รายงานการเมือง
ต้องว่ายอมรับตลอดช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา ภาวะทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในช่วงซบเซาอย่างหนัก ทั้งจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ กอปรกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทำให้หลายฝ่ายประเมินตรงกันว่า เปิดศักราชใหม่ปี 2558 แนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทยก็ยังอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง ซึ่งผู้ที่มีส่วนในการแก้ไขปัญหานี้ก็หนีไม่พ้นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้ง 7 เดือนของ คสช. และ 4 เดือนกว่าของรัฐบาล นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบมากกว่า
“ทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ” มีโอกาสได้พูดคุยกับ “พิชัย นริพทะพันธุ์” คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย และอดีต รมว.พลังงาน - รมช.คลัง ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ออกมาวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และ คสช. อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะแง่มุมทางเศรษฐกิจ - พลังงาน
“พิชัย” ได้วิเคราะห์ภาพรวมทางเศรษฐกิจไทย และสิ่งที่ต้องประสบในปี 2558 ไว้ว่า ตอนนี้ทั้งโลกมีการปรับตัวครั้งใหญ่ มีทั้งดีขึ้นและแย่ลง อย่างสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีปัญหามาตลอด จนเชื่อว่าสุดท้ายก็ต้องแยกตัวจากกัน สหรัฐอเมริกาก็เพิ่งฟื้นขึ้นมาได้ ขณะที่จีนก็ปรับตัวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนญี่ปุ่นก็อาจจะทรงๆ อยู่ มองทั้งโลกแล้วก็จะเห็นว่าภูมิภาคอาเซียนมีโอกาสที่ดีอยู่ แต่วันนี้ประเทศไทยที่เหมือนจะเป็นพี่ใหญ่ กลับกลายมาเป็นตัวฉุดของภูมิภาค ดังนั้น ไทยก็ต้องมาคิดว่าเราจะทำอย่างไร เพราะสิ่งที่ทำอยู่ ตอนนี้เพื่อนบ้านไล่กวดมาแล้ว เรื่องแรงงาน อุตสาหกรรม ที่ดิน ปัจจัยการผลิตต่างๆ ไม่ได้ถูกกว่าเพื่อนบ้านแล้ว เราจึงต้องถีบตัวขึ้นไป ทำให้สินค้าของเรามีมูลค่าที่เพิ่มขึ้น มีคุณภาพที่ดีขึ้น แต่ปัญหาคือตอนนี้เราไต่ไม่ขึ้น จะถอยหลังพรรคพวกก็ตามมาจ่ออยู่ ดูจากมูลค่าการส่งออกไม่ใช่เฉพาะปีที่ผ่านมาเท่านั้น หลายปีมาแล้วที่ตัวเลขไม่น่าพอใจเท่าที่ควร เป็นปัญหาที่เรายังไม่สามารถถีบตัวเองขึ้นมาได้ ในขณะที่มีคู่แข่งมากขึ้น ยิ่งเมื่อเจอปัญหาการเมือง ทำให้ทุกอย่างของเรานิ่งไปเลย
**เตือนระวังประเทศล้มเหลว
“พิชัย” ตั้งคำถามว่า วันนี้เราอยากเห็นอะไร อยากเห็นประเทศไทยเจริญแบบไหน และด้วยวิธีการใด ซึ่่งผมมองว่าโอกาสเดียวที่เราจะเติบโตเจริญไปได้ต้องเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ศูนย์กลางของคน 600 ล้านคน เป็นเมืองหลวงของภูมิภาค
แต่การจะเป็นแบบนั้นต้องเป็นที่ยอมรับจากคนอื่น ไม่ใช่เรามาประกาศตั้งตัวเราเอง วันนี้ยังไม่สายเกินไป เพราะประเทศเพื่อนบ้านก็ยังไม่มีความพร้อมเท่าที่ควร และเราได้เปรียบในเรื่องของภูมิศาสตร์ที่ตั้ง ถ้า 1 - 2 ปีนี้ เราพลิกฟื้นมาได้ โอกาสในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคก็ยังมีอยู่ แต่ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ยังมีปัญหาเรื้อรัง เราก็จะกลายเป็นประเทศที่ล้มเหลว และจะส่งผลกระทบในระยะยาว ผู้ที่เดือดร้อนมากที่สุดก็เป็นคนที่มีรายได้น้อย ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องให้ความรู้กับคนของเรา ทั้งเรื่องภาษา และสายอาชีพต่างๆ ที่ต้องส่งเสริมให้ถูกทางด้วย ต้องเริ่มย้ายคนออกจากภาคการเกษตรไปอยู่ภาคอื่นๆ ทั้งอุตสาหกรรม หรือบริการที่เป็นรายได้หลักของประเทศ ซึ่งปัจจุบันขนาดของภาคเกษตรที่คิดเป็น 10% กว่าของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) แต่มีคนถึง 40% กว่าคิดเป็นหลายสิบล้านที่อยู่ในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเกินไป ในขณะเดียวกันสินค้าเกษตรก็มีแนวโน้มที่จะตกต่ำลง รัฐจะไปมัวหมกมุ่นคิดแก้ไขปัญหาการเกษตรอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่การจะให้คนออกมาได้ต้องส่งเสริมความรู้ให้เขาก่อน
“พิชัย” มองว่าปัญหาการถูกหลายประเทศปฏิเสธทำการค้าด้วย รวมทั้งการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากอียูส่งผลกระทบกับไทยอย่างมากทั้งในแง่การส่งออกที่เป็นรายได้หลักของประเทศ รวมไปถึงการลงทุนที่หดหายไปมากพอสมควร โดยบอกว่า การที่ไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพี นอกจากโอกาสที่เสียหายด้านส่งออกแล้ว ยังมีในเรื่องการลงทุน บรรดานักลงทุนก็ต้องมองว่าเมื่อไทยเสียสิทธิจีเอสพีแล้ว แทนที่จะมาลงทุนในไทนตามเดิม ก็ย้ายไปที่ลาว เวียดนาม หรือกัมพูชาดีกว่า และเมื่อไปที่อื่นก็จะไม่กลับมาแล้ว เฉพาะปีที่แล้วตัวเลขการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) น้อยกว่าปี 2556 ถึง 30 - 40% จาก 1 ล้านล้านบาท เหลือเพียง 7 แสนล้านบาท แสดงว่าคนไม่อยากลงทุนกับเราแล้ว ตรงนี้ถือสัญญาณอันตราย เพราะลงทุนวันนี้กว่าจะเห็นผลก็อีก 3-4 ปี เมื่อถึงตอนนั้นเราก็จะเติบโตน้อยลงไปอีก
**หมกมุ่นความมั่นคง - ศก.ร่วง
“พิชัย” แนะนำว่า รัฐไม่ควรสนใจแต่สถานภาพทางการเมืองและความมั่นคง จนไม่มองภาพใหญ่ของประเทศและของโลก ถ้าเรามองไม่ออก ไทยก็จะกลายเป็นประเทศที่ล้มเหลวได้ ดูตัวอย่างประเทศรัสเซียตอนนี้ที่รวยมหาศาล แต่ถึงเวลาส่งออกไม่ได้ ก็ย่ำแย่หนัก ไม่ต่างจากไทยที่ตอนนี้เริ่มเหี่ยว ค่อยๆหดตัวเองโดยที่เราไม่รู้ตัว สิ่งที่ต้องกลับมาดู คือเราจะปรับตัวอย่างไรให้กลับมาแข่งขันได้ดีขึ้น วันนี้นโยบายรัฐกลับเหมือนสนใจแต่เรื่องเล็กๆ ไม่ได้มองภาพใหญ่ ไม่ได้มองว่าจะพาประเทศมุ่งไปสู่ความเจริญอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีแนวคิดของตัวเอง และต้องคิดไปพร้อมๆ กัน แต่เมื่อเลือกใช้คนที่ไม่มีวิสัยทัศน์ เศรษฐกิจไทยก็ดียาก การคาดการณ์ของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ผิดพลาดมาตลอด พอคาดการณ์ผิดก็ออกนโยบายผิด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาก็ไม่ได้ผล เหมือนใช้ขันน้ำไปราดไฟป่า แถมไปราดผิดที่อีกต่างหาก รัฐไม่ควรหลอกตัวเอง ไม่ควรให้ข้อมูลที่ผิดๆทำให้ประชาชนสับสน และเมื่อมองภายในแล้วก็ต้องมองออกไปภายนอกว่าวันนี้โลกเปลี่ยนไปอย่างไร จะไปพึ่งพิงแต่ประเทศจีนอย่างเดียวก็ไม่ถูกต้องนัก
“การคบจีนไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่ก็ต้องมองในแง่ของพ่อค้าที่มองประโยชน์ตัวเองเป็นสำคัญ เมื่อการเมืองโลกเริ่มมีการแข่งขันสูงระหว่างจีนกับอเมริกา ไทยก็ต้องวางตัวให้ดี การที่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่งก็อาจมีปัญหาได้ อย่างการที่ทางสหรัฐฯออกมาเตือนว่าหากไทยเลือกตั้งช้าจะไม่ส่งผลดี เราก็ต้องรับฟังไว้ ไม่ใช่ไปตำหนิเขากลับไป ไทยไม่ควรคิดว่าเมื่อถูกตัดจีเอสพี หรือมีแนวโน้มที่ไม่ดีจากทางฝั่งอเมริกา ก็มองหาตลาดที่อื่นหรือไปพึ่งจีนเป็นหลัก เราควรจะสร้างสมดุลกับคู่ค้าทั้งหมดทั่วโลก เพราะเมื่อเราเอียงไปทางจีนมาก ไม่เฉพาะอเมริกาที่ไม่พอใจ แต่ทางญี่ปุ่นก็อาจจะไม่พอใจด้วย ในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนรายสำคัญในไทย ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญในการวางตัวด้วย”
**สัญญาณอันตราย “มะกัน” เมินส่งทูตใหม่
“พิชัย” ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่สหรัฐฯยังไม่ส่งเอกอัครราชทูตมาประจำประเทศไทย หลังจากที่ทูตคนเดิม คริสตี เคนนีย์ หมดวาระและกลับประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ส่งสัญญาณท่าทีของสหรัฐฯต่อประเทศไทยชัดเจน เพราะตามปกติก่อนเอกอัครราชทูตคนเดิมจะหมดวาระ ต้องส่งคนใหม่มาก่อนเพื่อเริ่มแนะนำและทำความรู้จัก แต่ตอนนี้ทูตคนเดิมกลับไปนานแล้ว สหรัฐฯก็ไม่ส่งคนใหม่มา ถึงคนในรัฐบาลจะบอกว่าสหรัฐฯยอมรับรัฐบาล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันขัดแย้งชัดเจน
ในฐานะอดีต รมว.พลังงาน ก็ได้ให้มุมมองในส่วนของการปฏิรูปพลังงาน และการปรับโครงสร้างพลังงาน ว่า ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยใช้พลังงานฟุ่มเฟือย เนื่องจากระบบขนส่งยังไม่ดี ใช้การขนส่งทางรถยนต์มาก ขณะที่ระบบขนส่งทางรางยังมีปัญหาอยู่ มีอัตราการใช้พลังงานถึง 2 ล้านล้านบาทต่อปี เป็ฯการนำเข้าน้ำมันมากถึง 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี เทียบเป็น 17 - 18% ต่อจีดีพีของประเทศถือเป็นมูลค่าที่สูงมาก การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงมาเยอะ หากสถานการณ์ในประเทศเป็นปกติจะเป็นประโยชน์กับเรามาก มูลค่าการนำเข้าจะลดลงไปหลายแสนล้านบาท แต่ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่หนักกว่าปกติ และรัฐบาลก็ไม่สามารถถ่ายทอดมูลค่าราคาน้ำมันของตลาดโลกให้กับประชาชนได้อย่างเพียงพอ เพราะยังมีเรื่องภาษีสรรพสามิต และกองทุนน้ำมันอยู่
“ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี การช่วยเหลือประชาชนจึงมีความจำเป็นมาก ต้องทำให้คนไทยรอดใด้ได้ก่อน การจัดระเบียบต่างๆ ก็ต้องแยกให้ชัด การช่วยลดภาระในส่วนไหนได้ก็ควรทำก่อน เมื่อเศรษฐกิจฟื้นก็ค่อยมาจัดระเบียบอีกครั้ง ระยะสั้นๆดีสิ่งใดทำได้ควรทำก่อน โดยเฉพาะเรื่องการลดราคาพลังงานต่างๆ โดยต้องดูว่าเมื่อราคาน้ำมันอยู่ที่เท่านี้ ราคาน้ำมันในไทยควรอยู่ที่เท่าใด”
**ราคาพลังงานต้องเหมาะสม
“พิชัย” บอกด้วยว่า ในความเป็นจริงส่วนที่จะเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันก็ควรลดลง เพราะปัจจุบันมีการลอยตัวราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) แล้ว การเก็บเข้ากองทุนน้ำมันก็มีความจำเป็นน้อยลง ตอนนี้กองทุนน้ำมันก็มีเงินเกินหมื่นล้าน ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีก็ควรช่วยเหลือประชาชน โดยลดเงินในกองทุนน้ำมันลง เช่นเดียวกับการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เมื่อตอนนี้ราคาน้ำมันลดลง การเก็บก็ควรลดลงมา เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลง และกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะน้ำมันเป็นต้นทุนของธุรกิจ แต่ก็ต้องเข้าใจว่ารัฐยังมีความจำเป็นต้องเก็บภาษีส่วนนี้อยู่เพื่อนำไปใช้ในส่วนอื่นๆ เช่น การสร้างหรือซ่อมแซมถนน
นายพิชัย กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าการ ปรับโครงสร้างราคาพลังงานเป็นสิ่งที่จำเป็นและถูกต้อง เนื่องจากมีการใช้พลังงานอย่างไม่เหมาะสม รัฐบาลต้องชดเชยราคาพลังงานหลายตัวจนเกิดปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาก่อนรัฐบาลชุดนี้ก็มีความพยายามในการดำเนินการปรับโครงสร้างมาโดยตลอด แต่ก็ติดขัดในหลายเรื่องเพราะกระทบคนในหมู่มาก ย้อนไปสมัยพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการยกเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลราว 5 บาทกว่าต่อลิตร ตกปีหนึ่งเราเงินหายไปแสนกว่าล้านบาท เมื่อยกเลิกแล้วก็ยากที่จะไปเรียกเก็บใหม่ เพราะมีเรื่องของทางการเมืองเกี่ยวข้อง เท่ากับว่า 5-6 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเงินหายไป 5 - 6 แสนล้านบาท เงินที่ควรยำไปสร้างถนนหนทางก็หายไป ทั้งที่โดยหลักคิดแล้วน้ำมันดีเซลต้องเก็บภาษีสรรพสามิตมากกว่า เพราะอัตราการใช้น้ำมันดีเซลมีมากกว่าเบนซินถึงหนึ่งเท่าตัว อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาน้ำมันลดลงก็ควรที่จะลดอัตราการเก็บภาษีตามสัดส่วนไปด้วย เพราะคนก็สงสัยว่าทำไมน้ำมันโลกลดลงมากกว่าครึ่ง แต่ราคาในไทยไม่ค่อยลด ทีตอนราคาตลาดโลกขึ้น ก็ขึ้นราคาน้ำมัน จึงอยากให้คิดโครงสร้างราคาให้เหมาะสม และยุติธรรมกับประชาชนด้วย
**อย่าชะล่าใจราคาน้ำมันโลก
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลก “พิชัย” วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันโลกน่าจะลดลงอีกพักใหญ่ๆ โดยมีผลมาจากการค้นพบแหล่งเชลล์แก๊สและเชลล์ออยล์ในสหรัฐอเมริกา จากผู้ที่นำเข้าน้ำมันมากที่สุดในโลก สหรัฐฯก็กลายมาเป็นคนส่งออกแทน และทำให้ความต้องการใช้น้พมันของโลกลดลง แต่มีน้ำมันออกมาเยอะมาก รวมไปถึงการเมืองระหว่างประเทศ ในเรื่องของรัสเซียกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้วัดว่าราคาน้ำมันจะขึ้นหรือลง รัฐบาลไทยต้องไม่ประมาท ประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้าน เพราะเหตุการณ์พลิกผันได้ตลอด หากวันหนึ่งสหรัฐฯกับรัสเซียคุยกันรู้เรื่อง ปัญหาก่อการร้ายลดลง ราคาน้ำมันก็อาจจะพุ่งกลับไปได้ในเวลาไม่นาน
“อย่าไปมั่นใจว่าราคาน้ำมันจะอยู่อย่างนี้นาน ต้องเผื่อใจไว้ด้วย เวลามันลงไม่มาก แต่ตอนขึ้น เศรษฐกิจจะยิ่งแย่หนักไปใหญ่ ต้องยิ่งระวังในแง่ผลกระทบ”
**ฝากการบ้าน “โรง-ท่อ-บ่อ-ถัง”
“พิชัย” ฝากการบ้านให้รัฐบาลในเรื่องพลังงานด้วยว่า นอกเหนือจากการพัฒนาระบบขนส่งทางรางที่จะทำให้ประหยัดการใช้พลังงานไปได้เยอะแล้ว รัฐต้องส่งเสริมเรื่องพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง ตอนเป็น รมว.พลังงานได้ยกเลิกเบนซิน 91 ทำให้ปริมาณการใช้เอทานอลเพิ่มสูงขึ้นจาก 1 ล้านลิตรต่อวัน กลายเป็น 3.5 ล้านลิตรต่อวัน ถ้าวันนึงราคาน้ำมันโลกกลับมาสูง เอทานอลหรือพลังงานทดแทนจะมีความสำคัญมาก ตามแผนงานน้ำมัน E20 ต้องใช้เอทานอลถึงวันละ 9 ล้านลิตร ตรงนี้รัฐต้องเอาจริงเอาจังในการส่งเสริม เพราะจะมีรายได้หมุนเวียนในประเทศ
อดีต รมว.พลังงาน เล่าย้อนไปว่า สมัยที่กำกับดูแลกระทรวงพลังงานได้มีแนวคิดเรื่องโรง - ท่อ - บ่อ - ถัง ซึ่งเชื่อว่าเป็นแนวทางสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยในอนาคต บางเรื่องอาจจะไม่ถูกใจและมีผลกระทบกับคนบางกลุ่ม แต่อยากให้คนไทยใช้วิจารณญาณตัดสินว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยอย่างแท้จริง เริ่มจาก “โรง” คือการผลิตโรงไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ กระทั่งพลังงานนิวเคลียร์ ที่สุดท้ายประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้น เพียงแต่รอเวลาและวิธีการที่เหมาะสม ส่วนเรื่อง “ท่อ” คือ การวางท่อส่งก๊าซ - น้ำมัน ไปยังภาคเหนือ - อีสาน เพื่อลดต้นทุนการขนส่งที่ปัจจุบันมีการขนส่งถึงพันกว่าเที่ยวต่อวัน แต่หากวางท่อจะใช้งบประมาณราวหมื่นล้านบาทเท่านั้น ถือเป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่ากว่ามาก ราคาน้ำมันก็จะเท่ากันทั้งประเทศ แต่ก็ติดเรื่องผลประโยชน์ในการขนส่งน้ำมันอยู่มาก จึงเริ่มดำเนินการไม่ได้เสียที รวมไปถึงโครงการแลนด์บริดจ์ในภาคใต้ หรือโครงการท่อส่งน้ำมันใต้ดิน (เอนเนอร์จีบริดจ์) จากทะเลอันดามันสู่ฝั่งอ่าวไทย ที่จะทำให้เศรษฐกิจภาคใต้ดีขึ้นในพริบตา จะโตกว่าอีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นสิบๆเท่า ส่งผลกับภาพรวมของไทยด้วย
สำหรับเรื่อง “บ่อ” ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับแนวทางของภาคประชาชนบ้าง คือการพัฒนาและเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย - กัมพูชา ที่ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะอีกไม่นานก๊าซของเราจะหมดลง ธุรกิจปิโตรเคมีคอลที่สร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาลก็จะตกไปด้วย เพราะก๊าซที่ขุดจากอ่าวไทยอยู่ตอนนี้กำลังจะหใมด ดังนั้นจึงต้องมองหาแหล่งพลังงานอื่นมาทดแทน ซึ่งในพื้นที่ทับซ้อนไทย - กัมพูชา มีพลังงานในส่วนนี้อยู่เยอะมาก จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า มีมากกว่าที่ประเทศไทยเคยมี อย่างไรก็ตามก็ต้องมาพิจารณาเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ให้เหมาะสมอีกครั้ง ซึ่งต้องระวังและแยกแยะในเรื่องความมั่นคงด้วย สุดท้ายเรื่อง “ถัง” จะเป็นการส่งเสริมการลงทุนการสร้างคลังน้ำมัน และคลังก๊าซในประเทศไทย โดยเฉพาะคลังน้ำมันในภาคใต้ในโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งหากเกิดขึ้นจะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางมาเป็นประเทศไทย และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกไกล
“สิ่งที่รัฐบาลทหารทำได้ ต้องรีบทำ อย่างการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-เขมร หากศึกษาข้อมูลและเห็นว่าได้ประโยชน์จริงๆก็ต้องรีบทำ จะได้เป็นที่จดจำของประชาชน และตัดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ของนักการเมืองด้วย เพราะที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐบาลไหนทำท่าจะคุยก็ถูกวิจารณ์ว่ามีผลประโยชน์ตลอด รวมทั้งเอนเนอร์จีบริดจ์ที่อยากให้รัฐบาลเข้าไปศึกษาแล้วเร่งลงมือทำ”
** เผยเหตุ ปตท.ลงทุนเจ๊ง - ทุจริตอื้อ
นอกจากนี้ “พิชัย” ยังพูดถึงปัญหาใน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ด้วยว่า ปตท. เป็นบริษัทที่ใหญ่ รายได้ของ ปตท. ตกปีละ 2.8 ล้านล้านบาท มีมากกว่างบประมาณประจำปีของประเทศไทย หรือเพียง 2.5 ล้านล้านบาท
ด้วยความใหญ่ของ ปตท.จึงมีปัญหาอยู่มาก เมื่อ ปตท. มีกำไรมากเมื่อใด ก็จะถูกมองว่าเอาเปรียบประชาชน จึงเป็นช่องทางที่มีการนำเงินของ ปตท. ไปลงทุนอะไรต่างๆ บางอย่างก็เป็นการลงทุนแบบงงๆ เพราะกลัวคนจะมองว่า ปตท. กำไรมากแล้วจะดูผิดปกติ
ซึ่งในความเป็นจริงไม่อยากให้มองเช่นนั้น ธุรกิจก็คือธุรกิจ การทำธุรกิจก็ต้องกำไร โดยเฉพาะบริษัทน้ำมันอย่าง ปตท. ที่เมื่อมีกำไรก็ควรนำเงินไปลงทุนหรือหาแหล่งพลังงานให้เป็นประโยชน์กับประเทศ ต้องย้อนกับไปว่า ปตท. มีปัญหาเดิมอยู่มาก ก่อนที่ผมจะเข้าไปเป็นรัฐมนตรีด้วยซ้ำ
“พิชัย” เปิดเผยด้วยว่าการลงทุนที่ผิดพลาดถือเป็นปัญหาใหญ่ของ ปตท. โดยระบุว่า การลงทุนที่เป็นปัญหาหลักๆ ของ ปตท. มี 3 เรื่องใหญ่ๆ แค่ละโครงการเสียหายหลักหมื่นล้านบาท คือ
1. การทำท่อส่งน้ำมันจากอียิปต์ - อิสราเอล เมื่อช่วงหลังการรัฐประหาร 2549 ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดมหันต์ เพราะเป็นการทำท่อส่งระหว่างประเทศที่มีความขัดแย้งสูง สุดท้ายก็ถูกวางระเบิดตลอดเวลา จนเจ๊งในที่สุด
2. เรื่องการปลูกสวนปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย มีปัญหามาก ทั้งการปลูกไม่ครบตามจำนวนที่แจ้ง การใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสม และมีการทุจริตคอรร์รัปชันกันมากตั้งแต่กระบวนการซื้อที่ดิน เป็นการไซฟอนเงินออกจาก ปตท. อย่างน่าเกลียด ซึ่งมีผลสอบว่าผิดจริงและมีการส่งเรื่องไปที่ ป.ป.ช. แล้ว และ
3. การลงทุนซื้อออยแซนด์ที่ประเทศแคนาดา ก็เป็นลงทุนที่ผิดพลาด เพราะออยแซนด์มีต้นทุนการผลิต 80 - 90 เหรียญสหรัฐฯต่อน้ำมัน 1 บาร์เรล ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกต่ำกว่า 100 เหรียญก็เจ๊ง สุดท้ายก็ต้องปิดไป และก่อนหน้านั้น ปตท. ได้ไปประมูลบ่อน้ำมันในประเทศบราซิล ที่มีน้ำมันเยอะมาก ซึ่งเราชนะการประมูล แต่กลับทิ้งการประมูลดื้อๆ แล้วเลือกมาลงทุนออยแซนด์ที่แคนาดาอย่างมีข้อสังเกตว่าผิดปกติ
นี่คือ 3 เรื่องใหญ่ ที่ ปตท. บริหารผิดพลาด และเกิดความสูญเสียมหาศาล