เอเจนซีส์ - “ปูติน” ลั่นมอสโกไม่มีวันถูกโดดเดี่ยวจากสถานการณ์โลก ยันเศรษฐกิจปลอดความเสี่ยงจาก “หายนะ” แห่งการรุมกระหน่ำซ้ำเติมของมาตรการลงโทษจากตะวันตก และแนวโน้มราคาน้ำมันขาลง รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินรูเบิล ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวหาตะวันตกพยายามใช้มาตรการแซงก์ชันกดดันให้มีการ “เปลี่ยนระบอบในรัสเซีย” ขณะที่รัฐมนตรีพลังงานผสมโรง ขู่หากบริษัทตะวันตกถอนตัวจากโครงการน้ำมันและก๊าซที่ทำร่วมกัน มอสโกอาจหาพันธมิตรใหม่ในประเทศที่ไม่มีมาตรการลงโทษรัสเซีย
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิตาทาสส์เมื่อวันอาทิตย์ (23) ว่า รัสเซียเข้าใจดีถึงหายนะจากกำแพงเหล็กที่มีต่อประเทศ “แต่เราจะไม่เดินตามเส้นทางนี้ไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ตาม และไม่มีใครจะสามารถสร้างกำแพงเหล็กล้อมรอบเราได้ ไม่มีทาง”
ย้อนกลับไปเมื่อวันพฤหัสบดี (20) ประมุขเครมลินเตือนว่า โลกอาจได้เห็นโศกนาฏกรรมจากกระแส “การปฏิวัติสี” และมอสโกต้องป้องกันไม่ให้สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับตนเอง
อนึ่ง การประท้วงของกลุ่มผู้สนับสนุนตะวันตกในยูเครนเมื่อปี 2004 ถูกเรียกว่า “การปฏิวัติสีส้ม” ขณะที่การประท้วงในจอร์เจียหนึ่งปีก่อนหน้านั้นเรียกขานกันว่า “การปฏิวัติดอกกุหลาบ”
ปูตินยังโจมตีว่า มหาอำนาจตะวันตกอยู่เบื้องหลังการโค่นล้ม วิกเตอร์ ยานูโควิช อดีตประธานาธิบดียูเครนที่สนับสนุนรัสเซีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภายหลังการประท้วงนานหลายเดือน โดยมีจุดประสงค์เพื่อบ่อนทำลายอิทธิพลของรัสเซียในยูเครน ทว่า ตะวันตกกลับโทษว่า มอสโกเป็นต้นเหตุวิกฤตยูเครน
ความสัมพันธ์ตะวันตก-รัสเซียขณะนี้ถือว่า ตกต่ำสุดขีดนับจากสิ้นสุดสงครามเย็น
วันศุกร์ที่ผ่านมา (21) รองประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้เดินทางไปยังเคียฟ และวิจารณ์พฤติกรรมของรัสเซียในยูเครนว่า “รับไม่ได้” และเน้นย้ำว่า มอสโกต้องเคารพข้อตกลงหยุดยิงเมื่อวันที่ 5 กันยายน หากไม่ต้องการเผชิญ “ต้นทุนที่สูงขึ้น และถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น” แม้ขณะนี้ข้อตกลงดังกล่าวไม่สามารถยุติความขัดแย้งที่ทำให้มีผู้สังเวยชีวิตกว่า 4,300 คนนับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ตาม
ไบเดน ยังเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนตะวันออกที่ถูกกบฏโปรรัสเซียยึดครอง และกำลังต่อสู้กับกองทัพยูเครน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เครมลินปฏิเสธมาตลอด
ต่อมาในวันเสาร์ (22) เซียร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวต่อที่ประชุมสภานโยบายต่างประเทศและกลาโหมในกรุงมอสโกว่า จากแนวคิดเบื้องหลังการใช้มาตรการทางการทูตแบบบีบบังคับ ตะวันตกกำลังแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไม่ได้ต้องการกดดันให้รัสเซียเปลี่ยนแปลงนโยบาย แต่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบทั้งหมด
รัฐมนตรีต่างประเทศแดนหมีขาวสำทับว่า เมื่อนานาชาติใช้มาตรการลงโทษกับประเทศอื่นๆ เช่น อิหร่านและเกาหลีเหนือ มาตรการเหล่านั้นจะถูกกำหนดขึ้นโดยพยายามหลีกเลี่ยงการทำลายเศรษฐกิจของประเทศเป้าหมาย
“แต่ตอนนี้มีบุคคลสาธารณะหลายคนในตะวันตกเรียกร้องว่า มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการลงโทษที่ทำลายเศรษฐกิจและทำให้ประชาชนออกมาประท้วง” ลาฟรอฟระบุ
ทั้งนี้ มาตรการลงโทษของตะวันตกทำให้บริษัท และแบงก์ใหญ่ที่สุดบางแห่งของรัสเซียเข้าถึงเงินทุนต่างชาติได้อย่างจำกัด รวมทั้งมุ่งโจมตีอุตสาหกรรมกลาโหม พลังงาน และภาคบริการ ตลอดจนอายัดทรัพย์สิน และงดออกวีซ่าให้พันธมิตรใกล้ชิดบางคนของปูติน
มาตรการลงโทษเหล่านั้นฉุดเศรษฐกิจแดนหมีขาวที่ได้รับผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำอยู่แล้วยิ่งทรุดลงอีก รวมทั้งทำให้เงินรูเบิลอ่อนค่าลงเกือบ 30% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์นับจากต้นปีเป็นต้นมา
ขณะเดียวกัน เมื่อวันเสาร์ อเล็กซันเดียร์ โนวัค รัฐมนตรีพลังงานรัสเซีย กล่าวระหว่างตอบข้อซักถามนักศึกษาในประเทศว่า หากบริษัทน้ำมันและก๊าซตะวันตกถอนตัวจากโครงการที่ทำกับรัสเซีย มอสโกอาจหาพันธมิตรใหม่ในประเทศที่ไม่ได้ร่วมลงโทษต่อรัสเซีย
ทั้งนี้ รัสเซียนั้นเป็นผู้ส่งออกพลังงานใหญ่ที่สุดของโลก และพึ่งพิงการส่งออกน้ำมันและก๊าซในการอุดหนุนงบประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศ มาตรการลงโทษของตะวันตกส่งผลกระทบต่อการสำรวจแหล่งพลังงานในอาร์กติก และการพัฒนาแหล่งน้ำมันสำรองที่ยากต่อการคุ้มทุน
มาตรการแซงก์ชันส่งผลให้ เอ็กซอน โมบิล บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ต้องระงับการร่วมงานในโครงการสำรวจแหล่งน้ำมันในอาร์กติกกับ รอสเนฟต์ ของรัสเซีย และ รอยัล ดัทต์ เชลล์ ต้องระงับการพัฒนาแหล่งน้ำมันสำรองในบาซฮีนอฟ ร่วมกับ ก๊าซปรอม เนฟต์ของรัสเซีย
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ รอสเนฟต์ตกลงกระชับความร่วมมือกับ ไชนา เนชันแนล ปิโตรเลียม คอร์เปอเรชัน ซึ่งรวมถึงโครงการก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และอาจรวมถึงการส่งแอลเอ็นจีให้แก่แดนมังกร