xs
xsm
sm
md
lg

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ “โลก” จะรวยขึ้น $11 ล้านล้านภายในปี 2030 หาก “เจรจารอบโดฮา” สัมฤทธิ์ผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – ความสำเร็จของการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาขององค์การการค้าโลก (WTO) จะช่วยให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมร่ำรวยขึ้นถึง 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และฉุดประชากร 160 ล้านคนให้หลุดพ้นจากวงจรความยากจนได้ภายในปี 2030 งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่เผยแพร่วันนี้(21) ระบุ

การเจรจารอบโดฮาระหว่างรัฐสมาชิก WTO เริ่มต้นขึ้นในปี 2001 ณ กรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อทลายกำแพงภาษีและขจัดระบบเงินอุดหนุนของรัฐบาล แต่ผ่านมานานกว่าทศวรรษก็ยังไม่อาจบรรลุข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมได้

อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งทำการวิจัยในนามของศูนย์ โคเปนเฮเกน คอนเซ็นซัส เซ็นเตอร์ ได้เผยแพร่ผลวิจัยซึ่งพบว่า การทำข้อตกลงการค้าลักษณะนี้ถือเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าอย่างมหาศาล

แม้ข้อตกลงอาจไม่ได้มาฟรีๆ แต่นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า เงินทุกๆ ดอลลาร์ที่เสียไปเพื่อให้ข้อตกลงมีผลบังคับอย่างจริงจัง จะให้ผลตอบแทนกลับคืนมาอย่างน้อย “2,000 ดอลลาร์”

“ค่าใช้จ่ายของมันถือว่าน้อยมาก” คิม แอนเดอร์สัน นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงหลักของงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุ

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากความสำเร็จของการเจรจารอบโดฮามากที่สุดก็คือประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมักจะตั้งกำแพงภาษีสูงกว่าเพื่อน โดยกลุ่มประเทศเหล่านี้จะได้ผลกำไรตอบแทนประมาณ 3,400 ดอลลาร์ต่อเงินทุกๆ ดอลลาร์ที่พวกเขาสูญเสียไป

“จากการประมาณอย่างคร่าวๆ เราสรุปได้ว่า ภายในปี 2030 พลเมืองยากจนที่สุดของโลกจะลดลง 160 ล้านคน หากการเจรจารอบโดฮามีผลบังคับใช้... คุณจะได้ผลกำไรมหาศาล” แอนเดอร์สัน กล่าว

WTO เองก็ได้ประเมินไว้เมื่อปีที่แล้วว่า ข้อตกลงการค้าพหุภาคีระดับนานาชาติจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าขายทั่วโลกต่อปีได้นับแสนๆ ล้านดอลลาร์ หรืออาจจะถึงหลักล้านล้าน
นักเคลื่อนไหวเอ็นจีโอที่ต่อต้านการเจรจาการค้ารอบโดฮา (แฟ้มภาพ)
อย่างไรก็ดี การเจรจาที่ยืดเยื้อมากว่า 10 ปียังไม่เห็นผลเป็นชิ้นเป็นอัน เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วปฏิเสธที่จะเลิกอุดหนุนเกษตรกรของตนเอง ส่วนชาติกำลังพัฒนาก็ไม่ยอมลดกำแพงภาษีสินค้าอุตสาหกรรม

“ต้องมีคนที่เสียประโยชน์จากเรื่องนี้บ้าง” บียอร์น ลอมบอร์ก จากศูนย์ โคเปนเฮเกน คอนเซ็นซัส เซ็นเตอร์ กล่าวยอมรับ โดยหมายถึงเกษตรกรในยุโรปบางกลุ่มที่อาจจะไม่ได้เงินอุดหนุนจากภาครัฐเหมือนก่อน ทว่าความสูญเสียเหล่านี้เทียบไม่ได้กับจำนวนประชากรที่จะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงการค้า โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา

“ข้อตกลงการค้าลักษณะนี้อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ถึงฐานราก ภายในปี 2030 โลกจะร่ำรวยขึ้นอีก 10% จากที่ควรจะเป็น และพลเมืองทุกคนในประเทศกำลังพัฒนาอาจมีรายได้เพิ่มขึ้น 1,000 ดอลลาร์”

ลอมบอร์ก และ แอนเดอร์สัน หวังว่าบทวิเคราะห์ของพวกเขาจะเป็น “ข้อโต้แย้งสำคัญ” ที่ช่วยผลักดันให้การเจรจาการค้าเสรีพหุภาคีก้าวไปข้างหน้า

อย่างไรก็ดี ซันติอาโก เฟอร์นันเดซ เด คอร์โดบา จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และ เดวิด แวนเซ็ตติ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นนี้ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่สามารถรับประกันการพัฒนาในภาพรวมได้

“การลงทุนคือสิ่งสำคัญที่สุด การจัดสรรทุนต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมและใช้ให้เกิดประโยชน์ หลักธรรมาภิบาลก็จำเป็นเช่นกัน” ทั้งสอง ระบุ

ทั้งนี้ หากการเจรจารอบโดฮายังคงไม่คืบหน้า ข้อตกลงการค้าเสรีในกลุ่มประเทศเอเชียก็ยังสามารถให้ผลตอบแทนได้ถึง 2,000 ดอลลาร์ต่อทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่เสียไป แต่ ลอมบอร์ก ก็เตือนว่า ผลประโยชน์เหล่านั้นจะไม่ไปถึงภูมิภาคแอฟริกา “ซึ่งถือเป็นการพลาดโอกาสที่จะช่วยผู้คนจำนวนมากให้หลุดพ้นจากวงจรความยากจน”

กำลังโหลดความคิดเห็น