xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: สหรัฐฯ ผนึกกำลังนานาชาติ-ดึงนักรบสุหนี่ในอิรักร่วมกวาดล้าง “ไอเอส”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ
สถานการณ์ในอิรักและซีเรียเข้มข้นขึ้นทุกขณะ หลังจากที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ออกมาประกาศยุทธศาสตร์กำจัดกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (Islamic State – IS) ซึ่งครอบคลุมทั้งการโจมตีทางอากาศในซีเรียและการขยายปฏิบัติการในอิรัก ซึ่งก่อนหน้านี้อเมริกาได้ส่งอากาศยานเข้าไปถล่มฐานที่มั่นไอเอสแล้วกว่า 160 ครั้งตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ยังเล็งฝึกอบรม “กบฏสายกลาง” ในซีเรียเพื่อให้สามารถต่อสู้รับมือกับไอเอส รวมทั้งปรับปรุงศักยภาพกองทัพอิรักที่เคยล่าถอยหนีนักรบไอเอสจากดินแดนทางเหนือและตะวันตกของประเทศ

เมื่อวันที่ 15 กันยายน ผู้แทนระดับสูงจาก 30 ประเทศทั่วโลกซึ่งเดินทางไปประชุมกันที่กรุงปารีสได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ หนุนหลังรัฐบาลอิรักด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามที่จำเป็น รวมทั้ง “ความช่วยเหลือทางทหารที่เหมาะสม” ด้วย ทว่าคำแถลงร่วมของที่ประชุมกลับไม่เอ่ยถึงซีเรียซึ่งเป็นอีกประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรง อีกทั้งรัฐบาลดามัสกัสกับอิหร่านก็ไม่ได้เข้าร่วมหารือ โดยเตหะรานประกาศชัดว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับแนวร่วมของอเมริกาอย่างเด็ดขาด แถมกล่าวหาว่าวอชิงตันกำลังหาข้ออ้างเพื่อระดมทิ้งระเบิดในอิรักและซีเรียตามอำเภอใจ เหมือนที่กำลังทำอยู่ในปากีสถาน

แนวร่วมเผด็จศึกไอเอสได้กำลังสำคัญจากนายกรัฐมนตรีโทนี แอบบ็อตต์ แห่งออสเตรเลีย ซึ่งประกาศจะส่งทหาร 600 นายไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พันธมิตรสำคัญในตะวันออกกลางของอเมริกา ขณะที่ชาติอาหรับอีก 10 ประเทศซึ่งรวมถึงซาอุดีอาระเบียก็ตกลงที่จะเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วมต้านไอเอสแล้วเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโอบามา ยังย้ำจุดยืนเดิมว่า วอชิงตันไม่คิดที่จะส่งทหารอเมริกันเข้าไปปฏิบัติการภาคพื้นดินเหมือนเช่นที่เคยทำในสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน ซึ่งสิ่งนี้เองเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องพยายามโน้มน้าวกลุ่มนักรบสุหนี่และหัวหน้าชนเผ่าต่างๆ ในอิรักที่ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมป่าเถื่อนของไอเอสให้เข้ามาเป็นพันธมิตรให้ได้

กลยุทธ์ที่ว่ามานี้คล้ายกับเมื่อครั้งที่สหรัฐฯหนุนหลังกองกำลัง Awakening จนสามารถขจัดอิทธิพลของเครือข่ายอัลกออิดะห์ในอิรักได้สำเร็จเมื่อ 6 ปีก่อน

เจมส์ เจฟฟรีย์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำอิรักในช่วงปี 2010-2012 ยอมรับว่า ระยะนี้ “มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นหลายอย่าง” ซึ่งหมายถึงการที่สหรัฐฯส่งตัวแทนเข้าไปเจรจากับผู้นำชนเผ่าต่างๆ ที่เมืองอาร์บิล เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานแห่งอิรัก รวมถึงที่กรุงอัมมาน เมืองหลวงของจอร์แดน

อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ใช่จะประสบความเร็จโดยง่าย เพราะมุสลิมสุหนี่ส่วนใหญ่มองว่าขบวนการ Awakening เป็น “ความล้มเหลว” และ “การทรยศหักหลัง” พวกเขา กลุ่มติดอาวุธบางส่วนเลือกที่จะอยู่ข้างไอเอส เพราะแม้นักรบญิฮาดหัวรุนแรงเหล่านั้นจะสังหารหมู่ประชาชนหรือแสดงพฤติกรรมป่าเถื่อนอย่างไรก็ตาม แต่ก็เป็นตัวเลือกที่ “เลวน้อยกว่า”

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯและอิรักพยายามแก้ต่างว่า การดึงแนวร่วมครั้งนี้ไม่ได้เหมือนกับการตั้งกองกำลัง Awakening เสียทีเดียว แต่เป็นการชักชวนนักรบมุสลิมสุหนี่ให้เข้ามาเป็น “กองกำลังป้องกันชาติ” (National Guard) ซึ่งจะช่วยกระจายอำนาจจากกรุงแบกแดด และยังเป็นการตอบสนองข้อเรียกร้องของชาวสุหนี่ที่ต้องการหลุดพ้นจากการกดขี่ข่มเหงของกองกำลังความมั่นคงอิรักที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมชีอะห์ด้วย

ในอดีตที่ผ่านมา คำมั่นสัญญาของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯและอิรักที่บอกว่าจะเปิดโอกาสให้ชนกลุ่มน้อยได้มีสิทธิ์มีเสียงในสังคมมากยิ่งขึ้นเพื่อแลกกับความร่วมมือของพวกเขา ไม่เคยเป็นจริงขึ้นมาได้ แต่กลับกลายเป็นว่าผู้นำขบวนการ Awakening ต้องถูกตามล่าทั้งโดยนักรบญิฮาดและกองกำลังของแบกแดดที่พวกชีอะห์กุมอำนาจอยู่
กลุ่มนักรบรัฐอิสลาม (ไอเอส)
ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างก็คือ บางครั้งคนท้องถิ่นก็ไม่อาจแยกแยะระหว่างการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯและอิรัก โดยผู้นำมุสลิมท้องถิ่นชี้ว่า การโจมตีของฝ่ายอิรักนั้นมักจะไปโดนชุมชนจนพลเรือนผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิต แม้รัฐบาลอิรักชุดใหม่จะเตือนให้กองทัพใช้ความระมัดระวังมากขึ้นแล้วก็ตาม

อีกประเด็นที่น่าจับตามองก็คือ การที่สหรัฐฯ ไปผูกมิตรกับกลุ่มก่อความไม่สงบท้องถิ่นที่เคยสังหารทหารอเมริกันในสงครามอิรักอาจทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ในหมู่ชาวอเมริกันเอง ขณะที่พลเมืองชีอะห์ในอิรักก็ไม่สบายใจเช่นกันที่เห็นสหรัฐฯ เข้าไปสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธสุหนี่ที่เป็นอริของพวกเขา

นักการทูตอเมริกันคนหนึ่งเปิดเผยว่า ผู้นำชนเผ่ามุสลิมสุหนี่ “สายกลาง” หลายรายเดินทางไปยังประเทศมุสลิมสุหนี่ที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ เช่น กาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย ในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ เพื่อขอร้องให้รัฐอ่าวอาหรับช่วยขับไล่กลุ่มไอเอสออกไปจากดินแดนของพวกเขา

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิรักก็เผยในทำนองเดียวกันว่า กลุ่มมุสลิมสุหนี่ได้เริ่มเจรจากับรัฐบาลกลางมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน โดยเสนอว่าจะช่วยต่อสู้กลุ่มไอเอสเพื่อแลกกับอำนาจปกครองตนเองเพิ่มขึ้น รวมถึงการนิรโทษกรรมสมาชิกของพวกเขาที่เคยจับอาวุธสู้กับกองกำลังอิรักมาก่อน

แหล่งข่าวภายในกลุ่มติดอาวุธสุหนี่เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่อเมริกันได้เข้าพบตัวแทนกลุ่มกองทัพอิสลามอิรัก (Islamic Army) และอดีตสมาชิกพรรคบาธของ ซัดดัม ฮุสเซน เพื่อขอให้พวกเขาร่วมมือขจัดกลุ่มไอเอส ขณะที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงระดับสูงของอิรักก็ยืนยันว่า สหรัฐฯกำลังพูดคุยกับกลุ่มติดอาวุธหลายฝ่ายที่ไม่เอาทั้งรัฐบาลอิรักชุดก่อนและชุดปัจจุบัน

เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯคนหนึ่งยืนยันว่า ทางกระทรวงฯ ไม่เคยพูดคุยกับกลุ่มก่อความไม่สงบในอิรักอย่างแน่นอน แต่ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะมี “หน่วยงานอื่นๆ” ของอเมริกาทำเช่นนั้น ซึ่งอาจหมายถึงสำนักงานข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ)

สหรัฐฯ ยังได้ขอความร่วมมือจากชาติพันธมิตรในอ่าวอาหรับในการขยายภารกิจฝึกฝนและติดอาวุธให้นักรบกบฏสายกลางในซีเรีย เพื่อเป็นการตีกระหนาบไอเอสทั้ง 2 ทาง ซึ่งประเทศในอ่าวเปอร์เซียโดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั้นจัดว่ามีกองทัพที่แข็งแกร่งและมีอาวุธยุทโธปกรณ์ดีที่สุดในภูมิภาค ในทางทฤษฎีจึงสามารถสนับสนุนทางอากาศแก่แนวร่วมระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี
กองกำลังเปชเมอร์การ์ของชาวเคิร์ดยืนคุมฐานที่มั่นที่เมืองคาเซอร์ ห่างจากเมืองอาร์บิลซึ่งเป็นเมืองหลวงของเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานแห่งอิรักราว 40 กิโลเมตร
กำลังโหลดความคิดเห็น