(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Iran versus the Islamic State
By Brian M Downing
04/12/2014
ผู้นำของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน นายพล กอซิม โซเลมานี ปรากฏโฉมอยู่ในภาพถ่ายซึ่งเผยแพร่ทางสื่อมวลชนของอิหร่านและอิรักจำนวนมาก ภาพเหล่านั้นแสดงให้เห็นเขากำลังอยู่ในสมรภูมิ ซึ่งกองกำลังพันธมิตรของชาวชิอะห์ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากแสนยานุภาพทางอากาศของฝ่ายตะวันตก สามารถสกัดขัดขวางการรุกโจมตีของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” ในอิรักเอาไว้ได้ สภาวการณ์ที่อิหร่านปรากฏตัวเพิ่มมากขึ้นและอย่างเปิดเผยยิ่งขึ้นในอิรักเช่นนี้ จะส่งผลกระทบกระเทือนทั้งต่อภูมิภาคแถบนี้, ต่อความสัมพันธ์ที่ปะทุขึ้นสู่จุดเดือดได้ง่ายๆ ระหว่างอิหร่านกับส่วนอื่นๆ ของโลก, และต่อความเป็นไปได้ที่นายพลผู้นี้จะก้าวผงาดขึ้นมาในแวดวงการเมืองของเตหะรานในฐานะของการเป็นวีรบุรุษจากสงคราม
การรุกโจมตีของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (Islamic State หรือ IS) ในอิรัก ได้ถูกสกัดขัดขวางจนขยับก้าวต่อไปไม่ค่อยจะออกแล้ว กองทหารของชาวเคิร์ดและกองทัพแห่งชาติอิรัก กลับสามารถค่อยๆ คืบหน้าในการผลักดันพวกไอเอสให้ต้องถอยกลับด้วยซ้ำ แสนยานุภาพทางอากาศของสหรัฐฯและเหล่าชาติพันธมิตรเข้าแสดงบทบาทอันสำคัญมาก ในการถล่มโจมตีที่มั่นต่างๆ ตลอดจนขบวนลำเลียงของกลุ่มไอเอสอย่างหนักหน่วง อย่างไรก็ตาม พวกที่ปรึกษาที่สังกัดอยู่กับกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Iranian Revolutionary Guard Corps หรือ IRGC) ก็กำลังปฏิบัติการอยู่ในสนามรบภาคพื้นดิน และยิ่งช่วงหลังๆ มานี้ เครื่องบินรบไอพ่นของอิหร่านยังเริ่มเปิดฉากทำการโจมตีทางอากาศใส่พวกไอเอสด้วย นายพล กอซิม โซเลมานี (Qasim Soleimani) ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองกำลัง IRGC แสดงท่าทียินยอมปล่อยให้ตนเองถูกถ่ายภาพขณะอยู่ในสนามรบบ่อยครั้งมากๆ นี่คือสิ่งบ่งบอกให้เห็นถึงความทะเยอทะยานทางการเมือง –อย่างน้อยที่สุดพวกผู้สังเกตการณ์ชาวตะวันตกก็มีความเห็นเช่นนี้
การที่อิหร่านปรากฏตัวอยู่ในอิรักนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย พวกพรรคการเมืองตลอดจนกองกำลังอาวุธท้องถิ่นของชาวชิอะห์ในอิรักมากมายทีเดียว ที่สามารถจัดตั้งเกาะกลุ่มกันขึ้นมาได้ก็เนื่องจากได้อาศัยความช่วยเหลือของฝ่ายอิหร่านในช่วงที่เกิดสงครามอิหร่านอิรัก (Iran-Iraq War) ปี 1980 ถึง 1988 ใครคนไหนก็ตาม แม้กระทั่งในหมู่ชาวอนุรักษนิยมใหม่ (neo-conservative) ผู้ไร้เดียงสาที่สุดในกรุงวอชิงตัน จึงไม่ควรเกิดอาการเซอร์ไพรซ์ เมื่อได้พบเห็นว่าการขับไล่โค่นล้มระบอบปกครองของซัดดัม ฮุสเซน ลงไป ได้นำไปสู่การขึ้นครองอำนาจของชาวชิอะห์ที่เป็นประชากรส่วนข้างมากในอิรัก และระบอบปกครองใหม่นี้มีความเอนเอียงที่จะหันไปหาผู้ที่คอยปกป้องให้ผลประโยชน์แก่พวกตนมาอย่างยาวนาน ซึ่งพำนักอยู่ทางทิศตะวันออกถัดชายแดนไปเท่านั้น
สภาวการณ์ที่อิหร่านปรากฏตัวเพิ่มมากขึ้นและอย่างเปิดเผยยิ่งขึ้นในอิรักเช่นนี้ จะมีความสำคัญอย่างไรต่อทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้, ต่อความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับส่วนอื่นๆ ของโลก?
อิหร่าน, อิรัก, และเคอร์ดิสถาน
เมื่อตอนที่กองกำลังอาวุธของกลุ่มไอเอส บุกตีกวาดเข้าไปในภาคเหนือและภาคกลางของอิรักในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เตหะรานได้ออกมาแถลงเตือนว่าตนจะเข้าแทรกแซงแน่นอน ถ้าหากพวกนักรบไอเอสรุกเข้ามาจนถึงบริเวณ 100 กิโลเมตรห่างจากชายแดนอิหร่าน หรือเข้าเหยียบย่ำทำลายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของชาวชิอะห์ จวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ อิหร่านยังไม่ได้มีการส่งกองทหารหน่วยสู้รบเข้าสู่อิรัก ทว่าได้จัดส่งพวกที่ปรึกษาทางทหารเข้ามา ตลอดจนเปิดฉากการโจมตีทางอากาศ -–ด้วยฝูงเครื่องบิน เอฟ-4 แฟนทอม อันเก่าแก่คร่ำคร่าของสหรัฐฯ ซึ่งยังเหลืออยู่ในอิหร่าน
การที่แบกแดดซึ่งหนาวสะท้านต่อการรุกโจมตีของพวกไอเอส จึงออกมาเรียกร้องวิงวอนอเมริกันให้เร่งเข้าช่วยเหลือสนับสนุน ทำให้เตหะรานตกอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ อิหร่านนั้นต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับสหรัฐฯ ทว่ายังคงไม่ไว้วางใจสหรัฐฯ และยังคงวิตกกังวลต่อการที่สหรัฐฯจะนำทหารกลับเข้าไปในอิรักอีกคำรบหนึ่ง มองในแง่นี้ การที่กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่าน ให้ความสนับสนุนช่วยเหลือการต่อสู้กับพวกไอเอส จึงย่อมลดทอนการที่แบกแดดต้องคอยพึ่งพาอาศัยสหรัฐฯ, มหาอำนาจฝ่ายตะวันตก, และประดารัฐของชาวสุหนี่ในภูมิภาคแถบนี้ -–ฝ่ายต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้ต่างกำลังแสดงบทบาทเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในอิรักทั้งสิ้น โดยที่สำคัญแล้วเป็นบทบาทในการจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และในการทำสงครามทางอากาศ
ในอีกด้านหนึ่ง การที่อิหร่านเข้ามาแทรกแซงในอิรักเช่นนี้ กำลังส่งผลกระชับสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับชาวเคิร์ดในอิรักให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น อิหร่านกับ เคอร์ดิสถาน (Kurdistan เขตกึ่งปกครองตนเองของชาวเคิร์ดในอิรัก มีเมืองหลวงชื่อเมืองเออร์บิล Erbil) นั้น มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันยิ่งกว่าที่ใครๆ อาจจะคาดหมายเอาไว้ อิหร่านคือผู้ที่ติดอาวุธและคอยสนับสนุนช่วยเหลือชาวเคิร์ดในอิรักมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว เนื่องจากกองกำลังอาวุธของชาวเคิร์ดเหล่านี้ สามารถที่จะดึงกำลังทหารอิรัก (ในยุคซัดดัม) เอาไว้ไม่กล้าขยับไปไหนเป็นจำนวนนับหมื่นๆ คน มิฉะนั้นแล้วทหารเหล่านั้นจะต้องถูกส่งออกไปประจันหน้ากับกองทัพอิหร่านแน่ๆ อันที่จริงแล้ว ชาวเคิร์ดที่อยู่ในอิหร่าน (ซึ่งบางทีก็เรียกขานกันด้วยชื่อว่า “เคอร์ดิสถานตะวันออก” East Kurdistan) กำลังดำเนินการก่อความไม่สงบต่อต้านเตหะรานในระดับที่ไม่ค่อยเอิกเกริกเกรียวกราวอยู่เหมือนกัน กระนั้น อิหร่านกับเคอร์ดิสถานก็ยังคงมีมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน –บางทีอาจจะเนื่องจากเตหะรานวาดหวังด้วยว่า การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเคอร์ดิสถาน จะสามารถส่งผลเป็นการจำกัดความร่วมมือกันระหว่างชาวเคิร์ดในภูมิภาคต่างๆ ลงได้
แต่การเข้ามากระชับสายสัมพันธ์กับเคอร์ดิสถาน ก็ทำให้อิหร่านตกอยู่ในฐานะที่ต้องแข่งขันกับสหรัฐฯและอิสราเอล มหาอำนาจสองรายหลังนี้ก็ให้ความสนับสนุนชาวเคิร์ดในอิรักตั้งแต่สมัยที่ทำการต่อสู้กับซัดดัมเช่นเดียวกัน โดยที่เตหะรานใช้ความพยายามอย่างมากในการหาทางกีดกันไม่ให้เคอร์ดิสถานขยับเข้าใกล้ชิดกับสหรัฐฯและอิสราเอลมากเกินไป เพราะถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะเปิดทางให้สหรัฐฯกับอิสราเอลสามารถที่จะใช้เคอร์ดิสถานเป็นฐานปฏิบัติการสำหรับเล่นงานอิหร่านในวันหนึ่งข้างหน้า อิหร่านจึงอนุญาตให้น้ำมันของเคอร์ดิสถานส่งออกไปยังต่างแดน โดยผ่านเมืองท่าต่างๆ ของตนได้ อันเป็นเรื่องที่ทั้งสหรัฐฯและอิสราเอลก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้ถึงขนาดนี้
อิหร่านยังกำหนดจุดยืนชนิดที่พร้อมจะลงแรงใช้ความพยายามเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างเคอร์ดิสถานกับรัฐบาลอิรัก เออร์บิลกับแบกแดดนั้นขยับใกล้ที่จะเปิดศึกทำสงครามกันในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาด้วยข้อพิพาทเกี่ยวกับรายได้จากน้ำมัน ทว่าความขัดแย้งเหล่านี้ได้คลี่คลายลงหรืออย่างน้อยที่สุดก็กลายเป็นเรื่องรองลงไปชั่วคราวเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างต้องเน้นหนักให้ความสำคัญกับเรื่องการต่อสู้กับกลุ่มไอเอส เมื่อเร็วๆ นี้ เออร์บิลกับแบกแดดได้ตกลงยินยอมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการจัดสรรแบ่งปันรายได้จากน้ำมันกันแล้ว ทว่าการที่จะสามารถปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับนี้ได้อย่างสมบูรณ์และอย่างต่อเนื่องหรือไม่นั้น ยังคงยากที่จะคาดเดา
ในส่วนของพวกชิอะห์ในอิรักเอง กองกำลัง IRGC เป็นผู้ที่มีอิทธิพลบารมีอย่างมากมายมหาศาลต่อพรรคการเมืองต่างๆ ของฝ่ายชิอะห์ในกรุงแบกแดด และก็ได้แสดงบทบาทอันสำคัญยิ่งยวดในการบังคับพรรคเหล่านี้ให้ยอมเจรจาตกลงเข้ามาเป็นแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรที่มีผลในทางปฏิบัติ ในช่วงเวลาที่พวกเขากำลังต่อสู้ฟาดฟันกันเอง ทั้งในสภานิติบัญญัติและกระทั่งในท้องถนน ทั้งนี้ไม่ควรที่จะประหลาดใจอะไรหรอกที่ นายพลโซเลมานี นี่แหละ คือผู้ที่แสดงบทบาทอันสำคัญมากคนหนึ่งในการเจรจาทำความตกลงระหว่างพรรคชิอะห์เหล่านี้
สหรัฐฯและฝ่ายตะวันตก
ถึงแม้ IRGC เข้าไปให้ความช่วยเหลือในอิรัก ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดทัดทานอิทธิพลของสหรัฐฯก็ตามที แต่มันก็ยังคงสาธิตให้เห็นถึงความตั้งใจพร้อมที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯในเรื่องที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ แท้ที่จริงแล้วครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศัตรูคู่แค้นคู่นี้มีการดำเนินการแบบร่วมมือกัน ในอัฟกานิสถานนั้น อิหร่านได้เคยช่วยสหรัฐฯในการขับไล่โค่นล้มพวกตอลิบานเมื่อปี 2001 ด้วยการส่งข่าวกรองให้และการเสนอเข้าช่วยกู้ภัยพวกนักบินที่เครื่องบินถูกยิงตก ที่ปรึกษาทางทหารชาวอิหร่านนั้นได้เข้าไปอยู่กับกองกำลังอาวุธของ “กลุ่มพันธมิตรภาคเหนือ” (Northern Alliance) มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยยังอยู่ต่อมาอีกนานภายหลังที่สหรัฐฯเลิกราจากอัฟกานิสถาน ไม่นานนักหลังสหภาพโซเวียตถอนทหารออกไปจากประเทศนั้นในปี 1989 มิหนำซ้ำความพยายามของนายพลโซเลมานี ในการทำให้รัฐบาลอิรักที่กรุงแบกแดดกลับมีเสถียรภาพ ก็ใช่ว่าจะแตกต่างอะไรนักหนาจากความมุ่งมาดปรารถนาของฝ่ายอเมริกัน
อย่างไรก็ดี ความพยายามเหล่านี้ที่ผ่านมาแทบไม่มีผลอะไรในทางทำให้จุดยืนของสหรัฐฯที่มีต่ออิหร่านเกิดการอ่อนตัวลง และความร่วมมือกันในการต่อสู้กับกลุ่มไอเอสก็ไม่น่าที่จะก่อให้เกิดผลชนิดสังเกตเห็นได้เช่นเดียวกัน ยิ่งในรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งกำลังเอียงไปทางอนุรักษนิยมเพิ่มขึ้นมากภายหลังการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาด้วยแล้ว สถานการณ์จะยิ่งเป็นเช่นนี้อย่างแน่นอน ส่วนสำหรับในหมู่สาธารณชนอเมริกันวงกว้าง ก็ไม่ปรากฏว่ามีกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงที่นิยมอิหร่านอย่างเป็นกลุ่มก้อนสำคัญอะไร ขณะที่กลับมีกลุ่มต่อต้านอิหร่านซึ่งทั้งขนาดใหญ่พอดูและก็ทรงอิทธิพลด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายๆ เดือนต่อจากนี้ไป อิหร่านคงจะต้องพยายามป่าวประกาศเชิดชูบทบาทของตนในการสู้รบกับกลุ่มไอเอส ด้วยความวาดหวังว่าจะสามารถสร้างคุณประโยชน์บางประการขึ้นมา ในเวลาที่การเจรจากับพวกชาติมหาอำนาจว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน เริ่มต้นขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปีหน้า
ภูมิภาคแถบนี้
อิหร่านนั้นได้สร้างกลุ่มพันธมิตรชาวชิอะห์นานาชาติขึ้นมา เพื่อต่อสู้กับพวกสุหนี่หัวรุนแรงสุดโต่ง และเพื่อรักษารัฐบาลบาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) ให้ยังคงสามารถครองอำนาจในพื้นที่ต่างๆ ของซีเรียที่รัฐบาลนี้ยังคงควบคุมไว้ได้ อิหร่านได้นำเอากองกำลังชาวอัฟกันที่เป็นชิอะห์ (คนเชื้อชาติฮาซารา Hazara ในอัฟกานิสถาน) และกองกำลังฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ชาวเลบานอน เข้าไปในซีเรีย และช่วงหลังๆ มานี้ยังนำเข้าไปในอิรักด้วย อิหร่านและกองกำลังเหล่านี้มีการจัดกลุ่มวางตัวกลายเป็นกำลังสู้รบที่สำคัญกำลังหนึ่งในภูมิภาคแถบนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการต่อต้านพวกไอเอสและอัลกออิดะห์
ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ ทำให้พวกรัฐมหาอำนาจชาวสุหนี่เกิดความระแวงภัย และเมื่อเร็วๆ นี้ได้ประกาศก่อตั้งพันธมิตรทหารของพวกตนขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ในการตอบโต้ทั้งกับกลุ่มไอเอสและอิหร่าน อิรักนั้นไม่ชอบสถานการณ์เช่นนี้และได้พยายามตอบโต้ด้วยการยืนกรานเรียกร้องว่า ควรที่จะรับอิหร่านเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสันนิบาตต่อต้านไอเอสด้วย ทว่าความหวาดกลัวที่มีต้นตอจากความแตกแยกทางนิกายศาสนานั้น ยังคงมีอำนาจครอบงำมหาอำนาจชาวสุหนี่ในภูมิภาคนี้อย่างท่วมท้น
กล่าวเฉพาะชาวอิรักที่เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ พวกเขาต่างรู้สึกวิตกว่ากองทหารของฝ่ายชิอะห์และของฝ่ายเคิร์ด ซึ่งต่างก็ได้รับความช่วยเหลือจากอิหร่าน คงต้องการขับไล่ผลักไสพวกเขาให้ออกไปจากอาณาบริเวณหลายๆ ส่วนของอิรัก อันที่จริงแล้วพวกเขาก็ประสบชะตากรรมดังกล่าวนี้แล้วด้วยซ้ำในพื้นที่หลายๆ แห่งรอบๆ กรุงแบกแดดและในภาคเหนือของอิรัก สภาวการณ์เช่นนี้ย่อมจะทำให้ในเวลาที่กองกำลังอาวุธชาวเคิร์ด และกองทัพอิรักซึ่งชาวชิอะห์ครอบงำอยู่ ออกปฏิบัติการสู้รบลึกเข้าไปในดินแดนของชาวสุหนี่ พวกเขาคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูงทีเดียว
อิหร่าน
สาธารณชนชาวอิหร่านนั้นมองเห็นว่า คุณูปการที่อิหร่านเข้าสมทบร่วมส่วนให้แก่สงครามต่อสู้กับพวกไอเอส ตลอดจนต่อสู้พวกหัวรุนแรงสุดโต่งทางศาสนากลุ่มอื่นๆ เป็นสิ่งที่ทรงความสำคัญมาก ทว่ากลับยังไม่ค่อยเป็นที่ซาบซึ้งยอมรับกันเท่าที่ควร ไม่ว่าจะจากภูมิภาคแถบนี้เองหรือจากโลกตะวันตก ประเทศชาติของพวกเขายังคงไม่ได้รับความเคารพยกย่องหรือการบรรเทามาตรการลงโทษคว่ำบาตร ตรงกันข้ามกลับเผชิญการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารขึ้นมาต่อต้าน อีกทั้งมีลู่ทางว่าอาจต้องเจอกับการลงโทษคว่ำบาตรหนักข้อขึ้นกว่าเดิมด้วย
ขณะเดียวกัน สงครามที่ยังคงกำลังดำเนินอยู่เวลานี้ จะส่งผลอย่างไรต่อการเมืองของอิหร่านเอง เป็นสิ่งที่ยังไร้ความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วสงครามทั้งหลาย โดยเฉพาะสงครามที่ประสบชัยชนะ ย่อมมอบชื่อเสียงเกียรติยศอย่างมากมายมหาศาลให้แก่ฝ่ายทหาร บ่อยครั้งทีเดียวที่มอบให้แก่นายพลขุนทหารบางผู้บางคน เวลานี้ กอซิม โซเลมานี ผู้ถูกบันทึกภาพนำออกเผยแพร่อยู่มิได้ขาด กำลังได้รับการสรรเสริญอย่างมากในสื่อมวลชนทั้งของอิหร่านและของอิรัก ถึงแม้ในแห่งหนสถานที่อื่นๆ กลับแทบไม่มีการเอ่ยถึงชื่อของเขาเอาเลย นายพลผู้เฉลียวฉลาดคนใดก็ตามซึ่งแสดงท่าทีเหมือนกับหาญกล้าท้าทายห่ากระสุนของข้าศึก ย่อมอาจกลายเป็นผู้เข้าแข่งขันรายสำคัญรายหนึ่งในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านคราวต่อไปในปี 2017 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนายพลผู้นั้นสามารถที่จะรวบรวมความสนับสนุนจากพวกชนชั้นกลางซึ่งมีความคิดต้องการการปฏิรูป และนำเอามิติแบบทหาร-ประชานิยม บวกเข้าไปในคณะรัฐบาล
ไบรอัน เอ็ม ดาวนิ่ง เป็นนักวิเคราะห์ด้านการเมือง-การทหาร เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Military Revolution and Political Change และ The Paths of Glory: Social Change in America from the Great War to Vietnam ตลอดจนร่วมกับ แดนนี่ ริตต์แมน (Danny Rittman) เขียนหนังสือเรื่อง The Samson Heuristic สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ brianmdowning@gmail.com
Iran versus the Islamic State
By Brian M Downing
04/12/2014
ผู้นำของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน นายพล กอซิม โซเลมานี ปรากฏโฉมอยู่ในภาพถ่ายซึ่งเผยแพร่ทางสื่อมวลชนของอิหร่านและอิรักจำนวนมาก ภาพเหล่านั้นแสดงให้เห็นเขากำลังอยู่ในสมรภูมิ ซึ่งกองกำลังพันธมิตรของชาวชิอะห์ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากแสนยานุภาพทางอากาศของฝ่ายตะวันตก สามารถสกัดขัดขวางการรุกโจมตีของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” ในอิรักเอาไว้ได้ สภาวการณ์ที่อิหร่านปรากฏตัวเพิ่มมากขึ้นและอย่างเปิดเผยยิ่งขึ้นในอิรักเช่นนี้ จะส่งผลกระทบกระเทือนทั้งต่อภูมิภาคแถบนี้, ต่อความสัมพันธ์ที่ปะทุขึ้นสู่จุดเดือดได้ง่ายๆ ระหว่างอิหร่านกับส่วนอื่นๆ ของโลก, และต่อความเป็นไปได้ที่นายพลผู้นี้จะก้าวผงาดขึ้นมาในแวดวงการเมืองของเตหะรานในฐานะของการเป็นวีรบุรุษจากสงคราม
การรุกโจมตีของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (Islamic State หรือ IS) ในอิรัก ได้ถูกสกัดขัดขวางจนขยับก้าวต่อไปไม่ค่อยจะออกแล้ว กองทหารของชาวเคิร์ดและกองทัพแห่งชาติอิรัก กลับสามารถค่อยๆ คืบหน้าในการผลักดันพวกไอเอสให้ต้องถอยกลับด้วยซ้ำ แสนยานุภาพทางอากาศของสหรัฐฯและเหล่าชาติพันธมิตรเข้าแสดงบทบาทอันสำคัญมาก ในการถล่มโจมตีที่มั่นต่างๆ ตลอดจนขบวนลำเลียงของกลุ่มไอเอสอย่างหนักหน่วง อย่างไรก็ตาม พวกที่ปรึกษาที่สังกัดอยู่กับกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Iranian Revolutionary Guard Corps หรือ IRGC) ก็กำลังปฏิบัติการอยู่ในสนามรบภาคพื้นดิน และยิ่งช่วงหลังๆ มานี้ เครื่องบินรบไอพ่นของอิหร่านยังเริ่มเปิดฉากทำการโจมตีทางอากาศใส่พวกไอเอสด้วย นายพล กอซิม โซเลมานี (Qasim Soleimani) ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองกำลัง IRGC แสดงท่าทียินยอมปล่อยให้ตนเองถูกถ่ายภาพขณะอยู่ในสนามรบบ่อยครั้งมากๆ นี่คือสิ่งบ่งบอกให้เห็นถึงความทะเยอทะยานทางการเมือง –อย่างน้อยที่สุดพวกผู้สังเกตการณ์ชาวตะวันตกก็มีความเห็นเช่นนี้
การที่อิหร่านปรากฏตัวอยู่ในอิรักนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย พวกพรรคการเมืองตลอดจนกองกำลังอาวุธท้องถิ่นของชาวชิอะห์ในอิรักมากมายทีเดียว ที่สามารถจัดตั้งเกาะกลุ่มกันขึ้นมาได้ก็เนื่องจากได้อาศัยความช่วยเหลือของฝ่ายอิหร่านในช่วงที่เกิดสงครามอิหร่านอิรัก (Iran-Iraq War) ปี 1980 ถึง 1988 ใครคนไหนก็ตาม แม้กระทั่งในหมู่ชาวอนุรักษนิยมใหม่ (neo-conservative) ผู้ไร้เดียงสาที่สุดในกรุงวอชิงตัน จึงไม่ควรเกิดอาการเซอร์ไพรซ์ เมื่อได้พบเห็นว่าการขับไล่โค่นล้มระบอบปกครองของซัดดัม ฮุสเซน ลงไป ได้นำไปสู่การขึ้นครองอำนาจของชาวชิอะห์ที่เป็นประชากรส่วนข้างมากในอิรัก และระบอบปกครองใหม่นี้มีความเอนเอียงที่จะหันไปหาผู้ที่คอยปกป้องให้ผลประโยชน์แก่พวกตนมาอย่างยาวนาน ซึ่งพำนักอยู่ทางทิศตะวันออกถัดชายแดนไปเท่านั้น
สภาวการณ์ที่อิหร่านปรากฏตัวเพิ่มมากขึ้นและอย่างเปิดเผยยิ่งขึ้นในอิรักเช่นนี้ จะมีความสำคัญอย่างไรต่อทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้, ต่อความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับส่วนอื่นๆ ของโลก?
อิหร่าน, อิรัก, และเคอร์ดิสถาน
เมื่อตอนที่กองกำลังอาวุธของกลุ่มไอเอส บุกตีกวาดเข้าไปในภาคเหนือและภาคกลางของอิรักในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เตหะรานได้ออกมาแถลงเตือนว่าตนจะเข้าแทรกแซงแน่นอน ถ้าหากพวกนักรบไอเอสรุกเข้ามาจนถึงบริเวณ 100 กิโลเมตรห่างจากชายแดนอิหร่าน หรือเข้าเหยียบย่ำทำลายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของชาวชิอะห์ จวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ อิหร่านยังไม่ได้มีการส่งกองทหารหน่วยสู้รบเข้าสู่อิรัก ทว่าได้จัดส่งพวกที่ปรึกษาทางทหารเข้ามา ตลอดจนเปิดฉากการโจมตีทางอากาศ -–ด้วยฝูงเครื่องบิน เอฟ-4 แฟนทอม อันเก่าแก่คร่ำคร่าของสหรัฐฯ ซึ่งยังเหลืออยู่ในอิหร่าน
การที่แบกแดดซึ่งหนาวสะท้านต่อการรุกโจมตีของพวกไอเอส จึงออกมาเรียกร้องวิงวอนอเมริกันให้เร่งเข้าช่วยเหลือสนับสนุน ทำให้เตหะรานตกอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ อิหร่านนั้นต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับสหรัฐฯ ทว่ายังคงไม่ไว้วางใจสหรัฐฯ และยังคงวิตกกังวลต่อการที่สหรัฐฯจะนำทหารกลับเข้าไปในอิรักอีกคำรบหนึ่ง มองในแง่นี้ การที่กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่าน ให้ความสนับสนุนช่วยเหลือการต่อสู้กับพวกไอเอส จึงย่อมลดทอนการที่แบกแดดต้องคอยพึ่งพาอาศัยสหรัฐฯ, มหาอำนาจฝ่ายตะวันตก, และประดารัฐของชาวสุหนี่ในภูมิภาคแถบนี้ -–ฝ่ายต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้ต่างกำลังแสดงบทบาทเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในอิรักทั้งสิ้น โดยที่สำคัญแล้วเป็นบทบาทในการจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และในการทำสงครามทางอากาศ
ในอีกด้านหนึ่ง การที่อิหร่านเข้ามาแทรกแซงในอิรักเช่นนี้ กำลังส่งผลกระชับสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับชาวเคิร์ดในอิรักให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น อิหร่านกับ เคอร์ดิสถาน (Kurdistan เขตกึ่งปกครองตนเองของชาวเคิร์ดในอิรัก มีเมืองหลวงชื่อเมืองเออร์บิล Erbil) นั้น มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันยิ่งกว่าที่ใครๆ อาจจะคาดหมายเอาไว้ อิหร่านคือผู้ที่ติดอาวุธและคอยสนับสนุนช่วยเหลือชาวเคิร์ดในอิรักมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว เนื่องจากกองกำลังอาวุธของชาวเคิร์ดเหล่านี้ สามารถที่จะดึงกำลังทหารอิรัก (ในยุคซัดดัม) เอาไว้ไม่กล้าขยับไปไหนเป็นจำนวนนับหมื่นๆ คน มิฉะนั้นแล้วทหารเหล่านั้นจะต้องถูกส่งออกไปประจันหน้ากับกองทัพอิหร่านแน่ๆ อันที่จริงแล้ว ชาวเคิร์ดที่อยู่ในอิหร่าน (ซึ่งบางทีก็เรียกขานกันด้วยชื่อว่า “เคอร์ดิสถานตะวันออก” East Kurdistan) กำลังดำเนินการก่อความไม่สงบต่อต้านเตหะรานในระดับที่ไม่ค่อยเอิกเกริกเกรียวกราวอยู่เหมือนกัน กระนั้น อิหร่านกับเคอร์ดิสถานก็ยังคงมีมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน –บางทีอาจจะเนื่องจากเตหะรานวาดหวังด้วยว่า การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเคอร์ดิสถาน จะสามารถส่งผลเป็นการจำกัดความร่วมมือกันระหว่างชาวเคิร์ดในภูมิภาคต่างๆ ลงได้
แต่การเข้ามากระชับสายสัมพันธ์กับเคอร์ดิสถาน ก็ทำให้อิหร่านตกอยู่ในฐานะที่ต้องแข่งขันกับสหรัฐฯและอิสราเอล มหาอำนาจสองรายหลังนี้ก็ให้ความสนับสนุนชาวเคิร์ดในอิรักตั้งแต่สมัยที่ทำการต่อสู้กับซัดดัมเช่นเดียวกัน โดยที่เตหะรานใช้ความพยายามอย่างมากในการหาทางกีดกันไม่ให้เคอร์ดิสถานขยับเข้าใกล้ชิดกับสหรัฐฯและอิสราเอลมากเกินไป เพราะถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะเปิดทางให้สหรัฐฯกับอิสราเอลสามารถที่จะใช้เคอร์ดิสถานเป็นฐานปฏิบัติการสำหรับเล่นงานอิหร่านในวันหนึ่งข้างหน้า อิหร่านจึงอนุญาตให้น้ำมันของเคอร์ดิสถานส่งออกไปยังต่างแดน โดยผ่านเมืองท่าต่างๆ ของตนได้ อันเป็นเรื่องที่ทั้งสหรัฐฯและอิสราเอลก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้ถึงขนาดนี้
อิหร่านยังกำหนดจุดยืนชนิดที่พร้อมจะลงแรงใช้ความพยายามเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างเคอร์ดิสถานกับรัฐบาลอิรัก เออร์บิลกับแบกแดดนั้นขยับใกล้ที่จะเปิดศึกทำสงครามกันในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาด้วยข้อพิพาทเกี่ยวกับรายได้จากน้ำมัน ทว่าความขัดแย้งเหล่านี้ได้คลี่คลายลงหรืออย่างน้อยที่สุดก็กลายเป็นเรื่องรองลงไปชั่วคราวเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างต้องเน้นหนักให้ความสำคัญกับเรื่องการต่อสู้กับกลุ่มไอเอส เมื่อเร็วๆ นี้ เออร์บิลกับแบกแดดได้ตกลงยินยอมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการจัดสรรแบ่งปันรายได้จากน้ำมันกันแล้ว ทว่าการที่จะสามารถปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับนี้ได้อย่างสมบูรณ์และอย่างต่อเนื่องหรือไม่นั้น ยังคงยากที่จะคาดเดา
ในส่วนของพวกชิอะห์ในอิรักเอง กองกำลัง IRGC เป็นผู้ที่มีอิทธิพลบารมีอย่างมากมายมหาศาลต่อพรรคการเมืองต่างๆ ของฝ่ายชิอะห์ในกรุงแบกแดด และก็ได้แสดงบทบาทอันสำคัญยิ่งยวดในการบังคับพรรคเหล่านี้ให้ยอมเจรจาตกลงเข้ามาเป็นแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรที่มีผลในทางปฏิบัติ ในช่วงเวลาที่พวกเขากำลังต่อสู้ฟาดฟันกันเอง ทั้งในสภานิติบัญญัติและกระทั่งในท้องถนน ทั้งนี้ไม่ควรที่จะประหลาดใจอะไรหรอกที่ นายพลโซเลมานี นี่แหละ คือผู้ที่แสดงบทบาทอันสำคัญมากคนหนึ่งในการเจรจาทำความตกลงระหว่างพรรคชิอะห์เหล่านี้
สหรัฐฯและฝ่ายตะวันตก
ถึงแม้ IRGC เข้าไปให้ความช่วยเหลือในอิรัก ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดทัดทานอิทธิพลของสหรัฐฯก็ตามที แต่มันก็ยังคงสาธิตให้เห็นถึงความตั้งใจพร้อมที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯในเรื่องที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ แท้ที่จริงแล้วครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศัตรูคู่แค้นคู่นี้มีการดำเนินการแบบร่วมมือกัน ในอัฟกานิสถานนั้น อิหร่านได้เคยช่วยสหรัฐฯในการขับไล่โค่นล้มพวกตอลิบานเมื่อปี 2001 ด้วยการส่งข่าวกรองให้และการเสนอเข้าช่วยกู้ภัยพวกนักบินที่เครื่องบินถูกยิงตก ที่ปรึกษาทางทหารชาวอิหร่านนั้นได้เข้าไปอยู่กับกองกำลังอาวุธของ “กลุ่มพันธมิตรภาคเหนือ” (Northern Alliance) มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยยังอยู่ต่อมาอีกนานภายหลังที่สหรัฐฯเลิกราจากอัฟกานิสถาน ไม่นานนักหลังสหภาพโซเวียตถอนทหารออกไปจากประเทศนั้นในปี 1989 มิหนำซ้ำความพยายามของนายพลโซเลมานี ในการทำให้รัฐบาลอิรักที่กรุงแบกแดดกลับมีเสถียรภาพ ก็ใช่ว่าจะแตกต่างอะไรนักหนาจากความมุ่งมาดปรารถนาของฝ่ายอเมริกัน
อย่างไรก็ดี ความพยายามเหล่านี้ที่ผ่านมาแทบไม่มีผลอะไรในทางทำให้จุดยืนของสหรัฐฯที่มีต่ออิหร่านเกิดการอ่อนตัวลง และความร่วมมือกันในการต่อสู้กับกลุ่มไอเอสก็ไม่น่าที่จะก่อให้เกิดผลชนิดสังเกตเห็นได้เช่นเดียวกัน ยิ่งในรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งกำลังเอียงไปทางอนุรักษนิยมเพิ่มขึ้นมากภายหลังการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาด้วยแล้ว สถานการณ์จะยิ่งเป็นเช่นนี้อย่างแน่นอน ส่วนสำหรับในหมู่สาธารณชนอเมริกันวงกว้าง ก็ไม่ปรากฏว่ามีกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงที่นิยมอิหร่านอย่างเป็นกลุ่มก้อนสำคัญอะไร ขณะที่กลับมีกลุ่มต่อต้านอิหร่านซึ่งทั้งขนาดใหญ่พอดูและก็ทรงอิทธิพลด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายๆ เดือนต่อจากนี้ไป อิหร่านคงจะต้องพยายามป่าวประกาศเชิดชูบทบาทของตนในการสู้รบกับกลุ่มไอเอส ด้วยความวาดหวังว่าจะสามารถสร้างคุณประโยชน์บางประการขึ้นมา ในเวลาที่การเจรจากับพวกชาติมหาอำนาจว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน เริ่มต้นขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปีหน้า
ภูมิภาคแถบนี้
อิหร่านนั้นได้สร้างกลุ่มพันธมิตรชาวชิอะห์นานาชาติขึ้นมา เพื่อต่อสู้กับพวกสุหนี่หัวรุนแรงสุดโต่ง และเพื่อรักษารัฐบาลบาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) ให้ยังคงสามารถครองอำนาจในพื้นที่ต่างๆ ของซีเรียที่รัฐบาลนี้ยังคงควบคุมไว้ได้ อิหร่านได้นำเอากองกำลังชาวอัฟกันที่เป็นชิอะห์ (คนเชื้อชาติฮาซารา Hazara ในอัฟกานิสถาน) และกองกำลังฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ชาวเลบานอน เข้าไปในซีเรีย และช่วงหลังๆ มานี้ยังนำเข้าไปในอิรักด้วย อิหร่านและกองกำลังเหล่านี้มีการจัดกลุ่มวางตัวกลายเป็นกำลังสู้รบที่สำคัญกำลังหนึ่งในภูมิภาคแถบนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการต่อต้านพวกไอเอสและอัลกออิดะห์
ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ ทำให้พวกรัฐมหาอำนาจชาวสุหนี่เกิดความระแวงภัย และเมื่อเร็วๆ นี้ได้ประกาศก่อตั้งพันธมิตรทหารของพวกตนขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ในการตอบโต้ทั้งกับกลุ่มไอเอสและอิหร่าน อิรักนั้นไม่ชอบสถานการณ์เช่นนี้และได้พยายามตอบโต้ด้วยการยืนกรานเรียกร้องว่า ควรที่จะรับอิหร่านเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสันนิบาตต่อต้านไอเอสด้วย ทว่าความหวาดกลัวที่มีต้นตอจากความแตกแยกทางนิกายศาสนานั้น ยังคงมีอำนาจครอบงำมหาอำนาจชาวสุหนี่ในภูมิภาคนี้อย่างท่วมท้น
กล่าวเฉพาะชาวอิรักที่เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ พวกเขาต่างรู้สึกวิตกว่ากองทหารของฝ่ายชิอะห์และของฝ่ายเคิร์ด ซึ่งต่างก็ได้รับความช่วยเหลือจากอิหร่าน คงต้องการขับไล่ผลักไสพวกเขาให้ออกไปจากอาณาบริเวณหลายๆ ส่วนของอิรัก อันที่จริงแล้วพวกเขาก็ประสบชะตากรรมดังกล่าวนี้แล้วด้วยซ้ำในพื้นที่หลายๆ แห่งรอบๆ กรุงแบกแดดและในภาคเหนือของอิรัก สภาวการณ์เช่นนี้ย่อมจะทำให้ในเวลาที่กองกำลังอาวุธชาวเคิร์ด และกองทัพอิรักซึ่งชาวชิอะห์ครอบงำอยู่ ออกปฏิบัติการสู้รบลึกเข้าไปในดินแดนของชาวสุหนี่ พวกเขาคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูงทีเดียว
อิหร่าน
สาธารณชนชาวอิหร่านนั้นมองเห็นว่า คุณูปการที่อิหร่านเข้าสมทบร่วมส่วนให้แก่สงครามต่อสู้กับพวกไอเอส ตลอดจนต่อสู้พวกหัวรุนแรงสุดโต่งทางศาสนากลุ่มอื่นๆ เป็นสิ่งที่ทรงความสำคัญมาก ทว่ากลับยังไม่ค่อยเป็นที่ซาบซึ้งยอมรับกันเท่าที่ควร ไม่ว่าจะจากภูมิภาคแถบนี้เองหรือจากโลกตะวันตก ประเทศชาติของพวกเขายังคงไม่ได้รับความเคารพยกย่องหรือการบรรเทามาตรการลงโทษคว่ำบาตร ตรงกันข้ามกลับเผชิญการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารขึ้นมาต่อต้าน อีกทั้งมีลู่ทางว่าอาจต้องเจอกับการลงโทษคว่ำบาตรหนักข้อขึ้นกว่าเดิมด้วย
ขณะเดียวกัน สงครามที่ยังคงกำลังดำเนินอยู่เวลานี้ จะส่งผลอย่างไรต่อการเมืองของอิหร่านเอง เป็นสิ่งที่ยังไร้ความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วสงครามทั้งหลาย โดยเฉพาะสงครามที่ประสบชัยชนะ ย่อมมอบชื่อเสียงเกียรติยศอย่างมากมายมหาศาลให้แก่ฝ่ายทหาร บ่อยครั้งทีเดียวที่มอบให้แก่นายพลขุนทหารบางผู้บางคน เวลานี้ กอซิม โซเลมานี ผู้ถูกบันทึกภาพนำออกเผยแพร่อยู่มิได้ขาด กำลังได้รับการสรรเสริญอย่างมากในสื่อมวลชนทั้งของอิหร่านและของอิรัก ถึงแม้ในแห่งหนสถานที่อื่นๆ กลับแทบไม่มีการเอ่ยถึงชื่อของเขาเอาเลย นายพลผู้เฉลียวฉลาดคนใดก็ตามซึ่งแสดงท่าทีเหมือนกับหาญกล้าท้าทายห่ากระสุนของข้าศึก ย่อมอาจกลายเป็นผู้เข้าแข่งขันรายสำคัญรายหนึ่งในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านคราวต่อไปในปี 2017 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนายพลผู้นั้นสามารถที่จะรวบรวมความสนับสนุนจากพวกชนชั้นกลางซึ่งมีความคิดต้องการการปฏิรูป และนำเอามิติแบบทหาร-ประชานิยม บวกเข้าไปในคณะรัฐบาล
ไบรอัน เอ็ม ดาวนิ่ง เป็นนักวิเคราะห์ด้านการเมือง-การทหาร เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Military Revolution and Political Change และ The Paths of Glory: Social Change in America from the Great War to Vietnam ตลอดจนร่วมกับ แดนนี่ ริตต์แมน (Danny Rittman) เขียนหนังสือเรื่อง The Samson Heuristic สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ brianmdowning@gmail.com