เอเอฟพี - เครื่องบินขับไล่ F-35C ของกองทัพสหรัฐฯ ร่อนลงจอดบนเรือบรรทุกเครื่องบินเป็นครั้งแรกวานนี้ (3 พ.ย.) โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่านับเป็นหนึ่งหลักชัยของเครื่องบินรบเทคโนโลยีชั้นสูงลำนี้
ถึงแม้เครื่องบินขับไล่โจมตีร่วม F-35 จะเป็นโครงการพัฒนาสุดยอดเครื่องบินขับไล่ที่ใช้งบประมาณมหาศาลที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ทั้งยังเผชิญความบกพร่องด้านเทคนิค และปัญหางบประมาณบานปลายรุมเร้า แต่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ยังเชิดชูการแลนดิงกลางทะเลครั้งนี้ว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญยิ่ง
กองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุในคำแถลงว่า เครื่องบินขับไล่โจมตีร่วมลำนี้สามารถร่อนลงจอดบนเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นนิมิทซ์ ระหว่างทำการบินทดสอบนอกชายฝั่งเมืองซานดิเอโกได้สำเร็จ ภายหลังนักบินปล่อยตะขอที่หางเครื่องบินเกี่ยวเข้ากับลวดดาดฟ้าเรือ
เครื่องบินขับไล่ F-35 ได้รับการพัฒนาออกมา 3 แบบด้วยกัน ได้แก่ แบบมาตรฐาน, แบบขึ้นลงแนวดิ่ง (STOVL) และแบบใช้บนเรือบรรทุกเครื่องบิน หรือ F-35C
น.ท.โทนี วิลสัน นักบินผู้ทำการทดสอบครั้งนี้กล่าวว่า “วันนี้เป็นวันพิเศษของโครงการพัฒนา F-35C”
เจ้าหน้าที่ระบุว่า การลงจอดเป็นขั้นตอนหนึ่งของการบินทดสอบในทะเล ซึ่งจะดำเนินเป็นเวลานานราว 2 สัปดาห์ และช่วยปูทางในการส่งเครื่องบินขับไล่เข้าประจำการในกองทัพเรือ ภายในปี 2018
พล.ท.คริส บ็อกดัน หัวหน้าโครงการพัฒนา F-35 ระบุในคำแถลงว่า “เรามีแผนจะเรียนรู้มากมายระหว่างการทดสอบโครงการพัฒนา และจะใช้ความรู้นั้นๆ ทำให้ F-35 ของกองทัพเรือกลายเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมมีแผนจะทุ่มเงิน 3.912 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับอากาศยาน F-35 ซึ่งผลิตโดยล็อกฮีดมาร์ติต กิจการผู้ผลิตเครื่องบินรบยักษ์ใหญ่ รวมทั้งสิ้น 2,443 ลำ
ทั้งนี้ เครื่องบินที่มีเทคโนโลยีในการหลบหลีกเรดาร์ลำนี้ ควรจะเป็นแกนหลักของฝูงบินขับไล่ในอนาคตของกองทัพสหรัฐฯ พร้อมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งบนน่านฟ้าให้กองทัพสหรัฐฯ ไปได้อีกนานหลายปี
อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาอากาศยาน F-35 ต้องประสบปัญหายาวเป็นหางว่าว และประสบความล้มเหลวครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน เมื่อเกิดเพลิงลุกไหม้เครื่องยนต์โดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นผลให้เหล่าผู้บังคับบัญชาต้องสั่งงดบินเครื่องบินรบรุ่นนี้ยกฝูงเป็นช่วงเวลาสั้นๆ จนกว่าจะแก้ปัญหาได้
ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่กลาโหมจึงล้มแผนการนำ F-35 ออกแสดงในนิทรรศการแอร์โชว์อันโด่งดัง ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองฟาร์นโบโรห์ ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนกรกฎาคม เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า กำลังดำเนินการซ่อมแซมฝูงบินทดสอบนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องยนต์ของอากาศยานมีสภาพปลอดภัยพร้อมใช้งาน