xs
xsm
sm
md
lg

ศาลนิวยอร์กจี้ “นเรนทรา โมดี” ชี้แจงกรณีเพิกเฉยต่อ “การสังหารหมู่มุสลิม” ที่รัฐคุชราต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย
รอยเตอร์ - บรรยากาศการเยือนสหรัฐฯ ครั้งแรกของ นเรนทรา โมดี ในฐานะนายกรัฐมนตรีอินเดียส่อแววไม่ราบรื่น เมื่อศาลนิวยอร์กเรียกร้องให้เขาต้องชี้แจงกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าไม่พยายามใช้อำนาจมุขมนตรียับยั้งเหตุจลาจลต่อต้านชาวมุสลิมที่รัฐคุชราต เมื่อปี 2002 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไปนับพันคน

ศูนย์กระบวนการยุติธรรมอเมริกัน (American Justice Center) ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ไม่แสวงผลกำไร ทำหน้าที่เป็นตัวแทนบุคคล 2 คนที่รอดชีวิตจากเหตุรุนแรงที่รัชคุชราต เมื่อปี 2002 ยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อศาลนครนิวยอร์กเอาผิดกับ โมดี ฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและสังหารผู้อื่นโดยวิธีศาลเตี้ย โดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมาย Alien Tort Claims Act และกฎหมายปกป้องเหยื่อที่ถูกทรมาน (Torture Victim Protection Act)

โมดี มีเวลา 21 วันที่จะชี้แจงแก้ต่างให้ตนเอง

“มีหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหาที่ว่า โมดี ซึ่งเป็นอดีตมุขมนตรีรัฐคุชราต ได้ออกคำสั่งโดยจงใจและมีเจตร้ายให้เจ้าหน้าที่อินเดียสังหารและสร้างความพิการแก่พลเรือนผู้บริสุทธิ์ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม” เอกสารคำร้องระบุ

หลังถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรและงดออกวีซ่าอยู่นานหลายปี ในที่สุดโมดีก็จะได้เริ่มภารกิจเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ 5 วัน โดยจะเริ่มจากการปาฐกถาต่อที่ประชุมสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กในวันนี้ (26) ก่อนจะเดินทางต่อไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อหารือกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา

การพบกันระหว่างสองผู้นำชาติมหาอำนาจเกิดขึ้น หลังจากที่พรรคภารติยะชนตะ (บีเจพี) ของ โมดี คว้าชัยชนะถล่มทลายในศึกเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม แต่หากจะเปรียบเทียบกับชาติอื่นๆ แล้ว นับว่าสหรัฐฯ หันมา “คืนดี” กับ โมดี ค่อนข้างช้า โดยได้ส่งเอกอัครราชทูตประจำอินเดียไปเยี่ยมโมดีถึงบ้านพักเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากผลโพลทุกสำนักฟันธงว่านักการเมืองฮินดูชาตินิยมจัดรายนี้จะได้ครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีภารตะอย่างแน่นอน

โมดี วัย 64 ปี เคยถูกสหรัฐฯ ปฏิเสธการออกวีซ่าให้ตั้งแต่ปี 2005 ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายอเมริกันปี 1998 ซึ่งห้ามมิให้ชาวต่างชาติที่พัวพัน “การละเมิดเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างร้ายแรง” เข้าประเทศ

การวางเพลิงเผาขบวนรถไฟขนผู้แสวงบุญฮินดูเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2002 เป็นชนวนนำมาสู่เหตุการณ์จลาจลทั่วทั้งรัฐคุชราต ส่งผลให้มีผู้คนถูกสังหารไปอย่างน้อย 1,000 คน และส่วนใหญ่เป็นพลเมืองมุสลิม

โมดี ซึ่งเป็นมุขมนตรีรัฐคุชราตตั้งแต่ปี 2001 มาจนกระทั่งถึงปีนี้ ถูกวิจารณ์ว่าเพิกเฉยต่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น และไม่พยายามใช้อำนาจยับยั้งการโจมตีแก้แค้นชาวมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อย ในขณะที่ โมดี ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอด และศาลสูงสุดอินเดียก็ประกาศให้เขาพ้นข้อหาทั้งปวงเมื่อปี 2012

สาทิศ มิสรา นักวิเคราะห์การเมืองจากมูลนิธิ Observer Research Foundation ในกรุงนิวเดลี ชี้ว่าคดีดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนัก

“โมดีถูกครหาเช่นนี้มานานหลายปีจนชิน... และหลักฐานที่นำมาอ้างก็เป็นแค่การคาดเดาอย่างที่ศาลในอินเดียได้ตัดสินแล้ว การยื่นฟ้องในสหรัฐฯ คงจะไม่ให้ผลที่แตกต่างกันนัก” เขากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น