xs
xsm
sm
md
lg

‘รัสเซีย’ กับ ‘จีน’ ไม่ได้เป็น ‘พันธมิตร’ กัน และก็ไม่ได้เป็น ‘คู่แข่ง’ กัน

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Russia, China – neither allies nor rivals
By M K Bhadrakumar
22/12/2014

ในช่วงหลังๆ มานี้ ได้มีบางผู้บางคน ซึ่งก็รวมทั้งเหล่าบัณฑิตผู้รู้ชาวอินเดีย ตลอดจนสำนักคลังสมองในแดนภารตะด้วย พากันเสนอแนวคิดอันบรรเจิดเพริดแพร้วต่างๆ เป็นต้นว่า รัสเซียกำลัง “ปักหมุด” ไปที่ประเทศจีนในเชิงยุทธศาสตร์, การจับมือเป็นสัมพันธมิตรกันระหว่างจีนกับรัสเซียกำลังปรากฏให้เห็นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเมืองโลก, และมหาอำนาจ “ตะวันออก” สองรายนี้กำลังตั้งท่าเข้าท้าทายสหรัฐฯแล้ว

ในช่วงหลังๆ มานี้ ได้มีบางผู้บางคน ซึ่งก็รวมทั้งเหล่าบัณฑิตผู้รู้ชาวอินเดีย ตลอดจนสำนักคลังสมองในแดนภารตะด้วย พากันเสนอแนวคิดอันบรรเจิดเพริดแพร้วต่างๆ เป็นต้นว่า รัสเซียกำลัง “ปักหมุด” ไปที่ประเทศจีนในเชิงยุทธศาสตร์, การจับมือเป็นสัมพันธมิตรกันระหว่างจีนกับรัสเซียกำลังปรากฏให้เห็นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเมืองโลก, และมหาอำนาจ “ตะวันออก” สองรายนี้กำลังตั้งท่าเข้าท้าทายสหรัฐฯแล้ว

บางคนคาดเดากะเก็งอย่างเลยเถิดถึงขนาดที่จินตนาการฝันเฟื่องไปว่า ชะตาชีวิตของเงินดอลลาร์อเมริกันกำลังใกล้ที่จะถึงตอนปิดฉากแล้ว และเหลือเวลาเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้นก่อนที่ระบบเบรตตันวู้ดส์ (Bretton Woods system) ซึ่งเป็นแกนหลักของระบบการเงินโลกปัจจุบัน จะมาถึงกาลล่มสลาย

แน่นอนทีเดียว แนวคิดเหล่านี้เป็นเพียงจินตนาการฝันเฟื่อง ใครก็ตามที่เฝ้าติดตามเส้นทางเดินของความสัมพันธ์รัสเซีย-จีนอย่างยาวนานตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ย่อมจะทราบเป็นอย่างดีว่า ในความสัมพันธ์นี้มีความสลับซับซ้อน (และความขัดแย้ง) มากมายเหลือเกินเข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันด้วย และไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จู่ๆ พวกเขาจะสามารถตัดสินใจอย่างง่ายๆ ขึ้นมาในวันใดวันหนึ่งว่า ต่อไปนี้พวกเขาจะสวมกอดกันและกัน และกลายเป็นพันธมิตรกันแล้ว

มีข้อเท็จจริงอยู่อย่างหนึ่งที่อาจจะขัดแย้งกับความเข้าใจของคนทั่วไป นั่นคือ ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯต่อรัสเซียและต่อจีนนั้น มีการกำหนดจัดวางขึ้นมาโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า ในทางเป็นจริงแล้วเป็นเรื่องแน่นอนที่รัสเซียกับจีนจะไม่สามารถจับมือกันเป็นสัมพันธมิตรในระบบระหว่างประเทศได้

แน่นอนทีเดียว เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์ของการบ่มเพาะพัฒนาให้แนวโน้มแห่ง “ลัทธิหลายศูนย์อำนาจ” (polycentrism) ปรากฏขึ้นมาอย่างชัดเจนในการเมืองโลกแล้ว รัสเซียกับจีนก็ควรที่จะก้าวเดินไปอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กัน แต่อย่างไรเสียความคิดทำนองนี้ก็จะยังคงอยู่ในปริมณฑลของความปรารถนาที่ขาดเหตุผลความเป็นจริงรองรับ หรือกระทั่งเป็นเพียงการฝันกลางวันเท่านั้น

จีนนั้นเป็นมหาอำนาจที่มองตนเองเป็นศูนย์กลางมากเกินไป และ “คำนึงถึงผลในทางปฏิบัติ” มากเกินไป จนเกินกว่าที่จะจับมือเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับใคร ส่วนสำหรับรัสเซีย ก็หวงแหนความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของตนอย่างดุดันยิ่ง รวมทั้งมีความสำนึกภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของตนอย่างเข้มข้น จึงไม่มีวันที่จะยอมกลายเป็นหุ้นส่วนระดับลูกน้องของมหาอำนาจอีกชาติหนึ่งอย่างเด็ดขาด

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้เคยกล่าวยืนยันเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ในคำปราศรัยแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภารัสเซียในกรุงมอสโกว่า รัสเซียจะไม่มีทางยินยอมปล่อยให้ตนเองกลายเป็นมหาอำนาจทางทหารชั้นรอง ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับประเทศหน้าไหนก็ตามที นั่นเป็นการอ้างอิงถึงจีนด้วย ไม่เพียงเฉพาะพาดพิงถึงสหรัฐฯเท่านั้น




มีบทบรรณาธิการ 2 ชิ้นที่เผยแพร่ภายในสัปดาห์เดียวกันเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ใน “โกลบอลไทมส์” (Global Times) หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน บทบรรณาธิการเหล่านี้บ่งบอกให้เราทราบเป็นอันมากทีเดียวว่าจีนนั้นมีทัศนะอย่างไรต่อวิกฤตอันร้ายแรงที่รัสเซียกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ รวมทั้งเกี่ยวกับจุดยืนของจีนในสงครามเย็นที่รัสเซียกระทำกับสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นทัศนะที่ปรากฏอยู่ในบทบรรณาธิการ จึงเป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้วที่จะต้องสะท้อนถึงความคิดเห็นของทางการแดนมังกร

จุดที่น่าสนใจซึ่งควรจะต้องตราเอาไว้ก่อนในที่นี้ก็คือ บทบรรณาธิการ 2 ชิ้นนี้ต่างเป็นการแสดงทัศนะต่อเนื้อหาในการแถลงข่าวประจำปีในช่วงสิ้นปีของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ซึ่งจัดขึ้นที่วังเครมลินเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2014

ควรที่จะต้องระบุกันให้แน่นอนไปเลยว่า บทบรรณาธิการของโกลบอลไทมส์ที่ผมพูดถึงนี้ ชิ้นแรกปรากฏในวันที่ 17 ธันวาคม 2014 และชิ้นที่สองถูกนำออกเผยแพร่ในวันที่ 22 ธันวาคม 2014 (4 วันหลังการประชุมแถลงข่าวที่วังเครมลิน)

ปรากฏว่า เมื่อเปรียบเทียบบทบรรณาธิการทั้ง 2 ชิ้นนี้แล้ว เห็นได้ชัดเจนว่าได้มี “การแก้ไขทิศทาง” กันอย่างนิ่มนวล จึงเป็นที่น่าจับจ้องสนใจ

การประชุมแถลงข่าวประจำปีในช่วงสิ้นปีที่วังเครมลินของปูตินนั้น มีการวางกำหนดการเอาไว้ล่วงหน้าหลายสัปดาห์แล้ว โดยเป็นที่คาดหมายกันว่าประเด็นเรื่องความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ จะเป็นประเด็นสำคัญที่สุดครอบงำการถามตอบในวันนั้น การที่โกลบอลไทมส์เผยแพร่บทบรรณาธิการชิ้นแรกออกมาในวันที่ 17 ธันวาคม หรือ 1 วันก่อนหน้าการจัดงานที่เครมลิน จึงเป็นการตั้งใจเลือกจังหวะเวลาดังกล่าว




บทบรรณาธิการของโกลบอลไทมส์ในวันที่ 17 ธันวาคม (อ่านรายละเอียดของข้อเขียนชิ้นนี้ได้ที่เว็บเพจ http://www.globaltimes.cn/content/897151.shtml) ได้วาดภาพอันน่าตกใจของเศรษฐกิจรัสเซีย โดยแสดงให้เห็นว่าแดนหมีขาวกำลังเผชิญกับวิกฤตร้ายแรงชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน รวมทั้งประเมินว่าอนาคตของเศรษฐกิจรัสเซียนั้นไม่แน่นอนทำนายไม่ถูก

วิกฤตคราวนี้ยังถูกเปรียบเทียบกับเมื่อครั้งการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยที่บทบรรณาธิการนี้ระบุว่า วิกฤตล่าสุดนี้กำลังสร้าง “ความท้าทายใหม่ๆ ต่อการครองอำนาจของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กำลังบีบบังคับให้เขาต้องหันมาใช้ยุทธศาสตร์ที่เน้นการป้องกัน” ขณะเดียวกันก็ชี้ว่า มีความวิตกกังวลกันด้วย “ในเรื่องที่เขาอาจจะหันมาแสดงท่าทีก้าวร้าวเพิ่มมากขึ้น”

ที่ผ่านมา พวกนักวิจารณ์ของสื่อมวลชนจีน มีประเพณีที่จะปฏิบัติต่อปูตินด้วยความยกย่องนับถือราวกับว่าเขาเป็นวีรบุรุษที่ไม่มีใครเอาชนะได้ ดังนั้นการออกมาบ่งบอกว่าอนาคตของเขาไม่แน่ไม่นอนเสียแล้ว จึงถือว่าเป็นการผละออกจากท่าทีเดิมอย่างชัดเจนเตะตา

บทบรรณาธิการนี้ประเมินสถานการณ์โดยภาพรวมว่า รัสเซียจะสามารถฟันฝ่าผ่านวิกฤตคราวนี้ไปได้ในช่วงระยะสั้น และ “ภัยคุกคามว่าจะถึงขั้นล่มสลาย ก็ยังคงอยู่ห่างไกลมาก” ทว่าข้อเขียนนี้ระบุต่อไปด้วยว่า จีนคือปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ของรัสเซีย และด้วยเหตุนี้ “ทางเลือกที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด” สำหรับปูติน ก็คือจะต้องหาทางให้ได้รับความสนับสนุนจากจีน

จากนั้น บทบรรณาธิการนี้ชี้ว่า ความร่วมมือกันระหว่างจีนกับรัสเซียในเวลานี้ “ไม่ได้อิงอยู่กับเรื่องอุดมการณ์อีกต่อไปแล้ว หากแต่ขับดันด้วยผลประโยชน์ที่มีอยู่ร่วมกัน” และ ดังนั้น จีนจึงไม่ควรแสดงท่าที “ออกหน้าออกตาอย่างกระตือรือร้น” หากควรที่จะรอคอยจนกว่ามอสโกจะยื่นความจำนงขอความช่วยเหลือ

ประโยคเด็ดของบทบรรณาธิการชิ้นนี้ปรากฏอยู่ในตอนท้ายๆ เมื่อทำการประเมินว่า บางทีรัสเซียอาจจะมีการ “ปรับพิกัด” ยุทธศาสตร์แห่งชาติของตนกันเสียใหม่ เพื่อรับมือกับวิกฤตคราวล่าสุดนี้ ทว่าไม่มีความแน่นอนเลยว่ามอสโกจะเลือกหันมาใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น และด้วยเหตุนี้สำหรับฝ่ายจีนเอง จึงควรที่จะดำเนินความสัมพันธ์กับรัสเซียโดยอิงอยู่กับหลักการต่างฝ่ายต่างตอบแทน (reciprocal basis)

คงจะต้องบอกว่า สิ่งหนึ่งที่ชวนให้รู้สึกตื่นตะลึงเกี่ยวกับบทบรรณาธิการชิ้นนี้ ก็คือ การคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากในระหว่างการตอบคำถามผู้แทนสื่อมวลชนของเขาคราวนี้ ปูตินได้พูดอธิบายออกมาอย่างชัดเจนที่สุดว่า รัสเซียมีเจตนารมณ์ที่จะรัดเข็มขัดการใช้จ่ายของตนเอง และมุ่งฟันฝ่าผ่านพ้นช่วงระยะเวลา 1 ปีที่จะมาถึงนี้โดยอาศัยพลังของตนเองเป็นสำคัญ จวบจนกระทั่งอัตราเติบโตของเศรษฐกิจโลกกลับขยับสูงขึ้นใหม่ โดยที่ในเวลาเดียวกันนี้รัสเซียเสนอที่จะดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการลดการพึ่งพาอาศัยรายได้จากน้ำมัน

ปูตินยังโต้แย้งหักล้างรายงานประเภทโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายตะวันตกในเรื่องเศรษฐกิจของรัสเซีย เขาอธิบายให้เห็นถึงฐานะอันเข้มแข็งสบายมากในด้านทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของแดนหมีขาว และเน้นย้ำว่าจะไม่มีการลดทอนการใช้จ่ายในภาคสังคมหรืองบประมาณด้านกลาโหม

ในส่วนที่พูดถึงจีน เขาไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ เลยว่าทางฝ่ายมอสโกมีเจตนารมณ์ที่จะขอความช่วยเหลือจากจีน หรือกระทั่งมีการขบคิดพิจารณาที่จะพึ่งพาอาศัยจีน

จุดสำคัญจุดหนึ่งก็คือ ปูตินยังแถลงสิ่งซึ่งถือเป็นการพลิกผันรอบใหม่ของข้อตกลงขายก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาลที่ทำเอาไว้กับจีนเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเขาปฏิเสธอย่างเด็ดขาดชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์การส่งออกพลังงานของรัสเซียไม่ได้มีการ “ปักหมุด” มุ่งหน้าไปสู่จีนเป็นสำคัญ ภายหลังจากความสัมพันธ์กับยุโรปตกอยู่ในภาวะอันเย็นชา ตรงนี้ปูตินพูดเอาไว้ดังนี้:

“ในเรื่องของพลังงาน ดีมานด์ความต้องการในทรัพยากรเหล่านี้กำลังเพิ่มทวีขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในจีน, อินเดีย, ตลอดจนในญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังพัฒนาไปอย่างเร็วรี่ในประเทศเหล่านี้ยิ่งกว่าในสถานที่อื่นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้เป็นการสมควรหรือที่เราจะบอกปัดลู่ทางโอกาสของเรา? โครงการต่างๆ ที่เรากำลังทำอยู่ในเวลานี้เป็นสิ่งที่ถูกวางแผนเอาไว้ตั้งนานแล้ว ก่อนหน้าจะเกิดปัญหาต่างๆ ในช่วงหลังๆ นี้ไม่ว่าจะในเศรษฐกิจโลกหรือเศรษฐกิจรัสเซียก็ตามที เราเพียงแต่กำลังปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนการระยะยาวของเราเท่านั้นเอง”

เวลานี้ พวกนักวิจารณ์ของสื่อมวลชนตะวันตกพากันโหมประโคมความคิดเห็นที่ว่า รัสเซียได้ “ยอมอ่อนข้อ” ให้แก่จีนในการทำข้อตกลงด้านพลังงาน สืบเนื่องจากมอสโกมีฐานะที่อ่อนแอลง ทว่าปูตินกลับพูดในสิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เขาพูดเอาไว้อย่างนี้:

“ในเรื่องการทำข้อตกลงกับจีนเพื่อดำเนินโครงการต่างๆ นั้น มันไม่ได้เป็นข้อตกลงที่ขาดทุนเสียเปรียบเลย มันเป็นข้อตกลงที่ได้รับประโยชน์พิเศษจากทั้งสองฝ่าย ผมขอย้ำนะครับว่า จากทั้งสองฝ่าย ... ทางจีนได้เสนอให้ผลประโยชน์บางอย่างเช่นกัน ผลประโยชน์เหล่านี้ไม่ได้พิเศษผิดธรรมดาหรืออะไรทั้งนั้น รัฐบาลจีนเพียงแต่ตกลงที่จะให้ความสนับสนุนบางสิ่งบางอย่างแก่ผู้ที่เข้าร่วมในโครงการนี้ ส่วนทางเรา ก็ตกลงที่จะทำอย่างเดียวกัน ดังนั้น โครงการนี้จึงกลายเป็นโครงการที่จะทำกำไรอย่างแน่นอน นี่แน่นอนที่สุด

“ยิ่งกว่านั้น เรายังตกลงกันได้ในเรื่องสูตรคิดคำนวณราคา ซึ่งถ้าหากมีอะไรแตกต่างจากสูตรคำนวณที่ใช้ในสัญญาที่เราทำไว้กับทางยุโรปแล้ว ก็ไม่ได้เป็นความแตกต่างอะไรมากมายเลย ยกเว้นเรื่องค่าสัมประสิทธิของตลาดภูมิภาคอันพิเศษเฉพาะเท่านั้น ซึ่งนี่ก็เป็นการปฏิบัติตามปกติอยู่แล้ว

“ยิ่งกว่านั้นแล้ว ข้อตกลงนี้จะช่วยเหลือรัสเซีย โดยที่รัสเซียจะได้รับและสามารถสั่งสมทรัพยากรต่างๆ อย่างมากมายมหาศาลในระยะแรกของโครงการนี้ เพื่อเริ่มต้นการเชื่อมต่อภูมิภาคต่างๆ ทางภาคตะวันออกไกลของเรา ให้เข้ากับโครงข่ายการลำเลียงขนส่งก๊าซของประเทศเรา ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อการส่งออกก๊าซผ่านทางสายท่อส่งเท่านั้น นี่จะเปิดทางให้เราสามารถเดินก้าวต่อไป ซึ่งเป็นก้าวที่สำคัญอย่างมากๆ โดยเราจะสามารถเชื่อมโยงระบบสายท่อส่งก๊าซภาคตะวันตกของเรากับระบบของภาคตะวันออกของเราเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถที่จะสับเปลี่ยนลำเลียงขนส่งทรัพยากรเหล่านี้กลับไปกลับมาได้เมื่อเกิดความจำเป็นขึ้นมา เรื่องนี้มีความสำคัญมาก ถ้าหากไม่มีข้อตกลงนี้ เราก็จะไม่สามารถต่อเชื่อมไซบีเรียตะวันออก (Eastern Siberia) และภาคตะวันออกไกลของเรา เข้ากับระบบการลำเลียงขนส่งก๊าซได้เลย

“ดังนั้น โครงการนี้จึงสามารถที่จะให้ผลประโยชน์ต่างๆ มากมาย โดยยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่ว่า มันเป็นโครงการก่อสร้างขนาดมหึมาซึ่งจะสร้างงานจำนวนมากและสร้างรายได้จากภาษีขึ้นในทุกๆ ระดับ และจะพลิกฟื้นชุบชีวิตภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย ตลอดจนทั่วทั้งภูมิภาคอีกด้วย”

สิ่งที่ชัดเจนมากก็คือ ปูตินเน้นย้ำว่า การตัดสินใจจับมือร่วมมือกันทางด้านพลังงานระหว่างรัสเซียกับจีนนั้น เกิดขึ้นมาได้จากการใช้ข้อพิจารณาทางด้านผลประโยชน์ร่วมกันและข้อพิจารณาทางด้านผลประโยชน์เชิงพาณิชย์เท่านั้น รวมทั้งเขายังระบุบ่งบอกอย่างอ้อมๆ ว่า มอสโกไม่ได้กำลังลดทอนความผูกพันด้านพลังงานที่มีอยู่กับยุโรป แต่ในทางเป็นจริงแล้วกำลังสร้างการติดต่อเชื่อมโยงระหว่างระบบสายท่อส่งก๊าซภาคตะวันตกกับระบบทางภาคตะวันออกของแดนหมีขาวเอง ซึ่งจะทำให้รัสเซียสามารถที่จะ “สับเปลี่ยนลำเลียงขนส่งทรัพยากรเหล่านี้กลับไปกลับมาได้”

ในทางด้านการเมือง ปูตินยังบอกกับผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวซินหวา ในที่ประชุมแถลงข่าวคราวนี้ว่า ความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับจีนในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินั้น “เป็นส่วนประกอบที่สำคัญประการหนึ่งในการทำให้สถานการณ์ระหว่างประเทศบังเกิดเสถียรภาพ” และประเทศทั้งสองมี “ผลประโยชน์ร่วมกันเป็นจำนวนมากในเวทีระหว่างประเทศ อาทิ เสถียรภาพระหว่างประเทศ” ทั้งนี้เขาไม่ได้พูดอะไรมากไปกว่านี้

ส่วนที่ไม่ได้มีการพูดถึงเลยไม่ว่าช่วงไหนๆ ในระหว่างการแถลงข่าวอันยาวเหยียดถึง 3 ชั่วโมงของเขาในคราวนี้ก็คือ การขอร้องให้จีนช่วยเหลือรัสเซียให้พ้นจากฐานะล้มละลาย นี่ดูจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่อยู่ในความคิดของปูติน เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่าการที่เขาไม่ได้พูดอะไรในเรื่องนี้นั่นเอง ก็คือการที่เขากำลังทำให้การตีความของฝ่ายจีนในเรื่องที่ว่าต้องระมัดระวังต่อการที่รัสเซียกำลังประสบภาวะ “วิกฤต” ทางเศรษฐกิจ มีอันกลายเป็นขยะเศษสวะที่ไม่น่าเชื่อถือ (ดูรายละเอียดการแถลงข่าวให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของปูตินในคราวนี้ซึ่งทางการรัสเซียแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ได้ที่ http://eng.news.kremlin.ru/transcripts/23406/print)




น่าสนใจมากที่บทบรรณาธิการชิ้นที่สองของโกลบอลไทมส์ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.globaltimes.cn/content/897993.shtml) ซึ่งเผยแพร่กันในวันที่ 22 ธันวาคม (4 วันภายหลังการประชุมแถลงข่าวของปูติน) ไม่ได้แสดงทัศนะต่อรัสเซียในลักษณะเตือนภัยใกล้วันโลกาวินาศอีกต่อไปแล้ว ตรงกันข้าม บทบรรณาธิการนี้กลับประมาณการว่า ในเมื่อมาตรการลงโทษคว่ำบาตรต่างๆ ที่ใช้เล่นงานคิวบาและอิหร่าน ถูกพิสูจน์ออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่าไม่ได้ผล มาตรการเช่นนี้จะกลายเป็น “ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้หลัง” ของรัสเซียหัก ได้อย่างไร?

บทบรรณาธิการชิ้นใหม่นี้เน้นย้ำว่า “ยุคการปกครองของวลาดิมีร์ ปูติน ย่อมไม่อาจที่จะถูกโค่นล้มลงเพียงด้วยภาวะเงินเฟ้อจากค่าเงินตราเท่านั้น รัสเซียเคยผ่านประสบการณ์ขึ้นๆ ลงๆ มาหลายครั้งหลายคราวแล้ว และมีความสามารถในการยืนหยัดอย่างเหนียวแน่นเพื่อรับมือกับความเสี่ยงและอันตรายทั้งหลาย”

ไม่เพียงเท่านั้น บทบรรณาธิการชิ้นนี้ยังเลิกใช้น้ำเสียงแบบอวดตนเป็นผู้ให้ความอุปถัมภ์อย่างที่ปรากฏในชิ้นก่อน โดยหันมายอมรับว่า “รัสเซียไม่ได้ต้องการที่จะเป็นบริวารรายหนึ่งของเศรษฐกิจจีน และจีนจักต้องทำความเข้าใจเส้นสีแดงเส้นนี้ให้ชัดเจน ... จีนต้องยึดมั่นในท่าทีอันเป็นบวกพร้อมที่จะช่วยเหลือรัสเซียให้ก้าวพ้นจากวิกฤตคราวนี้ ... แต่สิ่งที่เราสามารถกระทำเพื่อการช่วยเหลือนั้น จะต้องจำกัดเพียงแค่สิ่งที่รัสเซียร้องขอเท่านั้น”

หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วที่จะต้องบังเกิดความประทับใจ เมื่อเหล่าบัณฑิตผู้รู้ชาวจีนซึ่งตอนแรกยังเดินตามต้อยๆ ในคำพยากรณ์ของฝ่ายตะวันตกที่ว่ารัสเซียกำลังก้าวเข้าสู่วันโลกาวินาศ ทว่าหลังจากได้อ่านความคิดในใจของปูตินในการประชุมแถลงข่าวช่วงสิ้นปีแล้ว ก็พากันเร่งถอยกลับเปลี่ยนแปลงท่าทีอย่างรวดเร็ว

ในอีกด้านหนึ่ง บทบรรณาธิการของโกลบอลไทมส์ชิ้นที่ 2 ยังพยายามมองหาพื้นที่ตรงกลางระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย โดยระบุว่า “จีนต้องแสดงตนเป็นคนกลางผู้กระตือรือร้นในการไกล่เกลี่ยระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ถ้าหากความขัดแย้งของพวกเขาเกิดบานปลายจนควบคุมกันไม่อยู่”




ในทางเป็นจริงแล้ว มอสโกคงไม่มีเจตนารมณ์ใดๆ ที่จะเชื้อเชิญให้จีนเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยความแตกต่างต่างๆ ที่ตนเองมีอยู่กับวอชิงตันเป็นแน่ มอสโกย่อมตระหนักรับรู้เป็นอันดีว่าจีนกับสหรัฐฯนั้นเพิ่งบรรลุข้อสรุปในการพบปะเจรจาทางด้านการค้าและการลงทุนครั้งใหญ่ที่นครชิคาโก ซึ่งฝ่ายจีนตกลงให้ธุรกิจของสหรัฐฯสามารถเข้าถึงตลาดของตนได้เพิ่มขึ้นมากมาย โดยแลกเปลี่ยนกับการที่วอชิงตันจะเคลื่อนไหวเปิดประตูยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งกีดกั้นการส่งออกเทคโนโลยีชั้นสูงของอเมริกาไปยังประเทศจีน (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.chinadaily.com.cn/kindle/2014-12/19/content_19126417.htm)

มีรายงานว่ารองนายกรัฐมนตรีหวัง หยาง (Wang Yang) ของจีน ได้บอกกับคณะเจ้าภาพของเขาในระหว่างการพบปะเจรจากันที่ชิคาโกว่า จีนกับสหรัฐฯนั้น “มีผลประโยชน์ร่วมกันมากมายกว่าความแตกต่างกัน” และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าของพวกเขาจะเจริญรุ่งเรืองตราบใดที่ประเทศทั้งสองยังคงสามารถ “แสวงหาพื้นที่ร่วมขณะที่พยายามแก้ไขคลี่คลายความแตกต่างทั้งหลาย” ด้วยจิตวิญญาณแห่งการเคารพซึ่งกันและกัน, ความเข้าใจซึ่งกันและกัน, และการเอื้อเฟื้อผ่อนปรนให้แก่กันและกัน” (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.chinadaily.com.cn/business/2014-12/19/content_19127447.htm)

หากลองขบคิดพิจารณากันให้ดี ทัศนะมุมมองของฝ่ายรัสเซียและของฝ่ายจีนในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ของสหรัฐฯ นั้น ในความเป็นจริงแล้วมีความผิดแผกแตกต่างกันอย่างค่อนข้างชัดแจ้งทีเดียว ปูตินย้ำแล้วย้ำอีกต่อที่ประชุมแถลงข่าวถึงข้อกล่าวหาของเขาที่ว่า สหรัฐฯสุมไฟเติมเชื้อให้แก่การก่อความไม่สงบในแคว้นเชชเนียของรัสเซียมาโดยตลอด ด้วยการยุงยงพวกกบฏ และด้วยการดำเนินนโยบายอันไม่เป็นมิตรต่อรัสเซียโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะปิดล้อมรัสเซียและทำให้รัสเซียอ่อนแอลง ทั้งนี้ ปูตินพูดเอาไว้อย่างนี้:

“พวกเขาไม่ใช่หรือที่ได้เคยบอกกับเราภายหลังกำแพงเบอร์ลินถูกรื้อถอนไป ว่านาโต้จะไม่ขยายตัวไปทางตะวันออก? แต่ปรากฏว่าการขยายตัวกลับเริ่มต้นขึ้นในทันที มีการขยายออกไปถึง 2 ระลอกใหญ่ๆ ทีเดียว นี่ไม่ใช่การสร้างกำแพงขึ้นมาหรอกหรือ? เป็นความจริง มันไม่ใช่กำแพงจริงๆ หากแต่เป็นกำแพงเสมือนจริง และมันก็กำลังถูกสร้างเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วยังเรื่องระบบป้องกันต่อต้านขีปนาวุธซึ่งมาสร้างกันในบริเวณแค่ถัดจากชายแดนของเราทีเดียว? นี่ไม่ใช่การสร้างกำแพงหรือ?

“คุณเห็นได้อยู่แล้ว ไม่มีใครเลยที่เคยยอมหยุดยั้ง นี่แหละคือประเด็นปัญหาหลักของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน พวกหุ้นส่วนของเราไม่เคยหยุดยั้งเลย พวกเขาตัดสินใจไปแล้วว่าพวกเขานี่แหละเป็นผู้ชนะ พวกเขานี่แหละคือจักรวรรดิ ขณะที่คนอื่นๆ ทั้งหมดเป็นบริวารของพวกเขา และพวกเขาจำเป็นที่จะต้องบีบคั้นคนเหล่านี้”

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า จีนไม่ได้มีส่วนร่วมในการตกอยู่ใต้สภาวการณ์อันยากลำบากซึ่งถึงขั้นคุกคามการดำรงคงอยู่เช่นนี้หรอก พูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า สหรัฐฯที่ปูตินต้องรับมือและพูดถึงนั้น ไม่ได้มีอะไรเหมือนกับสหรัฐฯซึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนพยายามที่จะหาทางสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ด้วย

ไม่น่าประหลาดใจที่ปูตินส่งคำเชื้อเชิญไปถึง คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://ajw.asahi.com/article/asia/korean_peninsula/AJ201412200016) ขอให้เดินทางมายังมอสโกในเดือนพฤษภาคม 2015 เพื่อร่วมงานรำลึกวาระครบรอบ 70 ปีของการที่สหภาพโซเวียตยังความพ่ายแพ้ให้แก่นาซีเยอรมนี

คำเชื้อเชิญนี้ออกมาในช่วงจังหวะเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือกำลังอยู่ในจุดต่ำสุด (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.nytimes.com/2014/12/21/world/asia/chinese-annoyance-with-north-korea-bubbles-to-the-surface.html?_r=2) สำหรับสีนั้นยังไม่เคยเดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือ และก็ยังไม่เคยพบปะกับคิมในฐานะที่เป็นผู้นำของประเทศ ขณะที่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2014 เขาได้หยามหมิ่นเปียงยางในทางเป็นจริงด้วยซ้ำ ด้วยการเดินทางไปเยือนเกาหลีใต้

ข้อเขียนชิ้นนี้แรกเริ่มปรากฏอยู่ในบล็อก Indian Punchline เว็บเพจ http://blogs.rediff.com/mkbhadrakumar/2014/12/22/russia-china-neither-allies-nor-rivals/

เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตอาชีพประจำกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ระหว่างช่วงเวลา 3 ทศวรรษอันยาวนานที่อยู่ในอาชีพนี้ของเขา ส่วนใหญ่แล้วเป็นการทำงานที่โต๊ะปากีสถาน, โต๊ะอัฟกานิสถาน, และโต๊ะอิหร่าน ของกระทรวงแห่งนั้น รวมทั้งการได้รับแต่งตั้งให้ไปประจำอยู่ในดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต ภายหลังออกจากตำแหน่งหน้าที่ทางการทูตแล้ว เขาหันมาเขียนหนังสือและมีผลงานปรากฏเป็นประจำอยู่ใน เอเชียไทมส์, เดอะฮินดู (The Hindu), เคคคันเฮรัลด์ (Deccan Herald) ปัจจุบันเขาพำนักอยู่ในกรุงนิวเดลี
กำลังโหลดความคิดเห็น