xs
xsm
sm
md
lg

ฤา ‘สหรัฐฯ’จะส่งทหารภาคพื้นดินลุย‘อิรัก’อีกรอบ?

เผยแพร่:   โดย: ไบรอัน เอ็ม ดาวนิ่ง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Ground troops in Iraq, yet again?
By Brian M Downing
26/11/2014

ถ้าหากจัดส่งกองทหารสหรัฐฯเข้าไปปฏิบัติการในอิรักอีกรอบหนึ่งในตอนนี้ กองทการของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ซึ่งพวกเขาจะต้องเผชิญ ก็คือกองกำลังอาวุธที่มีการจัดกระบวนทัพและดำเนินการสู้รบตามสงครามแบบแผน อันเป็นสิ่งที่กองทัพอเมริกันได้รับการฝึกอบรมเตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดีสำหรับการเข้าต่อตีให้ปราชัย ในทางตรงกันข้าม กลุ่มไอเอสกลับมีความเสียเปรียบหนักหน่วงทั้งในเรื่องจำนวนที่น้อยกว่า, แถมขยายแนวรบเอาไว้อย่างสุดเหยียดเกินกำลัง, และมีจุดอ่อนเปราะเมื่อเผชิญกับแสนยานุภาพทางอากาศ ดังนั้น พวกเขาจึงอาจได้ข้อสรุปขึ้นมาอย่างรวดเร็วว่าจำเป็นต้องละทิ้งการปฏิบัติการทางทหารในลักษณะนี้เสียแล้ว อย่างไรก็ตาม การนำกองทหารสหรัฐฯกลับเข้าไปเช่นนี้ ย่อมจะยิ่งตอกย้ำประดาแนวความคิดซึ่งแพร่หลายอยู่ในภูมิภาคแถบนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดที่ว่า สหรัฐฯกำลังพยายามที่จะดูหมิ่นเหยียดหยามโลกมุสลิม และมุ่งปราบปรามให้สยบยอมเป็นบริวาร

สามปีผ่านไปหลังจากที่กองทัพสหรัฐฯถอนตัวออกมาจากอิรัก เวลานี้วอชิงตันกำลังต้องพิจารณาว่าควรส่งกำลังทหารภาคพื้นดินกลับเข้าไปในประเทศนั้นอีกครั้งหรือไม่ เพื่อสู้รบกับกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (Islamic State หรือ IS) มันจะไม่ใช่ทหารอเมริกันซึ่งเข้าไปทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ไม่ใช่การเสริมกำลังทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องสถานเอกอัครราชทูต แต่จะเป็นกองพันทหารราบและกองพันทหารหน่วยรบพิเศษที่ประจำการอยู่ในกองทัพทีเดียว

ชัยชนะอย่างห้าวหาญน่าตื่นใจหลายต่อหลายครั้งของกลุ่มรัฐอิสลาม ช่างเจิดจ้าร้อนแรงตัดแย้งเป็นตรงกันข้ามกับพวกคำประกาศอย่างเหนื่อยล้าดีแต่พูดของเหล่าผู้นำอัลกออิดะห์วัยชรา และก็ช่างตัดแย้งเป็นตรงกันข้ามกับความพ่ายแพ้อันน่าหดหู่ของกองทัพชาติอาหรับต่างๆ ในระยะเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมา ไอเอสจึงน่าจะได้ต้อนรับขบวนผู้ต้องการสมัครเข้าสมาชิกใหม่จำนวนมาก อีกทั้งได้รับการค้อมคำนับแสดงความจงรักภักดีจากเครือข่ายกลุ่มอิสลามิสต์ด้วยกันในทั่วทั้งโลกมุสลิม ยิ่งกว่านั้นยังอาจจะได้รับการค้อมคำนับแสดงความจงรักภักดีจากพวกประชากรท้องถิ่น ผู้ซึ่งตกลงใจด้วยอาการลังเลเต็มทีว่า ถึงอย่างไรการถูกปกครองอย่างเหี้ยมโหดเข้มงวด ก็ยังดีกว่าภาวะบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแปเอาเลย –หรือยังดีกว่าการต้องตกไปอยู่ในการปกครองของพวกชิอะห์ผู้อาฆาตเคียดแค้น

แต่ในขณะที่อาจจะมีเหตุผลข้อโต้แย้งอันมีน้ำหนัก สำหรับการจัดส่งกองทหารสหรัฐฯกลับไปประจำในอิรักอีกคำรบหนึ่ง ก็มีเหตุผลข้อโต้แย้งดีๆ ซึ่งควรรับฟังเช่นกันสำหรับการที่ต้องเคลื่อนไหวอย่างรอบคอบระมัดระวัง เมื่อตอนที่กองทัพสหรัฐฯและพันธมิตรรุกรานเข้าไปในอิรักเมื่อปี 2003 นั้น ปรากฏว่าสามารถยังความปราชัยให้แก่กองทัพอิรักอย่างรวดเร็ว แต่แล้วกลับติดตามมาด้วยปัญหาใหญ่โตและบริหารจัดการไม่ได้มากมาย สภาวการณ์อย่างเดียวกันก็อาจจะเกิดขึ้นมาอีกจากการที่สหรัฐฯเข้าแทรกแซงรุกรานในรอบใหม่

**สงครามปราบปรามกองกำลังไอเอส**

คงจะพูดได้ว่า กองทัพสหรัฐฯนั้นไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักในสมรภูมิการสู้รบปราบปรามพวกผู้ก่อความไม่สงบ ไม่ว่าจะในอัฟกานิสถาน, อิรัก, และเวียดนาม และนี่อาจทำให้เกิดข้อสรุปขึ้นมาว่า การหวนกลับเข้าสู่อิรักอีกครั้งหนึ่งก็จะไม่สามารถสร้างผลงานที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม กองกำลังอาวุธของกลุ่มไอเอสนั้นไม่ได้มีลักษณะเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ จากการประกาศอ้างตนเป็นรัฐซึ่งสืบทอดมาจากระบอบอันรุ่งเรืองในอดีตกาล พวกเขาจึงกำลังสู้รบในสมรภูมิที่เปิดเผย ด้วยการจัดขบวนทัพเป็นหน่วยขนาดใหญ่, พึ่งพาอาศัยระบบการส่งกำลังบำรุงตามแบบแผนธรรมดา, มีการใช้ยานหุ้มเกราะและปืนใหญ่, และมีการเคลื่อนย้ายกองกำลังตามอย่างที่หน่วยทหารแบบแผนปกติกระทำกัน ไม่เพียงเท่านี้ คุณสมบัติประการสำคัญที่สุดที่จะทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบทั้งหลายอยู่รอดได้นั้น คือการได้รับความสนับสนุนอย่างแข็งขันจริงจังจากประชากรท้องถิ่น แต่ปรากฏว่ากลุ่มไอเอสได้รับน้อยมากหรือกระทั่งไม่ได้รับเอาเลย ทั้งนี้ พวกเขาถูกชิงชังและถูกประณามอย่างกว้างขวางด้วยซ้ำ จากการนำเอารูปแบบคำสอนอิสลามซึ่งน่าสงสัยว่ามีต้นตอจากที่ใด มาบังคับใช้อย่างโหดเหี้ยมเข้มงวดเอากับประชากรของเมืองน้อยใหญ่ตลอดจนหมู่บ้านทั้งหลายที่เคราะห์ร้ายถูกพวกเขายึดไว้ได้

ถ้ากองทหารสหรัฐฯกลับเข้าไปในอิรักอีกครั้งหนึ่ง พวกเขาก็จะเผชิญกับกองกำลังอาวุธตามสงครามแบบแผน อันเป็นสิ่งที่กองทัพอเมริกันได้รับการฝึกอบรมเตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดีสำหรับการเข้าต่อตีให้ปราชัย ด้วยเหตุนี้ การเปรียบเทียบที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจมากกว่า ก็คือการเปรียบเทียบกับตอนที่สหรัฐฯสู้รบกำราบกองทัพอิรักในปี 1991 และ 2003 โดยที่ในสงครามทั้ง 2 ครั้ง ความสามารถในการวางแผนและในการเคลื่อนกำลัง, อำนาจการยิง, และความเป็นปึกแผ่นของหน่วย ของทางฝ่ายสหรัฐฯนั้น สามารถแสดงความเหนือล้ำกว่าข้าศึกได้อย่างมหาศาลภายในระยะเวลาที่สั้นมากจนน่าตื่นตะลึง ไม่ว่าเราจะมีทัศนะมุมมองอย่างไรในเรื่องการเข้าแทรกแซงของอเมริกัน แต่ความทรงประสิทธิภาพในการปฏิบัติการสู้รบตามแบบแผนของพวกเขาย่อมเป็นสิ่งที่แน่นอนชัดเจน

**การปฏิบัติการสู้รบภาคพื้นดิน**

กำลังทหารอเมริกันอาจจะนำมาใช้ได้ในหลายๆ ทาง แน่นอนทีเดียวในการปฏิบัติการจะต้องมีทหารพื้นถิ่นจำนวนหนึ่งเข้าร่วมด้วย เนื่องจากการมีส่วนร่วมของทหารพื้นถิ่นนั้นจะมีความสำคัญอย่างมากในเวลานำเสนอต่อสาธารณชนชาวอิรักและสาธารณชนชาวอเมริกัน

การปฏิบัติการสู้รบภาคพื้นดินตามแบบแผน: ประการแรกเลย สามารถที่จะเอาทหารมาจัดวางตามแนวรบอันยาวเหยียดของพวกไอเอส พวกนักรบหัวรุนแรงเหล่านี้มีความเสียเปรียบอย่างสาหัสในเรื่องจำนวนพลและการขยายแนวรบจนเกินกำลัง กองทหารของสหรัฐฯและพันธมิตรจึงสามารถรวมกำลังชนิดเหนือล้ำกว่าอย่างมหาศาลไปอยู่ตามจุดสำคัญต่างๆ จุดเหล่านี้อาจจะเป็นแนวถนนสายหลักๆ, รอบๆ เมืองเล็กเมืองน้อยซึ่งทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์, และบริเวณใกล้ๆ กับทรัพย์สินอย่างเช่นเขื่อนและโรงไฟฟ้า

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้จะบังคับให้ไอเอสต้องถอนตัวอย่างรวดเร็ว หรือไม่ก็ต้องรวมศูนย์กำลังทหารเพื่อเข้าเปิดศึกทำยุทธการใหญ่ แต่ไม่ว่าจะอยู่ในขบวนลำเลียงที่กำลังล่าถอยหรือขณะประจำอยู่ตามที่มั่นเพื่อทำการป้องกัน กำลังทหารไอเอสจะอยู่ในภาวะอ่อนเปราะต่อแสนยานุภาพทางอากาศ การปฏิบัติการเหล่านี้จึงน่าที่จะมีลักษณะเลียนแบบยุทธการชิงเมืองไบจา (Baiji) และเมืองโคบานี (Kobane) ซึ่งทหารไอเอสที่รวมพลกัน ถูกถล่มโจมตีอย่างหนักหน่วงจากทางอากาศ

การปฏิบัติการสู้รบของหน่วยคอมมานโด: การแทรกตัวเข้าแนวหลังข้าศึกอย่างรวดเร็วของหน่วยคอมมานโด อย่าง กองทหารเคลื่อนที่ทางอากาศ หรือกองทหารส่งกำลังทางอากาศ ซึ่งอาจจะมีจำนวนเพียงไม่กี่ร้อยคน สามารถที่จะจู่โจมเข้าสู่ศูนย์บัญชาการและควบคุมสั่งการ, ศูนย์ส่งกำลังบำรุงต่างๆ, ค่ายฝึกอบรม, ตลอดจนทรัพย์สินทางเศรษฐกิจ ของพวกไอเอส ไม่ว่าจะอยู่ในอิรักหรือแม้กระทั่งในซีเรีย การโจมตีเหล่านี้จะใช้ระยะเวลาสั้นๆ และมุ่งหมายที่จะสร้างความเสียหายสูงสุดให้แก่ไอเอสทั้งในด้านการบาดเจ็บล้มตายของกำลังพลและความย่อยยับของทรัพย์สิน นอกจากนั้นภัยคุกคามที่จะเผชิญกับการปฏิบัติการดังกล่าวนี้ ยังจะบังคับให้ไอเอสต้องคงกำลังทหารที่อยู่นอกแนวรบประจันหน้ากับข้าศึกเอาไว้เป็นจำนวนมากขึ้น จึงยิ่งทำให้กองทหารสหรัฐฯและพันธมิตรที่ปฏิบัติการสู้รบภาคพื้นดินตามปกติกับพวกไอเอส ยิ่งมีความได้เปรียบขึ้นไปอีก

การแทรกตัวเข้าสู่แนวหลังข้าศึกด้วยกำลังขนาดใหญ่: กองทหารสหรัฐฯและพันธมิตร ยังอาจจะมีความพยายามที่ห้าวหาญมากขึ้น ในการบังคับให้ไอเอสต้องเข้าสู่ยุทธการขนาดใหญ่ๆ ด้วยการส่งกำลังทหารจำนวนหลายพันคนขึ้นไป แทรกตัวเข้าสู่แนวหลังข้าศึกอย่างเช่นเมืองเล็กเมืองน้อยซึ่งทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ตามแนวพรมแดนซีเรีย-อิรัก โดยใช้การเคลื่อนที่ทางอากาศหรือการส่งกำลังพลทางอากาศ ความเคลื่อนไหวเช่นนี้จะทำให้ไอเอสต้องเผชิญกับภาวะอิหลักอิเหลื่อว่า จะตัดสินทำการสู้รบในยุทธการขนาดใหญ่ๆ ไปเลย (โดยที่อาจจะมีขนาดใหญ่กว่าการชิงเมืองโคบานี และ ไบจา ด้วยซ้ำ) หรือจะยอมเห็นกองกำลังอาวุธของตนถูกตัดแบ่งเป็น 2 ส่วน

ทางฝ่ายกองทหารสหรัฐฯซึ่งบุกแทรกเข้าสู่แนวหลังข้าศึกเช่นนี้ ก็มีความเสี่ยงอยู่หลายประการเหมือนกัน พวกเขาอาจจะตกอยู่ในสภาพโดดเดี่ยว และจะต้องมีการส่งกำลังบำรุงให้แก่พวกเขาโดยทางอากาศเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสหรัฐฯมีความเหนือล้ำกว่าทั้งในด้านแสนยานุภาพทางอากาศและกำลังสู้รบภาคพื้นดิน ดังนั้น ยุทธการขนาดใหญ่จึงย่อมไม่เป็นผลดีต่อไอเอส

การปฏิบัติการสู้รบเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นไปในลักษณะใดก็ตาม จุดมุ่งหมายสำคัญจะต้องเป็นไปเพื่อก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายอย่างสาหัสร้ายแรง หรืออาจจะกระทั่งอยู่ในระดับล้ำเกินขีดความสามารถที่จะประคับประคองเอาไว้ได้ และเป็นการทำลายรัศมีแห่งความไม่รู้จักแพ้พ่าย รัศมีแห่งการได้ชัยชนะในท้ายที่สุดอย่างแน่นอน ซึ่งพวกเยาวชนอิสลามิสต์คิดเห็นกันว่ากลุ่มไอเอสมีอยู่ ในเวลาเดียวกันนั้น การโจมตีเหล่านี้ยังจะเพิ่มพูนส่งเสริมความมั่นอกมั่นใจและความแข็งกร้าวกล้าสู้รบของกองกำลังอาวุธชาวอิรักและชาวเคิร์ดทั้งหลายอีกด้วย อย่างไรก็ดี ยังเป็นเรื่องยากเย็นมากที่จะสามารถกุมชัยชนะเหนือไอเอสได้อย่างสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ เนื่องจากไอเอสยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่กระทำได้อีกหลายทางทั้งในซีเรียและในอิรัก

**ความเสี่ยงและปัญหา**

บรรดาผู้วางนโยบายในวอชิงตันน่าที่จะตระหนักเป็นอันดีแล้วว่า แผนการที่พวกเขาคิดวางขึ้นไว้สำหรับใช้ในภูมิภาคตะวันออกกลางนั้น ใช่ว่าจะใช้การได้และได้ผลออกมาตามที่คิดไว้เสมอไป อันที่จริงแล้วมีภาวะบางอย่างบางประการปรากฏออกมาให้เห็นแล้วด้วยซ้ำ ซึ่งอาจจะเป็นตัวสร้างปัญหาและเป็นตัวทำลายผลพวงต่อเนื่องอันงดงามใดๆ จากการปฏิบัติการสู้รบระยะสั้น ที่น่าจะมีการขบคิดวางแผนกันอยู่ในเวลานี้ตามหน่วยงานด้านความมั่นคงแห่งชาติทั้งหลายของสหรัฐฯ

พวกอิสลามิสต์อาจจะได้สมาชิกใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก:
การนำกองทหารภาพพื้นดินของสหรัฐฯกลับเข้าไปเช่นนี้ ย่อมจะยิ่งตอกย้ำประดาแนวความคิดซึ่งแพร่หลายอยู่ในภูมิภาคแถบนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดที่ว่า สหรัฐฯกำลังพยายามที่จะดูหมิ่นเหยียดหยามโลกมุสลิม และมุ่งปราบปรามให้สยบยอมเป็นบริวาร สภาวการณ์เช่นนี้อาจจะกลายเป็นปัจจัยทำให้ไอเอสตลอดจนกลุ่มหัวรุนแรงในเครือเดียวกันตลอดทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้ สามารถระดมหาสมาชิกใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้เป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางอยู่แล้วว่า ไอเอส และ อัลกออิดะห์ ล้วนแต่ถูกสร้างขึ้นโดยสหรัฐฯและอิสราเอลเพื่อทำให้รัฐต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในเวลานี้บังเกิดความอ่อนแอ การกลับเข้ามาปฏิบัติการสู้รบภาคพื้นดินอีกคำรบหนึ่งของสหรัฐฯ จึงย่อมจะถูกตีความว่า เป็นการติดตามผลเพื่อให้เป็นไปตามแผนการใหญ่ร้ายกาจที่วางเอาไว้

พวกพันธมิตรที่ลังเลไม่มุ่งมั่นทำการรบ: การปรากฏตัวอีกครั้งของทหารภาคพื้นดินชาวอเมริกัน แทนที่จะส่งเสริมเพิ่มพูนความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นในการสู้รบของกองทหารชาวอิรักและชาวเคิร์ด มันอาจจะกลับก่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้ามเสียฉิบ พวกกองกำลังอาวุธพื้นถิ่นเหล่านี้ อาจเกิดความรู้สึกพึงพอใจที่จะปล่อยให้กองทหารและแสนยานุภาพทางอากาศของอเมริกันเป็นผู้แบกรับภาระในการสู้รบและการบาดเจ็บล้มตาย ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงกลับมีความโน้มเอียงที่จะเอาจริงเอาจังกับการทำสงครามน้อยลง ความลังเลไม่เด็ดเดี่ยวทำการรบของพวกเขาดังกล่าวนี้ ยังจะได้รับการสนับสนุนจากการคาดคำนวณที่ว่า ในอนาคตอันใกล้ ทหารอิรักและทหารเคิร์ดอาจจะต้องทำศึกกันเองด้วยซ้ำไป เมื่อประเด็นปัญหาเรื่องการแยกตัวเป็นเอกราช หวนกลับขึ้นมาเป็นเรื่องใหญ่โตเฉพาะหน้าอีกครั้งหนึ่ง

การที่สหรัฐฯเข้าพัวพันเกี่ยวข้องกับการเมืองของอิรัก: แทบจะเป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้วว่า กองททหารสหรัฐฯจะต้องพบว่าพวกตนเข้าไปพัวพันจนยุ่งเหยิงแกะไม่ออก กับการเมืองแบบเป็นปรปักษ์ระหว่างนิกายศาสนาในอิรักอีกคำรบหนึ่ง สภาวการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นในปี 2003 เมื่อตอนที่ระบอบปกครองชาวสุหนี่ของซัดดัม ฮุสเซน ถูกโค่นล้มลงไป และชาวชิอะห์ที่เป็นชนส่วนข้างมากในอิรักขึ้นครองอำนาจแทน จากนั้นก็ผลักดันทำให้อดีตผู้ที่เคยกดขี่พวกเขาเหล่านี้กลายเป็นพวกที่มีสิทธิมีเสียงลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ชาวสุหนี่ในเวลานี้จึงกำลังมองหาทางเป็นอิสระได้สิทธิปกครองตนเองแยกจากพวกปรปักษ์ทางนิกายศาสนาของพวกเขา และก็จะบีบคั้นให้สหรัฐฯสนับสนุนเรื่องนี้ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น สหรัฐฯยังจะพาตนเองสอดแทรกเข้าไปในความขัดแย้งระหว่างชาวเคิร์ดกับรัฐบาลแบกแดดของชาวชิอะห์ด้วยเช่นกัน พวกเคิร์ดนั้นในเวลานี้มีดินแดนกึ่งปกครองตนเอง มีทั้งกองทัพ, ธง, รัฐธรรมนูญ, ตลอดจนสายท่อลำเลียงน้ำมันของตนเองแล้ว และยังคงหาทางเรียกร้องให้ได้สิทธิปกครองตนเองเพิ่มขึ้นอีก หากไม่ถึงขนาดได้แยกตัวเป็นชาติเอกราช นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเรื่องที่ดินซึ่งเป็นเขตชาวสุหนี่ตลอดจนโครงสร้างทางด้านน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งถูกชาวเคิร์ดยึดเอาไปในขณะที่กองทัพอิรักถอยกรูดจากการบุกโจมตีของไอเอสในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ในปัจจุบัน กองทหารของชาวเคิร์ดและของชาวอิรักซึ่งรุกคืบผลักดันพวกไอเอสอยู่ ก็กำลังทำลายถิ่นพำนักอาศัยของชาวสุหนี่ตามเส้นทางที่ผ่านไป และกำลังผลักดันให้ชาวบ้านเหล่านี้อพยพหลบหนีไปเข้าในจังวัดอันบาร์ (Anbar จังหวัดทางภาคตะวันตกของอิรัก ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่สำคัญที่สุดของชาวสุหนี่ในอิรัก) ในท่ามกลางการเมืองแห่งเชื้อชาติและนิกายศาสนาอันดุเดือดเข้มข้นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ การปฏิบัติภารกิจของกองทัพสหรัฐฯอาจจะเผชิญกับสภาวการณ์ที่ว่า การเข้าแทรกแซงของตนกำลังจะเปลี่ยนโฉมกลายเป็นภารกิจแห่งการรักษาสันติภาพที่ไม่ทราบว่าจะสามารถเสร็จสิ้นยุติลงเมื่อใด หรือกระทั่งเลวร้ายยิ่งกว่านั้น นั่นคือกองทหารอเมริกันจะต้องประสบกับความโกรธกริ้วเคืองแค้น จากกลุ่มที่เป็นศัตรูกันอยู่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือกระทั่งหลายๆ กลุ่ม

**การตอบโต้ของไอเอส**

เมื่อต้องเผชิญกับกองทหารภาคพื้นดินของข้าศึกซึ่งเหนือกว่า และไร้อำนาจที่จะต่อสู้กับการถูกถล่มโจมตีทางอากาศ ไอเอสอาจจะตัดสินใจละทิ้งการปฏิบัติการสู้รบตามสงครามแบบแผนในอิรักเสียเลย ทว่าเรื่องนี้ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ สำหรับองค์การซึ่งมองว่าตนเองเป็นผู้ที่ได้รับอาณัติจากพระเจ้าให้เป็นผู้พิชิตและผู้ปกครองภูมิภาคนี้

ไอเอสอาจจะล่าถอยเข้าไปอยู่ตามแหล่งหลบซ่อนกบดานภายในเมืองใหญ่ต่างๆ และทำการรณรงค์ลอบวางระเบิดเล่นงานกองทหารสหรัฐฯและพวกชิอะห์ เรื่องนี้สามารถทำได้โดยได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายที่ยังหลงเหลืออยู่ของพรรคบาธ (Ba'ath party) และกองทัพอิรักยุคซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งก็ได้เคยช่วยเหลือทั้งกลุ่มไอเอส และพวกอัลกออิดะห์ ที่กลับกลายมาเป็นไอเอสในเวลาต่อมา ตั้งแต่ที่กองทัพสหรัฐฯและพันธมิตรรุกรานยึดครองอิรักในปี 2003 แล้ว นอกจากนั้นไอเอสยังอาจจะได้รับประโยชน์จากแรงสนับสนุนของพวกชนเผ่าชาวสุหนี่ ผู้ซึ่งได้พยายามที่จะหาการส่งเสริมหนุนหลังจากแบกแดดและสหรัฐฯมาระยะหนึ่งแล้ว ทว่าจนบัดนี้ก็ยังแทบไม่ได้รับการตอบสนองอะไร

ไอเอสในซีเรีย: สำหรับในซีเรีย ความพยายามของสหรัฐฯที่จะมองหากองกำลังอาวุธพื้นถิ่นอันเชื่อถือพึ่งพาได้ ซึ่งจะสามารถเข้าทำสงครามต่อสู้กับพวกไอเอสนั้น ยังไม่ประสบความสำเร็จเอาเลย ทั้งนี้ในส่วนของ “กองทัพซีเรียเสรี” (Free Syrian Army) นั้น ปรากฏว่ามีผู้นำบางส่วนกำลังหวาดกลัวด้วยซ้ำว่าจะถูกตราหน้าเป็นเพียงแค่ตัวแทนของสหรัฐฯเท่านั้น ดังนั้นจึงกลับแสดงการมองเมินไม่ยอมรับการเกี้ยวพาของวอชิงตันด้วยซ้ำไป เมื่อเป็นเช่นนี้ หลังจากอเมริกันประสบความสำเร็จในการปราบปรามไอเอสในอิรักแล้ว ก็ยังอาจจะต้องเผชิญกับสงครามยืดเยื้อในซีเรียต่อไป และคราวนี้ก็อาจจะยั่วยวนล่อใจให้วอชิงตันเปิดการรุกทางภาคพื้นดินเข้าไปในซีเรีย

**อิหร่าน**

การที่สหรัฐฯเพิ่มการปรากฏตัวในอิรัก ย่อมจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนภัยขึ้นในอิหร่าน ถึงแม้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า สหรัฐฯกับอิหร่านกำลังอยู่ฝ่ายเดียวกันหากพิจารณาถึงการต่อสู้กับไอเอสในอิรัก เมื่อบวกเข้ากับการที่พรรครีพับลิกันได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นในรัฐสภาสหรัฐฯ รวมทั้งมีความเป็นไปได้มากขึ้นเช่นกันที่ประธานาธิบดีอเมริกันคนต่อไปอาจจะมาจากพรรครีพับลิกัน ฝ่ายอิหร่านจึงกำลังจับตามองด้านตะวันตกของตนด้วยความหวั่นไหวไม่สบายใจ และขบคิดทบทวนเรื่องการเปิดประตูทางการทูตกับสหรัฐฯอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือกันระหว่างสหรัฐฯกับอิรักในการต่อสู้กับไอเอสในอิรักนั้น แม้จะเป็นไปอย่างจำกัดและไม่มีการตีฆ้องร้องป่าวให้เอิกเกริก ก็ยังน่าจะเป็นประโยชน์ต่ออิหร่านอยู่ดี สภาวการณ์ทำนองเดียวกันนี้ยังดูจะบังเกิดขึ้นกับความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่านในทางฟากตะวันออกของอิหร่านด้วย นั่นคือในอัฟกานิสถาน โดยที่เตหะรานให้ความสนับสนุนแก่ประชาชนทางภาคเหนือของประเทศนั้น ในการสู้รบกับพวกตอลิบานตั้งแต่ก่อนที่สหรัฐฯจะยกกองทหารเข้าไปในปี 2001 เสียด้วยซ้ำ ยิ่งในเวลานี้ กองกำลังสนับสนุนด้านความมั่นคงนานาชาติ (International Security Assistance Force) หรือก็คือกองทหารองค์การนาโต้นำโดยสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน กำลังถอนตัวออกไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งทำให้อิหร่านมีความสำคัญ ในการจำกัดขัดขวางความพยายามของตอลิบานที่จะกลับเข้ายึดครองประเทศนั้น ถ้าหากประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันที่ตกอยู่ในอิทธิพลของพวกอนุรักษนิยมใหม่ (neoconservative) ได้เป็นผู้บริหารสหรัฐฯตั้งแต่ปี 2017 เขาหรือเธอก็อาจจะพบว่าตนเองถูกมัดมือมัดไม้ทำอะไรไม่ถนัดในการเล่นงานอิหร่าน สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่กำลังดำเนินไปในอิรัก

ไบรอัน เอ็ม ดาวนิ่ง เป็นนักวิเคราะห์ด้านการเมือง-การทหาร เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Military Revolution and Political Change และ The Paths of Glory: Social Change in America from the Great War to Vietnam ตลอดจนร่วมกับ แดนนี่ ริตต์แมน (Danny Rittman) เขียนหนังสือเรื่อง The Samson Heuristic สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ brianmdowning@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น