เอเจนซีส์ - อเมริกาบอมบ์ใส่นักรบญิฮัด “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ใกล้ๆ กรุงแบกแดด นับเป็นครั้งแรกที่มีการโจมตีทางอากาศละแวกไม่ไกลจากเมืองหลวงของอิรัก หลังจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศขยายปฏิบัติการเผด็จศึกกลุ่มหัวแรงสุดโต่งกลุ่มนี้ พร้อมกันนั้นยังมีข่าวว่า วอชิงตันเดินสายทาบทามกองกำลังสุหนี่กลุ่มต่างๆ ในอิรักเข้าร่วมบดขยี้ไอเอสด้วย อย่างไรก็ตาม ไอเอสยังคงประกาศศักดาออกมาให้เห็น โดยสอยเครื่องบินกองทัพซีเรียร่วง 1 ลำในวันอังคาร (16 ก.ย.)
“กองทัพสหรัฐฯ ยังคงโจมตีผู้ก่อการร้ายในอิรัก โดยมีการโจมตีทางอากาศ 2 เที่ยวในวันอาทิตย์ (14) และจันทร์ (15) เพื่อสนับสนุนกองกำลังความมั่นคงของอิรักใกล้กับเขตซินจาร์และทางตะวันตกเฉียงใต้ของแบกแดด” กองบัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯ (CENTCOM) ซึ่งดูแลรับผิดชอบกองทหารอเมริกันในภูมิภาคตะวันออกกลางระบุในคำแถลง
คำแถลงสำทับว่า การโจมตีทางตะวันตกเฉียงใต้ของแบกแดด นับเป็นการโจมตีครั้งแรกภายหลังจากมีการขยายปฏิบัติการนอกเหนือจากการปกป้องพลเมืองอเมริกันและภารกิจด้านมนุษยธรรม ให้เป็นการโจมตีเป้าหมายต่างๆ ของกลุ่มไอเอสด้วย ทั้งนี้รวมแล้วอเมริกาโจมตีทางอากาศในอิรักไป 162 เที่ยว
ตามแผนการขยายปฏิบัติการที่ประธานาธิบดีโอบามา แถลงเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้วนั้น ยังครอบคลุมถึงการโจมตีทางอากาศในซีเรียด้วย ถึงแม้ขณะนี้ยังไม่ได้มีการลงมือกันจริงๆ รวมทั้งรัฐบาลประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ในกรุงดามัสกัสก็เตือนไม่ให้อเมริกาละเมิดน่านฟ้า แต่เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ ได้สวนกลับทันควันว่า กองทัพอเมริกันจะถล่มระบบต่อต้านอากาศยานของซีเรีย หากซีเรียเล็งเป้าใส่เครื่องบินอเมริกันที่ลุยเข้าไปโจมตีพวกไอเอส
อย่างไรก็ดี กลุ่ม “รัฐอิสลาม” ซึ่งเป็นพวกสุหนี่แนวคิดสุดโต่ง ได้แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้ครั่นคร้ามต่อแผนการของแดนอินทรี อีกทั้งยังมีกำลังกล้าแข็ง โดยได้ยิงเครื่องบินรบของรัฐบาลซีเรียตกหนึ่งลำเมื่อวันอังคาร ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับแต่กองทัพรัฐบาลอัสซาด เริ่มทิ้งระเบิดถล่มฐานที่มั่นของนักรบญิฮัดกลุ่มนี้ในเมืองรากา เมื่อเดือนกรกฎาคม หรือหนึ่งเดือนหลังจากไอเอสประกาศจัดตั้ง “คอลิฟะห์” หรือรัฐอิสลามซึ่งปกครองโดย “กาหลิบ” ขึ้นมา
ขณะเดียวกัน การขยายปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ก็ดำเนินไปควบคู่กับความพยายามทางการทูตของนานาชาติ โดยเมื่อวันจันทร์ ปารีสได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมตัวแทนจาก 30 ชาติและองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงอเมริกา จีน และรัสเซีย เพื่อสร้างแนวร่วมกำจัดไอเอส
คำแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมปารีสคราวนี้ระบุว่า นานาชาติจะให้การสนับสนุนอิรักในทุกรูปแบบที่จำเป็น รวมถึงความช่วยเหลือทางทหารอย่างเหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของแบกแดดและกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนไม่ทำให้พลเรือนตกอยู่ในความเสี่ยง
คำแถลงร่วมย้ำว่า ไอเอสเป็นภัยคุกคามไม่เฉพาะกับอิรัก แต่รวมถึงประชาคมนานาชาติ และเน้นย้ำความจำเป็นในการกำจัดผู้ก่อการร้ายกลุ่มนี้ออกจากอิรัก
ทั้งนี้การที่ไอเอสสังหารโหดเชลยชาวอังกฤษผู้หนึ่งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นพลเมืองตะวันตกคนที่ 3 ที่ถูกไอเอสตัดศีรษะและถ่ายคลิปเผยแพร่ออนไลน์นั้น ทำให้นานาประเทศเพิ่มความเอาจริงเอาจังขึ้นอีกมากในการต่อสู้กับนักรบหัวรุนแรงกลุ่มนี้
เป็นที่น่าสังเกตว่า คำแถลงร่วมที่กรุงปารีสนี้ไม่พาดพิงถึงซีเรียแม้แต่น้อย โดยจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ย้ำว่า อเมริกาจะไม่ร่วมมือกับระบอบอัสซาดเด็ดขาด รวมทั้งสหรัฐฯยังกีดกันไม่ให้อิหร่านเข้าร่วมประชุมด้วย
การประชุมในแดนน้ำหอมถือเป็นความพยายามทางการทูตระลอกล่าสุดเพื่อสร้างแนวร่วมระดับโลกขึ้นมาต่อต้านไอเอส และ แฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ประกาศว่า การประชุมในลักษณะนี้จะจัดขึ้นบ่อยครั้งและเข้มข้นขึ้นก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ อาหรับ 10 ชาติ ซึ่งรวมถึงซาอุดีอาระเบีย ได้ตกลงสนับสนุนแนวร่วมที่มีอเมริกาเป็นแกนนำ ขณะที่ออสเตรเลียประกาศส่งทหาร 600 คน ไปเตรียมพร้อมที่สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) อีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญในตะวันออกกลางของแดนอินทรี
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าวอชิงตันที่ไม่ต้องการส่งทหารกลับเข้าไปในอิรักอีก กำลังพยายามโน้มน้าวกองกำลังอาวุธของชาวสุหนี่และชาวชนเผ่าต่างๆ ให้เข้าร่วมต่อสู้กับไอเอส ทำนองเดียวกับที่อเมริกาเคยจัดตั้งขบวนการ “อะเวกเคนนิ่ง” (Awakening) ซึ่งประสบความสำเร็จในการขับไล่เครือข่ายอัล-กออิดะห์ออกจากประเทศนี้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว
เจมส์ เจฟฟรีย์ อดีตเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำอิรักระหว่างปี 2010-2012 และยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลแบกแดดจนถึงขณะนี้ ชี้ว่า อเมริกากำลังเดินสายหารือกองกำลังสุหนี่และชนเผ่ากลุ่มต่างๆ ทั้งที่เมืองอาร์บิลในเขตปกครองตนเองชาวเคิร์ด และกรุงอัมมาน ในจอร์แดน
อย่างไรก็ตาม แผนการนี้ไม่ได้ง่ายเลย เนื่องจากชาวสุหนี่หลายกลุ่มมองว่า “อะเวกเคนนิ่ง” เป็นความล้มเหลวและการทรยศ เพราะที่ผ่านมา วอชิงตันและเจ้าหน้าที่อิรักไม่รักษาสัญญาในการรวมชนกลุ่มน้อยต่างๆ รวมทั้งชาวสุหนี่ เข้าสู่รัฐอิรัก เพื่อตอบแทนการช่วยเหลือในการขับไล่อัล-กออิดะห์ มิหนำซ้ำผู้นำขบวนการอะเวกเคนนิ่งของสุหนี่ยังถูกตามล่าโดยทั้งนักรบญิฮัดและรัฐบาลอิรักที่ปกครองโดยชาวชีอะห์
เจ้าหน้าที่อเมริกันและอิรักยืนยันว่า ไม่มีแผนรื้อฟื้นขบวนการอะเวกเคนนิ่ง แต่ต้องการรวมชาวสุหนี่เข้าสู่ “กองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติ” หรือไม่ก็กองกำลังความมั่นคง เพื่อกระจายอำนาจจากแบกแดด และตอบสนองเสียงเรียกร้องในการยุติการกดขี่ชาวสุหนี่โดยกองกำลังความมั่นคงชาวชีอะห์ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ
นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่า อเมริกาพยายามเข้าหานักรบสุหนี่ ที่เคยสู้รบกับกองทัพอเมริกันและรัฐบาลชีอะห์ หลังจากซัดดัม ฮุสเซน ถูกโค่นล้มด้วยเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ถูกคาดว่า จะเป็นประเด็นขัดแย้งโต้เถียงกันหนักในอเมริกา ขณะที่ชาวชีอะห์ในอิรักบางคนกังวลว่า วอชิงตันจะหันไปสนับสนุนนักรบสุหนี่