xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ เตือนไทย-อัฟกัน-ปากีฯ หวั่นเกิด “รุนแรง” หลังเปิดรายงาน CIA ทรมานนักโทษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - สถานทูตสหรัฐฯ ในไทยและอีก 2 ชาติ ออกคำเตือนถึงความเป็นไปได้ที่อาจมีการประท้วงและเหตุรุนแรงต่อต้านอเมริกัน ภายหลังมีการเผยแพร่รายงานของวุฒิสภาที่กรุงวอชิงตันวันอังคาร (9 ธ.ค.) ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงพฤติการณ์ของซีไอเอ ในการทรมานผู้ถูกควบคุมตัวภายหลังวินาศกรรม 9/11 โดยมีการสอบปากคำด้วยความโหดร้ายทารุณยิ่งกว่าที่เคยเปิดเผยออกมา รวมทั้งมีการระบุว่าไทยถูกใช้เป็นสถานที่แห่งแรกซึ่งมีการใช้วิธีทรมานแบบ “วอเตอร์บอร์ดดิ้ง” ทางด้านยูเอ็นและองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง ออกมาเรียกร้องให้ดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด กระนั้น แหล่งข่าวเผยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ไม่มีแผนขยับทำอะไรในเรื่องนี้

ก่อนหน้าที่จะมีการเผยแพร่รายงานสำคัญฉบับนี้ ทางการสหรัฐฯได้สั่งให้สถานเอกอัครราชทูตต่างๆ รวมทั้งสถานที่ตั้งทางทหารทั้งหลายของอเมริกาในทั่วโลก เพิ่มการรักษาความปลอดภัย เพื่อเตรียมรับมือหากเกิดมีการก่อเหตุแก้แค้นต่อต้านอเมริกันขึ้นมา

และหลังการเผยแพร่รายงานนี้แล้ว สำนักข่าวเอพีระบุว่า สถานเอกอัครราชทูตของสหรัฐฯประจำอัฟกานิสถาน, ปากีสถาน และไทย ได้ออกคำเตือนให้ระวังความเป็นไปได้ที่จะเกิดการประท้วงและเหตุรุแรงต่อต้านอเมริกัน รวมทั้งแนะนำชาวอเมริกันใน 3 ประเทศนี้ให้คอยระมัดระวังตัวเพื่อความปลอดภัยอย่างเหมาะสม เป็นต้นว่าหลีกเลี่ยงจุดที่มีการชุมนุมเดินขบวน

สำหรับรายงานของคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาสหรัฐฯชิ้นนี้ ซึ่งใช้เวลาในการจัดทำและในการถกเถียงเกี่ยวกับเนื้อหาอยู่เป็นเวลาหลายปี เป็นการศึกษาทบทวนเอกสารภายในราวๆ 6.3 ล้านหน้าของสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ทั้งนี้ ตัวรายงานการสอบสวนฉบับเต็มซึ่งยังถือเป็นเอกสารลับอยู่มีความยาว 6,700 หน้า และสิ่งที่นำออกเผยแพร่คราวนี้ซึ่งมี 524 หน้าเป็นการตัดทอนจากส่วนบทสรุปสำหรับผู้บริหารและข้อสรุปต่างๆ ของรายงานฉบับเต็ม กระนั้นก็ยังมีการป้ายสีดำทับข้อความที่เห็นกันว่ามีความอ่อนไหวเป็นจำนวนมาก

แต่จากส่วนที่นำออกตีพิมพ์คราวนี้ก็เป็นการยืนยันและเพิ่มเติมข้อมูลที่ได้เคยรั่วไหลและเผยแพร่ก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับโครงการของซีไอเอในการกักขังและสอบปากคำผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งมีทั้งสมาชิกอัลกออิดะห์และนักโทษอื่นๆ ในช่วงระหว่างปี 2002-2006 ในขณะที่จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เป็นประธานาธิบดี

โดยที่รายงานการสอบสวนนี้มีข้อสรุปว่า ซีไอเอได้ใช้วิธีการต่างๆ ในการทรมานนักโทษเหล่านี้อย่างกว้างขวางและอย่างทารุณโหดร้ายยิ่งกว่าที่เคยเปิดเผยกันมา ทว่าไม่ประสบความสำเร็จได้รับข้อมูลที่มีคุณค่าชนิดที่จะไม่ได้รับจากการใช้ช่องทางอื่นๆ ตลอดจนซีไอเอยังตบตาไม่ได้รายงานความจริงทั้งหมดให้แก่พวกเจ้าหน้าที่คณะบริหารของบุช หรือสาธารณชนชาวอเมริกัน

โครงการสอบปากคำของซีไอเอเพื่อรีดข้อมูลจากผู้ต้องสงสัยหลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 มีการดำเนินการอยู่ในหลายประเทศ เป็นต้นว่า ไทย อัฟกานิสถาน โปแลนด์ และโรมาเนีย และมีนักโทษถูกสอบสวนราว 119 คน

รายงานระบุว่า มีนักโทษบางคนถูกรบกวนไม่ให้นอนเป็นเวลานานถึง 180 ชั่วโมง และตลอดระยะเวลานั้นถูกสวมกุญแจมือและชูมือเหนือศีรษะ รายงานยังระบุถึงวิธี “วอเตอร์บอร์ดดิ้ง” ซึ่งมีการมัดตัวปิดตาและเทน้ำใส่ผ้าที่ปิดใบหน้า ซึ่งทำให้ผู้ถูกทรมานมีความรู้สึกเหมือนกำลังจมน้ำ ตลอดจนมีการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งรวมถึงการให้อาหารหรือน้ำทางรูทวารโดยไม่มีความจำเป็นด้านการแพทย์แต่อย่างใด และวิธีการต่างๆ เหล่านี้ทำให้นักโทษคนหนึ่งเสียชีวิตเนื่องจากอุณหภูมิร่างกายลดต่ำเกินไปขณะที่ยังถูกพันธนาการ และบางคนแขนขาหัก

รายงานของคณะกรรมาธิการยังกล่าวถึงคุกใต้ดินที่นักโทษถูกขังเดี่ยวในสภาพถูกใส่โซ่ตรวนและห้องขังมืดสนิท มีเสียงดังอึกทึก และต้องขับถ่ายในถัง หรือการบังคับให้นักโทษอยู่ในสภาพเปลือยกายตลอดเวลาและมือถูกสวมกุญแจชูขึ้นเหนือศีรษะ

เซฟเฮาส์ซีไอเอในประเทศไทย

ทั้งนี้ ในรายงานที่เผยแพร่คราวนี้ มีการเอ่ยถึงเซฟเฮาส์แห่งหนึ่งของซีไอเอในไทย ว่าเป็นสถานที่แห่งแรกซึ่งซีไอเอนำเอาวิธีทรมานแบบ “วอเตอร์บอร์ดดิ้ง” มาใช้กับนักโทษ 2 คนที่เป็นสมาชิกระดับสูงของอัลกออิดะห์ คนหนึ่งคือ อบู ซูบายดะห์ ที่เป็นผู้ประสานงานการติดต่อกับภายนอกและการสื่อสารกับต่างประเทศของเครือข่ายนี้

หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ของไทยได้ระบุในรายงานที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของตนว่า นอกเหนือจากเรื่องนี้แล้ว รายงานของคณะกรรมาธิการวุฒิสภาสหรัฐฯนี้ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลใหม่ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ตั้งของเซฟเฮาส์ลับ หรือว่ารัฐบาลไทยเกี่ยวข้องด้วยแค่ไหน

“ในประเทศไทยนั้น มีความผิดหวังกัน เนื่องจากรายงานที่เผยแพร่นี้ยังคงไม่มีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับบทบาทของประเทศไทยในเรื่องการทำวอเตอร์บอร์ดดิ้ง, การเป็นสถานที่กักขังผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้ายจากทั่วโลก -และความเกี่ยวข้องพัวพันอย่างเจาะจงชัดเจนของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร, หน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ, และกองทัพไทย” รายงานของบางกอกโพสต์บอก

บางกอกโพสต์กล่าวด้วยว่า ได้ทราบมาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในรายงานฉบับที่ไม่มีการตัดทอนของวุฒิสภาสหรัฐฯนั้น มีการกล่าวอ้างว่า ซีไอเอเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่ตั้งเซฟเฮาส์ของตน เนื่องจากสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานของสหรัฐฯแห่งนี้กับพวกเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของไทย ตามรายงานฉบับเต็มนี้ นายกรัฐมนตรีทักษิณในเวลานั้น ไม่ได้รับการรายงานใดๆ จนกระทั่งหลังจากมีการนำเซฟเฮาส์ดังกล่าวมาใช้ในการปฏิบัติการจริงๆ แล้ว

บางกอกโพสต์บอกอีกว่า ตามรายงานฉบับไม่ตัดตอนนั้น กล่าวไว้ว่าทั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในตอนนั้น คือ จอร์จ ดับเบิลยู บุช และรองประธานาธิบดีในขณะนั้น คือ ดิ๊ก เชนีย์ ต่างทราบว่าเซฟเฮาส์ดังกล่าวนี้ตั้งอยู่ในไทย แต่ในฉบับตัดทอนที่นำออกเผยแพร่ไม่ได้ให้ข้อมูลใดๆ ในเรื่องความเกี่ยวข้องของรัฐบาลไทย, ฝ่ายข่าวกรองของไทย, หรือของฝ่ายทหารไทยเลย

รายงานของบางบอกโพสต์ชี้ว่า ตอนที่ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นช่วงที่ไทยกำลังให้ความช่วยเหลือสหรัฐฯอย่างมุ่งมั่น รวมทั้งการส่งทหารไทยไปเข้าร่วมกับสหรัฐฯทั้งในอัฟกานิสถานและในอิรัก

หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของไทยฉบับนี้อ้างคำพูดของแหล่งข่าวสหรัฐฯรายหนึ่งที่คุ้นเคยกับเนื้อหาของรายงานฉบับไม่ถูกเซนเซอร์ของวุฒิสภาอเมริกัน ซึ่งกล่าวว่า “ไทยเป็นฝ่ายเสนอที่จะให้ความช่วยเหลือซีไอเอ” และเมื่อจำนวนผู้ต้องขังในกำมือของสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้น สหรัฐฯจึงได้ไปจัดสถานที่ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในโปแลนด์ ซึ่งได้ถูกนำมาใช้แทนเซฟเฮาส์แห่งนั้นในไทย และการทรมานนักโทษบนดินแดนไทยได้สิ้นสุดลง เมื่อสถานกักขังชั่วคราวแห่งนั้นถูกปิดลงในเดือนธันวาคม 2002 หรือเดือนมกราคม 2003

บางกอกโพสต์กล่าวอีกว่า ในรายงานฉบับที่นำออกเผยแพร่วันพุธ ยังมีข้อความส่วนหนึ่งซึ่งเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการจับกุมตัว “ฮัมบาลี” หัวหน้าผู้ก่อการร้ายของกลุ่มเจมาอาห์ อิสลามิยะห์ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในเดือนสิงหาคม 2003 โดยที่รายงานนำเสนอเรื่องนี้เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับ “การอภิปราย” ว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องทำการสอบสวนอย่างทารุณกับผู้ก่อการรายอีกคนหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลว่าฮัมบาลีกำลังอาศัยอยู่ที่ไหน

เรียกร้องดำเนินคดีผู้รับผิดชอบ

ในระหว่างการแถลงต่อวุฒิสภา ภายหลังการเปิดตัวรายงานฉบับนี้ที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันอังคาร ไดแอนน์ เฟนสไตน์ ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองของสภาสูง กล่าวว่า บางครั้งเทคนิคการสอบปากคำเหล่านี้เกินเลยไปจนกระทั่งกลายเป็นการทรมาน และการดำเนินการของซีไอเอเมื่อสิบปีที่แล้วถือเป็นรอยมลทินต่อค่านิยมและประวัติศาสตร์ของอเมริกา

ทั้งนี้ ก่อนที่จะหมดวาระ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้สั่งยุติการดำเนินการบางอย่างของโครงการสอบปากคำนี้ ขณะที่โอบามาสั่งห้าม “เทคนิคการสอบสวนขั้นสูง” ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งในปี 2009

ภายหลังรายงานฉบับนี้เผยแพร่ออกมาในวันอังคาร เบน เอมเมอร์สัน ผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและการต่อต้านการก่อการร้ายของสหประชาติ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสในคณะบริหารของบุช ตลอดจนถึงเจ้าหน้าที่ซีไอเอและเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต้องถูกดำเนินคดี

ขณะที่ เคนเนธ รอธ ผู้อำนวยการบริหารฮิวแมนไรต์ วอตช์ ขานรับว่า รัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายในการนำตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นมาดำเนินคดีอาญา เพราะไม่เช่นนั้น ตัวเลือกนโยบายแบบนี้จะยังคงอยู่สำหรับประธานาธิบดีคนต่อๆ ไป

สหภาพสิทธิเสรีภาพของประชาชนอเมริกัน (เอซีแอลยู) ก็แถลงแสดงความเห็นว่า รัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐฯ ควรแต่งตั้งอัยการพิเศษเพื่อสอบสวนเจ้าหน้าที่ในคณะบริหารของบุชที่คิดค้น อนุมัติ ดำเนินการ และปิดบังโครงการสอบปากคำโหด

กระนั้น ดูเหมือนมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีการดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโปรแกรมนี้ เจ้าหน้าที่หน่วยงานรักษากฎหมายผู้หนึ่งเผยว่า กระทรวงยุติธรรมไม่มีแผนดำเนินการสอบสวนการดำเนินการของซีไอเอแต่อย่างใด

ด้านเจ้าหน้าที่ข่าวกรองเผยว่า กระทรวงยุติธรรมเคยแต่งตั้งอัยการพิเศษสอบสวนคดีอาญาจากข้อกล่าวหาซีไอเอใช้อำนาจโดยมิชอบกับผู้ถูกควบคุมตัวเหล่านี้รวม 20 คดี ซึ่งจบลงที่ข้อสรุปว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอสั่งฟ้อง

ขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เวลานี้แสดงความสนใจอนาคตมากกว่าการเปิดโปงอดีตดำมืดและเต็มไปด้วยความขัดแย้งของประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น