xs
xsm
sm
md
lg

รายงานแฉ CIA ยัดเงินให้ “โปแลนด์” เป็นค่าใช้สถานที่เปิด “คุกลับ” ขังแกนนำอัลกออิดะห์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไดแอน เฟนสไตน์ ประธานคณะกรรมการข่าวกรองแห่งวุฒิสภา แถลงรายงานพิเศษว่าด้วยเทคนิคการทรมานนักโทษของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ)
รอยเตอร์ - รัฐบาลโปแลนด์เคยขู่จะขัดขวางการส่งตัวผู้ต้องหาอัลกออิดะห์ไปยัง “คุกลับซีไอเอ” ที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินของตนเมื่อ 11 ปีก่อน แต่สุดท้ายก็ยอม “ยืดหยุ่น” หลังได้รับเงินปิดปากก้อนโตจากสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) รายงานพิเศษจากวุฒิสภาสหรัฐฯ เผยวานนี้ (9 ธ.ค.)

เจ้าหน้าที่อเมริกันและรัฐบาลโปแลนด์ระบุว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ต่อโทรศัพท์พูดคุยกับนายกรัฐมนตรี อีวา โกแพดซ์ เมื่อวันจันทร์ (8) ก่อนที่รายงานฉบับนี้จะถูกตีแผ่ให้สาธารณชนทราบ

แม้รายงานซึ่งผ่านการปรับแก้หลายจุดจะไม่ได้เอ่ยถึงโปแลนด์ตรงๆ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าไม่ได้หมายถึงชาติอื่นใด เนื่องจากรายละเอียดต่างๆ เช่น รายชื่อผู้ต้องหา 3 คน และวันเวลาที่พวกเขาถูกส่งตัว ล้วนสอดคล้องกับข้อมูลในเอกสารอื่นๆ รวมไปถึงคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปกรณีคุกลับ หรือ “แบล็กไซต์” ของซีไอเอในโปแลนด์

รายละเอียดที่วุฒิสภาสหรัฐฯ เอ่ยอ้างยังตรงกับคำสัมภาษณ์บุคคลที่ใกล้ชิดกระบวนการสอบสวนของรัฐบาลโปแลนด์เกี่ยวกับสถานที่อันลึกลับนี้

ซีไอเอยังไม่ออกมาตอบโต้รายงานของวุฒิสภา ขณะที่เจ้าหน้าที่โปแลนด์เองก็ไม่เคยยอมรับว่ามีคุกลับซีไอเออยู่บนแผ่นดินของตน

โฆษกหญิงของรัฐบาลโปแลนด์ไม่ยอมรับโทรศัพท์ และไม่ตอบอีเมล์ที่ผู้สื่อข่าวส่งไปสอบถามความเห็น ส่วนโฆษกของเลซเซ็ก มิลเลอร์ ซึ่งเป็นผู้นำกรุงวอร์ซอในช่วงเวลาที่ถูกอ้างว่ามีคุกลับซีไอเออยู่ในโปแลนด์ ก็ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเช่นกัน

คำพิพากษาของศาลยุโรปในเมืองสตราสบูร์ก ระบุไว้ว่า ในช่วงปี 2002-2003 ซีไอเอ ได้เปิดคุกลับแห่งหนึ่งใกล้ๆ กับหมู่บ้าน Stare Kiejkuty ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของโปแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายคุกลับที่ซีไอเอมีอยู่ทั่วโลก

คุกลับในโปแลนด์ถูกใช้เป็นสถานที่คุมขังนักโทษผู้ต้องสงสัยว่าเป็นเครือข่ายอัลกออิดะห์ โดยพวกเขาจะถูกสอบสวนด้วยเทคนิคป่าเถื่อนต่างๆ นานา ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนชี้ว่าเข้าข่าย “ทรมาน”

รายงานที่คณะกรรมการข่าวกรองแห่งวุฒิสภาสหรัฐฯ เผยแพร่วานนี้ (9) อธิบายด้วยว่า โครงการส่งผู้ร้ายข้ามประเทศของซีไอเอได้บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับโปแลนด์ ซึ่งเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่เหนียวแน่นที่สุดของอเมริกาในทวีปยุโรป

แหล่งข่าวใกล้ชิดรัฐบาลโปแลนด์ในเวลานั้นเผยว่า โปแลนด์ต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับกับสหรัฐฯ ไว้ แม้จะรู้ดีว่าการยอมให้ซีไอเอใช้พื้นที่เปิดคุกลับอาจเสี่ยงต่อการถูกเอาผิดตามกฎหมาย

วุฒิสภาสหรัฐฯ ระบุว่า กรุงวอร์ซอเคยเสนอให้ร่างบันทึกความเข้าใจเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบของซีไอเอในคุกลับดังกล่าว ทว่าซีไอเอไม่ยินยอม

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลโปแลนด์จึงปฏิเสธที่จะรับตัวนักโทษ ซึ่งรวมถึง ชัยค์ คอลิด โมฮาเหม็ด ผู้ต้องหาบงการเหตุวินาศกรรมสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001

“ท่าทีของโปแลนด์เปลี่ยนไป หลังจากเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เข้าแทรกแซงในนามของซีไอเอ และในเดือนถัดมาซีไอเอก็ได้ส่งเงินสดก้อนโตไปยังโปแลนด์”

แม้รายงานจะไม่ได้เอ่ยชื่อทูต แต่จากการสืบค้นพบว่าเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำโปแลนด์ในเวลานั้นคือ คริสโตเฟอร์ ฮิลล์

หลังได้รับ “เงินปิดปาก” แล้ว เจ้าหน้าที่รัฐบาลโปแลนด์ก็ “ยอมยืดหยุ่นเกี่ยวกับจำนวนผู้ต้องหาที่ซีไอเอจะส่งไปยังคุกลับ รวมถึงระยะเวลาในการใช้สถานที่” รายงานเผย

หลายปีต่อมา เจ้าหน้าที่โปแลนด์ก็ต้อง “หัวเสียอย่างหนัก” เมื่อรายละเอียดโครงการคุกลับถูกเปิดโปงทีละน้อยโดยแหล่งข่าวในวอชิงตันเอง และกรุงวอร์ซอยังผิดหวังที่ไม่ได้รับคำเตือนล่วงหน้าจากสหรัฐฯ ก่อนที่ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช จะเอ่ยยอมรับในปี 2006 ว่าโครงการเช่นนี้มีอยู่จริง

อดัม บอดนาร์ รองประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนเฮลซิงกิซึ่งมีฐานอยู่ที่กรุงวอร์ซอ ออกมาตำหนิรัฐบาลโปแลนด์ว่า “เห็นแก่เงินจนยอมทรยศต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมถึงค่านิยมต่างๆ ที่ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญโปแลนด์”

รัฐธรรมนูญโปแลนด์มีบทบัญญัติห้ามใช้วิธีทรมาน หรือการปฏิบัติอย่างป่าเถื่อนไร้มนุษยธรรมต่อบุคคล

เมื่อเดือนมกราคม หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ได้รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ซีไอเอซึ่งไม่ประสงค์ออกชื่อว่า หน่วยงานแห่งนี้นำเงินสด 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯยัดใส่กล่องกระดาษ 2 ใบไปมอบแก่รัฐบาลโปแลนด์เพื่อเป็นค่าขอใช้สถานที่

กำลังโหลดความคิดเห็น