(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Kurdistan stays its hand, for now
By Brian M Downing
11/12/2014
เคอร์ดิสถาน ดินแดนกึ่งปกครองตนเองของชาวเคิร์ดทางภาคเหนือของอิรัก เมื่อสองสามเดือนก่อน ทำท่าเกือบๆ จะประกาศแยกตัวออกมาเป็นประเทศเอกราชอย่างเต็มรูปอยู่แล้ว แต่มาถึงเวลานี้ดูเหมือนตัดสินใจที่จะยังคงอยู่ภายในกรอบโครงทางการเมืองของอิรักต่อไป เหตุผลสำคัญอาจจะเนื่องจากภัยคุกคามของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” นั้น เรียกร้องให้ชาวเคิร์ดต้องร่วมมือประสานงานกับแบกแดด ขณะเดียวกัน ราคาพลังงานซึ่งตกฮวบฮาบก็ช่วยบีบบังคับให้พวกเขาสามารถทำข้อตกลงจัดสรรแบ่งปันรายได้จากน้ำมันกับรัฐบาลกลางในกรุงแบกแดดได้สำเร็จ ซึ่งทำให้ฝ่ายเคิร์ดมีส่วนแบ่งจากการส่งออกน้ำมันทางภาคใต้ของอิรักด้วย อย่างไรก็ดี การที่ชาวเคิร์ดมีความเชื่อมั่นและความมุ่งมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ยังคงมีความระแวงสงสัยกันเกี่ยวกับแผนอุบายซ่อนเร้น ที่จะมีการสถาปนา “มหาเคอร์ดิสถาน” ซึ่งเป็นเอกราชและผนวกรวมเอาดินแดนของชาวเคิร์ดในประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เข้ามาด้วย
“เคิร์ดดิสถาน” (Kurdistan) ดินแดนกึ่งปกครองตนเองของชาวเคิร์ดทางภาคเหนือของอิรัก จะยังคงอยู่ภายในกรอบโครงทางการเมืองของประเทศนี้ต่อไป อย่างน้อยที่สุดก็ในตอนนี้ ภายหลังจากอยู่ในความขัดแย้งมายาวนานหลายปี โดยที่ในระยะหลังๆ ถึงขนาดเกือบๆ จะทำสงครามกันทีเดียว แต่เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อิรัก กับ เคอร์ดิสถาน ก็ได้ประกาศการลงนามกันในข้อตกลงว่าด้วยการจัดสรรแบ่งปันรายได้จากน้ำมัน สัญญาที่เซ็นกันนี้เปิดทางให้ฝ่ายเคิร์ดสามารถส่งออกน้ำมันที่อยู่ในดินแดนปกครองของตนได้ รวมทั้งยังให้พวกเขามีส่วนแบ่งในน้ำมันที่ไม่ได้เป็นของชาวเคิร์ด ซึ่งส่งออกจากทางภาคใต้ของอิรักอีกด้วย รายละเอียดต่างๆ ของข้อตกลงฉบับนี้ยังไม่ได้มีการเปิดเผยออกมาอย่างชัดเจน และเมื่อไม่กี่วันก่อน รัฐบาลกลางของอิรักในกรุงแบกแดดได้ออกคำแถลงในลักษณะของการร้องค้านหลายฉบับที่มีข้อความกำกวมเคลือบคลุม ทำให้มีการพิจารณากันว่านานาชาติอาจจะต้องออกแรงกดดันกันอีก
เพียงเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ชาวเคิร์ดดูเหมือนจะยืนอยู่ตรงปากขอบของการประกาศเอกราชอย่างเต็มตัวอยู่แล้ว แต่แล้วก็กลับตัดสินใจถอยหลังกลับ เคอร์ดิสถานนั้นไม่สามารถที่จะฝ่าฟันเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ในทางกฎหมายที่อิรักหยิบยกขึ้นมาเพื่อขัดขวางการส่งออกน้ำมันจากส่วนที่อยู่ในการปกครองของฝ่ายเคิร์ด ขณะที่ภัยคุกคามอันเกิดจากกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (Islamic State หรือ IS) ก็เรียกร้องให้ต้องร่วมมือประสานงานกับทางแบกแดด แล้วยิ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกกำลังลดต่ำลงฮวบฮาบ ทำให้เคอร์ดิสถานประสบปัญหาหนักหน่วง จึงยิ่งต้องการความช่วยเหลือจากแบกแดด
การเป็นรัฐชาติ (nation-state) ซึ่งตามความเข้าใจในโลกตะวันตกนั้น ลักษณะสำคัญอยู่ที่การมีประชาชนและรัฐบาลซึ่งเป็นเอกภาพ ถึงแม้ในทางพฤตินัยแล้ว รัฐชาติทั้งหลายมักจะเป็นแนวความคิดครอบคลุมกว้างๆ, เป็นอุดมคติ, หรือเป็นหน้าฉากเอาไว้คุยโม้ซึ่งเบื้องหลังซุกซ่อนการกดขี่ หรือกระทั่งอำพรางความต้องการที่จะกำจัดตัดขาดอดีตอย่างถอนรากถอนโคน เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ทำให้รัฐชาติในดินแดนหลายๆ ส่วนของพื้นพิภพเรา เกิดความอ่อนแอลงทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกอิสลาม ซึ่งพวกมหาอำนาจต่างชาติเป็นผู้บงการกำหนดพรมแดนของรัฐชาติจำนวนมาก ขณะที่พวกผู้นำชาวพื้นถิ่นก็ล้มเหลวไม่สามารถเอาชนะเรียกร้องความไว้วางใจจากผู้ที่พวกเขาปกครองมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วได้
แรงกดดันระหว่างประเทศ
ถึงแม้สหรัฐฯเองนั่นแหละที่เป็นผู้แสดงบทบาทสำคัญยิ่งในการนำเอาความเป็นศัตรูกันในทางนิกายศาสนาและในทางเชื้อชาติภายในอิรัก ให้โผล่ขึ้นมาบนดินอย่างเปิดเผย ด้วยการโค่นล้มยังความปราชัยให้แก่ ซัดดัม ฮุสเซน ในปี 2003 แต่ลุงแซมก็แสดงท่าทีสนับสนุนรัฐอิรักที่เป็นเอกภาพเสมอมา ทั้งนี้เมื่อเร็วๆ นี้ สหรัฐฯได้ลงแรงเป็นอย่างมากในการผลักดันให้เกิดข้อตกลงการจัดสรรแบ่งปันรายได้จากน้ำมันดังที่กล่าวข้างต้น เพื่อให้เป็นพื้นฐานสำหรับสร้างความสามัคคีร่วมไม้ร่วมมือกันในการต่อสู้ปราบปรามกลุ่มไอเอส สหรัฐฯนั้นต้องการพันธมิตรที่เชื่อถือได้สักรายหนึ่งในภูมิภาคนี้ เป็นพันธมิตรที่มีประเพณียาวนานในเรื่องการทำศึกสู้รบ, และถ้าหากเลือกได้ ก็ขอให้เป็นพันธมิตรที่มีแนวความคิดกลางๆ ไม่สุดโต่งในเรื่องศาสนา
ชาวเคิร์ดเป็นพวกที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์เหล่านี้อยู่มากทีเดียว พวกเขามีประวัติศาสตร์ทางการทหารอันอุดมสมบูรณ์ ถึงแม้ด้านหลักจะเป็นการทำสงครามจรยุทธ์ต่อต้านพวกรัฐและจักรวรรดิที่เข้ามารุกรานล่วงล้ำ, ค่อยๆ ทำให้พวกศัตรูอ่อนล้า, และบังคับให้พวกเขาล่าถอยไปมากกว่าจะเข้าต่อตีให้พวกเขาปราชัยอย่างเปิดเผยชัดเจน แต่มาถึงเวลานี้ชาวเคิร์ดได้ก่อตั้งสิ่งซึ่งมีความใกล้เคียงกับรัฐขึ้นมาแล้ว พวกเขาจะต้องจัดตั้งกองทัพแบบแผนขึ้นเพื่อพิทักษ์ป้องกันดินแดนของพวกเขา –ทั้งจากพวกไอเอสในวันนี้ และจากรัฐอื่นๆ ไม่ว่าหน้าไหนในวันข้างหน้า
ด้วยการประสานกับแสนยานุภาพทางอากาศของอเมริกันและพันธมิตร กองทหารอิรักและกองทหารชาวเคิร์ด ถึงแม้ยังคงหนาแน่นด้วยปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นและการเล่นพรรคเล่นพวก ก็กำลังผลักดันพวกนักรบญิฮัดไอเอสให้ค่อยๆ ล่าถอยกลับไปได้ ทั้ง 2 กองทัพนี้มีการร่วมมือประสานงานกัน อย่างไรก็ตาม แทบไม่มีลู่ทางความหวังเลยที่จะรวมเอาพวกเขาเข้าเป็นกองทัพเดียวกัน นี่ย่อมเป็นการบอกให้ทราบอย่างชัดเจนด้วยเช่นกันถึงลู่ทางความหวังที่แบกแดดกับเออร์บิล (Erbil เมืองหลวงของดินแดนเคอร์ดิสถาน) จะสามารถทำความตกลงกันได้อย่างถาวร
ทางด้านอิหร่านก็มีความปรารถนาไม่แตกต่างจากอเมริกา พวกเขาต้องการพันธมิตรที่ทรงอำนาจสักรายหนึ่ง ทั้งเพื่อการป้องกันและต่อสู้ปราบปรามกลุ่มไอเอสในระยะสั้น และในระยะยาวเพื่อการต่อสู้กับเล่ห์กลแผนร้ายของพวกรัฐที่เป็นราชอาณาจักรสุหนี่ในภูมิภาคแถบนี้ ทั้งนี้อิหร่านย่อมต้องการที่จะให้อิรักและเคอร์ดิสถาน หลีกเลี่ยงจากการมีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับสหรัฐฯและอิสราเอล ทว่านั่นดูจะไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ดี อิหร่านยังคงสามารถได้รับผลดีจากความโชคร้ายเช่นนี้ ทั้งนี้อิหร่านสามารถที่จะนำเสนอให้เห็นว่า ความสำคัญที่ตนมีอยู่ในการทำสงครามกับไอเอสนั้น เป็นเครื่องบ่งบอกอยู่ในตัวว่านโยบายการต่างประเทศของตนมีคุณค่ามีความหมายคู่เคียงขนานไปกับนโยบายของทางฝ่ายตะวันตก และดังนั้นจึงเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่จะรองรับการเดินหน้าเพิ่มความร่วมมือระหว่างอิหร่านกับฝ่ายตะวันตกให้มากขึ้น –ขณะเดียวกันก็เป็นเหตุผลสำหรับการห้ามปรามไม่ให้อิสราเอลเข้าโจมตีอิหร่านด้วยเช่นกัน
ถึงแม้ความมั่นใจและความมุ่งมั่นที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ของชาวเคิร์ด ทำให้เกิดคำถามเกิดความระแวงสงสัยขึ้นมา ในเรื่องเกี่ยวกับการสถาปนา “มหาเคอร์ดิสถาน” (greater Kurdistan) ซึ่งจะเป็นประเทศเอกราชของชาวเคิร์ด ที่นอกเหนือจากเคอร์ดิสถานแล้ว ยังผนวกรวบรวมเอาดินแดนของชาวเคิร์ดในชาติเพื่อนบ้านใกล้เคียงเข้าไว้ด้วย แต่สำหรับชาติเพื่อนบ้านใหญ่รายหนึ่งอย่างตุรกีแล้ว ยังคงมองโอกาสต่างๆ ในท่ามกลางความเสี่ยงเหล่านี้ และปรารถนาที่จะให้เออร์บิลกับแบกแดดสามารถตกลงอยู่ร่วมกันได้อย่างมีเหตุมีผล อันที่จริงแล้ว น้ำมันของเคิร์ดจำนวนมากทีเดียวได้ถูกลำเลียงขึ้นเหนือเข้าไปยังตุรกี ก่อนจะขนส่งต่อไปจนถึงท่าส่งออกน้ำมันเชย์ฮาน (Ceyhan) ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งทำให้อังการาได้รับค่าธรรมเนียมผ่านทางอย่างงามทีเดียว คาดหมายกันว่าเมื่อโครงการสร้างสายท่อขนส่งก๊าซสายหนึ่งสำเร็จเสร็จสิ้นลง ซึ่งตามกำหนดการจะเป็นปี 2017 ตุรกีก็จะได้รับค่าธรรมเนียมมากขึ้นอีก
พวกบริษัทพลังงานต่างชาติทั้งหลาย ซึ่งประกอบไปด้วย เอซซอน-โมบิล (Exxon-Mobil), เชฟรอน (Chevron), มาราธอน (Marathon), เฮสส์ (Hess), กาซปรอม เนฟต์ (Gazprom Neft) , ซิโนเปค (Sinopec), และ ดีเอ็นโอ (DNO) ต่างต้องการให้เออร์บิลกับแบกแดดสามารถตกลงอยู่ร่วมกันได้อย่างมีเหตุมีผลเช่นเดียวกัน พวกเขาปรารถนาที่จะได้เห็นดินแดนทั้ง 2 ส่วนนี้ มีการสำรวจขุดเจาะอย่างเสรียิ่งขึ้น และเส้นทางส่งออกเพิ่มมากขึ้น โดยปราศจากความตึงเครียดระหว่างกันถึงขั้นเกือบจะเกิดสงครามขึ้นอย่างที่เคยเป็นมา
ในส่วนของอิสราเอลนั้น ความปรารถนาของเขาก็คือ ต้องการเห็นเคอร์ดิสถานกลายเป็นชาติทรงอำนาจระดับภูมิภาค ซึ่งสามารถที่จะรับใช้ผลประโยชน์ของอิสราเอลในการต่อต้านคัดค้านทั้งอิหร่านและทั้งพวกหัวรุนแรงชาวสุหนี่ อิสราเอลได้เคยสนับสนุนกองจรยุทธ์ชาวเคิร์ดในการต่อต้านซัดดัม ฮุนเซน และในการต่อต้านพวกมุลลาห์ผู้สอนศาสนาซึ่งครองอำนาจอยู่ในอิหร่าน โดยที่อิสราเอลพยายามนำเสนอตนเองว่าเป็นมาตุภูมิของผู้คนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ไร้รัฐ และดังนั้นจึงต้องการที่จะมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มผู้ไร้รัฐอีกกลุ่มหนึ่งอย่างชาวเคิร์ด แน่นอนทีเดียวว่า ผลประโยชน์ของอิสราเอลนั้นขัดแย้งกับของอิหร่าน แต่ความที่เตหะรานอยู่ใกล้ชิดกับเคอร์ดิสถานมากกว่า จึงอาจจะกลายเป็นผู้กำชัยชนะเหนือฝ่ายอิสราเอลที่มุ่งเน้นเรื่องความช่วยเหลือในอดีตและคำบรรยายว่าด้วยการมีประสบการณ์ร่วมกัน
ข่าวคราวการที่ชาวเคิร์ดรวมกำลังเข้าป้องกันเมืองโคบานี (Kobane) เมืองชายแดนซีเรียติดต่อกับตุรกี ไม่ให้ตกอยู่ในอุ้งมือของพวกไอเอส ตลอดจนการที่นักรบสตรีมีบทบาทในกองกำลังอาวุธของชาวเคิร์ด เหล่านี้ทำให้อุดมการณ์ชาตินิยมของชาวเคิร์ดกลายเป็นที่รู้จักแพร่หลายในส่วนต่างๆ จำนวนมากของโลก ดังนั้น นอกเหนือจากมีชาวเคิร์ดด้วยกันเดินทางหลั่งไหลจากตุรกีและอิหร่าน เข้ามาขอร่วมรบกับกองทหารเคอร์ดิสถานด้วยแล้ว ยังมีอาสาสมัครต่างชาติที่มาจากสหรัฐฯ, แคนาดา, อิสราเอล, เนเธอร์แลนด์, และเยอรมนี อีกด้วย
สุหนี่ระแวงภัย
การผงาดขึ้นมาของเคอร์ดิสถานเช่นนี้ บังเกิดขึ้นโดยที่พวกอาหรับสุหนี่เป็นฝ่ายสูญเสีย พวกเขาเคยเป็นผู้ครองอำนาจครอบงำอิรักอยู่เป็นเวลาหลายทศวรรษ และตอนนี้ก็ยังอยู่ในอาการโงนเงนงุนงง จากการขึ้นสู่อำนาจอย่างฉับพลันกะทันหันของชาวเคิร์ดและชาวชิอะห์ ในสายตาของชาวสุหนี่เหล่านี้ ข้อตกลงระหว่างแบกแดดกับเออร์บิลเมื่อเร็วๆ นี้ คงจะไม่ได้มีแค่เรื่องเกี่ยวกับน้ำมันและพวกไอเอสเท่านั้น หากแต่ยังมีเรื่องที่จะช่วยกันทำให้มั่นใจได้ว่าชาวสุหนี่จะต้องตกเป็นเบี้ยล่างและกลายเป็นพวกที่ไม่มีปากมีเสียงต่อไปเรื่อยๆ
อันที่จริง ในการณรงค์ต่อสู้กับพวกไอเอสของกองกำลังชาวเคิร์ดและชาวชิอะห์เวลานี้ ก็มีการแถมพกด้วยการเข้าทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวสุหนี่, พยายามขับไล่พวกเขาออกไปจากภาคเหนือและภาคกลาง และให้เข้าไปอยู่ในจังหวัดอันบาร์ (Anbar) ที่อยู่ทางภาคตะวันตกของอิรัก เวลานี้บ่อน้ำมันต่างๆ ของฝ่ายสุหนี่ที่อยู่รอบๆ เมืองเคอร์คุค (Kirkuk) ได้ตกไปอยู่ในกำมือของชาวเคิร์ดแล้ว
ในสถานการณ์เช่นนี้ ชาวสุหนี่มีหนทางเลือกที่ขัดแย้งกันอยู่รวม 2 ทางด้วยกัน หนทางแรกคือการลุกขึ้นจับอาวุธเข้าต่อสู้กับพวกไอเอสและช่วยทำให้นักรบญิฮัดเหล่านี้ประสบความปราชัย จากการกระทำเช่นนี้ ชาวสุหนี่ก็อาจจะได้รับความนิยมชมชื่นจากสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะช่วยเหลือให้พวกเขาได้รับข้อตกลงรอมชอมทางการเมืองที่เป็นประโยชน์ในอนาคต ส่วนหนทางที่สอง คือการเข้าเป็นพันธมิตรชนิดชั่วคราว (และสามารถปฏิเสธว่าไม่มีอยู่จริง) กับพวกไอเอส จวบจนกระทั่งได้รับการอ่อนข้อในทางการเมืองอย่างเป็นที่น่าพอใจจากแบกแดด, เออร์บิล, และวอชิงตันแล้ว
บรรดารัฐที่เป็นราชอาณาจักรของชาวสุหนี่ในภูมิภาคแถบนี้ ก็มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการก้าวผงาดขึ้นมาของเคอร์ดิสถาน ตลอดจนข้อตกลงที่ฝ่ายเคิร์ดทำกับแบกแดด ราชอาณาจักรเหล่านี้ได้เคยให้ความสนับสนุนมายาวนานแก่กลุ่มชาวสุหนี่ที่ดำเนินการต่อต้านการปกครองของชิอะห์ในอิรัก โดยมองว่านี่เป็นหนทางหนึ่งในการสกัดขัดขวางอำนาจของฝ่ายอิหร่าน-ชิอะห์ ซึ่งเวลานี้สามารถแผ่ขยายจากอิหร่านไปจนถึงเลบานอน และตามมุมมองของราชอาณาจักรเหล่านี้แล้ว นี่คือภัยคุกคามพวกเขา สภาวการณ์เช่นนี้อาจจะกระตุ้นให้พวกเขาเพิ่มบทบาทในสงครามปราบปรามไอเอส และแข่งขันชิงดีชิงเด่นในศึกคราวนี้กับฝ่ายอิหร่านและหุ้นส่วนชิอะห์ทั้งหลาย
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันช่วงชิงกันและชัยชนะที่ตามมา น่าจะเป็นเพียงการปูพื้นไปสู่สภาวการณ์ที่มีความขัดแย้งทางด้านนิกายศาสนาอย่างหนักข้อยิ่งขึ้นในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียเท่านั้น เมื่อพิจารณาจากแง่มุมนี้ การที่สหรัฐฯเข้าไปปรากฏตัวใหม่อีกคำรบหนึ่งในอิรัก ก็อาจจะเป็นการวางตำแหน่งของตนเอง ในท่ามกลางความขัดแย้งที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นนี้
ไบรอัน เอ็ม ดาวนิ่ง เป็นนักวิเคราะห์ด้านการเมือง-การทหาร เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Military Revolution and Political Change และ The Paths of Glory: Social Change in America from the Great War to Vietnam ตลอดจนร่วมกับ แดนนี่ ริตต์แมน (Danny Rittman) เขียนหนังสือเรื่อง The Samson Heuristic สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ brianmdowning@gmail.com
Kurdistan stays its hand, for now
By Brian M Downing
11/12/2014
เคอร์ดิสถาน ดินแดนกึ่งปกครองตนเองของชาวเคิร์ดทางภาคเหนือของอิรัก เมื่อสองสามเดือนก่อน ทำท่าเกือบๆ จะประกาศแยกตัวออกมาเป็นประเทศเอกราชอย่างเต็มรูปอยู่แล้ว แต่มาถึงเวลานี้ดูเหมือนตัดสินใจที่จะยังคงอยู่ภายในกรอบโครงทางการเมืองของอิรักต่อไป เหตุผลสำคัญอาจจะเนื่องจากภัยคุกคามของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” นั้น เรียกร้องให้ชาวเคิร์ดต้องร่วมมือประสานงานกับแบกแดด ขณะเดียวกัน ราคาพลังงานซึ่งตกฮวบฮาบก็ช่วยบีบบังคับให้พวกเขาสามารถทำข้อตกลงจัดสรรแบ่งปันรายได้จากน้ำมันกับรัฐบาลกลางในกรุงแบกแดดได้สำเร็จ ซึ่งทำให้ฝ่ายเคิร์ดมีส่วนแบ่งจากการส่งออกน้ำมันทางภาคใต้ของอิรักด้วย อย่างไรก็ดี การที่ชาวเคิร์ดมีความเชื่อมั่นและความมุ่งมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ยังคงมีความระแวงสงสัยกันเกี่ยวกับแผนอุบายซ่อนเร้น ที่จะมีการสถาปนา “มหาเคอร์ดิสถาน” ซึ่งเป็นเอกราชและผนวกรวมเอาดินแดนของชาวเคิร์ดในประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เข้ามาด้วย
“เคิร์ดดิสถาน” (Kurdistan) ดินแดนกึ่งปกครองตนเองของชาวเคิร์ดทางภาคเหนือของอิรัก จะยังคงอยู่ภายในกรอบโครงทางการเมืองของประเทศนี้ต่อไป อย่างน้อยที่สุดก็ในตอนนี้ ภายหลังจากอยู่ในความขัดแย้งมายาวนานหลายปี โดยที่ในระยะหลังๆ ถึงขนาดเกือบๆ จะทำสงครามกันทีเดียว แต่เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อิรัก กับ เคอร์ดิสถาน ก็ได้ประกาศการลงนามกันในข้อตกลงว่าด้วยการจัดสรรแบ่งปันรายได้จากน้ำมัน สัญญาที่เซ็นกันนี้เปิดทางให้ฝ่ายเคิร์ดสามารถส่งออกน้ำมันที่อยู่ในดินแดนปกครองของตนได้ รวมทั้งยังให้พวกเขามีส่วนแบ่งในน้ำมันที่ไม่ได้เป็นของชาวเคิร์ด ซึ่งส่งออกจากทางภาคใต้ของอิรักอีกด้วย รายละเอียดต่างๆ ของข้อตกลงฉบับนี้ยังไม่ได้มีการเปิดเผยออกมาอย่างชัดเจน และเมื่อไม่กี่วันก่อน รัฐบาลกลางของอิรักในกรุงแบกแดดได้ออกคำแถลงในลักษณะของการร้องค้านหลายฉบับที่มีข้อความกำกวมเคลือบคลุม ทำให้มีการพิจารณากันว่านานาชาติอาจจะต้องออกแรงกดดันกันอีก
เพียงเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ชาวเคิร์ดดูเหมือนจะยืนอยู่ตรงปากขอบของการประกาศเอกราชอย่างเต็มตัวอยู่แล้ว แต่แล้วก็กลับตัดสินใจถอยหลังกลับ เคอร์ดิสถานนั้นไม่สามารถที่จะฝ่าฟันเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ในทางกฎหมายที่อิรักหยิบยกขึ้นมาเพื่อขัดขวางการส่งออกน้ำมันจากส่วนที่อยู่ในการปกครองของฝ่ายเคิร์ด ขณะที่ภัยคุกคามอันเกิดจากกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (Islamic State หรือ IS) ก็เรียกร้องให้ต้องร่วมมือประสานงานกับทางแบกแดด แล้วยิ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกกำลังลดต่ำลงฮวบฮาบ ทำให้เคอร์ดิสถานประสบปัญหาหนักหน่วง จึงยิ่งต้องการความช่วยเหลือจากแบกแดด
การเป็นรัฐชาติ (nation-state) ซึ่งตามความเข้าใจในโลกตะวันตกนั้น ลักษณะสำคัญอยู่ที่การมีประชาชนและรัฐบาลซึ่งเป็นเอกภาพ ถึงแม้ในทางพฤตินัยแล้ว รัฐชาติทั้งหลายมักจะเป็นแนวความคิดครอบคลุมกว้างๆ, เป็นอุดมคติ, หรือเป็นหน้าฉากเอาไว้คุยโม้ซึ่งเบื้องหลังซุกซ่อนการกดขี่ หรือกระทั่งอำพรางความต้องการที่จะกำจัดตัดขาดอดีตอย่างถอนรากถอนโคน เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ทำให้รัฐชาติในดินแดนหลายๆ ส่วนของพื้นพิภพเรา เกิดความอ่อนแอลงทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกอิสลาม ซึ่งพวกมหาอำนาจต่างชาติเป็นผู้บงการกำหนดพรมแดนของรัฐชาติจำนวนมาก ขณะที่พวกผู้นำชาวพื้นถิ่นก็ล้มเหลวไม่สามารถเอาชนะเรียกร้องความไว้วางใจจากผู้ที่พวกเขาปกครองมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วได้
แรงกดดันระหว่างประเทศ
ถึงแม้สหรัฐฯเองนั่นแหละที่เป็นผู้แสดงบทบาทสำคัญยิ่งในการนำเอาความเป็นศัตรูกันในทางนิกายศาสนาและในทางเชื้อชาติภายในอิรัก ให้โผล่ขึ้นมาบนดินอย่างเปิดเผย ด้วยการโค่นล้มยังความปราชัยให้แก่ ซัดดัม ฮุสเซน ในปี 2003 แต่ลุงแซมก็แสดงท่าทีสนับสนุนรัฐอิรักที่เป็นเอกภาพเสมอมา ทั้งนี้เมื่อเร็วๆ นี้ สหรัฐฯได้ลงแรงเป็นอย่างมากในการผลักดันให้เกิดข้อตกลงการจัดสรรแบ่งปันรายได้จากน้ำมันดังที่กล่าวข้างต้น เพื่อให้เป็นพื้นฐานสำหรับสร้างความสามัคคีร่วมไม้ร่วมมือกันในการต่อสู้ปราบปรามกลุ่มไอเอส สหรัฐฯนั้นต้องการพันธมิตรที่เชื่อถือได้สักรายหนึ่งในภูมิภาคนี้ เป็นพันธมิตรที่มีประเพณียาวนานในเรื่องการทำศึกสู้รบ, และถ้าหากเลือกได้ ก็ขอให้เป็นพันธมิตรที่มีแนวความคิดกลางๆ ไม่สุดโต่งในเรื่องศาสนา
ชาวเคิร์ดเป็นพวกที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์เหล่านี้อยู่มากทีเดียว พวกเขามีประวัติศาสตร์ทางการทหารอันอุดมสมบูรณ์ ถึงแม้ด้านหลักจะเป็นการทำสงครามจรยุทธ์ต่อต้านพวกรัฐและจักรวรรดิที่เข้ามารุกรานล่วงล้ำ, ค่อยๆ ทำให้พวกศัตรูอ่อนล้า, และบังคับให้พวกเขาล่าถอยไปมากกว่าจะเข้าต่อตีให้พวกเขาปราชัยอย่างเปิดเผยชัดเจน แต่มาถึงเวลานี้ชาวเคิร์ดได้ก่อตั้งสิ่งซึ่งมีความใกล้เคียงกับรัฐขึ้นมาแล้ว พวกเขาจะต้องจัดตั้งกองทัพแบบแผนขึ้นเพื่อพิทักษ์ป้องกันดินแดนของพวกเขา –ทั้งจากพวกไอเอสในวันนี้ และจากรัฐอื่นๆ ไม่ว่าหน้าไหนในวันข้างหน้า
ด้วยการประสานกับแสนยานุภาพทางอากาศของอเมริกันและพันธมิตร กองทหารอิรักและกองทหารชาวเคิร์ด ถึงแม้ยังคงหนาแน่นด้วยปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นและการเล่นพรรคเล่นพวก ก็กำลังผลักดันพวกนักรบญิฮัดไอเอสให้ค่อยๆ ล่าถอยกลับไปได้ ทั้ง 2 กองทัพนี้มีการร่วมมือประสานงานกัน อย่างไรก็ตาม แทบไม่มีลู่ทางความหวังเลยที่จะรวมเอาพวกเขาเข้าเป็นกองทัพเดียวกัน นี่ย่อมเป็นการบอกให้ทราบอย่างชัดเจนด้วยเช่นกันถึงลู่ทางความหวังที่แบกแดดกับเออร์บิล (Erbil เมืองหลวงของดินแดนเคอร์ดิสถาน) จะสามารถทำความตกลงกันได้อย่างถาวร
ทางด้านอิหร่านก็มีความปรารถนาไม่แตกต่างจากอเมริกา พวกเขาต้องการพันธมิตรที่ทรงอำนาจสักรายหนึ่ง ทั้งเพื่อการป้องกันและต่อสู้ปราบปรามกลุ่มไอเอสในระยะสั้น และในระยะยาวเพื่อการต่อสู้กับเล่ห์กลแผนร้ายของพวกรัฐที่เป็นราชอาณาจักรสุหนี่ในภูมิภาคแถบนี้ ทั้งนี้อิหร่านย่อมต้องการที่จะให้อิรักและเคอร์ดิสถาน หลีกเลี่ยงจากการมีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับสหรัฐฯและอิสราเอล ทว่านั่นดูจะไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ดี อิหร่านยังคงสามารถได้รับผลดีจากความโชคร้ายเช่นนี้ ทั้งนี้อิหร่านสามารถที่จะนำเสนอให้เห็นว่า ความสำคัญที่ตนมีอยู่ในการทำสงครามกับไอเอสนั้น เป็นเครื่องบ่งบอกอยู่ในตัวว่านโยบายการต่างประเทศของตนมีคุณค่ามีความหมายคู่เคียงขนานไปกับนโยบายของทางฝ่ายตะวันตก และดังนั้นจึงเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่จะรองรับการเดินหน้าเพิ่มความร่วมมือระหว่างอิหร่านกับฝ่ายตะวันตกให้มากขึ้น –ขณะเดียวกันก็เป็นเหตุผลสำหรับการห้ามปรามไม่ให้อิสราเอลเข้าโจมตีอิหร่านด้วยเช่นกัน
ถึงแม้ความมั่นใจและความมุ่งมั่นที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ของชาวเคิร์ด ทำให้เกิดคำถามเกิดความระแวงสงสัยขึ้นมา ในเรื่องเกี่ยวกับการสถาปนา “มหาเคอร์ดิสถาน” (greater Kurdistan) ซึ่งจะเป็นประเทศเอกราชของชาวเคิร์ด ที่นอกเหนือจากเคอร์ดิสถานแล้ว ยังผนวกรวบรวมเอาดินแดนของชาวเคิร์ดในชาติเพื่อนบ้านใกล้เคียงเข้าไว้ด้วย แต่สำหรับชาติเพื่อนบ้านใหญ่รายหนึ่งอย่างตุรกีแล้ว ยังคงมองโอกาสต่างๆ ในท่ามกลางความเสี่ยงเหล่านี้ และปรารถนาที่จะให้เออร์บิลกับแบกแดดสามารถตกลงอยู่ร่วมกันได้อย่างมีเหตุมีผล อันที่จริงแล้ว น้ำมันของเคิร์ดจำนวนมากทีเดียวได้ถูกลำเลียงขึ้นเหนือเข้าไปยังตุรกี ก่อนจะขนส่งต่อไปจนถึงท่าส่งออกน้ำมันเชย์ฮาน (Ceyhan) ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งทำให้อังการาได้รับค่าธรรมเนียมผ่านทางอย่างงามทีเดียว คาดหมายกันว่าเมื่อโครงการสร้างสายท่อขนส่งก๊าซสายหนึ่งสำเร็จเสร็จสิ้นลง ซึ่งตามกำหนดการจะเป็นปี 2017 ตุรกีก็จะได้รับค่าธรรมเนียมมากขึ้นอีก
พวกบริษัทพลังงานต่างชาติทั้งหลาย ซึ่งประกอบไปด้วย เอซซอน-โมบิล (Exxon-Mobil), เชฟรอน (Chevron), มาราธอน (Marathon), เฮสส์ (Hess), กาซปรอม เนฟต์ (Gazprom Neft) , ซิโนเปค (Sinopec), และ ดีเอ็นโอ (DNO) ต่างต้องการให้เออร์บิลกับแบกแดดสามารถตกลงอยู่ร่วมกันได้อย่างมีเหตุมีผลเช่นเดียวกัน พวกเขาปรารถนาที่จะได้เห็นดินแดนทั้ง 2 ส่วนนี้ มีการสำรวจขุดเจาะอย่างเสรียิ่งขึ้น และเส้นทางส่งออกเพิ่มมากขึ้น โดยปราศจากความตึงเครียดระหว่างกันถึงขั้นเกือบจะเกิดสงครามขึ้นอย่างที่เคยเป็นมา
ในส่วนของอิสราเอลนั้น ความปรารถนาของเขาก็คือ ต้องการเห็นเคอร์ดิสถานกลายเป็นชาติทรงอำนาจระดับภูมิภาค ซึ่งสามารถที่จะรับใช้ผลประโยชน์ของอิสราเอลในการต่อต้านคัดค้านทั้งอิหร่านและทั้งพวกหัวรุนแรงชาวสุหนี่ อิสราเอลได้เคยสนับสนุนกองจรยุทธ์ชาวเคิร์ดในการต่อต้านซัดดัม ฮุนเซน และในการต่อต้านพวกมุลลาห์ผู้สอนศาสนาซึ่งครองอำนาจอยู่ในอิหร่าน โดยที่อิสราเอลพยายามนำเสนอตนเองว่าเป็นมาตุภูมิของผู้คนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ไร้รัฐ และดังนั้นจึงต้องการที่จะมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มผู้ไร้รัฐอีกกลุ่มหนึ่งอย่างชาวเคิร์ด แน่นอนทีเดียวว่า ผลประโยชน์ของอิสราเอลนั้นขัดแย้งกับของอิหร่าน แต่ความที่เตหะรานอยู่ใกล้ชิดกับเคอร์ดิสถานมากกว่า จึงอาจจะกลายเป็นผู้กำชัยชนะเหนือฝ่ายอิสราเอลที่มุ่งเน้นเรื่องความช่วยเหลือในอดีตและคำบรรยายว่าด้วยการมีประสบการณ์ร่วมกัน
ข่าวคราวการที่ชาวเคิร์ดรวมกำลังเข้าป้องกันเมืองโคบานี (Kobane) เมืองชายแดนซีเรียติดต่อกับตุรกี ไม่ให้ตกอยู่ในอุ้งมือของพวกไอเอส ตลอดจนการที่นักรบสตรีมีบทบาทในกองกำลังอาวุธของชาวเคิร์ด เหล่านี้ทำให้อุดมการณ์ชาตินิยมของชาวเคิร์ดกลายเป็นที่รู้จักแพร่หลายในส่วนต่างๆ จำนวนมากของโลก ดังนั้น นอกเหนือจากมีชาวเคิร์ดด้วยกันเดินทางหลั่งไหลจากตุรกีและอิหร่าน เข้ามาขอร่วมรบกับกองทหารเคอร์ดิสถานด้วยแล้ว ยังมีอาสาสมัครต่างชาติที่มาจากสหรัฐฯ, แคนาดา, อิสราเอล, เนเธอร์แลนด์, และเยอรมนี อีกด้วย
สุหนี่ระแวงภัย
การผงาดขึ้นมาของเคอร์ดิสถานเช่นนี้ บังเกิดขึ้นโดยที่พวกอาหรับสุหนี่เป็นฝ่ายสูญเสีย พวกเขาเคยเป็นผู้ครองอำนาจครอบงำอิรักอยู่เป็นเวลาหลายทศวรรษ และตอนนี้ก็ยังอยู่ในอาการโงนเงนงุนงง จากการขึ้นสู่อำนาจอย่างฉับพลันกะทันหันของชาวเคิร์ดและชาวชิอะห์ ในสายตาของชาวสุหนี่เหล่านี้ ข้อตกลงระหว่างแบกแดดกับเออร์บิลเมื่อเร็วๆ นี้ คงจะไม่ได้มีแค่เรื่องเกี่ยวกับน้ำมันและพวกไอเอสเท่านั้น หากแต่ยังมีเรื่องที่จะช่วยกันทำให้มั่นใจได้ว่าชาวสุหนี่จะต้องตกเป็นเบี้ยล่างและกลายเป็นพวกที่ไม่มีปากมีเสียงต่อไปเรื่อยๆ
อันที่จริง ในการณรงค์ต่อสู้กับพวกไอเอสของกองกำลังชาวเคิร์ดและชาวชิอะห์เวลานี้ ก็มีการแถมพกด้วยการเข้าทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวสุหนี่, พยายามขับไล่พวกเขาออกไปจากภาคเหนือและภาคกลาง และให้เข้าไปอยู่ในจังหวัดอันบาร์ (Anbar) ที่อยู่ทางภาคตะวันตกของอิรัก เวลานี้บ่อน้ำมันต่างๆ ของฝ่ายสุหนี่ที่อยู่รอบๆ เมืองเคอร์คุค (Kirkuk) ได้ตกไปอยู่ในกำมือของชาวเคิร์ดแล้ว
ในสถานการณ์เช่นนี้ ชาวสุหนี่มีหนทางเลือกที่ขัดแย้งกันอยู่รวม 2 ทางด้วยกัน หนทางแรกคือการลุกขึ้นจับอาวุธเข้าต่อสู้กับพวกไอเอสและช่วยทำให้นักรบญิฮัดเหล่านี้ประสบความปราชัย จากการกระทำเช่นนี้ ชาวสุหนี่ก็อาจจะได้รับความนิยมชมชื่นจากสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะช่วยเหลือให้พวกเขาได้รับข้อตกลงรอมชอมทางการเมืองที่เป็นประโยชน์ในอนาคต ส่วนหนทางที่สอง คือการเข้าเป็นพันธมิตรชนิดชั่วคราว (และสามารถปฏิเสธว่าไม่มีอยู่จริง) กับพวกไอเอส จวบจนกระทั่งได้รับการอ่อนข้อในทางการเมืองอย่างเป็นที่น่าพอใจจากแบกแดด, เออร์บิล, และวอชิงตันแล้ว
บรรดารัฐที่เป็นราชอาณาจักรของชาวสุหนี่ในภูมิภาคแถบนี้ ก็มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการก้าวผงาดขึ้นมาของเคอร์ดิสถาน ตลอดจนข้อตกลงที่ฝ่ายเคิร์ดทำกับแบกแดด ราชอาณาจักรเหล่านี้ได้เคยให้ความสนับสนุนมายาวนานแก่กลุ่มชาวสุหนี่ที่ดำเนินการต่อต้านการปกครองของชิอะห์ในอิรัก โดยมองว่านี่เป็นหนทางหนึ่งในการสกัดขัดขวางอำนาจของฝ่ายอิหร่าน-ชิอะห์ ซึ่งเวลานี้สามารถแผ่ขยายจากอิหร่านไปจนถึงเลบานอน และตามมุมมองของราชอาณาจักรเหล่านี้แล้ว นี่คือภัยคุกคามพวกเขา สภาวการณ์เช่นนี้อาจจะกระตุ้นให้พวกเขาเพิ่มบทบาทในสงครามปราบปรามไอเอส และแข่งขันชิงดีชิงเด่นในศึกคราวนี้กับฝ่ายอิหร่านและหุ้นส่วนชิอะห์ทั้งหลาย
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันช่วงชิงกันและชัยชนะที่ตามมา น่าจะเป็นเพียงการปูพื้นไปสู่สภาวการณ์ที่มีความขัดแย้งทางด้านนิกายศาสนาอย่างหนักข้อยิ่งขึ้นในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียเท่านั้น เมื่อพิจารณาจากแง่มุมนี้ การที่สหรัฐฯเข้าไปปรากฏตัวใหม่อีกคำรบหนึ่งในอิรัก ก็อาจจะเป็นการวางตำแหน่งของตนเอง ในท่ามกลางความขัดแย้งที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นนี้
ไบรอัน เอ็ม ดาวนิ่ง เป็นนักวิเคราะห์ด้านการเมือง-การทหาร เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Military Revolution and Political Change และ The Paths of Glory: Social Change in America from the Great War to Vietnam ตลอดจนร่วมกับ แดนนี่ ริตต์แมน (Danny Rittman) เขียนหนังสือเรื่อง The Samson Heuristic สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ brianmdowning@gmail.com