xs
xsm
sm
md
lg

‘อิสราเอล’จะเป็น ‘ผู้ชนะ’ หลังจาก ‘อิรัก’ แตกออกเป็นเสี่ยงๆ

เผยแพร่:   โดย: มูฟิด จาเบอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The West’s dirty war in Iraq
By Moufid Jaber
15/08/2014

ในขณะที่ปีศาจร้ายแห่งการแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ กำลังตามหลอกหลอนอิรักอยู่ในเวลานี้ ผู้ชนะคนสำคัญที่สุดในการยื้อแย่งช่วงชิงอำนาจคราวนี้ก็หาใช่ใครอื่น หากคืออิสราเอลนั่นเอง ด้วยความช่วยเหลือของพวกพันธมิตรชาติตะวันตกของตน วันนี้อิสราเอลกำลังคืบเข้าใกล้ความสำเร็จ ในการทำให้เป้าหมายอันสำคัญที่ตนเองเฝ้าวางแผนอย่างเงียบๆ และอย่างระมัดระวังในช่วงไม่กี่ปีหลังๆ นี้ กลายเป็นความจริงขึ้นมาเสียที เป้าหมายดังกล่าวก็คือ การได้ฐานที่มั่นซึ่งจะสามารถใช้สำหรับการโจมตีใดๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีอิหร่าน, ซีเรีย, อิรัก, และแม้กระทั่งตุรกี

ในขณะที่ปีศาจร้ายแห่งการแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ กำลังตามหลอกหลอนอิรักอยู่ในเวลานี้ ผู้ชนะคนสำคัญที่สุดในการยื้อแย่งช่วงชิงอำนาจคราวนี้ก็หาใช่ใครอื่น หากคืออิสราเอลนั่นเอง ด้วยความช่วยเหลือของพวกพันธมิตรชาติตะวันตกของตน วันนี้อิสราเอลกำลังคืบเข้าใกล้ความสำเร็จ ในการทำให้เป้าหมายอันสำคัญที่ตนเองเฝ้าวางแผนอย่างเงียบๆ และอย่างระมัดระวังในช่วงไม่กี่ปีหลังๆ นี้ กลายเป็นความจริงขึ้นมาเสียที

มาถึงเวลานี้แทบไม่มีใครอีกแล้วซึ่งกล้าปฏิเสธไม่ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่กลุ่ม “รัฐอิสลาม (Islamic State ใช้อักษรย่อว่า IS ก่อนหน้านี้กลุ่มนี้เคยเป็นที่รู้จักกันในนาม “รัฐอิสลามในอิรักและอัล-ชาม” Islamic State in Iraq and al-Sham ใช้อักษรย่อว่า ISIS ตลอดจน “รัฐอิสลามในอิรักและเลแวนต์” Islamic State in Iraq and Levant ใช้อักษรย่อว่า ISIL) ซึ่งมีอำนาจขึ้นมาก็โดยอาศัยช่องทางการติดต่อสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับหน่วยข่าวกรองจำนวนมาก กำลังจะกลายเป็นผู้ที่บรรลุจุดมุ่งหมายต่างๆ ซึ่งอิสราเอลกำหนดเอาไว้สำหรับภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการถ่ายเทอำนาจให้แก่พวกพันธมิตรชาวเคิร์ดของอิสราเอล และส่งผลต่อเนื่องในทางบ่อนทำลายความมั่นคงของพวกศัตรูตัวหลักๆ ของอิสราเอล อันได้แก่ อิหร่าน, ซีเรีย, และอิรัก

การรุกคืบหน้าอย่างรวดเร็วของกลุ่มรัฐอิสลาม (ซึ่งเป็นพวกอาหรับสุหนี่) และดอกผลทางด้านดินแดนที่พวกเขาฉวยคว้าเอามาได้ในอิรัก แทบไม่ค่อยก่อให้เกิดปฏิกิริยาอะไรจากโลกตะวันตกเอาเสียเลย จวบจนกระทั่งเมื่อกลุ่มนักรบติดอาวุธเหล่านี้บุกไปจนถึงหน้าประตูของ “เคอร์ดิสถาน” (Kurdistan) ดินแดนปกครองตนเองของชาวเคิร์ด เป็นที่น่าสงสัยมากทีเดียวว่า ถัดจากนั้นพวกเขากลับไม่ได้เดินหน้าทำการสู้รบต่อไปด้วยความกระหายกระตือรือร้นอย่างเดียวกับที่พวกเขามี เมื่อตอนที่เข้ายึดครองดินแดนต่างๆ ของชาวสุหนี่จากกองทัพรัฐบาลอิรัก

แม้กระนั้น การที่กลุ่มรัฐอิสลาม คุกคามทำท่าจะรุกคืบต่อไปอีก ตลอดจนเข้าโจมตี (ในลักษณะเหมือนแสดงละคร) ต่อพวกที่มั่นของกองกำลัง “เพชเมอร์กา” (Peshmerga) ของเคิร์ดในเวลาต่อมา ก็ดูเพียงพอแล้วที่ฝ่ายเคิร์ดจะหยิบยกขึ้นมาอ้างได้ว่า มันกำลังเกิดภาวะสงคราม และดังนั้นพวกเขาจึงต้องเข้ายึดเมืองเคอร์คุก (Kirkuk) เอาไว้ก่อน ตลอดจนดูจะเพียงพอแล้วสำหรับฝ่ายตะวันตก ที่จะจัดส่งอาวุธต่างๆ ไปให้พวกเคิร์ด (อันเป็นสิ่งที่ฝ่ายตะวันตกไม่เคยทำได้มาก่อนไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ก็ตามที) เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับการประจันหน้ากับรัฐบาลอิรักซึ่งคงจะต้องเกิดขึ้นมาในอนาคต เมื่อชาวเคิร์ดประกาศเอกราชตามอำเภอใจฝ่ายเดียวตามที่หลายๆ ฝ่ายคาดหมายกันไว้ ส่วนสำหรับกลุ่มรัฐอิสลามในเวลานี้นั้น ดูจะพึงพอใจอยู่กับการปกครองบริหารและการสถาปนาอำนาจของตนบนดินแดนต่างๆ ของชาวอาหรับที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ ซึ่งพวกเขาพิชิตเอาไว้ได้เรียบร้อยแล้ว

ทว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมานี้ ควรที่จะกล่าวโทษประณามว่าเป็นความบกพร่องผิดพลาดของใครดี? ก่อนอื่นเลย อิสราเอลกับฝ่ายตะวันตกนั้นได้เฝ้าติดตามเหตุการณ์ต่างๆ ในอัล-อันบาร์ (al-Anbar จังหวัดในภาคตะวันตกของอิรัก ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวสุหนี่) อย่างใกล้ชิดตั้งแต่เมื่อ 1 ปีก่อน และสามารถคาดการณ์ได้อย่างถูกต้องว่านายกรัฐมนตรี นูรี อัล-มาลิกี ของอิรักจะยังคงสืบต่อเดินหน้านโยบายสร้างความแตกแยกภายในชาติของเขา และทำให้ชาวสุหนี่ของอิรักบังเกิดความแปลกแยกมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งมีความตระหนักเป็นอันดีว่าคนอย่าง อัล-มาลิกี นั้นไม่มีทางยินยอมสละอำนาจของตนเองอย่างง่ายๆ หลังจากที่ได้อุตส่าห์ก้าวผงาดขึ้นมาจากการเป็นคนไร้ความสำคัญไม่มีใครรู้จัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่อิหร่านยังคงให้การหนุนหลังเขาอยู่

สำหรับพวกสุหนี่แล้ว เป็นที่เข้าใจได้ว่าพวกเขามีความปรารถนาที่จะสู้รบกับกลุ่มรัฐอิสลาม น้อยกว่าความต้องการที่จะทำศึกกับรัฐบาลอิรัก ซึ่งได้จำกัดเพิกถอนสิทธิต่างๆ ของพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรมมาเป็นเวลานานแล้ว ดังนั้นจึงส่งผลให้พวกสุหนี่ตกมาอยู่ในเงื้อมมือการชักใยของฝ่ายตะวันตก ด้วยวิธีที่ฝ่ายตะวันตกหนุนหลังให้อำนาจแก่พวกนักรบ “รัฐอิสลาม” และทำให้รัฐบาลในส่วนกลางของอิรักเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ

ในส่วนของระบอบปกครองซีเรียในดามัสกัส พวกเขามีการร่วมมือกับกลุ่มรัฐอิสลาม เข้าทำการสู้รบกับกลุ่มกบฎซีเรียกลุ่มอื่นๆ ในความพยายามอย่างสิ้นหวังทว่าก็ประสบความสำเร็จเพื่อที่จะรักษาระบอบปกครองของพวกเขาเอาไว้ โดยที่ยังไม่ต้องดำเนินมาตรการต่างๆ อันจำเป็นเพื่อช่วงชิงดินแดนที่พวกกลุ่มรัฐอิสลามยึดเอาไปกลับคืนมา แต่กลับเปิดทางให้กลุ่มรัฐอิสลาม สามารถสถาปนารากฐานอันมั่นคงขึ้นในบริเวณภาคเหนือของซีเรีย ซึ่งในเวลาต่อมารากฐานดังกล่าวนี้เองมีส่วนช่วยเหลือเอื้ออำนวยให้พวกเขาสามารถแผ่ขยายอำนาจเข้าไปในอิรักได้สำเร็จ

ทางด้านตุรกีก็มีบทบาทเช่นกันในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มรัฐอิสลาม โดยผ่านการทำข้อตกลงซื้อขายอาวุธและข้อตกลงซื้อขายน้ำมันอย่างลับๆ

เนื่องจากสภาวการณ์ดังที่กล่าวมานี้ ตลอดจนการที่อิหร่านขาดความรอบคอบในการให้ความสนับสนุนแก่นโยบายมุ่งสร้างความแตกแยกในชาติของมาลิกีเรื่อยมาจวบจนกระทั่งในระยะหลังๆ นี้ แทนที่จะใช้จุดยืนแบบดึงเอาชาวสุหนี่เข้ามีส่วนร่วม อย่างที่พวกผู้มีอำนาจรับผิดชอบทางศาสนาในเมืองนาจาฟ (Najaf) และขบวนการของผู้นิยมมุกตาดา อัล-ซาดร์ (Sadrist movement) ได้เรียกร้องมานานแล้ว ส่วนฝ่ายตะวันตกก็ได้เผยโฉมให้เห็นแผนการที่จะทำการแบ่งแยกอิรักของพวกเขา และกระทำในสิ่งที่โดยสาระสำคัญแล้วก็คือการทำให้บรรลุเป้าหมายอันสำคัญของอิสราเอล ในการสร้างตัวแทนรายหนึ่งขึ้นมา เพื่อเอาไว้เป็นฐานที่มั่นของอิสราเอล สำหรับการโจมตีใดๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีอิหร่าน, ซีเรีย, อิรัก, และแม้กระทั่งตุรกี

ผู้สูญเสียรายใหญ่ที่สุดในเกมอัปมงคลนี้ ก่อนอื่นเลยได้แก่ ชาวอิรัก ผู้ซึ่งเวลานี้ประเทศชาติของพวกเขากำลังอยู่บนปากขอบเหวแห่งการถูกแบ่งแยกแตกออกเป็นเสี่ยงๆ, ถัดมาได้แก่ชาวอิหร่าน ในเมื่อรัฐเอกราชของชาวเคิร์ด ที่โดยพื้นฐานแล้วคือแฟรนไชส์ของอิสราเอล กำลังปรากฏตัวถูกสร้างขึ้นมาในบริเวณประชิดติดกับประเทศของเขา แถมยังได้อาวุธยุทโธปกรณ์อันก้าวหน้าทันสมัยของฝ่ายตะวันตกอย่างพร้อมสรรพ , แล้วยังพวกชนกลุ่มน้อยซึ่งนับถือศาสนาที่มิใช่กระแสหลักในดินแดนเลแวนต์ เนื่องจากการปรากฏขึ้นมากลุ่มรัฐอิสลาม ตลอดจนกลุ่มที่คล้ายคลึงกันอื่นๆ กำลังทำให้ผู้คนเหล่านี้วิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขาในภูมิภาคแถบนี้, สำหรับพวกชาติอิสลามก็เป็นฝ่ายสูญเสียด้วยเช่นกัน เนื่องจากอาชญากรรมอันสยดสยองที่กลุ่มไอเอสกระทำลงไปโดยอ้างนามของอิสลาม ตลอดจนกำลังมีความแตกร้าวขัดแย้งกันเพิ่มมากขึ้นระหว่างชาวสุหนี่กับชาวชิอะห์ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเป็นผลของศึกสงครามคราวนี้, และสุดท้าย แม้กระทั่งชาวเคิร์ดเองก็ควรต้องถือเป็นผู้สูญเสียด้วยเช่นกัน พวกเขาดูจะมองไม่เห็นเลยว่าเกมอันตรายที่เต็มไปด้วยการทรยศหักหลังซึ่งพวกเขากำลังเล่นอยู่นี้ ในที่สุดแล้วจะนำพวกเขาไปสู่จุดมรณะของพวกเขาเอง ถึงแม้ในระยะสั้นแล้ว มันดูเหมือนจะให้ดอกผลอันน่าพอใจเป็นการชั่วคราวแก่พวกเขาก็ตาม

ในขณะที่กลุ่มชาวสุหนี่ในอิรัก และอิหร่าน กำลังถูกชักจูงให้ขยับก้าวเดินเหมือนกับเป็นตัวเบี้ยในกระดานหมากรุก ส่วนซีเรียและตุรกี ก็กำลังมุ่งหน้าไปสู่จุดมรณะของพวกเขาเองอย่างหุนหันสะเพร่าสืบเนื่องจากการมีสายตาสั้นๆ แคบๆ อิสราเอลด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐฯ, อังกฤษ, และ ประธานาธิบดี ฟรังซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส (ผู้ซึ่งมีความกระตือรือร้นมากเหลือเกินในการสืบทอดมรดกของ กีย์ โมเลต์ Guy Mollet และพรรคสังคมนิยมในยุคของเขาที่เป็นพวกนิยมลัทธิฟื้นชาติยิวไซออนนิสต์ Zionist) จึงก้าวผงาดขึ้นมาเป็นผู้ชนะ สำหรับในตอนนี้

ข้อเขียนนี้ปรากฏอยู่ในส่วน “Speaking Freely ” ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนที่เปิดทางให้เหล่านักเขียนรับเชิญสามารถแสดงความคิดเห็นของพวกตน โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานทางด้านบรรณาธิการในระดับเดียวกับพวกนักเขียนที่ เขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์เป็นประจำ

มูฟิด จาเบอร์ เป็นนักวิจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงเบรุต, เลบานอน
กำลังโหลดความคิดเห็น