xs
xsm
sm
md
lg

In Pics : เสี่ยหมีไม่กลัวคำขู่ “แมร์เคิล-โอลลองด์” ออกโรงเตือนโอบามา “ปูตินไม่กลัวสหรัฐฯป้อนอาวุธยูเครน ซ้ำอาจเกิดสงครามใหญ่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ – หลังจากการเจรจาหาทางออกวิกฤตยูเครนกว่า 5 ชม.กลางกรุงมอสโกสิ้นสุดลง ล่าสุดอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมันออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้(7)ที่Munich Security Conference 2015 เตือนอย่าทำให้ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน รู้สึกกลัว และไม่คิดว่าการที่สหรัฐฯมีแนวคิดจะสนับสนุนยูเครนด้วยยุทโธปกรณ์จะสามารถข่มขู่ผู้นำหมีขาวได้ ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศส ฟรองซัวส์ โอลลองด์ เตือน การยั่วยุบีบคั้นจะนำไปสู่สงคราม

เดอะ เทเลกราฟต์ สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้(7) ถึงความเห็นของ 2 ผู้นำฝั่งยุโรป อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน และประธานาธิบดีฝรั่งเศส ฟรองซัวส์ โอลลองด์จาก Munich Security Conference 2015 ที่ให้ความเห็นถึงท่าทีของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน หลังเสร็จสิ้นการเจรจากว่า 5 ชม.ก่อนหน้านี้ในกรุงมอสโกว่า “ดิฉันไม่คิดว่าข้อยุติในปัญหายูเครนจะสามารถแก้ได้ด้วยทางทหาร” แมร์เคิลกล่าวในที่ประชุมความมั่นคงมิวนิก ซึ่งสื่ออังกฤษชี้ว่าในฝั่งสหรัฐฯ นักการเมืองสายเหยี่ยวต่างต้องการกดดันให้รัฐบาลสหรัฐฯส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ชั้นสูงไปยังยูเครน แต่ทว่าผู้นำยุโรปชี้ว่า การทำเช่นนั้นเป็นการยั่วยุรัสเซีย มากกว่าทำให้รัสเซียกลัว

ทั้งนี้แมร์เคิลที่เป็นผู้นำยุโรปเพียงชาติเดียวที่ยังมีสายสัมพันธ์กับรัสเซียให้ความเห็นถึง แนวคิดจัดส่งอาวุธเพนตากอนไปยังยูเครนนั้นจะไม่สามารถทำให้ปูตินกลัวได้ “ดิฉันไม่สามารถคาดเดาได้ถึงสถานการณ์ หากมีการจัดส่งยุทโธปกรณ์ระดับสูงเข้าไปยังยูเครน เพื่อให้ประธานาธิบดีปูตินเชื่อว่า เขาต้องพ่ายแพ้ในการทำสงคราม ซึ่งดิฉันขอกล่าวอย่างตรงไปตรงมาจากการที่ดิฉันเติบโตในเยอรมันตะวันออกที่ดิฉันได้เห็นกำแพงเบอร์ลิน ซึ่งสหรัฐฯไม่ได้เข้ายุ่งเกี่ยวภายใต้กำแพงนี้แต่อย่างใด แต่ท้ายที่สุดเราได้รับชัยชนะ”

จากรายงานพบว่า ในความขัดแย้งยูเครน มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 5,300 คน ซึ่งส่วนมากเป็นทหารยูเคน ซึ่งในวันศุกร์(6)เคียฟเตือนว่า กลุ่มกบฏยูเครนเริ่มการโจมตีรอบใหม่

ในขณะที่ฟากฝั่งสหรัฐฯ มีนักการเมืองสหรัฐฯจำนวนเพิ่มมากขึ้นรวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงมีความต้องการให้โอบามาสนับสนุนอาวุธทางทหารระดับสูงแก่กองทัพยูเครน เช่น มิสไซล์ต่อต้านรถถัง แจเวลิน (Javelin anti-tank missiles) อาวุธเบาและกระสุน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ยูเครนสามารถรุกกลับกลุ่มกบฏฝักใฝ่มอสโกที่มีทั้งรถถัง อาวะยุทโธปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งกองกำลังที่ดูเหมือนว่ารัสเซียส่งมาสนับสนุนข้ามพรมแดนทางตะวันออกของยูเครน
พลเอกฟิลลิป บรีดเลิฟ ผู้บัญชาการนาโตของสหรัฐฯยืนยันในวันเสาร์(7) ว่า ข้อเสนอติดอาวุธนี้ยังเห็นสมควรที่จะยังคงอยู่บนโต๊ะ “ผมไม่คิดว่าทางเราควรจะตัดทางเลือกทางทหารออกไป และในขณะนี้ยังไม่มีการพูดถึงการนำกองกำลังเข้าไปในดินแดนขัดแย้ง” พลเอกบรีดเลิฟกล่าว

ซึ่งในขณะนี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ยังไม่ส่งสัญญาณใดๆออกมาในเรื่องนี้ แต่แอชตัน คาร์เตอร์ ผู้ที่ถูกโอบามาเสนอชื่อเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯได้กล่าวกับคณะกรรมาธิการวุฒิสภาสหรัฐฯในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “รู้สึกโน้มเอียงในทางเลือกติดอาวุธให้กองทัพยูเครน”

สื่ออังกฤษยังรายงานเพิ่มเติมว่า 1 วันหลังจากการเจรจาดับไฟยูเครนร่วมกับแมร์เคิล และปูตินในรัสเซีย โอลลองด์และปูตินไม่บรรลุข้อตกลงทางสาธารณระร่วมกันมากไปกว่าจะมีการต่อสายคุยกันทางโทรศัพท์ต่อไปในอนาคต ซึ่งทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในวิกฤตยูเครนได้พบปะกันในการประชุมความมั่นคงมิวนิก Munich Security Conference 2015 ที่มีผู้นำ 20 ชาติเข้าร่วมเป็นผู้ฟัง ซึ่งแมร์เคิล กล่าวในที่ประชุมว่า เธอรู้สึกยินดีที่พบประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก แห่งยูเครนปรากฏในที่ประชุมแห่งนี้ และทำให้ผู้นำยูเครนลุกขึ้นและคำนับให้กับที่ประชุม เรียกเสียงตบมือไปทั่ว และโปโรเชนโกได้แสดงหนังสือประจำตัว และหนังสือเดินทางของกองกำลังรัสเซียที่ถูกจับกุมตัวได้ในดินแดนยูเครน ซึ่งผู้นำยูเครนชี้ว่า “หลักฐานเหล่านี้พิสูจน์ถึงความก้าวร้าวทางทหารของรัสเซียต่อยูเครนได้เป็นอย่างดี”

ในขณะที่ผู้นำฝรั่งเศสยืนยันในที่ประชุม ไม่สนับสนุนการติดอาวุธให้กับกองทัพยูเครน และ ฟิลลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษยืนยันว่า อังกฤษสนับสนุนการหาทางออกทางการทูต แต่กระนั้นแฮมมอนด์ได้ประณามปูตินถึงแทคติกของเขาว่า “เป็นการกระทำของเด็กอันธพาลชอบใช้” และยังปฎิเสธข้อกล่าวหา ที่อังกฤษไม่ให้ความสำคัญทางการเจรจาทางการทูต โดยกล่าวว่า “เราตัดสินใจร่วมกันถึงหนทางที่ดีที่สุดที่จะนำมาใช้” ซึ่งทั้งสหรัฐฯและอังกฤษจะอยู่ร่วมกับเยอรมันและฝรั่งเศสบนโต๊ะเจรจา” แฮมมอนด์กล่าว

ด้านโจ ไบเดน รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมประชุม Munich Security Conference 2015 พร้อมกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น เคร์รี ยอมรับยังไม่ปิดช่องทางการป้อนอาวุธให้เคียฟโดยกว่าว่า “เราไม่เชื่อถึงกำลังทหารจะสามารถหาข้อยุติได้ แต่ทว่าเราไม่คิดว่าประธานาธิบดีปูตินจะมีสิทธิสามารถทำได้ทุกอย่างตามที่เขาต้องการ ซึ่งพบว่า บ่อยครั้งเกินไปที่ประธานาธิบดีรัสเซียสัญญาในสันติภาพ แต่กลับส่งรถถังข้ามพรมแดน” ไบเดนกล่าว

ส่วนเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เช่นกัน ได้กล่าวโต้ว่า ชาติตะวันตกเป็นสาเหตุทำให้มีการยกระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่ตั้งความหวังถึงการเจรจาสันติภาพที่จะต่ออายุออกไป หรือเกิดขึ้นอีกครั้ง

และในวันนี้(8) ผู้นำเยอรมัน ผู้นำฝรั่งเศส ผู้นำรัสเซีย และผู้นำยูเครนจะพบปะหารือ 4 ฝ่ายในการหาข้อตกลงร่วมกันอีกครั้ง แต่ยังไม่มีการเปิดเผยในรายละเอียดของกรอบการคุยครั้งนี้



การประชุมMunich Security Conference 2015




กบฎยูเครนที่มีอาวุธครบมือ

สภาพในเขตการปกครองของกบฎยูเครน











กำลังโหลดความคิดเห็น