่าย (NAS) ในระดับพรีเมียมโตตามการใช้งานอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ รวมกับพฤติกรรมการใช้งานสมาร์ทดีไวซ์ที่มีการสร้างคอนเทนต์มากขึ้น ยิ่งทำให้ผู้บริโภคเริ่มหาระบบจัดเก็บข้อมูลมาใช้ภายในบ้าน ขณะเดียวกัน ตลาดองค์กรธุรกิจก็เริ่มให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นเพราะใช้งานง่าย
นายชัยวัฒน์ สินสวัสดิ์ ผู้จัดการฝ่ายขายประจำประเทศไทย บริษัท คิวแนป ซิสเต็มส์ อิงค์ กล่าวว่า จากเทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการสร้างปริมาณข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทำให้ปัจจุบันตลาด NAS เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น จากการที่นำมาใช้ในการสำรองข้อมูลรูปภาพ วิดีโอจากสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือโน้ตบุ๊กมาเก็บไว้ได้ และยังสามารถแปลง NAS ให้กลายเป็นระบบคลาวด์ส่วนตัวเพื่อใช้งานได้ด้วย
ทำให้ในปีที่ผ่านมา คิวแนป มีรายได้ในประเทศไทยราว 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 90 ล้านบาท) โดยสัดส่วนการทำตลาดของคิวแนป จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มบี (องค์กรธุรกิจขนาดกลางและเล็ก) 54% กลุ่มใช้งานภายในบ้าน หรือโฮมออฟฟิศ 30% และกลุ่มลูกค้าระดับองค์กรขนาดใหญ่ 16% โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ไว้ที่ 30%
“ตอนนี้ตลาดส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรุงเทพฯ ประมาณ 70% และตลาดต่างจังหวัดราว 30% แต่เชื่อว่าในปีหน้าน่าจะขยับมาอยู่ที่ 60% ต่อ 40% เพราะตลาดต่างจังหวัดเมื่อมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์มากยิ่งขึ้น อุปกรณ์อย่าง NAS ก็จะเติบโตตาม”
นอกจากนี้ ทางคิวแนปยังได้มีการเพิ่มดิสทริบิวเตอร์ จากเดิมที่มีเพียง เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น ก็ได้มีการเพิ่มซินเน็คเข้ามา เพื่อช่วยรุกในตลาดคอนซูเมอร์เพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ก็จะเน้นการจัดกิจกรรมตามหัวเมืองใหญ่มากขึ้น เพื่อแนะนำให้ผู้บริโภครู้จักกับระบบ NAS
สำหรับคู่แข่งในตลาด NAS ตอนนี้จะมีแบรนด์หลักๆ อยู่ทั้งหมดราว 6-7 ราย เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่จะรองรับแค่การสำรองข้อมูลเป็นหลัก แต่ถ้านับในตลาดระดับเดียวกันที่มีความสามารถเพิ่มเติมนอกจากการสำรองข้อมูล คิวแนป จะมีคู่แข่งเพียง 1 รายในตลาดเท่านั้น
ปัจจุบัน คิวแนป เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยราว 6 ปี แต่เพิ่งมีการตั้งบริษัทในปี 2014 ที่ผ่านมา เพราะเน้นทำตลาดในกลุ่มของลูกค้าองค์กรเป็นหลัก โดยมี 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลักๆ คือ NAS (Network-attached storage) ระบบเก็บข้อมูลภายในเครือข่าย NVR (Network video recorder) ระบบเก็บข้อมูลกล้องวงจรปิด และ Digital signage หรือพวกป้ายโฆษณาอัจฉริยะ
ปัจจุบัน NAS ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานเก็บข้อมูลเพียงอย่างเดียว และถือเป็นกลุ่มอุปกรณ์สำรองข้อมูลที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในตลาดลูกค้าองค์กร เมื่อเทียบกับ DAS, SAN, iSCSI จุดเด่น NAS ของทางคิวแนป คือ มีการติดตั้งระบบปฏิบัติการ QTS (ลินุกซ์) ที่มาด้วยแอปสโตร์สำหรับลงแอปเพิ่มเติม พร้อมระบบสำรองข้อมูล และชุดพัฒนาแพลตฟอร์มแก่นักพัฒนาด้วย
ส่วนกลุ่มการใช้งานภายในบ้าน จะมีรุ่น TAS-x86 ที่มากับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และ QTS ภายในตัว ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับจอภาพเพื่อใช้งานเป็นเครื่องเล่นมัลติมีเดียได้ทันที ราคาเริ่มต้น 11,500-15,900 บาท ถัดมาคือ กลุ่มเอสเอ็มบี ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความรู้พื้นฐานในการใช้งาน NAS อยู่แล้ว จะมากับระบบปฏิบัติการ QTS ในรุ่น TS-x53A ในระดับราคา 21,500-45,900 บาท มีจุดเด่นที่สามารถรับส่งข้อมูลได้สูงขึ้น 2 เท่า เมื่อมีการเข้ารหัส รองรับการเล่นไฟล์ภาพยนตร์ระดับ 4K
นอกจากนี้ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานเครื่องแมคสำหรับตัดต่อวิดีโอ หรือสตูดิโอที่ใช้ตัดต่อภาพยนตร์เป็นหลัก ก็จะมีรุ่น TVS-871T ที่มากับพอร์ต Thunderbolt 2 เพื่อช่วยให้สามารถส่งต่อข้อมูลผ่านสายได้รวดเร็ว ระดับราคาอยู่ที่ 114,500-133,900 บาท สุดท้ายคือ กลุ่มระดับองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการนำ NAS ไปใช้ร่วมกับเซิฟเวอร์เดิม เพื่อใช้เป็นระบบสำรองข้อมูล ในรุ่น TVS-ECx80U-SAS R2 ระยะเวลารับประกัน 5 ปี
“ก่อนหน้านี้ ในตลาดองค์กรขนาดใหญ่ทางคิวแนปจะมีข้อเสียในเรื่องของการรับประกันที่ลูกค้าต้องนำสินค้ามาส่งซ่อมเอง แต่ในปีนี้ได้มีการเปลี่ยนระบบรับประกันเป็นแบบออนไซต์ เซอร์วิส ต่อการเพิ่มระยะเวลารับประกันเป็น 5 ปี ทำให้เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มตลาดลูกค้าในกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ได้”
จุดแตกต่างของคิวแนป คือ มีการสต๊อกสินค้าตามระยะเวลารับประกันแน่นอน ถัดมาคือ การที่มีพอร์ต HDMI ทำให้สามารถเล่นไฟล์ภาพยนตร์ 4K ได้ นอกจากนี้ เฉพาะในรุ่นที่ใช้ซีพียูอินเทลสามารถติดตั้งระบบปฏิบัติการเพื่อใช้งานเสมือนพีซีได้ทันที สุดท้ายคือ คุณภาพของสินค้าจากโรงงานที่ผลิตที่ควบคุมจากทางคิวแนป
Company Related Link :
QNAP