เอพี - ฮอนด้า มอเตอร์ โค ยอมจ่ายเงิน 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,300 ล้านบาท) แก่รัฐบาลอเมริกา ในค่าปรับทางแพ่งครั้งมหาศาลที่สุดต่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายหนึ่ง ฐานเพิกเฉยไม่รายงานคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของบริษัทราว 1,729 ครั้ง ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายร้อยคน รวมถึงข้อหาไม่รายงานการเรียกร้องสินไหมทดแทน
ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นแห่งนี้ยอมรับเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อนว่าไม่ได้รายงานคำร้องเรียนเกี่ยวกับการเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บในอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ของทางบริษัทต่อ สำนักงานบริหารความปลอดภัยการสัญจรบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐฯ (NHTSA) ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา ไล่ตั้งแต่ปี 2003 โดยฮอนด้าสารภาพว่าทราบถึงความละเลยในปี 2011 แต่ก็รอจนเวลาผ่านไปถึง 3 ปีกว่าจะดำเนินการ
นอกจากนี้แล้ว ฮอนด้ายังไม่ยอมรายงานการเคลมประกันแบบตายตัวและการเคลมประกันภายใต้แคมเปญตามความพึงพอใจของลูกค้าตลอดช่วงเวลาเดียวกัน โดยทาง NHTSA กำหนดบทลงโทษเป็น 2 กรณี โดย 35 ล้านดอลลาร์แรก (ราว 1,150 ล้านบาท) ฐานไม่รายงานคำร้องเรียนเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ส่วนอีก 35 ล้านดอลลาร์ ฐานไม่รายงานการเรียกร้องสินไหมทดแทนตายตัวและการเรียกร้องสินไหมทดแทนตามความพึงพอใจของลูกค้า ซึ่งถือว่าเป็นโทษปรับสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้
แอนโทนี ฟอกซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯบอกว่าการปรับเงินดังกล่าวสะท้อนถึงความตั้งใจของรัฐบาลที่จะใช้มาตรการหนักหน่วงต่อเหล่าผู้ผลิตรถยนต์ที่ไม่ยอมให้ข้อมูลด้านความปลอดภับแก่คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบ
คำร้องเรียนต่างๆ ที่มีต่อฮอนด้านั้น รวมไปถึงอุบัติเหตุต่างๆที่เกี่ยวข้องกับถุงลมนิรภัยที่ผลิตโดยบริษัท ทากาตะ ซัปพลายเออร์สัญชาติญี่ปุ่น เช่นเดียวกับข้อบกพร่องในส่วนอื่นๆ ทั้งนี้ ฮอนด้าได้เรียกคืนรถยนต์แล้วมากกว่า 5 ล้านคันในสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2008 เพื่อซ่อมแซมข้อบกพร่องถุงลมนิรภัยของทากาตะที่อาจทำให้ผู้ขับขี่ถึงแก่ชีวิต ด้วยถุงลมอาจระเบิดผิดวิสัยหลังประสบอุบัติเหตุและปล่อยเศษโลหะมีคมปลิวกระจายออกมาจนเป็นอันตราย
เจ้าหน้าที่เผยว่า ฮอนด้าตกลงจ่ายค่าปรับภายใต้คำสั่งยินยอมที่ทางบริษัทลงนามกับสำนักงานบริหารความปลอดภัยการสัญจรบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐฯเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เผยว่าจนถึงตอนนี้พวกเขายังไม่ได้รับเอกสารคำร้องเรียนจากฮอนด้าครบทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงไม่ทราบชัดเจนว่ามีผู้เสียชีวิตเกี่ยวข้องกับข้อบกพร่องต่างๆ มากน้อยแค่ไหน
การปรับเงินต่อฮอนด้าสะท้อนถึงปีแห่งความว่นวายระหว่างเหล่าผู้ผลิตรถยนต์กับคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ โดยตลอดทั้งปี 2004 ทางสำนักงานบริหารความปลอดภัยการสัญจรบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐฯ สั่งปรับเงินบริษุทผู้ผลิตรถยนต์รวมกันถึง 126 ล้านดอลลาร์ สูงสุดในประวัติศาสตร์ 43 ปีของหน่วยงานแห่งนี้
ในเดือนพฤษภาคม สำนักงานบริหารความปลอดภัยการสัญจรบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐฯ สั่งปรับเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกต่อเจเนรัล มอเตอร์ส ด้วยจำนวน 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากความเฉื่อยชาใช้เวลานานกว่าทศวรรษ กว่าจะรายงานข้อบกพร่องเกี่ยวกับสวิตช์ติดเครื่องในรถยนต์หลายล้านคน ที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุหลายครั้ง มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 42 รายและบาดเจ็บ 58 คน
สำนักงานบริหารความปลอดภัยการสัญจรบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐฯ สั่งปรับจีเอ็ม ด้วยวงเงินมากสุดเท่าที่เคยมีมาต่อกรณีเรียกคืนรถยนต์ล่าช้า หลังจากผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของอเมริกาแห่งนี้ ปล่อยให้เวลาล่วงเลยกว่า 1 ทศวรรษ ถึงยอมรับถึงปัญหาดังกล่าวและเพิ่งเรียกคืนรถยนต์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา