รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดียได้ตกลงกันวานนี้ (30 ก.ย.) ว่าทั้งสองชาติจะกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลให้แน่นแฟ้น เพื่อรับรอง “เสรีภาพในการเดินเรือ” ซึ่งเท่ากับเป็นการผนึกกำลังตอบโต้จีน ที่กำลังวางโตในเอเชีย
ความตกลงดังกล่าวเป็นผลิตผลมาจากการหารือร่วมกันนาน 2 วัน ระหว่าง โอบามา กับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอินเดีย ในเวลาที่สองผู้นำพยายามฟื้นฟูสายสัมพันธ์ ที่ร้าวฉานจากกรณีการจับกุมและเปลื้องผ้านักการทูตหญิงอินเดียที่นิวยอร์ก เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา และความหวังว่า อินเดียจะเปิดประเทศให้นักธุรกิจต่างชาติเข้าไปลงทุนซึ่งกำลังริบหรี่ลงทุกที ก่อนที่โมดี ผู้นำหัวปฏิรูปจะก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนพฤษภาคม
ผู้นำทั้งสองกล่าวกับผู้สื่อข่าว ณ ห้องทำงานส่วนตัวของโอบามาว่า พวกเขาได้หารือกันในประเด็นต่างๆ นับตั้งแต่การค้า ไปจนถึงการสำรวจอวกาศ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงภัยคุกคามจากกลุ่มหัวรุนแรง “รัฐอิสลาม” ในตะวันออกกลาง
โมดี กล่าวขณะนั่งเคียงข้าง โอบามาว่า “เรามีรากฐานความร่วมมือที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ตอนนี้เราเพียงแต่ต้องหาแรงผลักดันใหม่ๆ และสร้างความมั่นใจว่า ประชาชนของเราและโลกนี้จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดจากการร่วมมือกัน”
โมดี ได้รับการตอนรับอย่างอบอุ่นในสหรัฐฯ แม้ว่าเขาจะเคยถูกสหรัฐฯ ปฏิเสธการออกวีซ่าให้ตั้งแต่ปี 2005 จากการที่เขาถูกกล่าวหาว่า เพิกเฉยต่อเหตุจลาจลทางศาสนา ที่คร่าชีวิตชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมไปกว่า 1,000 คน ในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งมุขมนตรีของรัฐคุชราต แต่เขาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น และศาลฎีกาอินเดียก็ประกาศให้เขาพ้นผิด
การที่สหรัฐฯ กับอินเดีย ซึ่งเป็นสองประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดในโลกหันมากระชับความสัมพันธ์ให้แนบแน่นยิ่งขึ้นนั้น จะทำให้สองประเทศมีศักยภาพในการถ่วงดุลอำนาจจีน ในขณะที่บรรดาชาติแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังวิตกกังวลกับความเคลื่อนไหวทางทะเลของแดนมังกร
โอบามา และโมดีระบุในการแถลงข่าวร่วมว่า ทั้งสองตกลงกันที่จะกระชับความความร่วมมือกันเพื่อคงไว้ซึ่ง “เสรีภาพในการเดินเรือ” และการเดินทางส่งสินค้า ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมค้าที่ถูกกฎหมายได้อย่างไร้อุปสรรค ตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่ยอมรับ
การที่แดนมังกรออกมาแสดงท่าทีแข็งกร้าว เพื่ออ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ และทะเลจีนตะวันออกมากขึ้นเรื่อยๆ ได้จนกระตุ้นทำให้บรรดาประเทศเพื่อนบ้านพากันแค้นเคือง ในขณะที่อินเดียและจีนมีข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตกันมาเนิ่นนานแล้ว และเมื่อไม่นานมานี้ กองทัพแดนภารตะยังได้เฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวของแดนมังกรในมหาสมุทรอินเดียอีกด้วย
นอกจากนี้ โอบามา และโมดียังตกลงกันด้วยว่า จะเจรจาเพื่อขยายความร่วมมือทางการทหาร ซึ่งแต่เดิมกำหนดกรอบเวลาไว้ 10 ปี และกำลังจะสิ้นสุดลงในสิ้นปีนี้ โดยจะมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือปราบปรามการก่อการร้าย และการร่วมมือกันปราบปรามเครือข่ายกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง
อย่างไรก็ตาม บรรดาเจ้าหน้าที่อินเดียระบุว่า แม้ว่าการก่อการร้ายจะเป็นเรื่องที่นานาชาติกำลังวิตกกังวลอย่างใหญ่หลวง แต่จากการแถลงข่าวร่วมก็ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่า อินเดียมีแผนจะเข้าร่วมกับกลุ่มชาติพันธมิตรเพื่อปราบปรามกลุ่มรัฐอิสลาม ที่โอบามาเป็นหัวเรือใหญ่แต่อย่างใด