รอยเตอร์ – รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศจะไม่ส่งฝูงบิน F-35 ที่ใช้งานในกองทัพโสมขาวไปซ่อมบำรุงในญี่ปุ่น หลังกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เลือกแดนปลาดิบและออสเตรเลียเป็นศูนย์บริการสำหรับสุดยอดเครื่องบินขับไล่จากค่ายล็อกฮีดมาร์ตินในเอเชีย
เกาหลีใต้เลือกที่จะส่งฝูงบิน F-35 ไปซ่อมในออสเตรเลีย แม้ระยะทางจะไกลกว่ากันถึง 8 เท่าตัว และอยู่เหนือพิสัยการบินตรงของ F-35 ก็ตาม
ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ซึ่งล้วนเป็นพันธมิตรหลักของอเมริกา เป็นเพียง 3 ชาติในภูมิภาคนี้ที่สั่งซื้อ F-35 ไว้เสริมศักยภาพกองทัพ
โครงการพัฒนา F-35 ได้รับยกย่องว่าเป็นต้นแบบความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับชาติพันธมิตร เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจข้ามแดน แต่การที่วอชิงตันเลือกญี่ปุ่นเป็นฐานซ่อมบำรุงกลับทำให้ปมขัดแย้งระหว่างโซลและโตเกียวปะทุขึ้นมา
พล.อ.ท. คริส บ็อกดาน ผู้บริหารโครงการ F-35 ให้สัมภาษณ์วานนี้(17)ว่า ศูนย์ซ่อมบำรุง F-35 ในภูมิภาคแปซิฟิกเหนือจะเปิดตัวที่ญี่ปุ่นในช่วงต้นปี 2018 ส่วนภูมิภาคแปซิฟิกใต้จะมีอีกศูนย์ตั้งอยู่ในออสเตรเลีย
เจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารโครงการจัดซื้อด้านกลาโหมเกาหลีใต้ (Defense Acquisition Program Administration) แถลงว่า “เราจะไม่ส่งเครื่องบินขับไล่ของเราไปซ่อมบำรุงในญี่ปุ่นอย่างแน่นอน”
“เกาหลีใต้มีสิทธ์ตัดสินใจว่าจะส่งฝูงบิน F-35 ไปซ่อมที่ไหน และเราจะพิจารณาเองเมื่อมีความความจำเป็น”
เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมแดนจิงโจ้ซึ่งไม่ประสงค์ออกนามให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ว่า เกาหลีใต้จะได้รับมอบฝูงบิน F-35 ล็อตแรกจากทั้งหมด 40 ลำในปี 2018 และมีแผนที่จะส่งเครื่องบินเข้าศูนย์บริการในออสเตรเลียแทน
แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดโครงการ F-35 ชี้ว่า เกาหลีใต้อาจเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอเปิดศูนย์ซ่อมบำรุง เป็นของตัวเองในอนาคต แต่โซลจะต้องใช้เงินลงทุนสูงมากเพื่อจัดหาเครื่องมือทดสอบระบบสเตลธ์
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวคนเดิมบอกว่าภายใน 5 ปีหลังส่งมอบยังไม่จำเป็นต้องมีการซ่อมบำรุงถึงระดับโครงสร้างเครื่องบิน (heavy maintenance)
คัตสุยูกิ โคมัตสุ รองผู้อำนวยการแผนกอากาศยานของกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น แถลงว่า “เวลานี้ศูนย์บริการในญี่ปุ่นจะดูแลเฉพาะฝูงบิน F-35 ของญี่ปุ่นจำนวน 42 ลำ แต่เราจะหารือกับเพนตากอนอีกครั้งว่าจะมีฝูงบินของชาติอื่นเข้ารับบริการด้วยหรือไม่” ซึ่งหมายถึงฝูงบิน F-35 ที่เตรียมส่งมอบให้เกาหลีใต้ รวมไปถึงฝูงบินของสหรัฐฯ ซึ่งประจำการอยู่ในฐานทัพแถบเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ
พล.อ.ท. บ็อกดาน เปิดเผยว่า สำนักงานโครงการ F-35 จะมีการประเมินภารกิจซ่อมบำรุงทุก 2-3 ปี เพื่อให้ชาติอื่นๆที่เป็นเจ้าของฝูงบิน F-35 มีโอกาสได้ปันส่วนแบ่งตลาดซึ่งจะมีมูลค่านับพันๆ ล้านดอลลาร์
โครงการพัฒนาสุดยอดเครื่องบินขับไล่ซึ่งใช้งบไปแล้วถึง 399,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผลิตเครื่องบินออกมาแล้วทั้งสิ้น 120 ลำ โดยกองทัพสหรัฐฯและชาติพันธมิตรเตรียมที่จะส่งเครื่องบินรบรุ่นนี้ไปปฏิบัติภารกิจทั่วโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า