xs
xsm
sm
md
lg

ฤาต้องตั้ง ‘เขตปกครองตนเอง’ของชาวสุหนี่ ‘อิรัก’จึงจะปราบ ‘ไอเอส’ สำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: ไบรอัน เอ็ม ดาวนิ่ง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

One door closes, another opens for IS
By Brian M Downing
25/09/2014

เครือข่ายอันกว้างขวางของพวกชนเผ่าชาวสุหนี่ กำลังคุกคามที่จะหันมาทำศึกกับกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ในอิรัก ขณะเดียวกับที่แสนยานุภาพทางอากาศของฝ่ายตะวันตกก็กำลังประสบผลในการสร้างความสูญเสียให้แก่นักรบญิฮัดเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง โดยที่กองทัพที่ครอบงำโดยชาวชิอะห์ของรัฐบาลกลางอิรักในกรุงแบกแดด เฝ้าจับตารอคอยด้วยความหวังอยู่ห่างๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับไอเอสแล้ว สถานการณ์เวลานี้ไม่ใช่มีแต่ข่าวร้ายไปเสียทั้งหมด เนื่องจากกระแสการป่าวร้องเข้าร่วมรวมตัวจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯขึ้นมา น่าที่จะกลายเป็นการเพิ่มพูนความรู้สึกเป็นปรปักษ์ต่อฝ่ายตะวันตก จึงเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้นักรบญิฮัดกลุ่มนี้ระดมหาสมาชิกใหม่ๆ ได้เพิ่มมากขึ้น ในเวลาเดียวกันนั้นเอง มันก็กลายเป็นปัจจัยซึ่งบ่อนทำลายความชอบธรรมของพวกรัฐอาหรับที่จับมือเป็นพันธมิตรกับโลกตะวันตก

การรุกบุกตะลุยโจมตียึดพื้นที่ภาคเหนือและตอนกลางของอิรักอย่างรวดเร็ว จนสร้างความหวาดหวั่นพรั่นพรึงไปทั่ว ของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (Islamic State หรือ IS) เวลานี้อยู่ในภาวะหยุดชะงักแล้วเมื่อมองกันในภาพรวม สืบเนื่องจากการต่อสู้ต้านทานของกองกำลังอาวุธภาคพื้นดินกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ และแสนยานุภาพทางอากาศของฝ่ายตะวันตก ในบางแห่งบางจุด ไอเอสถูกกดดันบังคับให้ต้องล่าถอยด้วยซ้ำ จึงถือได้ว่าพวกเขากำลังเริ่มต้นเข้าสู่ระยะใหม่ของความพยายามที่จะรวบรวมให้ชาวมุสลิมทั่วโลกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้การปกครองของพวกเขา ไม่ว่าจะต้องการหรือไม่ก็ตามที เวลานี้นักรบญิฮัดกลุ่มนี้จะต้องขบคิดทบทวนยุทธศาสตร์ของพวกเขาเสียใหม่ เช่นเดียวกับรัฐต่างๆ จำนวนมากที่จับมือกันเป็นกลุ่มพันธมิตรเพื่อต่อต้านปราบปรามพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับชนเผ่าชาวสุหนี่ต่างๆ ในอิรักและซีเรีย

สถานการณ์ในอิรัก

กองทหารของไอเอสได้รับชัยชนะอย่างง่ายดายในการรุกใหญ่ยึดภาคเหนือและตอนกลางของอิรักเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยได้รับความช่วยเหลือจากชาวอิรักที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ กองทหารชาวสุหนี่ที่อยู่ในกองทัพรัฐบาลกลางแบกแดด ถูกเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวให้ล่าถอยจากที่มั่นต่างๆ ของพวกเขา รวมทั้งยินยอมปล่อยให้พวกนักรบญิฮัดตีกวาดลงมา หลังจากนั้นกองทหารไอเอสจึงเผชิญกับการต่อต้านในรูปแบบต่างๆ ทั้งจากกองกำลังอาวุธชาวเคิร์ด, กองทหารอิรัก, ตลอดจนพวกกองกำลังอาวุธท้องถิ่นชาวชิอะห์ และสิ่งที่ถือว่าสำคัญมาก อย่างน้อยก็สำคัญพอๆ กับกำลังอาวุธภาคพื้นดินเหล่านี้ ในการสกดยั้บยั้งการรุกคืบของไอเอส ย่อมได้แก่การถล่มทางอากาศของสหรัฐฯ รวมทั้งชาติพันธมิตรอื่นๆ ซึ่งทั้งช่วยสกัดไม่ให้ทหารไอเอสรวมศูนย์กำลังกันได้ง่ายๆ , ทำลายหรือลดทอนที่มั่นถาวรของไอเอสบางแห่ง, และก่อกวนขัดขวางขบวนลำเลียงสัมภาระ

เวลานี้พวกชนเผ่าชาวสุหนี่ต่างๆ ซึ่งมีการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ในลักษณะคล้ายๆ สมาพันธ์ ยังคุกคามที่จะหันกลับมาเป็นศัตรูกับไอเอส ทำให้นักรบญิฮัดกลุ่มนี้เหลือความสนับสนุนจากผู้คนในพื้นที่ ก็เพียงแค่พวกอดีตนายทหารในกองทัพอิรักตลอดจนเศษซากขององค์การทางการเมืองในยุคซัดดัม ฮุสเซน เท่านั้น น่าสังเกตว่าจวบจนถึงเวลานี้ พวกชนเผ่าชาวสุหนี่ยังเพียงแต่ปะทะแบบประปรายกับกองทหารไอเอสเท่านั้น ทั้งนี้ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการดังที่จะอธิบายต่อไป

ขณะที่กองทหารไอเอสมีระเบียบวินัยและมีแรงจูงใจในการสู้รบ สูงล้ำยิ่งกว่ากองทหารภาคพื้นดินซึ่งเรียงรายกันออกมาประจันหน้าพวกเขาอยู่ในอิรักเวลานี้ ทว่าพวกเขามีจำนวนที่เสียเปรียบเป็นอย่างยิ่ง บางทีอาจจะอยู่ในระดับ 25 ต่อ 1 หรือกระทั่งแย่ยิ่งกว่านั้นอีก ภายใต้แรงกดดันอย่างสม่ำเสมอจากภาคพื้นดินและจากทางอากาศ กองทหารไอเอสจึงไม่สามารถที่จะทำการรุกได้ต่อไป รวมทั้งประสบความลำบากอย่างมากในการรวมศูนย์กำลังเพื่อเปิดการโจมตีใหม่ๆ ขึ้นมาอีก ตรงกันข้ามพวกเขากำลังติดหล่มอยู่ในสงครามที่สูญเสียกำลังไปเรื่อยๆ ซึ่งพวกเขาไม่มีทางที่จะชนะได้เลย

ความวาดหวังที่ไอเอสจะเข้ายึดครองกรุงแบกแดด เมืองหลวงเก่าของรัฐกาหลิบอิสลามในยุคก่อน ดูจะเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว เช่นเดียวกับโอกาสที่พวกเขาจะเข้ายึดและทำลายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของศาสนาอิสลามนิกายชิอะห์ ซึ่งตามการประมาณการของไอเอสนั้น การกระทำดังกล่าวจะจุดชนวนให้เกิดมหาอัคคีแห่งสงครามนิกายศาสนาขึ้นมาในภูมิภาค และนั่นจะเป็นจังหวะเวลาให้ระเบียบปกครองใหม่ของพวกเขาก้าวผงาดขึ้นมาได้

ทางเลือกอื่นๆ ที่อาจทำได้

ไอเอสได้นำเอากองทหารและยวดยานทางยุทธวิธีซึ่งยึดได้จากอิรัก ส่งข้ามชายแดนที่ไร้การพิทักษ์ป้องกัน เข้าไปในซีเรีย และเปิดการรุกโจมตีดินแดนต่างๆ ของชาวเคิร์ดในซีเรีย (ดินแดนที่พวกชาตินิยมชาวเคิร์ดเรียกขานกันว่า “เคอร์ดิสถานตะวันตก” Western Kurdistan) ปรากฏว่าพวกเขาประสบความสำเร็จอย่างงดงามทีเดียว

ความเคลื่อนไหวคราวนี้อาจจะเป็นความพยายามเพื่อมุ่งบรรเทาแรงบีบคั้นต่อที่มั่นต่างๆ ของพวกเขาในอิรัก จะได้สามารถยึดดินแดนต่างๆ ซึ่งพิชิตมาได้ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาด้วยความมั่นคงเหนียวแน่นยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างง่ายดาย เพราะพวกเคิร์ดก็สามารถที่จะโยกย้ายกำลังเข้าไปในซีเรียได้เช่นกัน นอกจากนั้นพวกเขายังได้นักรบจากตุรกีและอิหร่านที่กำลังเดินทางหนุนเนื่องเข้าไปเสริมอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อไม่นานมานี้แสนยานุภาพทางอากาศของอเมริกันและหลายชาติอาหรับ ยังเริ่มโจมตีบรรดาที่มั่นและขบวนลำเลียงของไอเอสภายในซีเรียแล้ว อันเป็นการลิดรอนความสามารถของไอเอสในการรวมศูนย์กำลัง และในการเคลื่อนกำลังจากสถานที่สู้รบจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง

ในที่สุดแล้วไอเอสอาจจะเลือกใช้วิธีล่าถอยเข้าไปในเมืองใหญ่ๆ ของอิรักและซีเรีย อันที่จริงแล้ว พล.อ.เดมซีย์ ของสหรัฐฯ ได้เคยกล่าวย้ำเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วด้วยซ้ำ แต่ทางเลือกเช่นนี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องละทิ้งถอนตัวออกจากดินแดนผืนใหญ่จำนวนมากที่พวกเขาพิชิตได้ และหวนกลับไปสู่การเน้นรณรงค์โจมตีด้วยการใช้ระเบิดรถยนต์ “คาร์บอมบ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามย่านที่อยู่ของชาวชิอะห์ในเมืองใหญ่ๆ ไล่ตั้งแต่กรุงดามัสกัสไปจนถึงกรุงแบกแดด การเข้าไปอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ เช่นนี้ มีข้อดีตรงที่จะจำกัดอำนาจการโจมตีทางอากาศของกลุ่มพันธมิตร เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะทำให้พลเรือนจำนวนมากบาดเจ็บล้มตาย อย่างไรก็ตาม นักรบไอเอสที่มีกันอยู่ในระดับเรือนหมื่น ย่อมไม่สามารถที่จะซุกซ่อนอยู่ตามเมืองใหญ่ได้ทั้งหมด แล้วพวกที่มั่นอันเข้มแข็งและศูนย์สื่อสารของพวกเขาก็ยังมีโอกาสที่จะถูกศัตรูทำลายล้างอยู่ดี

กระนั้น จากจุดพักพิงหลบภัยในเขตเมืองของพวกเขา พวกผู้นำญิฮัดย่อมสามารถที่จะหาช่องทางระดมสมาชิกหน้าใหม่ๆ และเตรียมตัวสำหรับความเคลื่อนไหวช่วงต่อไป มีสัญญาณหลายประการทีเดียวที่แสดงว่า มีนักรบญิฮัดจากพวกกลุ่มอิสลามิสต์ในเยเมน และซีเรีย กำลังหาทางเข้าร่วมกับไอเอส ซึ่งมีภาพลักษณ์อันเรืองรองของกองทัพที่ดูจะมีแต่ได้ชัยไร้พ่ายไปตลอดกาล ยิ่งกว่านั้น การรวมกำลังจัดตั้งพันธมิตรที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำขึ้นมา ยังอาจส่งผลด้านกลับกลายเป็นการให้ความช่วยเหลือไอเอสในการระดมหาสมาชิกใหม่

จำนวนของผู้เข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรและการป่าวร้องอย่างเอิกเกริกเกี่ยวกับการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรนี้ขึ้นมา ย่อมถือเป็นความสำเร็จทางการทูตอันน่าประทับใจ ทว่าในอีกแง่หนึ่งมันก็จะเพิ่มความรู้สึกเป็นปรปักษ์ต่อโลกตะวันตกซึ่งเที่ยวมาดำเนินการแทรกแซงระลอกล่าสุด รวมทั้งเพิ่มความรู้สึกเป็นศัตรูต่อพวกผู้ปกครองรัฐต่างๆ ในแถบนี้ที่กำลังให้ความร่วมมือกับฝ่ายตะวันตก ด้วยเหตุนี้ กลุ่มพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯจึงอาจกลายเป็นการเพิ่มสมาชิกใหม่ๆ ให้แก่ไอเอส และกลายเป็นการบ่อนทำลายความชอบธรรมของพวกรัฐอาหรับที่จับมือเป็นพันธมิตรกับตะวันตก

ชาวสุหนี่

ชนเผ่าชาวสุหนี่ในอิรัก (รวมทั้งชนเผ่าสุหนี่ในซีเรียด้วย ถึงแม้จะมีความสำคัญลดน้อยลงมา) จะมีความโน้มเอียงหันเหไปเข้าข้างฝ่ายใด คือปัจจัยซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการทำสงครามปราบปรามไอเอส กองทหารชาวเคิร์ด และกองทหารชาวชิอะห์ ต่างก็ไม่กล้าเข้าไปปฏิบัติการสู้รบในพื้นที่ของชาวสุหนี่ ขณะที่พวกผู้นำของสมาพันธ์ชนเผ่าสุหนี่ในพื้นที่ภาคตะวันตกของอิรักและภาคตะวันออกของซีเรีย มีความสัมพันธ์ที่แปรเปลี่ยนเอาแน่เอานอนไม่ได้ กับพวกนักรบญิฮัดซึ่งแม้เป็นชาวสุหนี่แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นคนต่างชาติ ไม่ใช่เป็นคนอิรักหรือคนซีเรีย ชนเผ่าชาวสุหนี่เคยจับมือเป็นพันธมิตรกับนักรบญิฮัดในช่วงปีแรกๆ ของการก่อความไม่สงบเพื่อต่อต้านการรุกรานและการยึดครองของสหรัฐฯในปี 2003 จากนั้นก็เปลี่ยนไปเป็นศัตรูกับพวกนี้เป็นระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงที่เรียกว่า “สุหนี่ อะเวกเคนนิ่ง” (Sunni Awakening) แล้วก็เข้าร่วมมือกับนักรบญิฮัดอีกคำรบหนึ่งในการต่อต้านรัฐบาลชิอะห์ที่กรุงแบกแดด

พวกหัวหน้าของสมาพันธ์ชนเผ่าชาวสุหนี่ เพิ่งประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่า มีเจตนารมณ์ที่จะสู้รบกับไอเอส ถึงแม้การสู้รบจริงๆ จะยังค่อนข้างจำกัดอยู่มาก คำร้องขอของชนเผ่าชาวสุหนี่เหล่านี้ที่ต้องการได้รับอาวุธโดยตรงจากพวกมหาอำนาจต่างประเทศ ยังคงถูกสกัดขัดขวางจากรัฐบาลชิอะห์ในแบกแดด ซึ่งมองด้วยความหวาดระแวงว่าอาวุธดังกล่าวจะกลายเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งของการก้าวไปสู่การจัดตั้งรัฐชาวสุหนี่ที่เป็นเอกราชขึ้นมา ยิ่งกว่านั้นทั้งกองกำลังของชาวชิอะห์และกองกำลังของชาวเคิร์ด ยังต่างกำลังทำลายล้างที่อยู่อาศัยของชาวสุหนี่ในเมืองเล็กตำบลน้อยและหมู่บ้านต่างๆ ที่พวกเขาตียึดคืนมาได้จากไอเอส รวมทั้งยังกำลังหาทางขับไสไล่ส่งชาวสุหนี่ที่ถูกมองว่าเป็นอดีตผู้กดขี่พวกเขาในยุคซัดดัมและก่อนหน้านั้น ให้ออกไปจากดินแดนของชาวชิอะห์และชาวเคิร์ด

ในอดีตที่ผ่านมา มีพวกนักการเมืองในหลายประเทศที่ใช้กลุ่มอิสลามิสต์ทั้งหลายเป็นไพ่ใบหนึ่งในการช่วงชิงผลประโยชน์ทางการเมืองของพวกตน เป็นต้นว่า รัฐบาลเยเมนใช้พวกอัลกออิดะห์ในการกำราบกลุ่มกบฏฮูตี (Houthi) และขบวนการแบ่งแยกดินแดนเยเมนใต้ , เหล่านายพลปากีสถานก็ใช้สอยพวกอัลกออิดะห์มานานแล้วในการรักษาและขยายผลประโยชน์ของพวกตนในอัฟกานิสถานและในแคว้นแคชเมียร์ส่วนที่อยู่ในความยึดครองของอินเดีย ชาวสุหนี่ในอิรักก็เช่นเดียวกัน อาจจะกำลังใช้ไอเอสเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของพวกตนเอง ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่เป้าหมายเล็กๆ ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร ชนเผ่าชาวสุหนี่นั้นไม่ได้ต้องการรวบรวมผู้นับถือศาสนาอิสลามให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือประสงค์ที่จะก่อตั้งรัฐอิสลามภายใต้การปกครองของกาหลิบขึ้นมาหรอก พวกเขาเพียงแค่ต้องการหลุดออกจากการควบคุมของแบกแดด และมีอำนาจในการปกครองตนเอง

ไบรอัน เอ็ม ดาวนิ่ง เป็นนักวิเคราะห์ด้านการเมือง-การทหาร เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Military Revolution and Political Change และ The Paths of Glory: Social Change in America from the Great War to Vietnam ตลอดจนร่วมกับ แดนนี่ ริตต์แมน (Danny Rittman) เขียนหนังสือเรื่อง The Samson Heuristic สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ brianmdowning@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น