xs
xsm
sm
md
lg

ทำไม ‘กองทัพของชาติตะวันออกกลาง’ จึงมักไร้ประสิทธิภาพ

เผยแพร่:   โดย: ไบรอัน เอ็ม ดาวนิ่ง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The Middle East and its armies
By Brian M Downing
19/09/2014

กองทัพของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ในตอนแรกแลดูเหมือนกับเป็นแค่หมู่นักรบญิฮัดที่ท่าทางมอซอและประกอบอาวุธเลวๆ แต่แล้วในเวลาต่อมากลับกลายเป็นที่จับตามองในฐานะกองกำลังอาวุธซึ่งน่านับถือ ความสำเร็จทางการทหารของพวกเขากำลังกลายเป็นการตอกเน้นคำถามเดิมๆ ที่ว่า ทำไมกองทัพประจำการของชาติต่างๆ ตลอดทั่วทั้งตะวันออกกลางและเลยไกลไปจากนั้น จึงมักถูกพิสูจน์ให้เห็นอยู่บ่อยครั้งว่า ช่างไร้ประสิทธิภาพเหลือเกินเมื่ออยู่ท่ามกลางสมรภูมิการสู้รบจริงๆ

เหตุการณ์หลายๆ กรณีซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนด้อยไร้ประสิทธิภาพของกองทัพต่างๆ ในตะวันออกกลาง ไล่กันไปตั้งแต่ลิเบียจนถึงอิรัก และเลยไกลออกจากภูมิภาคแถบนี้ไปจนถึงอัฟกานิสถาน ภารกิจในการฝึกฝนอบรมนั้นสามารถที่จะสอนกองทหารให้ยิงอาวุธ เดินสวนสนาม และแสดงความเคารพได้ แต่ไม่สามารถทำให้พวกเขายืดหยัดสู้รบต่อไปในเวลาที่ถูกยิงกระหน่ำใส่ มีกองทัพหลายๆ กองทัพทีเดียวซึ่งอยู่ในอาการต่อสู้ดิ้นรนแทบเอาตัวไม่รอด หรือกระทั่งพังพาบล่มสลายไปเลย ในท่ามกลางการสู้รบขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นในช่วงระยะไม่นานมานี้ ถึงแม้พวกเขาจะเหนือกว่าฝ่ายปรปักษ์ทั้งในด้านการประกอบอาวุธ, การฝึกฝนอบรม, และในเรื่องจำนวน มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นซึ่งสามารถทำได้ดีเมื่ออยู่ในสมรภูมิ

กองทัพลิเบียนั้นล่มสลายลงไปเลยเมื่อเผชิญหน้ากับพวกกบฏซึ่งมีเพียงอาวุธขนาดเบา สมทบด้วยมาตรการสนับสนุนทางอากาศขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ขณะที่กองทัพซีเรียถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศด้วยฝีมือของกองกำลังกบฏที่เป็นพวกร้อยพ่อพันแม่ และสามารถที่จะรักษาภาวะตรึงกันเอาไว้ได้ก็ด้วยความช่วยเหลือของกองกำลังฮิซบอลเลาะห์ (Hesbollah) และพวกที่ปรึกษาชาวอิหร่าน สำหรับกองทัพอิรักอยู่ในอาการแตกพ่ายถอยกรูด ด้วยฝีมือของกองทหาร “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) เพียงไม่กี่พันคน และกำลังค่อยๆ พลิกกลับยึดพื้นที่ซึ่งสูญเสียไปคืนมาได้ก็ต่อเมื่อได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก และแน่นอนทีเดียวยังมีกรณีกองทัพของซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งพ่ายแพ้ยับเยินในเวลาเพียงไม่กี่วันด้วยน้ำมือของสหรัฐฯและพันธมิตรทั้งเมื่อปี 1991 และปี 2003

ในเวลานี้ โอกาสความเป็นไปได้ที่กำลังทหารสัก 2,000 คนของกลุ่มไอเอสจะทำการรุกรานซาอุดีอาระเบีย กำลังก่อให้เกิดอาการหนาวสะท้านทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคแถบนี้ ทั้งๆ ที่ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศซึ่งมีกองทัพและกองทหารรักษาดินแดนเป็นจำนวนหลายแสนคน รวมทั้งมีกองทัพอากาศขนาดใหญ่โต

ความล้มเหลวเหล่านี้ไม่ได้มีสาเหตุต้นตอมาจากอิสลามหรือเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคอาณาณานิคมแต่อย่างใดทั้งสิ้น รวมทั้งยังไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย ดังมีตัวอย่างจากกรณีผลงานอันชวนผวาของกองทัพยูเครนในแหลมไครเมีย ความล้มเหลวมีสาเหตุต้นตอมาจากปัญหาในทางการจัดตั้งจัดองค์กร และปัญหาทางโครงสร้างประชากร ซึ่งไม่น่าที่จะแก้ไขคลี่คลายได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี สภาวการณ์เช่นนี้ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งสำหรับการรักษาความมั่นคงในระดับภูมิภาค และสำหรับการจับมือเป็นพันธมิตรกับพวกมหาอำนาจภายนอกในอนาคต

*ปัญหาอยู่ที่ไหน*

กองทัพทั้งหลายนั้นก็คือองค์การจัดตั้งประเภทหนึ่ง องค์การอย่างกองทัพทำหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการเกณฑ์ทหารหรือรับสมัครทหาร, ดำเนินการบูรณาการพวกเขาเข้าสู่โครงสร้างระดับชาติ โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังที่ผิดแผกแตกต่างกันของพวกเขา และฝึกฝนอบรมพวกเขาในการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ประเภทต่างๆ ตั้งแต่ปืนเล็กยาวจู่โจมไปจนถึงเครื่องบินไอพ่น กองทัพทั้งหลายจะต้องสามารถก้าวให้ทันภัยคุกคามทางทหาร และหลักนิยมทางทหาร (military doctrine) ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พวกเขาจะต้องสามารถดำเนินการเคลื่อนกำลังพลขนาดใหญ่และหน่วยสนับสนุนต่างๆ ได้ในท่ามกลางเงื่อนไขที่ยากลำบากอย่างที่สุด

ความมีประสิทธิภาพทางด้านการจัดองค์กรของกองทัพในตะวันออกกลาง (ตลอดจนในที่อื่นๆ) ได้ถูกบั่นทอนลง จากการที่เหล่านายทหาร ตั้งแต่ระดับผู้บังคับบัญชาหน่วยระดับกองร้อย ไปจนถึงภายในกองบัญชาการใหญ่ ต่างขาดไร้ซึ่งความเป็นมืออาชีพ การเลือกเลื่อนแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร กระทำโดยใช้หลักเกณฑ์เรื่องความจงรักภักดีต่อพวกผู้ปกครอง มากกว่าเรื่องความช่ำชองในศิลปะแห่งการทำสงคราม สภาวการณ์เช่นนี้ย่อมนำไปสู่ความขุ่นเคืองและความไม่ไว้วางใจ นั่นคือ พวกผู้ใต้บังคับบัญชาตั้งแต่ระดับพลทหารไปจนถึงพันเอกไม่ได้มีความเชื่อถือผู้บังคับบัญชาของพวกเขา และผู้บังคับบัญชาหน่วยก็ไม่ได้มีความเชื่อถือพวกผู้บังคับบัญชาของหน่วยพี่น้องว่าจะเข้ามาช่วยเหลือเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์อันย่ำแย่สิ้นหวัง

พวกนักวิชาการทางสังคมศาสตร์แห่งยุคทศวรรษที่ 1960 เคยยกเหตุผลข้อโต้แย้งว่า บรรดากองทัพของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย สามารถที่จะมีบทบาทในการช่วยสร้างชาติที่อยู่ในภาวะเกิดใหม่ได้ ประชาชนจากเขตพื้นที่ซึ่งขัดแย้งกันตลอดจนจากกลุ่มที่รบรากัน จะถูกนำมาอยู่ร่วมกัน และก็รับราชการทหารอยู่ในสถาบันกองทัพที่จะหล่อหลอมให้พวกเขาสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประสบการณ์เช่นนี้จะลดทอนลัทธิท้องถิ่นนิยม ลัทธิชนเผ่านิยม ตลอดจนความคิดที่มุ่งเน้นแบ่งแยกนิกายศาสนา แล้วสร้างลัทธิชาตินิยมขึ้นมา อย่างไรก็ตาม สภาพความเป็นจริงที่ปรากฏออกมาให้พบเห็น กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย

ในกองทัพจำนวนมาก บุคลากรระดับผู้บังคับบัญชามีความโน้มเอียงที่จะมาจากเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือมาจากชนเผ่าใดชนเผ่าหนึ่ง หรือไม่ก็มาจากพวกนับถือนิกายศาสนาใดนิกายหนึ่ง เป็นต้นว่า ในอิรักยุคซัดดัมมักจะต้องเป็นผู้ที่นับถือนิกายสุหนี่ ขณะที่ในอิรักปัจจุบันมักจะเป็นผู้ที่นับถือนิกายชิอะห์ สำหรับในราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ก็มักเป็นพวกราชตระกูลซาอุด (Saud) ส่วนในซีเรียคือพวกนับถือนิกายอะละวีย์ (Alawite ถือเป็นนิกายย่อยของฝ่ายชิอะห์) ในอัฟกานิสถานมักจะต้องเป็นชาวปาชตุน (Pashtun) กลุ่มอื่นๆ จึงต่างพากันโกรธแค้นและบ่อยครั้งมักจะถูกกดขี่บีฑาอีกด้วย แทนที่จะช่วยลดทอนแนวความคิดคับแคบมุ่งแบ่งแยกทั้งหลาย กองทัพส่วนใหญ่กลับแสดงบทบาทในการทำให้แนวความคิดประเภทนี้ดำรงคงอยู่ต่อไปและทวีความเข้มแข็งมากขึ้น (มีข้อน่าสังเกตว่า กองทัพที่มีความสามารถสูงที่สุดในภูมิภาคแถบนี้ อันได้แก่กองทัพอียิปต์ จะมีรอยปริร้าวในเรื่องเหล่านี้น้อยที่สุด)

*ลู่ทางโอกาสที่จะเกิดการปฏิรูป*

ประเทศใดก็ตามซึ่งมองเห็นจุดอ่อนข้อบกพร่องทางการทหารทั้งหลายว่ามาจากสาเหตุต้นตอเช่นนี้ ย่อมได้รับการคาดหวังว่าจะลงมือดำเนินการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างเป็นระบบ ทั้งในการเลือกเลื่อนแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร และในการทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาบังเกิดความโน้มเอียงมากขึ้นที่จะทำการพิทักษ์ปกป้องประเทศชาติของพวกเขา รัฐยุโรปบางรัฐได้เคยแสดงการตอบสนองในลักษณะดังกล่าวนี้เมื่อเผชิญกับภัยคุกคามจากกองทัพฝรั่งเศสยุคปฏิวัติ ถึงแม้จะเป็นการดำเนินการแบบไม่เต็มใจ และลงท้ายก็อาจจะทำกันเพียงชั่วคราวเท่านั้น สำหรับพวกรัฐในตะวันออกกลางนั้น ไม่น่าที่จะเลือกใช้จังหวะก้าวดังกล่าวนี้มาตอบโต้ภัยคุกคามของกองกำลังอาวุธปฏิวัติของพวกอิสลามิสต์ ตัวอย่างซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันมานี้ก็คือ ซาอุดีอาระเบียกำลังตอบโต้ต่ออันตรายซึ่งมาจากกลุ่มไอเอสในทางตอนเหนือของประเทศ ด้วยการประกาศจัดสร้างรั้วกั้นตลอดแนวชายแดนติดต่อกับอิรัก

การเล่นพรรคเล่นพวกในการเลือกเลื่อนแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งทั้งภายในกองทัพและภายในรัฐ คือสิ่งที่แฝงฝังอย่างแน่นหนาอยู่ภายในกระบวนการทางการเมืองต่างๆ จนยากที่จะลดทอนให้เหลือน้อยลงสักหน่อย โดยยังไม่ต้องไปพูดถึงขั้นขุดรากถอนโคน

แนวความคิดแบบลัทธิชนเผ่านิยม ครั้งหนึ่งเคยคิดกันว่าเนื่องจากชนเผ่าเป็นสถาบันโบร่ำโบราณ ดังนั้นเมื่อสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบสมัยใหม่ ก็จะสามารถกวาดแนวความคิดเช่นนี้ลงถังขยะประวัติศาสตร์ไปได้เอง ทว่ามันกลับกลายเป็นส่วนที่ดำรงคงอยู่อย่างเหนียวแน่นถาวรของกองทัพและของรัฐ

ความตึงเครียดในเรื่องการแบ่งแยกนิกายศาสนาในปัจจุบัน บางทีอาจจะมีสูงกว่าเมื่อตอนช่วงการปฏิวัติของอิหร่านในปี 1979 ด้วยซ้ำไป และดังนั้นจึงทำให้ยิ่งมีโอกาสริบหรี่เต็มทีที่จะมีการแต่งตั้งคนจากนิกายอื่นเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญๆ

ชาวตะวันตกอาจจะมองว่า การที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้คนกลุ่มต่างๆ หลากหลายสามารถที่จะเข้าร่วมแสดงบทบาททางการเมือง คือสาเหตุประการสำคัญที่สุดซึ่งทำให้จิตวิญญาณแห่งการสู้รบของทหารในกองทัพย่ำแย่อ่อนปวกเปียก ทว่าสำหรับภายในภูมิภาคแถบนี้แล้ว การปฏิรูปทางการเมืองถูกมองว่าคือการเปิดประตูให้แก่พวกนิยมความคิดสุดโต่ง, พวกอัมพาตตายด้าน, และพวกอนาธิปไตย และรังแต่จะทำให้กองทัพยิ่งอ่อนแอหนักลงอีก

บางทีอุปสรรคใหญ่หลวงที่สุดที่คอยขัดขวางการปฏิรูป ก็คือความรู้ที่ว่ากองทหารฝ่ายตะวันตกมีความพรักพร้อมอยู่เสมอที่จะเข้ามาช่วยรักษาความมั่นคงของภูมิภาคแถบนี้ ตลอดจนความเชื่อที่ว่า เครือข่ายเก่าแก่ของการวิ่งเต้นให้ได้ตำแหน่งดีๆ งานสบาย และการเล่นพรรคเล่นพวกนั้น อย่างไรเสียก็สามารถที่จะอยู่รอดปลอดภัยจากวิกฤตชั่วครั้งชั่วคราวซึ่งก่อขึ้นมาโดยกลุ่มไอเอสในเวลานี้

ไบรอัน เอ็ม ดาวนิ่ง เป็นนักวิเคราะห์ด้านการเมือง-การทหาร เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Military Revolution and Political Change และ The Paths of Glory: Social Change in America from the Great War to Vietnam ตลอดจนร่วมกับ แดนนี่ ริตต์แมน (Danny Rittman) เขียนหนังสือเรื่อง The Samson Heuristic สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ brianmdowning@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น