เอเอฟพี – กองทัพสหรัฐฯ สั่งระงับใช้ฝูงบิน F-35 จอยนท์ สไตรค์ ไฟเตอร์ เป็นการชั่วคราวเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังตรวจพบปัญหาน้ำมันรั่ว ซึ่งนับเป็นความบกพร่องทางเทคนิคล่าสุดในโครงการพัฒนาสุดยอดเครื่องบินขับไล่ที่ใช้งบประมาณมหาศาลที่สุดในประวัติศาสตร์เพนตากอน
เจ้าหน้าที่ในโครงการระบุว่า คำสั่งหยุดบินเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว(13) เป็นมาตรการที่รอบคอบ และเครื่องบินขับไล่ F-35 ส่วนใหญ่ก็ผ่านการตรวจสอบและสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติในวันถัดมา
คำสั่งนี้มีขึ้นหลังจากที่นักบินคนหนึ่งได้รับแจ้งปัญหาน้ำมันรั่วขณะนำเครื่องขึ้นบินเมื่อวันอังคารที่แล้ว(10) แต่สามารถลงจอดที่ฐานทัพอากาศนาวิกโยธินยูมาในรัฐแอริโซนาได้อย่างปลอดภัย
ในจำนวนฝูงบินขับไล่ F-35 ทั้งหมด 97 ลำ ส่วนใหญ่ตรวจไม่พบความบกพร่อง มีเพียง 3 ลำเท่านั้นที่ไม่ผ่านการทดสอบครั้งนี้
“จากการตรวจสอบ เราพบว่าเครื่องยนต์อยู่ในสภาพเหมาะสมและสามารถนำเครื่องขึ้นบินได้ตามปกติ” สำนักงานโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ F-35 ระบุในถ้อยแถลง
“ในส่วนของเครื่องบินที่ยังมีปัญหา จะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นบินจนกว่าจะแก้ไขข้อบกพร่องแล้ว”
คำสั่งตรวจสภาพฝูงบิน F-35 ซึ่งผลิตโดยค่ายล็อกฮีดมาร์ตินมีขึ้นไม่ถึง 1 เดือน ก่อนที่สหรัฐฯจะส่งเครื่องบินรุ่น F-35B บินข้ามหาสมุทรแปซิฟิกไปเปิดตัวที่งานแสดงการบินรอยัล อินเทอร์เนชันแนล แอร์ แทตทู หรือ RIAT ซึ่งเป็นงานแสดงอากาศยานทางทหาร รวมไปถึงงานแสดงการบินนานาชาติ "ฟาร์นโบโร แอร์โชว์" ที่จะจัดขึ้นชานกรุงลอนดอนในเดือนกรกฎาคม
บริษัท แพรตต์ แอนด์ วิทนีย์ (Pratt & Whitney) ผู้ผลิตเครื่องยนต์ของ F-35 ชี้ว่า การตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์แต่ละตัวใช้เวลาประมาณ 90 นาที ซึ่งเครื่องบิน F-35 “เกือบทุกลำ”ผ่านการตรวจสอบแล้ว และสามารถขึ้นบินได้ตามปกติในช่วงค่ำวันเสาร์ที่ผ่านมา(14)
แมทธิว เบตส์ โฆษกของ แพรตต์ แอนด์ วิทนีย์ กล่าวย้ำว่า เครื่องยนต์รุ่น F135 ที่ใช้ใน F-35 ผ่านการทดสอบเกือบ 32,000 ชั่วโมงทั้งภาคพื้นดินและอากาศ และเป็นการบินปฏิบัติการกว่า 16,000 ชั่วโมง
F-35 ถูกยกให้เป็นสุดยอดเครื่องบินขับไล่ชนิดหลบหลีกเรดาร์ที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน แต่โครงการพัฒนาอากาศยานรุ่นนี้กลับเผชิญปัญหาขัดข้องด้านเทคนิคเรื่อยมา ทำให้เสร็จสมบูรณ์ล่าช้ากว่าที่กำหนดถึง 7 ปี และมีงบประมาณบานปลายอีกมหาศาล
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเคยประเมินว่า โครงการผลิตเครื่องบิน F-35 จำนวน 2,443 ลำจะใช้งบประมาณราว 391,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ละลำจะมีต้นทุนการผลิตราว 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทว่าหากโครงการล่าช้าไปกว่านี้ ต้นทุนก็อาจเพิ่มสูงขึ้นไปอีก